Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

22 พฤศจิกายน 2553

เรื่อง ประชาชนมาบตาพุดส่วนใหญ่ต้องการอุตสาหกรรมและแนวทางแก้ไขมลพิษ
เรียน ท่านสื่อมวลชน-ผู้สื่อข่าว ที่นับถือ
อ้างถึง หนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง ลว.17 พฤศจิกายน 2553

กระผมได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวมาบตาพุดจำนวน 2,140 ราย ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนที่แท้จริงของชาวมาบตาพุด ระยอง จึงขอเรียนท่านสื่อมวลชน-ผู้สื่อข่าว เพื่อโปรดพิจารณาเผยแพร่เสียงของประชาชนด้วย จะเป็นพระคุณต่อประชาชนและสังคมในการมีข้อมูลเพื่อการใช้วิจารณญาณ  ผลการสำรวจชี้ชัดเจนว่า

1. ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับขยายพื้นที่อุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุดต่อไป โดยประชาชน 56% เห็นด้วย โดยในรายละเอียดพบว่า กลุ่มผู้เป็นเจ้าของบ้านของตนเองเห็นด้วย 50%  อย่างไรก็ตามกลุ่มที่เป็นทั้งเจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดิน เห็นด้วย 48%  ส่วนกลุ่มที่เป็นผู้เช่าบ้าน เห็นด้วยถึง 65%

2. ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้รัฐซื้อหรือเวนคืนในกรณีจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษโดยต้องจ่ายค่าทดแทนที่สมเหตุผล โดยประชาชนถึง 69% เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวนี้  โดยเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ในทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเจ้าของบ้านและที่ดิน เจ้าของบ้านแต่เช่าที่ดินปลูก ผู้เช่าบ้านและอื่น ๆ

3. ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมประท้วงเรื่องมาบตาพุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา  มีประชาชนเพียง 32% เท่านั้นที่เห็นด้วย  ทั้งนี้มีความเห็นในทางเดียวกันทั้งกลุ่มเจ้าของบ้านและที่ดิน เจ้าของบ้านแต่เช่าที่ดินปลูก ผู้เช่าบ้านและอื่น ๆ

โดยสรุปแล้ว ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เห็นด้วยที่พื้นที่อุตสาหกรรมจำเป็นที่จะต้องขยายตัวต่อไป  ทั้งนี้มาบตาพุดเป็นแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งสำคัญที่สุดซึ่งได้วางแผนดำเนินการแล้วตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  หากย้ายออกไปคงไม่มีพื้นที่อื่นจะสามารถรองรับได้  และในกรณีจำเป็นประชาชนจึงเห็นด้วยกับการเวนคืนโดยจ่ายค่าทดแทนที่สมเหตุผลเพื่อความผาสุกของทุกฝ่าย  และประชาชนก็ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมประท้วง แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการทางออกที่ดีกว่านี้

นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด ระยอง ยังได้ให้ข้อเสนอแนะหลายประการต่อปัญหามลพิษที่ประชาชนยกขึ้นมา ทั้งน้ำเสีย อากาศ (กลิ่น แก๊สพิษ ควันพิษ ฝุ่น) ขยะ เสียง และสารเคมี ซึ่งประชาชนได้พบเห็นเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง  การมีมลภาวะเช่นนี้แสดงว่าที่ผ่านมายังมีการแก้ไขปัญหาที่ไม่มีประสิทธิผลและยังไม่เป็นที่พึงพอใจเท่าที่ควร  ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาจึงอยู่ที่การตรวจสอบเพื่อควบคุมการกระทำผิดกฎหมายเช่นนี้อย่างใกล้ชิด หากทางราชการหรือภาคประชาชนได้จัดตั้งหน่วยงานที่เป็นกลางซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียมาตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมกับการรายงานผลการตรวจสอบต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เชื่อว่าการปล่อยมลพิษในรูปแบบต่าง ๆ จะลดน้อยลง

การที่ประชาชนในพื้นที่ยังมีความเชื่อว่าโรงงานจำนวนมากยังมีการละเมิดกฎหมาย ละเมิดต่อผู้อยู่อาศัยหรือชุมชนโดยรอบนั้น ถือเป็นการละเมิด เป็นอาชญากรรม และถือเป็นการขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยตรง ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และการฟ้องร้องเป็นราย ๆ ไป จึงน่าจะเป็นมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหามากกว่าการเหวี่ยงแห ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน และโรงงานต่าง ๆ ต้องดำเนินการไปอย่างจริงจังและตรวจสอบในการได้ จึงจะยังความเชื่อถือจากประชาชน

อนึ่ง กระผมเคยทำหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เมื่อปีที่แล้ว (7 ธันวาคม 2552) เกี่ยวกับผลการสำรวจในลักษณะคล้ายกันและได้ผลออกมาคล้ายกันว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการให้อุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป  การสำรวจครั้งล่าสุดจึงเป็นการประเมินผลเพิ่มเติม และมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหามลพิษในมาบตาพุด

ด้วยความเคารพ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

(ดูข้อมูลประกอบที่: http://housingyellow.com/csr.wboard/showtopic.php?topic=37)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net