โนนป่าก่อ: อีกกรณีของการใช้อำนาจและความรุนแรงตามอำเภอใจของรัฐไทย

 
 
การใช้อำนาจตามอำเภอใจ
 
 
 “...ขอให้ราษฎรที่ยังมิได้แจ้งความประสงค์ที่จะอพยพขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ลงมายังพื้นที่ที่ทางราชการจัดให้ ขอให้แจ้งความประสงค์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในระหว่างวันที่ 3-7 พฤศจิกายน 2553 หากไม่แจ้งความประสงค์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จะมีความผิดฐานการบุกรุกยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง หรือกระทำด้วยประการใด อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, ป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่..... ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบ้านค้อ ตามความผิดดังกล่าว ดังนั้น จึงขอแจ้งให้ราษฎรที่ยังมิได้แจ้งความประสงค์ฯ ให้ไปดำเนินการแจ้งความประสงค์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวันดังกล่าว มิฉะนั้นแล้วจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป”
 
 
การสนธิกำลังเจ้าหน้าที่เข้าทำการขนย้ายที่อยู่อาศัยของชาวบ้านดนนป่าก่อ
 
ข้อความในประกาศจังหวัดมุกดาหาร ที่ลงนามโดยนายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ ปลัดจังหวัดมุกดาหาร (ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553 นี้เป็นสิ่งที่ชาวโนนป่าก่อ ตำบลบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร คุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นเวลา 20 ปีมาแล้ว ที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานะคน “ผิดกฎหมาย” และไร้ความมั่นคงในการทำการผลิตเลี้ยงชีพ เพราะถูกทางรัฐกดดันให้อพยพโยกย้ายจากถิ่นฐานของตนมาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่บริเวณป่าภูสีฐานที่ชาวโนนป่าก่ออาศัยและทำกินอยู่ถูกประกาศเป็น “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน” เมื่อ 12 มิถุนายน 2533
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับชาวโนนป่าก่อว่าหากยังไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ ทางการจะรื้อฟื้นคดีความที่ทางเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูสีฐานแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน จำนวน 56 ราย (เป็นชาวโนนป่าก่อ 54 รายและไม่ทราบที่มา 2 ราย) เมื่อปี 2544 ขึ้นมาใหม่พร้อมกับแจ้งข้อหาเพิ่มเติม และจะนำเจ้าหน้าที่มาปิดกั้นทางเข้าออกชุมชนด้วย
 
 
  
ข้อเท็จจริงที่ว่าชาวบ้านโนนป่าได้เริ่มก่อตั้งถิ่นฐานและทำกินในบริเวณนี้มาตั้งแต่ประมาณปี 2496 หรือเกือบสี่สิบปีก่อนป่าบริเวณนั้นจะถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ และวิถีชีวิตของชาวบ้านโนนป่าก่อ จำนวน 69 ครอบครัว และบ้านบางทรายอีก 30 ครอบครัว ที่อาศัยและทำกินอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานตามที่กรมป่าไม้สำรวจพบเมื่อปี 2537 ดูเหมือนจะไร้ความหมายในสายตาของหน่วยงานราชการเมื่อเทียบกับข้ออ้างของพวกเขาเรื่องการรักษาป่าบริเวณต้นน้ำลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนในป่าภูสีฐาน   ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านที่อาศัยทำกินอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อยู่เสมอ โดยใช้มาตรการการจำกัดการทำกิน เช่น การห้ามใช้รถไถเดินตาม รถไถล้อยาง การตรวจตราการเข้า-ออกหมู่บ้าน(ซึ่งต้องผ่านด่านหน่วยพิทักษ์ป่า) อย่างเข้มงวด  การจำกัดการพัฒนา เช่น ห้ามสร้างโรงครัววัด ห้ามเปลี่ยนหลังคาโรงเรียนเป็นสังกะสี ห้ามจัดงานบุญประเพณีเอิกเกริก  รวมทั้งการออกหมายจับแกนนำ และการข่มขู่ว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมายจับกุมในข้อหาบุกรุกป่าดังประกาศข้างต้น
 
 
 
 
เมื่อเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าตนเป็นอันตรายต่อพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ชาวบ้านโนนป่าก่อได้ศึกษาพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และได้กำหนดจัดการป่าชุมชนขึ้น แบ่งเป็นป่าชุมชน ๓๐๐ ไร่ ป่าใช้สอย ๖๘๗ ไร่ ป่าดอนปู่ตาอีก ๒๐ ไร่ และป่าช้าอยู่ปากทางเข้าหมู่บ้าน โดยออกกฎระเบียบห้ามการตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์ ในบริเวณชุมชน รวมทั้งห้ามบุกเบิกพื้นที่ทำกินเพิ่มเติม และได้จัดกิจกรรมบวชป่า ทำแนวกันไฟ ทำป้ายเขตกฏระเบียบ และสร้างโรงหอเทวดาอารักษ์ โดยทำพิธีกรรมทางสงฆ์อัญเชิญเทวดาอารักษ์มาสถิตย์เพื่อปกปักษ์รักษาป่าและชาวบ้านให้อยู่สงบสุขร่มเย็น  
 
ส่วนในทางนโยบาย ชาวโนนป่าก่อได้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องวิถีชีวิตและสิทธิในการใช้ทรัพยากรของตน ทั้งการเจรจากับทางจังหวัดมุกดาหาร และการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน แต่ก็ยังแทบไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาของพวกเขา  จะมีก็เพียงการยอมรับในเชิงหลักการว่าให้ยุติการจับกุมหรือขุ่มขู่ชาวบ้านไว้ก่อน เช่นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 ที่ห้ามจับกุม ข่มขู่ คุกคามชาวบ้าน ให้กันแนวเขตที่ดินทำกินออกจากที่ดินรัฐ และให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน  และมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน กรณีป่าไม้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 / 2544 ณ จังหวัดขอนแก่น โดยมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ในขณะนั้น) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2544 ที่ผ่อนผันการทำกินในที่ดินเดิม ให้ยุติการจับกุม คุกคาม ข่มขู่  โดยห้ามชาวบ้านบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม และให้ตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบการอยู่อาศัย และผลกระทบในด้านสังคม การเมือง และระบบนิเวศน์ โดยให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้จังหวัดมุกดาหารไปดำเนินการคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่เป็นกลางในภาคอีสานมาทำการศึกษาโดยใช้ระยะเวลาศึกษา 1 ปี  แต่หลักการเหล่านี้ก็ไม่เคยถูกนำมาปฏิบัติจริง
 
ท่ามกลางการต่อสู้และการปรับตัวของชุมชนเพื่อยืนยันความสามารถในการดูแลรักษาป่า ทางจังหวัดมุกดาหารยังคงยืนกรานจะอพยพชาวบ้านออกจากป่า  
 
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2543 ชาวบ้านโนนป่าก่อบางครอบครัวยอมอพยพเข้าไปในที่รองรับที่ทางราชการจัดให้ในบริเวณตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร แต่ก็กลับพบว่าที่ดินที่จัดสรรให้เป็นที่ทำกิน 8 ไร่และที่อยู่อาศัย 1 ไร่นั้นไปทับซ้อนกับที่ทำกินของชาวบ้านในบริเวณนั้น กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชุมชนขึ้นมา  ที่ดินที่ได้รับยังไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก  ทำให้ผู้ที่ยอมย้ายออกมาไม่สามารถอยู่และทำมาหากินในที่รองรับได้จริง  ชาวโนนป่าก่อบางครอบครัวอพยพโยกย้ายกลับไปถิ่นฐานเดิม บางคนขายที่ดินที่ได้รับจัดสรรไปตั้งหลักแหล่งที่อื่น
 
ความพยายามไล่คนออกจากป่าภูสีฐานเข้มข้นขึ้นอีกครั้งในปี 2552  ครั้งนี้ทางจังหวัดมุกดาหารได้เตรียมพื้นที่รองรับการอพยพของชาวบ้านจากพื้นที่ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานขึ้นใหม่ในบริเวณบ้านด่านช้าง หมู่ 10 ตำบลบ้านค้อ อำเภอคำชะอี โดยได้จัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 3 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บ้าน 2 งาน และที่ดินทำกิน 2 ไร่ครึ่ง
 
แม้ที่จัดสรรใหม่ที่บ้านด่านช้างจะอยู่ติดถนนลาดยางที่ดูสะดวกสบายต่างจากถนนลูกรังเข้าบ้านโนนป่าก่อระยะทางสิบกว่ากิโลเมตร ที่มักจะเละเสียจนรถยนต์ธรรมดาเข้าไม่ได้ในฤดูฝน และแม้ชาวบ้านที่ยอมอพยพออกมาจะได้รับความช่วยเหลือเรื่องการประกอบอาชีพ โดยได้รับแจกหมูและวัว พร้อมได้รับการฝึกให้เลี้ยงแมลงเพื่อส่งขาย  แต่วิถีชีวิตใหม่เช่นนี้ถูกชาวบ้านที่ยืนยันสิทธิในการอยู่ในถิ่นฐานเดิมตั้งคำถามถึงความยั่งยืน  นอกจากพื้นที่เพียงสองไร่ครึ่งจะไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัวหนึ่งครอบครัวแล้ว พวกเขายังจะถูกตัดขาดจากทรัพยากรธรรมชาติในป่าอย่างหน่อไม้ เห็ด ผักต่างๆ ที่อย่างน้อยก็พอเก็บกินได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ
 
ด้วยถูกขู่ว่าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหากยังปฏิเสธที่จะย้ายออกจากป่าภูสีฐาน ชาวบ้านโนนป่าก่อจำนวนหนึ่งจึงได้ย้ายออกมาอยู่ในพื้นที่รองรับ  แต่ยังมีชาวบ้านอีกประมาณ 60 คน จาก 12 ครัวเรือน ยืนหยัดว่าจะปักหลักอยู่ในที่ทำกินเดิม ... ถึงวันนี้พวกเขายังคงต้องเผชิญกับการยื่นคำขาดที่จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ราชการ หากพวกเขาไม่ยินยอมออกจากพื้นที่ แม้จะมีข้อพิสูจน์ที่ว่าพวกเขาอยู่มาก่อนการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ก็ ตามที 
 
 
ความรุนแรง การคุกคามและข่มขู่
 
นับตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พร้อมๆ กับการแจ้ง 3 มาตรการเข้มเพื่อกดดันให้ชาวโนนป่าก่อออกจากพื้นที่  ได้มีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่จากจังหวัดมุกดาหาร อาสาสมัครรักษาดินแดน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารจาก พัน3 ร.3 เจ้าหน้าที่ตชด. เจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าไปประจำการในพื้นที่บ้านโนนป่าก่อ  ทำความแตกตื่นให้กับราษฎรเป็นอย่างยิ่ง   ทั้งนี้ ในการสนธิกำลังกันครั้งนี้  ส่วนหนึ่ง เพื่อทำการรื้อถอนบ้านของชาวโนนป่าก่อ ที่แจ้งความจำนงขอย้ายออกจากพื้นที่ทั้งที่สมัครใจและถูกบังคับ  อีกส่วนหนึ่งเพื่อที่จะคุกคาม ข่มขู่ให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความกลัวและยอมออกจากพื้นที่ดังกล่าว     สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังลงไปตามบ้านชาวบ้าน เพื่อข่มขู่คุกคาม เช่น  แม่อึ้ม ได้ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปข่มขู่ถึงในบ้านว่า  หากเธอไม่ยินยอมออกไป ก็จะใช้กำลังเข้ามาทำร้าย และรื้อถอนบ้านเรือน รวมถึงขู่ว่าหากเธอ เอะอะโวยวายก็จะยิงทิ้ง    ชาวบ้านบ้านโนนป่าก่ออีกหลายๆ คน ก็ถูกทางเจ้าหน้าที่เข้าไปข่มขู่ให้ย้ายออก ไม่เช่นนั้นจะดำเนินคดีตามกฎหมาย สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง   อีกทั้งยังได้ขู่นักศึกษาที่เข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ว่าหากไม่ยอมออกจากพื้นที่ก็จะทำการจับกุมข้อหาบุกรุกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเหมือนกันกับชาวบ้าน ทั้งนี้ได้มีการขอตรวจและเก็บภาพถ่ายบัตรประจำตัวของนักศึกษาไว้ด้วย   นอกจากนี้แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ยังได้นำเอาโครงการพระราชดำริมากล่าวอ้างเพื่อให้ประชาชนยินยอมออกจากพื้นที่
 
กระบวนการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินไปเช่นนี้ในทุกๆ วัน ซึ่งทางชาวบ้านและนักศึกษาก็ได้ร่วมกันเขียนป้ายประท้วงติดไว้ตามสถานที่ต่างๆภายในหมู่บ้านเพื่อเป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ และขอยืนหยัด ต่อสู้ในพื้นที่ด้วยสันติวิธีต่อไปจนกว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาตามความเหมาะสม   อีกทั้งมีความหวังเล็กๆ ว่า อนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งพวกเขาได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไว้ จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้กำลังเข้าอพยพโยกย้ายตามที่ได้มีการข่มขู่คุกคาม ภายหลังวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเส้นตายที่ทางการขีดไว้  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท