ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน: แรงงานข้ามชาติอีสานใต้ ความไม่ปลอดภัยจากการทำงานที่ถูกหลงลืม

เผยข้อมูลแรงงานข้ามชาติในอีสานใต้ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ป่วยด้วยสารเคมีจากการทำงานภาคเกษตรเกินครึ่ง ชี้ค่าแรงต่อเดือนเพียง 1,500 บาท ด้านแรงงานภาคเกษตรส่วนใหญ่เป็นแรงงานเด็ก ชี้ความต้องการแรงงานสูง แต่คุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นกลับไม่มีใครหรือหน่วยงานใดให้การสนใจ

 
การหลั่งไหลเข้าประเทศไทยของประชาชนจาก สปป.ลาว มีหลายวัตถุประสงค์ด้วยกัน บ้างเข้ามาเพื่อการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค การมาเยี่ยมญาติ มาเที่ยวงานบุญ มารักษาพยาบาล เนื่องจากในฝั่งไทยมีบุคลากรทางการแพทย์และมียาที่ดีกว่าในประเทศของตัวเอง และยังมีอีกจำนวนมากเดินทางเพื่อหางานทำ เป็นการเข้ามาแบบมีเอกสารแล้วไม่กลับบ้านของตัวเองตามระยะเวลาที่อนุญาต 
 
เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเขมราฐ จ.อุบลราชธานี รายงานว่า มีประชาชน สปป.ลาวไม่น้อยกว่า 50,000 คนต่อปีที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยแล้วหายไป โดยไม่กลับคืนสู่บ้านของตัวเองตามระยะเวลาที่ขอข้ามแดนในเอกสาร อีกทั้งในพื้นที่ชายแดนอีสานใต้ยังมีแรงงานจาก สปป.ลาวที่ข้ามเขตมาทำงานตามฤดูกาลโดยไม่ทำเอกสารใดๆ แต่จะผ่านเข้ามาในชุมชนโดยมีนายหน้าเป็นผู้จัดการ เพื่อเข้ามาทำงานตามฤดูกาลเช่น ดำนา เกี่ยวข้าว ตัดอ้อย ปลูกยาสูบ ทำงานในสวนยางพารา อีกด้วย
 
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนรักษ์ ได้พัฒนาโครงการเพื่อทำกิจกรรมนำร่อง โดยเน้นการประสานความร่วมมือกับภาคีในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน 3 จังหวัดได้แก่ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่หน้าด่านของอีสานใต้
 
แรงงานตามฤดูกาลในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจาก สปป.ลาว ที่ไม่มีเอกสาร ไม่ได้จดทะเบียนตามเงื่อนไขของกรมจัดหางาน ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ หรือเข้าถึงบริการอันควรจะได้รับ ต้องเจอกับสภาพปัญหาในหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพชีวิต อาทิ ไม่มีที่พัก ไม่มีห้องน้ำที่เหมาะสม นายจ้างมักจะให้นอนอยู่ในพื้นที่ไร่ นา เพื่อจะได้หลบหลีกไม่ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเห็น ไม่มีน้ำสะอาดใช้อย่างเพียงพอ และกินอยู่อย่างไม่ถูกสุขลักษณะในระหว่างการทำงาน เมื่อได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือมีอาการเจ็บป่วย ก็จะไม่ไปหาหมอ เนื่องจากกลัวถูกจับ และมักจะไปหาหมอเมื่อมีอาการหนักแล้ว ทำให้รักษายากและส่งผลอันตรายต่อชีวิต การรับจ้างทำงานไม่มีอัตราค่าจ้างที่แน่นอน ไม่ได้คำนึงถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละพื้นที่ 
 
แรงงานที่ทำงานในพื้นที่เกษตรที่มีการใช้สารเคมีสูง ไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการป้องกันตัวเองจากสารเคมี แรงงานที่ทำงานตามสถานบันเทิง ไม่มีความรู้ในการรักษาตัวเอง ให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ และหลายคนกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เป็นต้น
 
นายสุนทร มิ่งแนน ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนรักษ์ สำนักงานโขงเจียม ระบุว่า “จากการสำรวจพบว่าแรงงานจาก สปป.ลาวที่เข้ามาจะมาทำนา ปลูกอ้อย ปลูกมัน และในระบบเกษตรพันธสัญญา คือการปลูกพืชเพื่อเอาเมล็ดพันธุ์ ส่วนมากจะมีการรับจ้างเป็นรายวัน โดยต้องหักเป็นรายจ่ายค่านายหน้าในการมาทำงาน 20 บาท ค่าเหยียบแผ่นดินอีกหัวละ 20 บาท เป็นต้น โดยเดินทางมาครั้งละ 10 ถึง 20 คน แต่มีค่าแรงเพียงแค่วันละ 100-120 บาท มีการพักในเต็นท์นอน ซึ่งไม่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะซึ่งงานเกษตรในแปลงเกษตรส่วนใหญ่ก็จะเป็นแรงงานเด็ก 
 
สภาพการทำงานมีลักษณะเป็นโรงเรือน มีการกางมุ้งซึ่งเป็นพื้นที่ปิด โดยแรงงานจะต้องผสมเกสรของพืชเพื่อให้ได้พันธุ์ที่แท้จริง ซึ่งการทำงานจะต้องรับและสัมผัสสารเคมีจำนวนมากโดยตรง แต่กลับไม่มีการดูแลรักษาความปลอดภัยของตนเอง 
 
กรณีเป็นแรงงานเด็กที่มาเป็นลูกจ้างขายสินค้าตามบ้านเป็นงานที่ได้ค่าจ้างถูกเพียงแค่ 1,500 ต่อเดือน แต่จะต้องทำงานที่หนัก เช่น การแบกสินค้า ทำงานบ้านจนไม่มีโอกาสพบปะคนอื่นทำให้ถูกหลอกเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์มากขึ้น 
 
แรงงานอีกกลุ่มที่มีจำนวนมากไม่แพ้กัน คือ คนที่มาทำงานสถานบันเทิง เป็นพนักงานบริการ กลุ่มพนักงานร้อยละ 100 มาจาก สปป. ลาว เข้ามาทำงานในร้านคาราโอเกะ ถ้าเข้าไปในพื้นที่มุกดาหารจะอยู่ในรูปแบบของนวดแผนโบรานที่ใช้บังหน้าการขายบริการซึ่งมีจำนวนมาก แต่แรงงานภาคบริการเหล่านี้กลับไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือบริการด้านสุขภาพได้น้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
 
จากการสำรวจข้อมูลของโครงการพบว่า แรงงานเหล่านี้ไม่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพเลย จากการลงพื้นที่ไปพูดคุยให้ความรู้เรื่องประเด็นสุขภาพ และเคยนำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปตรวจสุขภาพของแรงงานในฟาร์ม เพื่อตรวจสารตกค้าง ปรากฏว่ามาตรวจ 54 คน 4 คนแรกอันตราย 35 คนมีภาวะเสี่ยง ทุกคนที่เข้ามาตรวจจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมที่เกิดจากสารเคมีทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีเพื่อให้ความรู้แก่แรงงานและผู้ประกอบการต่อไป
 
สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาทำงานมากยิ่งขึ้น เพราะด้วยสภาพของจุดผ่านแดนที่ผ่านได้ง่าย ภาคเกษตรมีความต้องการแรงงานที่สูงขึ้น ร้านค้ามีความต้องการแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้นทุกร้าน แต่คุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นกลับไม่มีใครหรือหน่วยงานใดให้การสนใจ อีกทั้งปัจจุบันยังมีสถิติของการค้ามนุษย์ที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวอีกด้วย 
 
อย่างไรก็ตามคุณภาพชีวิตแรงงาน ขึ้นอยู่กับคุณธรรมของนายจ้างอีกส่วนหนึ่งด้วยที่จะช่วยกันดูแลแรงงานให้ได้ดีมากน้อยเพียงใด ซึ่งตอนนี้ทางโครงการฯได้มีการสร้าแกนนำนายจ้างเพื่อให้ข้อมูลและให้ความรู้แก่นายจ้างให้เห็นประโยชน์และคุณค่าของแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งจัดตั้งแกนนำแรงงานข้ามชาติในภาคส่วนต่างๆที่สนใจในเรื่องสุขภาพของตัวเอง โดยโครงการฯจะลงไปให้ความรู้เพื่อใช้ในถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงานข้ามชาติคนอื่นๆอีกด้วย เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่เป็นเพื่อนมนุษย์ไม่ต่างอะไรกับเราๆต่อไป” นายสุนทรกล่าว
 
 
หมายเหตุที่มา: ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency) ฉบับที่ 95 (1 พฤศจิกายน 2553)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท