Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ชิมิ” มิใช่สิ่งแรกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ภาษาไทยวิบัติ และนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ก็ไม่ใช่คนสุดท้ายที่จะลุกขึ้นมาระงับความวิบัติของภาษาไทย เพราะภาษาไทยที่นายไตรรงค์รวมทั้งอีกหลายคนเข้าใจไม่ได้มีสถานะเป็นเพียง สื่อกลางระหว่างผู้คน แต่มีสถานะเป็นคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของชาติ ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่จำต้องได้รับการปกปักรักษาไปตราบชั่วนิรันดร์ หากปล่อยให้ภาษาไทยวิบัติ ชาติไทยก็มีอันล่มจม

 

ชาติไทยถูกสร้างให้มีภาษาไทยเป็นองค์ประกอบหลักมาตั้งแต่ต้น เพราะในการสร้างรัฐสมัยใหม่ หลังจากวาดเส้นเขตแดนที่ชัดเจนแล้ว ชนชั้นนำสยามต่างพากันคิดว่าจะเชื่อมโยงผู้คนต่างศาสนาและพงศ์พันธุ์ที่อยู่ ในเขตแดนนี้เข้าด้วยกันได้อย่างไร และชาติไทยก็เป็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่าสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ โดยพวกเขาเสนอความคิดที่ว่าผู้คนที่อยู่ในเขตแดนที่เพิ่งวาดนี้ไม่ว่าจะ นับถือศาสนาหรือว่าอยู่ในพงศ์พันธุ์หรือว่าพูดภาษาถิ่นใด นอกจากความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ทุกคนเป็นคนไทยหากว่าสามารถพูดภาษาไทยได้ ไม่ว่าจะเรียนรู้แต่กำเนิดหรือฝึกฝนในภายหลัง ภาษาไทยจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการผนวกรวมและเชื่อมโยงผู้คนที่แตกต่าง หลากหลายเข้าด้วยกันในฐานะคนไทย 

แต่การนำมาภาษามารับใช้ชาติในลักษณะดังกล่าวมีข้อจำกัด เพราะผู้คนบางกลุ่มใช้ภาษาอื่นในชีวิตประจำวันและไม่คิดว่าภาษาที่พวกเขาใช้ เป็นภาษาถิ่นเช่นที่ถูกหมายความโดยผู้ปกครองในกรุงเทพฯ เช่น มลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน คนวัยกลางคนขึ้นไปส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ ขณะที่เด็กนักเรียนและวัยรุ่นจำนวนมากโดยเฉพาะในหมู่บ้านพูดภาษาไทยไม่ค่อย ถนัด ไม่ใช่เพราะความอ่อนด้อยทางสติปัญญา แต่เพราะว่าภาษาไทยมาตรฐานไม่ใช่ภาษาที่เกี่ยวโยงกับพงศ์พันธุ์และศาสนาของ พวกเขา มลายูมุสลิมเหล่านี้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องให้มีการใช้ภาษามลายูเป็นภาษา หลักหรือ “ภาษาราชการ” ในพื้นที่ และคิดว่าเป็นการไม่เป็นธรรมหากจะใช้ภาษาไทยมาตรฐานเป็นเกณฑ์ในการกำหนดความ เป็น “คนไทย” หรือผู้มีสิทธิเต็มบนแผ่นดินนี้ 

ขณะเดียวกันกระบวนการกำหนดภาษาไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับการ คัดสรรและกีดกัน เพราะภาษาไทยมาตรฐานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาษาไทยภาคกลางซึ่งมีสำเนียงและ ศัพท์เฉพาะแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ขณะที่ภาษาใต้แม้จะใช้ศัพท์ร่วมกับภาษากลางจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีสำเนียงที่แตกต่างจนยากกว่าคนภาคกลางรวมทั้งภาคอื่นๆ จะเข้าใจ ส่วนภาษาอีสานและภาษาเหนือมีลักษณะเฉพาะค่อนข้างมากแม้จะมีศัพท์ร่วมกับภาษา ไทยกลางบ้าง ภาษาไทยมาตรฐานจึงเป็นการหยิบเลือกภาษาของคนกลุ่มหนึ่งในท้องถิ่นหนึ่งขึ้น มาเป็นต้นแบบ จากนั้นก็ทำการเพิ่มเติมหรือเน้นย้ำคุณลักษณะบางประการเช่นการออกเสียง “ร” อย่างเด่นชัดและการควบกล้ำ และอาศัยระบบการศึกษาและสื่อมวลชนเป็นช่องทางสำคัญในการสถาปนาความเป็น มาตรฐานของภาษาดังกล่าว ส่งผลให้ภาษาไทยกลุ่มอื่นมีสถานะเป็นเพียงภาษาพูดหรือภาษาถิ่นที่ไม่ได้ มาตรฐานไปโดยปริยาย 

แต่กระบวนการทำภาษาให้เป็นมาตรฐานขัดกับคุณสมบัติพื้นฐานของภาษาอย่างรุนแรง เพราะภาษาวิวัฒนาการมาจากการใช้ในชีวิตจริง จึงไม่หยุดนิ่ง ประสบการณ์ใหม่จะกระตุ้นให้ภาษาปรับเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง ภาษาไทยจำนวนมากสร้างขึ้นจากการนำคำเดิมมาผสมกัน (เช่น น้ำแข็ง รถไฟ) แต่จำนวนหนึ่งก็มาจากการใช้คำเดิมผสมกับคำที่ถ่ายเสียงมาจากภาษาอื่น (เช่น คริสตจักร) และจำนวนไม่น้อยสร้างก็ขึ้นจากการถ่ายเสียงจากภาษาอื่นโดยตรง (เช่น ลิปสติก) นอกจากนี้ เพราะชีวิตจริงมีความแตกต่างหลากหลาย ภาษาจึงมีความเฉพาะกลุ่มตามไปด้วย ภาษาที่แม่ค้าในตลาดใช้ระหว่างกันมักจะตรงไปตรงมาหรือมีลักษณะเชือดเฉือน เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าซึ่งไม่มีกติกา อย่างเป็นทางการรองรับ ขณะที่เพื่อนสนิทโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นมักใช้ภาษาที่เน้นความเป็นกันเองหรือ ถึงลูกถึงคนเพราะภาษาสุภาพบ่งถึงระยะห่างหรือความสัมพันธ์อย่างมีลำดับขั้น พลวัตรและความหลากหลายจึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของภาษาไทย 

“ชิมิ” ก็เป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติดังกล่าวของภาษาไทย โลกอินเตอร์เน็ตหรือโลกเสมือนจริงเปิดโอกาสให้มีการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่หลุดรอดหรือสามารถท้าทายอำนาจในการควบคุมตรวจตราระดับหนึ่ง นอกจากประเภทของกลุ่มหรือเครือข่ายความสัมพันธ์และหัวข้อการสนทนา ภาษาที่ใช้ในโลกอินเตอร์เน็ตจำนวนมากบ่งถึงความพยายามที่จะไม่อยู่ในอาณัติ ของอำนาจดังกล่าวนี้ แทนที่จะเป็นภาษาไทยมาตรฐาน ศัพท์จำนวนมากถูกดัดแปลงตามความประสงค์ของผู้ใช้ คำว่า “เธอ” ถูกเปลี่ยนเป็น “เธอว์” หรือ “เทอว์” คำว่า “ครับ” ถูกเปลี่ยนเป็น “ฮ๊าฟ” ขณะเดียวกันก็เกิดคำที่มีความหมายเฉพาะจำนวนมาก เช่น “เมพขิง” ซึ่งหากเป็นบุคคลทั่วไปจะไม่รู้ว่ามีความหมายในทำนองว่าล้ำเลิศ หรือว่าความหมายดังกล่าวมีที่มาและคลี่คลายมาอย่างไร นอกจากนี้ เพราะเหตุที่ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันส่งผลให้การควบคุมตรวจตราใน โลกปกติเข้มงวดเป็นพิเศษ โลกเสมือนจริงจึงกลายเป็นพื้นที่ของการต่อต้านและท้าทายอำนาจครอบงำอย่าง เข้มข้น ศัพท์เฉพาะจำนวนมาก เช่น ทองมาร์ค และอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถกล่าวถึงได้ในที่นี้ ได้ถูกผลิตขึ้นเพื่อสื่อความระหว่างผู้แข็งข้อเหล่านี้ รัฐบาลอาจจะสามารถสั่งปิดหรือกั้นเว็บไซต์ได้ แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการใช้ภาษาที่มีนัยของการต่อต้านและท้าทายในโลกเสมือน จริงเหล่านี้ได้ 

ฉะนั้น การที่ “ชิมิ” ออกมาอาละวาดในโลกปกติจึงเป็นการท้าทายอำนาจในการควบคุมตรวจตรา และรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งมีความโน้มเอียงในการใช้อำนาจประเภทนี้อย่างดิบ หยาบจึงไม่สามารถปล่อยให้ผ่านไปได้โดยง่าย แม้ว่าคำๆ นี้จะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่งมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นประธาน มีมติให้ภาพยนตร์ที่มีชื่อลงท้ายด้วย “ชิมิ” ไม่ผ่านการพิจารณา ขณะที่ราชบัณฑิตซึ่งเป็นร่างทรงอำนาจจารีตเช่นนายชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ให้ความเห็นสนับสนุนบนฐานที่ว่า “ชิมิ” จะทำให้ภาษาไทยเสื่อม พร้อมกับเรียกร้องให้คณะกรรมการฯ เร่งออกมาตรการควบคุมการใช้ภาษาไทยในสื่อต่างๆ ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และเน้นย้ำว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องช่วยกันธำรงรักษาภาษาไทยไว้ไม่ให้เสื่อม 

แต่ภาษาไทยมาตรฐานที่บุคคลเหล่านี้พยายามปกปักรักษามีลักษณะกีดกันแฝงอยู่ และความพยายามจะสร้างและรักษามาตรฐานให้กับภาษาไทยก็สวนทางกับคุณสมบัติพื้นฐานของภาษาดังที่กล่าวก่อนหน้า พวกเขาอาจอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือกฎระเบียบล้าหลังและข้ออ้างเรื่องความภักดีต่อชาติไทยและความเป็นไทยในการสกัดกั้นการแพร่กระจายของ “ชิมิ” ได้ระดับหนึ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ตรงกันข้าม การห้ามของพวกเขากลับทำให้มีการใช้คำๆ นี้ในโลกอินเตอร์เน็ตและพื้นที่อื่นๆ ในอัตราที่เข้มข้นและแฝงนัยของการท้าทายที่แหลมคมยิ่งขึ้น หาก “ชิมิ” จะเสื่อมความนิยมหรือสาบสูญไปก็จะเป็นด้วยเงื่อนไขและปัจจัยอื่น แต่ไม่ใช่เพราะการวางก้ามในทำนองว่าภาษาข้าใครอย่าแตะของบุคคลเหล่านี้ “ชิมิ ชิมิ”


 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:คอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 (19-25 ตุลาคม 2553)]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net