อนุสรณ์ อุณโณ: คุกกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
คอลัมน์ คิดอย่างคน เขียนโดย อนุสรณ์ อุณโณ ในหนังสือพิมพ์รายสัปห์ดา มหาประชาชน  ปีที่ 1 ฉบับที่ 10 วันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2553

 
 
 
[บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อส่งความรักและความระลึกถึงไปยัง "นักโทษการเมือง" จำนวนมากที่ถูกจองจำอยู่ และเพื่อต้อนรับคุณวิษณุ กมลแมน (เล้ง) อายุ 19 ปี ซึ่งถูกทหารจับกุมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 16.30 น. บริเวณใกล้กับปั๊มน้ำมันเอสโซ่ ปากซอยรางน้ำและถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ศาลตัดสินจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญาซึ่งจะครบกำหนดพ้นโทษในวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2553 นี้]
 
 
คุกกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
คุกมักถูกวาดภาพให้มีลักษณะต่างกันอย่างสุดขั้ว ในด้านหนึ่ง คุกได้รับการประชาสัมพันธ์ในฐานะสถานที่กักขังบุคคลอันตรายไม่ให้สามารถออกไปทำร้ายใครได้ ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและฝึกฝนบุคคลเหล่านี้ให้มีความพร้อมและทักษะที่จำเป็นในการหวนคืนสู่โลกภายนอกเมื่อถึงเวลา ในอีกด้าน คุกถูกถ่ายทอดในฐานะ “แดนเถื่อน” ซึ่งถูกปกครองโดย “ขาใหญ่” กิจวัตรภายในคุกหากไม่เป็นเรื่องของการข่มเหงรังแกหรือการทะเลาะวิวาทระหว่างพวกเหลือขอก็เป็นเรื่องของการฝึกฝนการกระทำผิดและการสร้างเครือข่ายอาชญากรรม แทนที่จะเป็นสถานที่ดัดนิสัย คุกคือ “โรงงานผลิตอาชญากร”
 

อย่างไรก็ดี เราสามารถทำความเข้าใจคุกได้ในอีกลักษณะ นักคิดฝรั่งคนหนึ่งเสนอว่าคุกเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอำนาจในการลงทัณฑ์ ซึ่งไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ผู้พิพากษาที่อาศัยความรู้ทางนิติศาสตร์แต่ผู้เดียวอีกต่อไป แต่กระจายออกสู่ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ เช่น จิตแพทย์ ขณะเดียวกันอำนาจนี้ก็ไม่ได้มีร่างกายของผู้กระทำผิดเป็นเป้าหมาย หากแต่เป็นสิ่งมีค่าอย่างอื่น เช่น เสรีภาพ ฉะนั้น แทนที่จะเป็นศิลปะแห่งการสร้างความสะเทือนขวัญ การลงทัณฑ์ผ่านคุกจึงเป็นเรื่องของการคำนวณว่าจะพรากเสรีภาพไปจากนักโทษแค่ไหนอย่างไร โดยอาศัยเทคนิควิธีจำพวกระเบียบวินัย การสอดส่อง และการคงไว้ซึ่งผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน นักโทษมีกิจวัตรประจำวันให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็ถูกสอดส่องอย่างเข้มงวด แต่ไม่ใช่ในฐานะอาชญากร หากแต่ในฐานะผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่ต้องถูกควบคุมตรวจตราอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น การที่คุกปล่อยผู้กระทำผิดออกมาภายนอกด้วยพฤติกรรมเดิมจึงไม่ใช่เรื่องของความล้มเหลวอย่างที่มักเข้าใจ หากแต่เป็นความสำเร็จในการขยายพื้นที่ของการควบคุมตรวจตราให้ครอบคลุมทั่วทั้งสังคม ผ่านทางผู้กระทำผิดที่มีอันตรายทางการเมืองน้อยที่สุดเหล่านี้
 

คุกจึงสัมพันธ์กับปฏิบัติการของอำนาจและการเมืองโดยตรง และคุกในเมืองไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ในยุคก่อนๆ คุกมักถูกใช้เป็นสถานที่คุมขังผู้เป็นภัยคุกคามอำนาจส่วนกลางกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองที่แข็งข้อ โจรที่ทำให้การปกครองนอกเขตเมืองหลวงระส่ำระสาย หรือว่าผู้ก่อการกบฏต่างๆ ในสมัยต่อมาคุกถูกใช้เป็นที่ควบคุมตัวของผู้ที่เป็นภัยต่อรัฐบาล เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกคุมขังที่เรือนจำลาดยาวในปี พ.ศ. 2501 ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และสมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ด้วยความที่เป็น “นักโทษการเมือง” เขาจึงได้รับการปฏิบัติต่างจากนักโทษสามัญ ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาสามารถศึกษาค้นคว้าและผลิตงานเขียนออกมาจำนวนมาก เขาถูกปล่อยตัวในปลายปี พ.ศ. 2507 เพราะศาลกลาโหมยกฟ้อง เขาใช้ชีวิตอยู่ในคุกเป็นเวลา 7 ปีโดยไม่มีความผิด
 

คุกในเมืองไทยถูกใช้คุมขัง “นักโทษการเมือง” มาอย่างต่อเนื่อง การจับกุมคุมขังผู้นำนักศึกษาต้นเดือนตุลาคม 2516 ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผู้นำนักศึกษาเหล่านี้ได้รับการปล่อยตัวหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ขณะที่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาจำนวนหนึ่งถูกจับกุมตัวและนำขึ้นศาลทหารในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาถูกควบคุมตัวในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเพราะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขณะที่หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกนำไปควบคุมตัวในเรือนจำและสถานคุมขังอื่นๆ โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวในไม่กี่วันถัดมาเพราะมีการเจรจาระหว่างทหารและแกนนำการชุมนุมซึ่งเป็นอดีตนายทหารเช่นกัน

คุกไทยว่างเว้นจากการเป็นสถานที่คุมขังผู้เป็นภัยคุกคามต่อผู้อยู่ในอำนาจมาเป็นเวลากว่าทศวรรษก่อนจะได้รับการปัดฝุ่นเพื่อรองรับผู้ท้าทายระลอกใหม่ ทว่าผู้ท้าทายเหล่านี้ไม่ถูกนับเป็น “นักโทษการเมือง” ให้สามารถค้นคว้าขีดเขียนอะไรได้ หากแต่ได้รับมาตรการลงทัณฑ์ที่รุนแรงขึ้น เช่น นอกจากจะต้องปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ ของเรือนจำเหมือนเช่นนักโทษคนอื่น “ดา ตอปิโด” ซึ่งถูกคุมขังในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกให้ “นั่งเดี่ยว” ในฐานะ “พิธีรับน้อง” เป็นเวลา 3 เดือน จากปกติ 1 เดือน ต่อมาเรือนจำได้ออกระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังซึ่งส่งผลให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ญาติประสบความยากลำบากในการเข้าเยี่ยมเธอยิ่งขึ้น ขณะที่ช่วงก่อนและหลังการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมามีการจับกุมคุมขังผู้คนจำนวนมาก พวกเขาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เผาสถานที่ราชการ และบางรายถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว หลายคนไม่มีทนาย และต้องใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างเข้มงวดกว่าปกติจนกว่าจะครบกำหนดการปล่อยตัว     

 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่เข้าข่ายนักโทษสามัญที่อำนาจในการลงทัณฑ์ถูกออกแบบมาให้เกี่ยวข้องด้วย พวกเขาไม่ได้กระทำผิดอย่างไม่ตั้งใจ ไม่ใช่ประเภทหากเลือกได้ก็ไม่อยากทำผิด รวมทั้งไม่ได้เป็นพวกว่านอนสอนง่ายที่จะเสริมทักษะการประกอบอาชีพต่างๆ ให้ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจำพวกปล้นชิงวิ่งราวลักเล็กขโมยน้อยที่จะปล่อยออกไปเพื่อขยายพื้นที่การควบคุมตรวจตรานอกคุก การฝ่าฝืนกฎหมายของพวกเขาไม่ได้หนุนเสริมให้อำนาจเบื้องหลังการลงทัณฑ์มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเหมือนอย่างเช่นในคดีอาชญากรรมทั่วไป หากแต่เป็นการท้าทายอำนาจที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายว่าขาดความถูกต้องชอบธรรม การปล่อยพวกเขาออกจากคุกจึงเท่ากับเป็นการขยายพื้นที่ของการต่อต้านอำนาจครอบงำออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  
 

นอกจากนี้ อำนาจที่ผู้ต้องขังเหล่านี้ท้าทายก็ยอกย้อนซ่อนเงื่อนเกินกว่าจะเจรจากันได้โดยง่าย ผู้ต้องขังคดีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ถูกจัดให้เป็น “นักโทษการเมือง” ส่วนหนึ่งเพราะผู้อยู่ในอำนาจไม่รู้สึกว่าถูกคุกคามเป็นการส่วนตัว การท้าทายอำนาจของพวกเขาจึงสามารถทำให้กลายเป็นสิ่งที่พ้นไปจากตัวบุคคลและมีสิ่งที่ไม่เป็นบุคคลเป็นคู่ปะทะ แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงถูกจับตามองจากผู้มีอำนาจว่าท้าทายพวกเขามาตั้งแต่ต้น ความผิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเผาศาลากลาง หรือว่าการก่อการร้าย จึงไม่สามารถที่จะได้รับอนุญาตให้เป็นการกระทำผิดหรือการละเมิดกฎหมายที่พ้นไปจากตัวบุคคลได้ หากปล่อยให้ผู้ต้องขังคดีเหล่านี้มีสถานะเป็น “นักโทษการเมือง” ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้อาศัยหลักการนามธรรมเป็นเกราะกำบังในการโค่นล้มพวกเขา สถานภาพที่กำกวมและยากลำบากในคุกจึงเหมาะที่จะจัดการกับผู้ท้าทายเหล่านี้  
 

แต่การใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้จำเป็นต้องได้รับการต่อต้าน เพราะนอกจากมีผู้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงที่ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก การคลี่คลายปัญหาทางการเมืองต้องอาศัยการเจรจาที่เสมอกัน ไม่ใช่อาศัยระบบการลงทัณฑ์เป็นเครื่องมือขจัดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรังแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น ประเทศจะเดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้หากผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมในฐานะผู้คิดต่างทางการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท