สรุปยอดน้ำท่วม 32 จังหวัด 977,340 ครัวเรือน เสียชีวิตแล้ว 38 ราย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์อุทกภัยล่าสุด มีจังหวัดประสบภัยเพิ่มรวม 32 จังหวัด ราษฎรเดือดร้อน 977,340 ครัวเรือน เสียชีวิตทั้งสิ้น 38 ราย คาดใช้เวลาระบายน้ำอีกครึ่งเดือน เตือน กทม.ระวังน้ำทะเลหนุนช่วง 26-28 ต.ค.และ 8 พ.ย.นี้

   
วานนี้ (25 ต.ค.53) นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยปัจจุบัน โดยจังหวัดที่มีสถานการณ์อุทกภัยมีทั้งสิ้น 27 จังหวัด 225 อำเภอ 1,646 ตำบล 12,414 หมู่บ้าน 940,673 ครัวเรือน 2,651,944 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 2,878,598 ไร่ ได้แก่ จังหวัดพิจิตร ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระแก้ว นครราชสีมา ปราจีนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยภูมิ สระบุรี เพชรบูรณ์ นครนายก ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นนทบุรี ปทุมธานี กำแพงเพชร นครปฐม อุทัยธานี เชียงใหม่ ลำพูน และจังหวัดสมุทรปราการ และมีจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ตาก และจังหวัดชลบุรี
 
สำหรับสถานการณ์ระหว่าง 10 - 24 ต.ค.ที่ผ่านมา มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น 32 จังหวัด 249 อำเภอ 1,757 ตำบล 13,019 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 977,340 ครัวเรือน 2,765,228 คน โดยมีผู้เสียชีวิตมี 38 ราย แบ่งเป็น จ.ระยอง 1 ราย จ.ตราด 1 ราย จ.สระแก้ว 1 ราย จ.นครราชสีมา 9 ราย จ.ลพบุรี 10 ราย จ.นครสวรรค์ 4 ราย จ.ชัยภูมิ 1 ราย จ.สระบุรี 1 ราย จ.บุรีรัมย์ 6 ราย ขอนแก่น 3 ราย จ.อุทัยธานี 1 ราย เป็นบุคคลสัญชาติไทย 37 ราย กัมพูชา 1 ราย
 
นายวิบูลย์กล่าวด้วยว่า ในส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัย ได้ประสานความร่วมมือกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
 
ด้าน นายนพพร ชัยพิชิต ผอ.สำนักชลประทานที่ 10 กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำไหลที่จังหวัดนครสวรค์ 2,799 ลบ.ม.ต่อวินาที และระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,281 ลบ.ม.ถือว่าเพิ่มไม่มากจากวานนี้ น้ำจำนวนนี้จะระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และมาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดได้ประมาณ 1,152 ลบ.ม.ต่อวินาที สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 5 เมตร ขณะที่การระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักลดลงเหลือ 1,100 ลบ.ม.เมื่อรวมกับน้ำเจ้าป่าสัก ที่บางไทร มีปริมาณทั้งหมด 3,275 ลบ.ม.และจะไหลเข้า กทม.ประมาณ 1 วัน ซึ่งน้ำจำนวนนี้ถือว่ายังรับมือไหว ขณะนี้ระดับน้ำทะเลในช่วงดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ระดับ 2.60-2.70 เมตร โดยประมาณหรือปริ่มคันกั้นน้ำของ กทม.
    
อย่างไรก็ตาม เขื่อนต่างๆ เช่น ป่าสัก และเขื่อนเจ้าพระยา ได้เริ่มลดการระบายน้ำลงแล้ว ประกอบกับร่องมรสุมได้พัดผ่านไปใต้แล้ว ตอนนี้ปริมาณฝนภาคเหนือและภาคกลางลดลงเหลือเพียงกระจาย ไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำไหลหลากในลุ่มน้ำเจ้าพะยา ทั้งนี้ เราเร่งระบายน้ำเต็มที่ให้อยู่ในระดับตลิ่ง คาดว่า จะใช้เวลาประมาณครึ่งเดือน แต่อาจล้นตลิ่งบ้างในพื้นที่ลุ่ม อย่างไรก็ตาม กทม.ยังต้องระวังน้ำทะเลหนุนช่วง 26-28 ต.ค.และ 8 พ.ย.
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท