รายงาน : พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับคนงานล้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่กำลังจะกลับบ้าน

 

 

“เขาไปทำงานล้างบ่อน้ำเสียให้ กทม. แล้วก็กำลังจะเดินกลับที่พักตรงนั้น ตรงสามเหลี่ยมดินแดง ที่เขาเผายางกัน ตอนนั้นรถเข้าบ้านไม่ได้ก็ต้องเดินกลับบ้าน แล้วเอกสิทธิ์เขาก็วิ่งไปโบกรถ ช่วยเสื้อแดงที่ยืนคนเดียวโบกรถ น้องก็เรียกว่า พี่เอกอย่าเข้าไปมันอันตราย อันนี้ก็ไม่ฟังเสียง ก็ยังวิ่งไปช่วยเขาโบกพักนึง ปรากฏว่ามีรถมอเตอร์ไซด์วินล็อกคอเขาไว้ไปให้ทหาร” คำบอกเล่าของนางถาวร กันสังข์ อายุ 38 ปี แม่ของลูกชายวัย 19 ปี “เอกสิทธิ์ แม่นงาม” ผู้ต้องขังคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี
 
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 เดือนพฤษภา 2553 เวลาประมาณ 4 ทุ่ม เป็นหนึ่งในหลายๆ กรณีที่ทหารทยอมจับกุมประชาชนตั้งแต่ช่วงก่อนสลายการชุมนุมซึ่งรัฐบาลพยายามร้องขอให้ประชาชนกลับบ้านท่ามกลางการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
แม้เราจะไม่รู้รายละเอียดของคดีที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน  นอกจากตัวเลขกลมๆ จากปากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) บ่งชี้ว่ามีตัวอย่างหลายกรณีที่ผู้ถูกจับกุมเป็นคนชั้นล่างซึ่งไม่มีศักยภาพในการประกันตัวหรือต่อสู้คดี แม้พรรคเพื่อไทยจะพยายามให้ความช่วยเหลือด้านทนายความแต่ก็ไม่ทั่วถึง แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังและรับทราบความต้องการการช่วยเหลือด้านคดีความแล้ว แต่ก็ไม่เกิดการช่วยเหลือเยียวยาแต่อย่างใด ทำให้หลายคนซึ่งถูกบังคับให้รับสารภาพบ้าง รับสารภาพเองบ้าง ถูกตัดสินคดีอย่างรวดเร็ว และคดีหมดอายุความในการอุทธรณ์โดยไม่มีโอกาสต่อสู้คดี
 
 
แม่ของเอกสิทธิ์เล่าว่า หลังจากรู้ว่าลูกชายโดนทหารจับในคืนนั้น เธอก็ชะล่าใจคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรรุนแรง คงเป็นความเข้าใจผิดและประเดี๋ยวก็คงได้รับการปล่อยตัว เธอและครอบครัวซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัททำบ่อบำบัดน้ำเสียจึงยังคงก้มหน้าก้มตาทำมาหากินรายวันต่อไปเรื่อยๆ
 
“พอผ่านไปเกือบอาทิตย์เขาก็ยังไม่ติดต่อมาเลยออกตามหาเขา ก็ไม่เจอ ก็ให้เพื่อนที่ทำงานล้างบ่อตรง สน.ดินแดง ช่วยไปถามสน.ดินแดงให้หน่อยว่าเอาเอกสิทธิ์ไปไว้ไหน เข้าไป ตำรวจก็บอกส่งไปที่ ตชด. เราไปตามที่นั่น แต่เขาบอกว่าไม่มีรายชื่อ เราก็นั่งร้องไห้อยู่ ตายแล้ว ลูกตายแน่ๆ ตามหาก็ไม่เจอ โทรไปหาตามศาลก็หาไม่เจอ ไม่รู้จักใครเลย ไม่มีใครเข้ามาช่วย แล้วก็มีคนบอกให้ไปแจ้งพรรคเพื่อไทย ได้ประมาณเดือนมั้ง ส.ส.เพื่อไทยก็โทรมาบอกว่าเอกสิทธิ์โดนจับไว้ที่คลองเปรม” น้ำเสียงของเธอยังสั่นเครือเมื่อเล่าย้อนอดีต
 
เมื่อครั้งที่เธอเข้าเยี่ยมลูกในครั้งแรก เธอเล่าว่าได้สอบถามลูกว่าโดนจับเรื่องอะไร และได้คำตอบจากลูกชายว่าทหารบังคับให้เขารับสารภาพในข้อหาขัดขวางการจราจร
 
“เขาบอกว่าทหารบังคับหนูให้รับสารภาพ ถ้าไม่รับเขาจะยิงหนูทิ้ง ไม่ให้พ่อแม่มึงเห็นหน้า เขาว่าอย่างนี้ ก็ต้องรับ ก็รับว่าขัดขวางจราจร”
 
“เขาเล่าด้วยว่า ทหารเขาเอาปืนตีหน้าหนู ไปดูหน้าเขาก็บวมเขียวอยู่ตอนนั้น ถามว่าโดนจับตอนแรกอยู่ไหน ก็บอกไปอยู่ที่ราบ 1”
 
ในเอกสารคำฟ้องของอัยการระบุว่า “เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยนี้กับพวกได้บังอาจยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย โดยจำเลยกับพวกดังกล่าวได้บังอาจร่วมกันนำยางรถยนต์มาวางไว้บนพื้นถนนฝั่งขาเข้าตรงกัน สำนักงาน ป.ป.ส. ถนนดินแดง แขวงดินแดง กรุงเทพมหานคร จากนั้นได้มีการจุดไฟเผายางรถยนต์เพื่อป้องกันมิให้ทหารเข้าไปยังบริเวณดังกล่าว และได้ขว้างปาสิ่งของใส่ทหาร ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย”
 
“เขาจะไปเกี่ยวได้ยังไง เพิ่งเลิกจากงานเดินมากันหลายคน น้องชายเขาก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย ในตัวเขามีแต่โทรศัพท์ เพิ่งซื้อใหม่เลย ทหารน่าจะเอาไว้ เพราะเขาไม่มีโทรศัพท์ ติดต่อไม่ได้เลยหลังถูกจับ บัตร นปช.อะไรก็ไม่มี” แม่เอกสิทธิ์กล่าว
 
วันที่ 17 พ.ค. ศาลแขวงดุสิต พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เนื่องจากขณะนี้บริเวณที่เกิดเหตุในคดีนี้เกิดเหตุจลาจลขึ้น มีความวุ่นวายและมีเหตุร้ายไม่สงบสุข จากการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับคดีนี้อยู่เนืองๆ จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนัก คงจำคุกจำเลย 1 ปี
 
เอกสิทธิ์ เรียนยังไม่ทันจบ ป.6 เพราะหัวทึบเกินกว่าจะเรียนต่อไหว เขียนหนังสือไม่คล่องนักแต่ก็พยายามไหว้วานเพื่อนผู้ต้องขังอื่นๆ เขียนจดหมายกลับมาหามารดาเป็นระยะพร้อมตัดพ้อว่าครอบครัวไม่ค่อยเดินทางมาเยี่ยมเขาซึ่งป่วยเป็นไมเกรนที่เรือนจำเลย  
 
 
“ประกันตัวเขาขอ 4 หมื่น แต่ไม่มีเงิน ไม่รู้จะเอาจากไหน ถ้ากู้บริษัทก็เป็นหนี้หัวโตอีก ของเก่ายังใช้ไม่หมด เลยบอกว่าคงต้องติดนะลูก ปีนึง ขอให้เขาอดทน แม่ไม่อายใครด้วยเพราะลูกไม่ได้ทำผิด ไม่ได้ลักขโมยใคร .... คิดว่าวันที่ 5 ธันวานี่น่าจะลดโทษให้ อยากให้ลูกออกไวๆ” แม่ของเอกสิทธิ์พูดถึงข้อจำกัดและความคาดหวังของเธอ 
 
นอกเหนือจากความลำบากของตัวเอกสิทธิ์เองแล้ว ครอบครัวของเขาก็ยากลำบากด้วยเช่นกัน เพราะทุกคนในครอบครัวทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัททำบ่อบำบัดน้ำเสีย ได้เงินเดือนคนละไม่มาก แน่นอน ลูกหัวทึบคนนี้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ 
 
“ตอนนี้ศาลสั่งจำคุก 1 ปี มันก็นานนะ ไม่ได้หากิน เขาช่วยแม่ได้เยอะเลย สมองเขาไม่ค่อยดีนัก แต่เขาช่วยครอบครัวเยอะ อยู่กรุงเทพ บริษัทก็เช่าห้องให้อยู่ เขาทำอยู่โรงงานเดียวกับแม่ ทำงานเกี่ยวกับเหล็ก เป็นลูกน้องฝ่ายประกอบ ได้เงินเดือน 5,000 กว่าบาท ของแม่ได้ 6,000 กว่าบาท เขาบอกว่าถ้าจะเบิกก็เขียนใบเบิกได้เลยนะ นี่เขาก็ช่วยผ่อนตู้เย็น ส่งรถมอเตอร์ไซด์ ช่วยทางบ้านเดือนละประมาณ 4,000 บาท เขาไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ แม่พูดอะไรก็จะเชื่อ”
 
หาก “การเอาใจช่วยคนเสื้อแดง” เป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง โทษทัณฑ์นี้ก็อาจเป็นสิ่งเหมาะสม เพราะแม่ของเอกสิทธิ์ก็ยอมรับว่าเธอและลูกชายมักติดตามข่าวและเอาใจช่วยคนเสื้อแดงหน้าจอทีวีหลังเลิกงานล้างบ่อบำบัดน้ำเสียแล้วเสมอ
 
“แม่ก็เป็นเสื้อแดงเหมือนกัน แต่ไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ไปชุมนุม เอาใจช่วยเขาทางโทรทัศน์ เราต้องทำมาหากิน ลูกก็เรียนอยู่....แต่เอกสิทธิ์เขาเป็นคนเฉยๆ ไม่ค่อยพูด ไม่ได้สนใจการเมืองอะไรเป็นพิเศษ เคยดูโทรทัศน์ดูข่าวด้วยกันแล้วเขาบอกว่า แม่ๆ สงสารเสื้อแดงนะ ก่อนโดนจับเขายังโทรมาบอกแม่ก่อนแล้วว่าเดี๋ยวจะเข้าไปช่วยเสื้อแดงที่โบกรถอยู่คนเดียว ห้ามก็ไม่ฟัง” แม่เอกสิทธิ์กล่าว
 
เอกสิทธิ์เป็นเพียงกรณีหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับโทษทัณฑ์แบบที่ชวนกังขาตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงปรัชญาพื้นฐานของนิติรัฐ

 

 

ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก ศปช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท