Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนจังหวัดสุรินทร์ หาทางออกร่วมกันจะจัดการพลังงานอย่างไรให้เป็นสุข ท่ามกลางกระแสพลังงานทางเลือกที่ทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลผุดขึ้น 7แห่งทั่วจังหวัด

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 เครือข่ายประชาชนจังหวัดสุรินทร์และคณะทำงานพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมกันจัดเวที “คนสุรินทร์จะจัดการพลังงานอย่างไรให้ชุมชนเป็นสุข” ขึ้น ณ ห้องประชุมศูนย์การศึกษาการเรียนรู้ตามอัธยาศัย อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ โดยมีผู้เข้าร่วมจากพื้นที่ตำบลต่างๆ ที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าชีวมวลของจังหวัดสุรินทร์และผู้สนใจทั่วไปประมาณ ๑๐๐ คน เนื้อหาในเวทีกล่าวถึง สถานการณ์และระบบพลังงานของประเทศไทยและทางเลือกการจัดการพลังงานในจังหวัดสุรินทร์ที่ควรจะเป็น

สันติ โชคชัยชำนาญกิจ กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือก
กล่าวว่า แผนพัฒนาความต้องการไฟฟ้าหรือพีดีพีของประเทศไทยปัจจุบันนี้มีการคาดการณ์เกินจริง จึงทำให้มีนโยบายในการพัฒนาโรงไฟฟ้าเพื่อให้เกิดพลังงานสำรองในประเทศมากขึ้น รวมถึงขยายระยะเวลาการคาดการณ์พลังงานจาก 15 ปีเป็น 20 ปี  ซึ่งเห็นว่าเป็นการคาดการณ์ที่ยาวนานเกินไป และทำให้นโยบายการขยายโรงไฟฟ้าในประเทศไทยมีสูงขึ้น รวมไปถึงพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาลพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศ ในขณะที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นยุโรปและอเมริกา ยังประสบปัญหาการจัดการผลกระทบ ความปลอดภัย และกระบวนการผลิตจากโรงงานนิวเคลียร์ไม่ได้ แต่กฟผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักก็ยังเสนอในแผนว่าจะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และพลังงานอื่นให้ได้ ซึ่งทำให้หลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคใต้และภาคตะวันออกมีการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก ในพื้นที่ภาคอีสานมีการประกาศแล้ว 1 พื้นที่ คือจังหวัดอุบลราชธานี  จากการศึกษาข้อมูลของกลุ่มพบว่า แม้ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนโรงไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าในประเทศในปัจจุบันก็ยังสูงกว่าความต้องการและสูงกว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศ เพราะฉะนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอาจจะไม่จำเป็นสำหรับในประเทศไทย

           
วิจิตรา ชูสกุล ตัวแทนคณะทำงานพลังงานยั่งยืน กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานในจังหวัดสุรินทร์ ภายใต้กระแสพลังงานทางเลือก ทำให้มีกลุ่มทุนท้องถิ่นได้ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทางเลือกมากขึ้น ปัจจุบันในจังหวัดสุรินทร์มีโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้วจำนวน 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้ากรีนพาวเวอร์ ต.บุฤาษีของกลุ่มทุนโรงสีข้าวมุ่งเจริญพร โดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลักและโรงไฟฟ้าสุรินทร์จำกัดของโรงงานน้ำตาลจังหวัดสุรินทร์ โดยใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงหลัก นอกจากนั้นยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกจำนวน 4แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1แห่งกำลังยื่นขอใบอนุญาตจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้ามุ่งเจริญพร แห่งที่ 2 จำนวน 17 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าสุรินทร์ไบโอพาวเวอร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ 9.9 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้าสังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ 9.9 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้า อ.รัตนบุรี . จ.สุรินทร์  จำนวน 0.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ต.ตาอ็อง อ.เมือง จ.สุรินทร์ จำนวน 3.15เมกะวัตต์ โดยคาดว่าปริมาณไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าทั้งหมดจะผลิตได้ประมาณ ๘๐.๗๕ เมกะวัตต์

โดยความคืบหน้าของการดำเนินการโรงไฟฟ้าในแต่ละแห่ง มีความแตกต่างกัน และในระดับพื้นที่ก็ทางเจ้าของโรงไฟฟ้าก็ได้จัดเวทีประชาพิจารณ์ต่อชุมชนไปแล้วเป็นส่วนใหญ่และมีแนวโน้มว่าจะสามารถตั้งโรงไฟฟ้าได้ครบทั้ง ๗ แห่ง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า การจัดการพลังงานได้เข้าไปอยู่มือของกลุ่มทุนท้องถิ่นแล้ว ท่ามกลางการเปิดนโยบายให้เอกชนสามารถลงทุนในกิจการพลังงานของรัฐได้ แต่ปัญหาในระดับพื้นที่จากโรงไฟฟ้า ๒ แห่ง   ก็ยังมีมากมายทั้งเรื่องผลกระทบทางอากาศ ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองในน้ำดื่มและเสื้อผ้าที่ตากไว้นอกบ้าน เป็นต้นเมื่อมีโรงไฟฟ้ามากมายขนาดนี้แล้วคนสุรินทร์จะร่วมกันจัดการพลังงานอย่างไร

ตัวแทนชุมชนกันตร็วจสมวล อ.ปราสาท กล่าวว่า ฟังข้อมูลด้านพลังงานแล้ว ก็คิดหนัก เพราะไม่รู้ว่าจะหาทางออกหรือหาความสุขได้อย่างไร โรงไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ดูชื่อเจ้าของแล้วก็หนักใจเพราะเป็นผู้มีชื่อเสียงในจังหวัดทั้งนั้น การกำกับติดตามปัญหาผลกระทบที่ผ่านมาก็เป็นไปได้ยาก และปรากฏการณ์ที่เกิดในพื้นที่ขณะนี้คือ ป่าไม้ต่างๆลดลงมาก หากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นจริง การเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ก็เป็นเรื่องยากมาก

ตัวแทนตำบลในเขตรัตนบุรี กล่าวว่า ในขณะนี้ชาวบ้านและอบต.ในพื้นที่ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเลย รู้แต่ว่าจะผลิตไฟจำนวน 0.9 เมกะวัตต์โดยใช้แกลบ แต่ผมประเมินว่า แกลบในเขตตอำเภอรัตนบุรีคงใช้ได้เพียง 3 เดือน แต่พื้นที่ของตำบลมีป่ายูคาและป่าธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เกรงว่า ต่อไปคงทำให้ป่าและต้นไม้ที่ชาวบ้านพึ่งต่อสู้กับรัฐจนได้สิทธิคืนมานั้นต้องสูญหายไปกับโรงไฟฟ้าอย่างแน่นอน และในระดับตำบลก็ต้องข้อมูลความชัดเจนทั้งด้านลบและด้านบวกมากกว่านี้

โดยในเวทีได้มีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการเสนอทางออกในการจัดการพลังงานท่ามกลางความกังวลใจของภาคประชาชน โดยมีข้อเสนอสำคัญๆคือ ในระดับพื้นที่ต้องมีปฏิบัติการพลังงานชุมชนทางเลือกทั้งระดับครอบครัว เช่น การผลิตไฟฟ้าหรือแก๊สจากชีวภาพจริงๆ เช่น มูลสัตว์ หรือมูลคน หรือปฏิบัติการเกษตรอินทรีย์เพื่อยืนยันในพลังงานทางเลือกของระดับครัวเรือน ระดับชุมชนคือ การคิดค้นการจัดทำโรงไฟฟ้าของชุมชน อาจจะบริหารงานโดยองค์กรท้องถิ่นหรือการจัดการในนามสหกรณ์ชุมชนในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าของชุมชนเองได้ ระดับนโยบายได้มีการเสนอให้มีเครือข่ายประชาชนและเครือข่ายคณะทำงานติดตามกำกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อให้โรงไฟฟ้ามีการปรับปรุงระบบและประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าและมีการผลักดันเชิงนโยบายเกี่ยวกับไฟฟ้าให้เหมาะสมร่วมกัน การกระจายข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าให้คนในจังหวัดสุรินทร์ได้รับรู้มากขึ้น

           
ขณะนี้จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่กำลังจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลมากที่สุดในภาคอีสาน และโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ มีขนาดเพียง 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้ไม่ต้องมีการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม   ซึ่งทำให้ไม่มีมาตรการที่แน่ชัดในการเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นผลกระทบในระยะยาวต่อประชาชนในพื้นที่ และต่อไปคำขวัญจังหวัดสุรินทร์ที่ว่า “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ปะคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม” อาจจะต้องต่อท้าย “มากล้ำโรงไฟฟ้า” ก็เป็นได้

 

ไพรินทร์ เสาะสาย, เสียงคนอีสาน รายงาน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net