Skip to main content
sharethis
 
 
 

 
 
26 ต.ค.53 ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก มีคนเสื้อแดงหลายร้อยคนทยอยเดินทางมาชุมนุมด้านหน้าตั้งแต่ช่วงสาย และมีตัวแทนกลุ่มต่างๆ ยื่นหนังสือถึงนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติซึ่งเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเจรจาทำงาน (working visit) ตามคำเชิญของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในช่วงที่พบหารือระหว่างการเข้าร่วมงานเปิดนิทรรศการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ (ELFI) เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เลขาธิการสหประชาชาติจะเดินทางต่อไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ครั้งที่ 3 ในวันที่ 29 ต.ค.นี้
สำหรับกลุ่มที่ยื่นหนังสือถึงนายบัน คี มุน ผ่านเจ้าหน้าที่ยูเอ็น ได้แก่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข  ตัวแทนกลุ่ม 24มิถุนาประชาธิปไตยและกลุ่มอื่นๆ มีเนื้อหาระบุถึงความผิดหวังที่นายบัน คี มูน พบปะจับมือกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับการสั่งสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนในหลายทาง พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ยูเอ็นสนับสนุนให้แกนนำ นปช.ได้สิทธิผู้ลี้ภัยทางการเมือง เรียกร้องนานาชาติร่วมกดดันต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน รวมถึงการนำฆาตกรแห่งรัฐมาลงโทษ
ส่วนศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกรณีสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ซึ่งรวมรวบข้อมูลผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ผู้ถูกจับกุมและผู้สูญหาย ได้นำรายงานทั้งหมดยื่นให้แก่เจ้าหน้าที่ยูเอ็น นอกจากนั้นยังช่วยเตรียมป้ายรณรงค์ เช่น "We want independent and impartial investigation" และ "Thai govt must respect human rights. “ACCEPT requests from SRs!" ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ ศปช. ระบุว่า จากการมีโอกาสร่วมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับผู้แทนพิเศษยูเอ็นด้านการต่อต้านการก่อการร้ายพบว่าทางยูเอ็นได้ยื่นคำร้องขอเดินทางเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ต้นปีมกราคม แต่รัฐบาลยังไม่ตอบรับ ดังนั้นภาคประชาชนจึงต้องนำประเด็นนี้มากดดันต่อไป การที่ไทยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิมนุษยชนโดยเอื้อให้กลไกระหว่างประเทศเหล่านี้ทำงานได้จริง
นอกจากนี้ยังนำส่งรายชื่อเกือบ 9,000 ชื่อทั่วโลกที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงนายบัน คี มุน เรียกร้องให้สหประชาชาติยุติความรุนแรงในประเทศไทย โดยเป็นองค์กรกลางในการนำทุกฝ่ายมาสู่โต๊ะเจรจา ดำเนินจัดการเลือกตั้งในประเทศไทยที่โปร่งใสและยุติธรรม รวมทั้งขอให้มีการตั้งทีมสอบสวนจากนานาชาติ เพื่อสอบสวนกรณีการสังหารพลเรือนที่บริสุทธิ์โดยกองกำลังของทหารไทย
จากนั้นในเวลาประมาณ 14.00 น. จึงมีคณะซึ่งได้ติดต่อขอเข้าพบนายบัน คี มูน ไว้ก่อนแล้วเดินทางมาตามนัดหมาย ได้แก่ นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของนางสาวกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุม , นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช.และส.ส.เพื่อไทย, จารุพรรณ กุลดิลก นักวิชาการ และนายรุ่งโรจน์ วรรณศูทร นักเขียน/นักกิจกรรมซึ่งเป็นผู้ล่ารายชื่อจดหมายเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมในประเทศไทย
ภายหลังตัวแทนทั้ง 4 คน กลับออกมายังภายนอกอาคารสหประชาชาติ ดร.จารุพรรณ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่รอทำข่าวจำนวนมากว่า นายบัน คี มุน ติดธุระสำคัญ แต่ได้ส่งเลขาฯ ส่วนตัวพร้อมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติมารับหนังสือ มีการพูดคุยกันประมาณ 15-20 นาที โดยเจ้าหน้าที่ยูเอ็นยืนยันว่าจะนำหนังสือดังกล่าวส่งต่อถึงมือนายกบัน คี มุน โดยตรงไม่ผ่านรัฐบาลไทย และทางยูเอ็นนั้นเข้าใจสถานการณ์และสภาพจิตใจของประชาชนไทยเป็นอย่างดี
“สถานการณ์ของเราตอนนี้ก็เหมือนกับที่เคยเกิดที่กวางจู ประเทศเกาหลีใต้ของท่านบัน คี มูน และเราไม่อยากให้ต้องใช้เวลายาวนานหลายสิบปีกว่าความจริงจะปรากฏและผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษ” จารุพรรณกล่าว
นายจตุพร กล่าวว่า ในการยื่นหนังสือครั้งนี้ได้มีการรวบรวมหลักฐานโดยละเอียดรวมทั้งวีดีซีคลิปวิดีโอต่างๆ เพื่อยื่นให้ทางยูเอ็นอีกครั้งหนึ่ง ให้ยูเอ็นเข้าใจว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายอย่างที่นายอภิสิทธิ์กล่าวหาที่นิวยอร์กและไม่ได้ฆ่าพวกเดียวกันเองอย่างที่นายชวน หลีกภัย อ้างโดยไม่มีหลักฐาน และคาดหวังว่าจะได้ความยุติธรรม ความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยูเอ็นจะได้เห็นกระบวนการที่มีปัญหาของไทย และเข้ามาแก้ปัญหาเหมือนกับที่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศต่างๆ
จตุพรกล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญอีกประการคือ ปัจจุบันผู้ถูกคุมขังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อหาคนร้ายมาลงโทษ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางสำนักทนายความของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ได้ยื่นเรื่องต่อศาลโลกแล้วอีกช่องทางหนึ่ง และกำลังเข้าสู่การเริ่มต้นของชั้นอัยการ
ส่วนคำถามถึงความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงนั้น นายจตุพรระบุว่า ช่วงนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินสายตามต่างจังหวัด ส่วนในกรุงเทพนั้นคาดว่าในวาระครบรอบ 6 เดือนการสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ย.จะมีคนเสื้อแดงมารวมตัวนับแสนคน นอกจากนี้จตุพรยังฝากถึงพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ว่า ควรเคารพประชาชน อย่ามาข่มขู่ประชาชนที่จะแสดงสิทธิเสรีภาพ และควรแสดงท่วงทำนองที่เป็นประชาธิปไตย การเคารพประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ของผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ยังมีกลุ่มและบุคคลต่างๆ ที่ฝากยื่นจดหมายถึงนายบัน คี บุน กับคณะของนายจตุพรด้วย ไม่ว่าจะเป็นนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นเบื้องสูงจากการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญในโรงภาพยนต์ ซึ่งหนังสือของเขาเรียกร้องให้ยูเอ็นตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดย “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อย่างจริงจัง เนื่องจากมีการใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อกลั่นแกล้งหรือทำลายศัตรูทางการเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยการตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางจนมีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ถึง 430 คดีในช่วง 5 ปีที่ผ่าน, กรณีกลุ่มโรฮิงยาห์ในประเทศไทยซึ่งเรียกร้องให้สหประชาชาติให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในพม่าเนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าควบคุมทุกอย่างอย่างเข้มงวดและขาดความโปร่งใส รวมทั้งยังห้ามการรายงานข่าวเลือกตั้งด้วย, กรณีการปิดวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงที่ขอนแก่น, จดหมายจากนายคอนเนอร์ เดวิด เพอร์แชล ซึ่งเคยขึ้นเวทีนปช.หลังเหตุการณ์ 10 เม.ย.และถูกจับกุมคุมขังหลังการสลายการชุมนุมนานหลายเดือนก่อนถูกปล่อยตัวกลับประเทศออสเตรเลีย โดยจดหมายเล่าถึงประสบการณ์ตรงของเขา และเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติต้องแสดงความเกี่ยวข้องต่อเรื่องดังกล่าวด้วยการกดดันให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน รวมถึงทบทวนสถานะประเทศไทยที่เป็นพันธมิตรนอกสนธิสัญญานาโต เนื่องจากมีหลักฐานภาพถ่ายและวีดิโอจำนวนมากที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากองทัพไทยใช้อาวุธหนักจำนวนมากเข้าสังหารประชาชนที่ชุมนุมด้วยมือเปล่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลาประมาณ 15.30 น. หลังสิ้นสุดการยื่นหนังสือ คนเสื้อแดงบางส่วนยังไม่กลับและเดินไปประตูด้านข้างตึกยูเอ็นเพื่อดักพบนายบัน คี มุน แต่โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำการผลักดันจนกระทั่งเกิดการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย มีการผลักหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งล้มลง ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความโกรธแค้นต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่อีกพักใหญ่
ด้านนายบัน คี มุน ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยที่ทำเนียบรัฐบาล และได้แถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรี ว่า ยินดีที่ได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและประชาชนไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ขอแสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทยจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ย้ำเตือนถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หลังจากนี้เราจะร่วมมือกันให้แข็งแกร่งขึ้นระหว่างไทยและอาเซียน ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ขอชื่มชมประเทศไทยที่แสดงความเป็นผู้นำที่ดีในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้นำในการรักษาสันติภาพ เพราะไทยเป็นประเทศแรกที่ไม่ใช่อัฟริกาที่ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังเมืองดาร์ฟู ประเทศซูดาน และยูเอ็นยินดีหากไทยจะส่งตำรวจหญิงไปทำหน้าที่ยับยั้งอาชญากรรมทางเพศที่กระทำกับผู้หญิงกับเด็กในหลายประเทศ โดยเฉพาะ เฮติ
นายบัน คี มุน กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายกฯไทยเรื่องการเมืองในพม่า ถึงเรื่องที่อาเซียนจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือพม่าให้มีกระบวนการประชาธิปไตยที่เป็นความโปร่งใส ความยุติธรรม น่าเชื่อถือ สามารถรวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตามความคาดหวังของประชาคมโลก หากพม่ามีกระบวนการที่ชัดเจนในการสร้างประชาธิปไตยจะสามารถพาตัวเองออกจากระบบเดิมๆ และสร้างความน่าเชื่อถือให้พม่าได้ดีขึ้น ยูเอ็นเสนอความช่วยเหลือด้านการขนส่ง ด้านเทคนิค และการประสานกับพม่า แต่การหารือกับผู้นำพม่า ทราบว่าเขาไม่ประสงค์จะรับความช่วยเหลือจากภายนอก แต่ยูเอ็นก็ยังประสงค์ที่จะติดต่อปฏิสัมพันธ์กับพม่าอย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าการเปลี่ยนแปลงในพม่าส่งผลต่อการรวมตัวเป็นประชาคมของอาเซียน ซึ่งอาเซียนกับไทยอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะให้ความช่วยเหลือให้พม่าไปสู่ประชาธิปไตยได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีของยูเอ็นต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศในเดือนเม.ย.-พ.ค. 53 นายบัน คี มุน กล่าวว่า ได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีไทยเช่นกันถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องภายในประเทศไทย ควรจะได้รับการแก้ไขระหว่างคนไทยกันเองทั้งเรื่องการเมืองและสังคม ขณะนี้คณะกรรมการปรองดองและกรรมการหาข้อเท็จจริงก็ได้เริ่มทำงานแล้ว คณะกรรมการก็ได้แสดงออกถึงการเปิดรับข้อมูลต่างๆและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประชาคมโลก ที่ผ่านมาได้ขอความช่วยเหลือด้านเทคนิคกับยูเอ็น ซึ่งยูเอ็นก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคต่อคณะกรรมการนี้ เราควรจะเรียนรู้จากเหตุการณ์ต่างๆว่าเกิดอะไรขึ้นหวังว่าเหตุการณ์ทั้งหมดจะได้รับการสอบสวนอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทุกกรณีควรได้รับการตรวจสอบโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
 
 
ที่มาบางส่วนเรียบเรียงจากเว็บไซต์คมชัดลึก และเว็บไซต์เดลินิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net