Skip to main content
sharethis
 
25 พ.ย.53 น.ส.ขวัญระวี วังอุดม นักสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการร้องเรียนจากทนายผู้ต้องขังคดีหมิ่นเบื้องสูงรายหนึ่งเกี่ยวกับการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีนี้ในเรือนจำ โดยผู้ต้องขังคนดังกล่าวแสดงความกังวลถึงกรณีนายสุชาติ นาคบางไทร ซึ่งเป็นผู้ต้องหาหมิ่นเบื้องสูงคนล่าสุดที่ถูกคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าอาจจะถูกซ้อมดังกรณีของนายสุริยันต์ กกเปือย ผู้ต้องหากรณีขู่วางระเบิดรพ.ศิริราช ที่ถูกบ้องหูจนอาจมีปัญหาการได้ยิน
 
“นักโทษ/ผู้ต้องหาที่โดนคดีหมิ่นส่วนใหญ่แล้วเราจะทราบว่าเมื่อเข้าไปในเรือนจำพวกเขาเหล่านั้นมักจะถูกทำร้าย (ศาลเตี้ย) ภาษาคุกเรียกว่า “เก็บยอด”  ธันย์ฐวุฒิ [ทวีวโรดมกุล], สุริยันต์ [กกเปือย] ต่างยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นจริง ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นเป็นเพียงแค่ “ผู้ต้องหา” ศาลยังไม่ตัดสิน แค่ถูกกล่าวหา แต่ก็ไม่พ้นการถูกเก็บยอดโดยเจ้าหน้าที่บางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แดน 8 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าถ้ามีคดีแบบนี้มาละก็ หัวหน้าฝ่ายจะจองตัวไว้คอยต้อนรับเลย ซึ่งแน่นอนเค้าจะไม่ลงมือเอง ไม่สั่งเอง แต่เค้าจะรู้เห็นเป็นใจ และพูดจาทำนองที่จะให้มีการลงมือกับนักโทษโดยอ้อมๆ และเขาทำเป็นประจำ ... และครั้งนี้เขาจะทำกับคุณสุชาติอีกมั้ย?” ข้อร้องเรียนจากผู้ต้องหาม.112 คนหนึ่ง
 
ขวัญระวี กล่าวว่า หากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องตรวจสอบและชี้แจง รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเองก็ควรเข้าไปมีบทบาทตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
 
ขวัญระวีตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง ตาม ม.112 ของกฎหมายอาญา และพรบ.คอมพิวเตอร์มีความเป็นไปได้ที่จะมีการกระทำอย่างเป็นระบบ การกระทำอย่างเป็นระบบหมายความว่าไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มีเหตุให้ทำอย่างจงใจ เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง และเป็นการกระทำในลักษณะซ้ำๆกับบุคคลที่โดนข้อหาในลักษณะเดียวกัน อาจไม่จำเป็นต้องเป็นลงมือซ้อมโดยเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่เป็นการสั่งการโดยเจ้าหน้าที่รัฐให้บุคคลอื่นกระทำการแทนได้ “ที่น่าสังเกตคือ ไม่ว่าการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงจะกระทำโดยเจ้าหน้าที่หรือผู้ต้องหาด้วยกัน เพื่อให้ผู้คุมเรือนจำเห็นว่าตนเองกระทำตัวดีโดยการปกป้องสถาบัน ล้วนสะท้อนทัศนคติที่มีปัญหาของสังคมไทยโดยรวม ซึ่งละเลยการให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่ได้รับการรับรองทั้งในหลักสากลและรัฐธรรมนูญไทย”
 
เธอกล่าวด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลหรือรัฐธรรมนูญไทย การซ้อมทรมานเป็นสิทธิที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้ หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นเหตุการฉุกเฉินหรือกระทบความมั่นคงของรัฐแค่ไหนก็ไม่สามารถจะกระทำการซ้อมทรมานบุคคลได้ การที่ไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี หมายความว่ารัฐบาลมีพันธะที่จะปรับกฏหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับหลักสากลด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net