Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 53 ที่ผ่านมา ที่ลานตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ กลุ่มนักศึกษาและคนเสื้อแดงเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดงาน “รำลึกสี่ปีนวมทอง ไพรวัลย์ ฉันยังไม่ลืม..” โดยในงานมีการจัดนิทรรศการลุงนวมทอง แต่งกายเลียนแบบผี เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง รวมถึงมีการอ่านแถลงการณ์ “แถลงการณ์อิสรชน คนชั้นไพร่ …. ใยอำมาตย์ผู้อหังการ์ กล้าเนรคุณ” โดยตัวแทนนักศึกษา

 

แถลงการณ์อิสรชน คนชั้นไพร่ …. ใยอำมาตย์ผู้อหังการ์ กล้าเนรคุณ
 

เมื่อครั้งเริ่มต้นมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้เคยกดขี่ทั้งหลายกล่าวกันว่า ราษฏร ยังไม่มีความพร้อม ในความรู้ สติปัญญาที่จะจัดการระบอบประชาธิปไตย ให้สนองตอบผลประโยชน์แก่พวกเขากระมั้ง ราษฎรหัวคิดก้าวหน้าเกินไป อันเป็นภัยต่อความมั่นคงยืนยงในระบบของเขาบ้าง หรือแม้แต่ราษฎรมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคมากเกินไปหรือเกินหน้าเกินตา ชนชั้นปกครองหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม เป็นต้น

การต่อสู้อย่างยาวนานระหว่างคู่กรณีทางประวัติศาสตร์เพื่อปลดแอกจากการถูกกดขี่ได้มีมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง มหาบุรุษแห่งชนชั้นไพร่ ผู้ประกาศซึ่งศักดานุภาพแห่งพลังของมวลมหาประชาชน อันนับเป็นจุดเริ่มของกร้าวประกาศิตที่มีต่ออำมาตย์ผู้อหังการ์ ต่อสัจจะวาจาและการกระทำที่พิทักษ์ไว้ ซึ่ง “ประชาธิปไตยโดยประชาชน เพื่อประชาชน”

เขาผู้เป็นเพียงคนขับแท็กซี่ชาว รากหญ้าธรรมดาหาเช้ากินค่ำผู้หนึ่งที่ปรากฏนามอันคู่ควรจารึกจารไว้ในหน้า ประวัติศาสตร์แห่งการขับเคลื่อนให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ มหาบุรุษผู้นั้นปรากฏนามว่า “นวมทอง ไพรวัลย์” ผู้ซึ่งฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอปลิดชีพ ตนเอง ใต้สะพานลอยถนนวิภาวดีรังสิต หลังจากเหตุการณ์ที่เขาขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

นายนวมทองเป็นพลเมืองไทยเพียงคนเดียว ที่ได้ประกาศตนต่อสาธารณชนว่า ได้พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อประท้วงการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และได้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าวในที่สุด เพื่อตอบสนองคำพูดของรองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองฯ หรือ เศษสวะของระบอบอำมาตย์ผู้อหังการ์ ที่กล่าวว่า“ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” ที่เขาถือว่าเป็นการเหยียดหยามวัตถุประสงค์ในการกระทำของเขาอย่างยิ่งนักในครานั้น ซึ่งชนชั้นผู้ปกครองปรากฏมีในหลายๆครั้งคราของบันทึกทางประวัติศาสตร์จวบจนปัจจุบัน ที่ต่างก็คอยพากันยกตนให้สูงส่งเหนือกว่ามหาประชาชน ไม่เพียงแค่มิได้มีการเคารพให้การตัดสินใจของประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำยังดูถูกหมิ่นแคลนความคิด การกระทำในหลายประเด็นอันเป็นข้อนำมาสู่เหตุการณ์อันเจ็บปวดรวดร้าวทางประวัติศาสตร์

แสงดาวที่ยังพร่างพรายอยู่บนฝากฟ้านภากาศ ฉันใด แสงสว่างแห่งหนทางประชาธิปไตยที่เริ่มจุดประกาศโดยมหาบุรุษ นวมทอง ไพรวัลย์ ผู้นี้ยังคงคู่กับฟ้าดินได้ฉันนั้น หนทางอีกยาวไกล แม้จักเหน็บหนาว ร้อนระอุ ด้วยขวากหนามของเหล่าอำมาตย์ ที่ฟันฟาดต่อนักสู้ธุลีดิน ขอเพียงแค่เราท่านทั้งหลายผนึกใจไว้ ต่อสู้กับพลังมืด ที่ถาโถมเข้ามาสู้เรา ผู้ยืนหยัดเคียงข้างประชาธิปไตยโดยประชาชน เพื่อประชาชน ประชาธิปไตย ที่มิใช่เพียงแค่การร้องขอ รอวันหล่นจากฟากฟ้า เฉกเช่น มหาบุรุษนวมทอง ไพรวัลย์ อันเป็นการตัดสินใจประดุจดังคลื่นกระแสไฟที่ช็อกชุมชนคนรากหญ้า และเป็นดังเสียงเตือนไปยังชนชั้นบนที่หลงผิด ที่พากันดูถูกเหยียดหยามชาวรากหญ้ามากขึ้นเรื่อยๆว่า เป็นคนไร้การศึกษา ไม่รู้และไม่ใส่ใจต่อความหมายของคำว่า ‘ประชาธิปไตย’

แม้ไม่ว่าคณะผู้ก่อการลบล้างมติของมวลมหาประชาชนจะอ้างเหตุผลใดก็ตามเพื่อสร้าง ความชอบธรรมในการทำรัฐประหารหรือปฏิรูปประเทศไทยในช่วงหลังมานี้ก็คงยากที่ จะหาช่องทางเดินไปข้างหน้าได้ หรือถ้ายืนยันจะกระทำการ ก็นับเป็นการทำให้กลไกทางสังคมให้หยุดอยู่กับที่หรือเพียงเพื่อเป็นเกราะ กำบังในการสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับความเป็นอนุรักษ์นิยมผสมความเป็นไทย แบบที่พวกเศษสวะอำมาตย์เข้าใจกันหรืออย่างไร การกระทำในทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่การไม่เคารพต่อประชามติที่แท้จริงของมหาชน และ เราได้หยิบเอาข้อสังเกตในทางการเมืองต่อไว้ว่า “..ถ้า จะมีอะไรที่จะเป็นเครื่องบ่งชี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมุ่งหน้าไปสู่การ พัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย การเมืองของประเทศไทยจะต้องสร้างหลักประกันว่าการดำเนินกิจกรรมและนโยบายของ พรรคการเมืองนั้นจะไม่ได้มุ่งเพียงแค่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของชนชั้นกลาง ในเมืองหลวง โดยที่ละเลยและเพิกเฉยต่อวิถีและคุณภาพชีวิต ของชุมชนเกษตรกรในชนบท ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทย”

เราจำต้องปล่อยให้พี่น้องประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง และผืนแผ่นดินที่บรรพบุรุษของไพร่ อย่างเรานี้ที่สร้างบ้านแปงเมืองสืบกันมากลายเป็นตัวตลกในสายตาประชาคมโลก เป็นประเทศที่ไร้ศักดิ์ศรี เป็นประเทศที่ทุกสถาบันเล่นการเมืองกันจนประหัดประหารทุกหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนสากล ไร้คุณธรรม ไม่ยอมรับความเท่าเทียม และหลักการประชาธิปไตย โดยไม่สามารถทำอะไรได้เลยจริงๆ ละหรือ? ประเทศไทยต้องการระบอบการปกครองที่คำนึงถึงประโยชน์ของมวลมหาชนมากยิ่งกว่าสิ่งใดในยามนี้ ซึ่งจะได้มาก็ด้วยการสร้าง‘รัฐสภาประชาชน’ โดยทำงานสนองต่อประชาชนที่แท้จริงเท่านั้น

เหมาะสมแล้วหรือ กับคำพูดที่ออกมาจากปากของ “ชายชาติทหาร” อันเป็นวลีที่ตกทอดกันมาในโครงสร้างทางวาทกรรมของชนชั้น หากแต่ว่าเลือดโลหิตของนายทหารผู้นี้ซึ่งอาจอุดมไปด้วยเม็ดข้าวที่มาจากเหงื่อ และน้ำพักน้ำแรง แห่ง กรรมาชน ที่คอยปลูกข้าว สร้างผลผลิตภาคการเกษตร ให้เหล่าสูเจ้า ทั้งหลายได้กินได้บริโภค แถมยังต้อง ประเคน ภาษีให้บรรดาสูเจ้าเอง แต่สิ่งที่ได้รับ คือ วาจาและการกระทำอันอหังการ์ต่อประชาชน จนนำไปสู่ การกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อประท้วงการปล้นประชาธิปไตยจากประชาชนของคณะปฏิรูปการปกครองฯ และได้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าวในที่สุด

เขาเหล่านั้นคือกองทัพ อันยังมีความคงไว้ซึ่งความเป็นอนุรักษ์นิยม เพราะยังเชื่อมั่นว่า กองทัพทำหน้าที่สำคัญ คือ การปกป้องชนชั้นปกครองกับการปกป้องอธิปไตยของประเทศ แต่กองทัพหรือแม้แต่ระบบราชการมิได้เคยให้ความสำคัญกับเจ้าของที่แท้จริงเลย ทั้งที่ความเป็นเจ้าของกองทัพหรือระบบราชการนั้นต้องเป็นของมวลมหาประชาชน และประการสำคัญจุดยืนของกองทัพต้องเป็นกองทัพของประชาชนชน เพื่อประชาชน และพิทักษ์ผลประโยชน์อันจะเกิดขึ้นกับประชาชนก่อน กล่าวคือว่า กองทัพเพื่อประชาชน ประชาชนต้องมาก่อนอื่น ไม่ใช่ประชาชนต้องตายก่อน และตายเพราะกองทัพ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ กองทัพคงไว้ซึ่งความมั่นคงของใครในวิถีทางประชาธิปไตยอย่างเต็มใบก็ไม่ปรากฏ ไว้เป็นที่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มักอ้างความมั่นคงของชาติ ทั้งๆที่ความมั่นคงที่ว่ามีปฏิสัมพันธ์กับคำว่าชาตินั้น ก็ต้องถามกันต่อว่าชาติคืออะไร

สังคมไทย ควรจะเปลี่ยนไปแล้วตามอุดมการณ์แห่งวิถีประชาธิปไตยโดยประชาชน เพื่อประชาชน ตามกระแสสังคมอันควรจะเป็นไปได้ มิใช่เพียงประชาธิปไตยที่สร้างเกราะคุ้มกันให้กับฉากหลังม่านอันเป็นอำมาตยา ธิปไตย ที่รู้สึกว่าเริ่มโผล่ตัวละครออกมาแสดงสันดานดิบ ของเหล่าบรรดาปีศาจที่คอยสูบเลือดเนื้อประชาชนเรื่อยมาจนปัจจุบัน สังคมที่มีปัญหาเชิงการสะสมกับคู่กรณีที่อหังการ์ต่อธรรมชาติผู้สร้างความ เท่าเทียมนี้ ควรถูกมองโดยปัญญาชนในแนวระนาบของการรับรู้ปัญหาในระดับเดียวกัน ไม่ใช่ปัญญาชนมองทิศทางของปัญหาจากบนลงล่าง มวลมหาประชาชนต้องผนึกกำลังใจลดความบดบังของปัญหาอันเกิดจากการสร้าง วัฒนธรรมทางการเมืองในแบบพวกเจ้าคนนายคนที่ได้มีมาแต่อดีตอันเขาเหล่านั้นจะ คอยปิดบังความจริง และชี้นำโดยคำพูด ที่สุดแสนจะตอแหล กับเจ้านายที่แท้จริงของเขาเหล่านั้น ต้องตะโกนด้วยเสียงอันก้องทั่วปฐพีสีแดงนี้ว่า เห็น คุณ…เห็นหัวแม่ตีนประชาชนไหม กรอกหูพวกที่ชอบกดขี่ ดูถูกประชาชน ให้สาสมใจ

 

ทั้งนี้ในงานได้มีการเสวนาในหัวข้อ "คุณ...เห็นหัวแม่ตีนประชาชนไหม" โดย แสงดาว ศรัทธามั่น, ณัฐกร วิฑิตานนท์, ภัควดี ไม่มีนามสกุล และกลุ่มนักศึกษา

แสงดาว ศรัทธามั่น กล่าวว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นมีเผด็จการหลายสายพันธุ์ เช่น 1. เผด็จการพลเรือน คือ นักการเมืองที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง พวกทุนนิยมสามานย์ 2. เผด็จการทหาร 3. เผด็จการศักดินาอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเผด็จการเหล่านี้มองไม่เห็นหัวชาวบ้าน แต่พี่น้องชาวบ้านต้องเสียภาษีให้กับเผด็จการหลายพวกที่กล่าวไปนั้น

แสงดาวมองว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงนั้นได้เปิดคำว่า “ไพร่” ทำให้คนได้รับรู้ว่า “ไพร่” คือ “ขี้ข้า” แต่ตอนนี้ไพร่จะไม่ใช่ขี้ข้าต่อไป เพราะไพร่จะลุกขึ้นมาสู้กับการกดขี่ข่มเหง

ณัฐกร วิฑิตานนท์ ได้ชี้ให้เห็นกับการลุกขึ้นมาตั้งคำที่ว่า "คุณ...เห็นหัวแม่ตีนประชาชนไหม" ของชาวบ้านนั้น เกิดจากการสร้างภาพของกลุ่มอำมาตย์ ที่พยายามสร้างภาพให้ชาวบ้านที่เลือกนักการเมืองไปตามระบบประชาธิปไตยถูกมองในแง่ลบ ว่าไร้การศึกษา ไม่สามารถตัดสินใจเลือกคนดีๆ เข้าไปบริหารประเทศตามระบบประชาธิปไตยได้

“เขาบอกว่าเราไม่ใช่พลเมืองของเขา เขาบอกว่าเราโง่ เขาบอกว่าเราเลือกนักการเมืองเข้าไปก็โกง แย่งชิงอำนาจ ได้คนไม่มีความรู้เข้าไป เพราะว่าเราไม่มีการศึกษา”

โดยภาษาวิชาการจะเรียกสิ่งนี้ว่า “การสร้างวาทกรรม” ที่ถูกทำซ้ำทำนองนี้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การที่กลุ่มอำมาตย์จะดึงอำนาจกลับไปโดยวีโค่นล้มประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดู “ถูกต้อง” และทำให้คนที่เชียร์การกระทำเหล่านี้ของอำมาตย์คิดว่าพวกเขาเป็นฝ่ายถูกต้องเช่นเดียวกัน ซึ่งดูตัวอย่างได้จากการรับประหาร 19 ก.ย. ที่มีคนกลุ่มหนึ่งออกไปให้กำลังใจทหาร

แต่หลังเหตุการณ์นั้นมีลุงนวมทอง คนธรรมดาๆ ที่ขับแท็กซี่คนหนึ่งได้ขับรถพุ่งชนกับรถถัง โดยเขาบอกว่าเขาจะชนให้ตายไปในตอนนั้น แต่มีความผิดพลาดทำให้ลุงคนนั้นได้รับบาดเจ็บไม่ถึงตายในทีแรก แต่หลังจากนั้นกลุ่มนายทหารของคณะรัฐประหารได้ออกมาปรามาสว่า “ไม่มีคนที่ตายเพื่อประชาธิปไตยหรอก” แต่ลุงคนนั้นกลับยืนยันว่ามี และวันนี้ (31 ต.ค.) ของเมื่อสี่ปีที่แล้ว แกได้จบชีวิตตัวเองด้วยการแขวนคอตาย หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อต้องการยืนยันต่อสื่อและให้เผยแพร่ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศว่า มีคนที่พร้อมจะตายเพื่อประชาธิปไตย

แต่กระนั้นข่าวของลุงนวมทองในช่วงนั้นยังคงเป็นข่าวเล็กๆ ซึ่งมันดูเหมือนเป็นความเศร้า ที่ทุกฝ่ายดูเหมือนจะช่วยฝ่ายทหารสร้างภาพให้เหมือนกับว่าบ้านเมืองนี้มันยังเป็นปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มีคนที่คิดแบบลุงนวมทองมากอยู่ เพียงแต่ยังไม่มีใครมีความกล้าแบบลุงนวมทอง ลุงนวมทองจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

“ลุงนวมทองจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ เป็นการเมืองเชิงสัญลักษณ์ ที่เราจะต้องยึดมั่นไว้ และจะต้องไม่ลืมคนที่ชื่อลุงนวมทอง ไพรวัลย์” ณัฐกรกล่าว

ภัควดี ไม่มีนามสกุล กล่าวถึงการสังหารหมู่ประชาชนที่เกิดขึ้นในหลายๆ ครั้งมีสถาบันกองทัพเป็นเครื่องมือในการเข่นฆ่าประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีการไล่ทหารกลับเข้ากรมกองอย่างจริงๆ จังๆ มีการปฏิรูปสถาบันกองทัพ ทั้งนี้หากพูดเรื่องการยกเครื่องสังคมให้มีความเท่าเทียมกันนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ไกลไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ในเบื้องต้นตอนนี้เราจะต้องทำให้มีการเคารพในระบอบประชาธิปไตย เคารพเสียงของประชาชนก่อน ซึ่งหากเราได้สิ่งนี้มาค่อยก้าวคืบขึ้นไปปฏิรูปส่วนต่างๆ ได้

“สิ่งแรกที่เราจะต้องทำก่อน คือสร้างระบบประชาธิปไตยที่เป้นของประชาชนจริงๆ” ภัควดีกล่าว

จากนั้นได้กิจกรรมของงานอ่านบทกวี โดยแสงดาว ศรัทธามั่น, เพ็ญ ภัคตะ, อรุณรุ่ง สัตย์สวี, วิภู ชัยฤทธิ์ อรรคพล สาตุ้ม และณัฐวุฒิ วังเวียง จนฉายคลิปวิดิโอเรื่องลุงนวมทอง โดยก่อนเลิกกิจกรรมได้มีการจุดเทียนเพื่อรำลึกถึงลุงนวมทองด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net