รายงาน: คาบสมุทรสทิงพระพื้นที่วาตภัยที่ถูกลืม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
 
 
 
วันที่ 1 พ.ย.53 ที่ผ่านมาเป็นเวลาเดียวกับที่อำเภอหาดใหญ่ถูกน้ำไหลหลากเข้าท่วมเป็นอุบัติการณ์ในรอบ75 ปีนับตั้งแต่จำความได้ น้ำสูงกว่า 2.5 เมตรส่งผลให้หาดใหญ่กลายเป็นเมืองบาดาลไปทันเพียงชั่วข้ามคืน น้ำใจและความช่วยเหลือของหน่วยงานจากในและนอกพื้นที่หลั่งไหลเข้าไปช่วยเหลือหาดใหญ่
 
แต่ในอีกฟากหนึ่งของฝั่งทะเลสาบสงขลา มีพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระอันประกอบด้วยอำเภอสิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธ์และอำเภอระโนด พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ด้วยประวัติอันยาวนาน ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วัดพะโค๊ะ เป็นต้น  พื้นที่คาบสมุทรประสบกับวาตภัยพายุดีเปรสชั่น ซึ่งก่อตัวในทะเลอ่าวไทยได้พัดขึ้นฝั่งบริเวณ อ.สทิงพระ จ.สงขลา คืนวันที่ 1 พ.ย.เป็นเสมือนฝันร้ายสำหรับคนในพื้นที่คาบสมุทร มีราษฎรหลายพื้นที่ เช่น บริเวณ ต.บ่อตรุ ระโนด ต.คลองรี ต. บ่อแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับชายทะเลอ่าวไทยต้องอพยพประชาชนไปพักอาศัยชั่วคราวที่มัสยิส วัด พัดอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง ลมก็สงบลง ฝนก็ไม่ตกอีกต่อไป แต่ผลปรากฏว่า ต้นไม้ล้มระเนระนาด บ้านประชาชนถูกพัดเสียหายเป็นจำนวนมาก หลังคาเปิดเนื่องจาก กระเบื้องปลิวไปตามสายลม
 
ข้อมูลพื้นฐานของประชากรของคาบสมุทรสทิงพระ

อำเภอ
ประชากรชาย
ประชากรหญิง
รวมประชากร
จำนวนครัวเรือน
ระโนด
23,244
23,430
46,674
14,387
กระแสสินธ์
7,694
7,951
15,645
4,342
สทิงพระ
22,521
23,555
46,076
11,416
สิงหนคร
21,247
22,983
43,330
10,804
 
 
จากการลงพื้นที่ พบว่ามีประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบกว่า 70% ของจำนวนครัวเรือน =28,664 ครัวเรือน ความเสียหายแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ความเสียหายระดับมาก คือ บ้านล้มทั้งหลัง ต้องใช้กระเบื้องจำนวน 250 แผ่น ความเสียหายระดับกลาง ต้องใช้กระเบื้องประมาณ 100 แผ่นและความเสียหายระดับเล็กน้อยต้องใช้กระเบื้องน้อยกว่า 50 แผ่น คาดการณ์ว่ามีความต้องการกระเบื้องสำหรับมุงหลังคา ประมาณ 1.2 ล้านแผ่น
 
นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนโบราณของประชาชนและสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งหากจะมีการซ่อมแซมจำเป็นต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญด้านการก่อสร้างเป็นพิเศษ ซึ่งในพื้นที่เองนับวันยิ่งหายากเต็มที่อีกทั้งวัสดุคือ กระเบื้องดินเผาโบราณก็มีผู้ผลิตน้อยลงทุกที
 
ภาวะขาดแคลนกระเบื้องสำหรับมุงหลังคาและราคากระเบื้องที่ฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาจาก 30 กว่าบาทถีบตัวขึ้นไปเป็น 50 และ 60 บาท ซ้ำเติมฝันร้ายของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หน้าห้างร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบวาตภัย มาซื้อกระเบื้อง วัสดุที่จะใช้ซ่อมแซมบ้านเป็นจำนวนมากและหลายคนต้องผิดหวังกลับไป ไม่มีกระเบื้องติดมือไปซ่อมแซมหลังคาบ้านตนเอง แต่มีคนจำนวนมากที่ไม่มีบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้านในฉับพลัน มีผู้ที่ตกอยู่ในภาวะไร้ที่พึ่งพา เช่น ผู้สูงอายุ หรือประชาชนที่ยากจน คนเหล่านี้ต้องทนทุกข์กับภาวะที่ฝนกำลังตกลงมาเนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูมรสุม(พ.ย.-ธ.ค.)
 
           
การเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย พบว่ามีความล่าช้าและข้อจำกัดของภาครัฐในหลายส่วน เช่น เครื่องมือ คนและความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารจัดการภาวะวิกฤติ ด้วยที่เหตุภัยพิบัติดังกล่าวไม่เคยเกิดในพื้นที่ดังกล่าวมานานแล้ว
 
ระบบสื่อสารที่ถูกตัดขาดภายหลังจากวาตภัยโจมตีคาบสมุทรสทิงพระแล้ว ส่งผลกระทบให้การติดต่อกับโลกภายนอกและส่งเสียงขอความช่วยเหลือไปสู่คนภายนอกช่างไร้พลังและเงียบเชียบเสียเหลือเกิน ส่วนหนึ่งเนื่องจากทุกภาคส่วนต่างมุ่งหน้าและให้ความสนใจตัวเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นใจกลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้ เท่าที่จำได้ความทุกข์ร้อนของประชาชนในคาบสมุทรถูกนำเสนอผ่านรายการครอบครัวข่าว 3 ของคุณสรยุทธ์ สุทัศนจินดา แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากเสียงภายนอกหรือการติดตามอย่างจริงจังจากคนในสังคมเท่าที่ควร สร้างความน้อยใจและลำบากใจให้กับประชาชนในพื้นที่ยิ่งนัก
 
เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบก กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่ประกอบด้วยหลายองค์กร คือ มูลนิธิชุมชนสงขลา มูลนิธิทักษิณคดีศึกษา เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา สมาคมโรตารีสงขลา การเคหะแห่งชาติ มูลนิธิชุมชนไท สถานีวิทยุ ม.อ.88 MHz. คลื่นความคิด F.M.101 MHz.โครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจนฯ (สกว.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) เครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา เครือข่ายแผนสุขภาพตำบล โซนคาบสมุทรสทิงพระ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัยสงขลา เครือข่ายชุมชนเพื่อการฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โซนคาบสมุทรสทิงพระ วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส ร่วมกันพูดคุยกับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนถิ่นในพื้นที่ เพื่อระดมความคิดเห็นและความช่วยเหลือแก่คนในพื้นที่
 
ข้อสรุปจากที่ประชุม คือ จะมีตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคประชาชนคาบสมุทรคาบสมุทรสทิงพระขึ้นที่ ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบกของครูไพทูรย์ ศิริลักษ์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลสทิงพระ จังหวัดสงขลา พร้อมกับระดมอาสาสมัครทีมงานช่างฝีมือ ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ จากสถาบันอาชีวศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่ มาร่วมในการซ่อมแซมบ้านเรือนและผู้ที่ไม่มีความสามารถดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนได้ โดยคาดการณ์ว่าจะช่วยประชาชนประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ประมาณ 2,800 กว่าหลังคาเรือน
 
ในการระดมทรัพยากรสิ่งที่จำเป็นคือ กระเบื้อง(ลอนเล็ก/ลอนคู่/กระเบื้องดินเผา) ตลอดจนอุปกรณ์เพื่อใช้ซ่อมแซมบ้านเรือนที่พังเสียหาย จึ่งใคร่ขอรับบริจาคจากทุกท่านที่มีความสนใจให้ความช่วยเหลือโดยอาจบริจาคเป็นเงินสำหรับซื้อกระเบื้องราคา 40 บาท/แผ่น หรือเป็นกระเบื้องเก่าก็ได้ ท่านสามารถติดต่อบริจาคผ่านบัญชี...มูลนิธิชุมชนสงขลา ธนาคารกรุงเทพ สาขาหาดใหญ่ใน บัญชีเลขที่ 562-0-52250-7 โดยแฟ็กซ์สลิปการโอนมาได้ที่ 074- 474082 หรือติดต่อคุณบุญเรือง ปลอดภัย เจ้าหน้าที่มูลนิธิชุมชนสงขลา 084-7484137 หรือติดต่อไปยังคุณพูนทรัพย์ ศรีชู 081-275756 และคุณชาคริต โภชะเรือง 081-5994381 ผู้ประสานงานของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคประชาชนคาบสมุทรสทิงพระ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท