Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การอ่อนตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อต้นเดือนนี้    แม้รมต.คลังสหรัฐฯยืนยันว่าสนับสนุนให้ดอลลาร์แข็งตัว    คำยืนยันดังกล่าวไม่มีน้ำหนักเพราะธนาคารกลางสหรัฐฯไม่มีนโยบายพยุงค่าเงินและแสดงท่าทีว่าจะใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไป    กล่าวได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯถือคติว่า “เงินตราของเรา  ปัญหาของคุณ” (Our currency, your problem)   

อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความสำคัญมากในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ    เพราะนานาประเทศหวังพึ่งตลาดต่างประเทศเพื่อทดแทนการหดตัวของตลาดในประเทศ    การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินอ่อนลงเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน (Competitive devaluation) เป็นมาตรการที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้มานาน    ถ้าหลายประเทศใช้พร้อมกันก็เกิดสงครามเงินตรา (Currency war)  กล่าวคือ   ความพยายามทำให้เงินอ่อนตัวจนอาจลุกลามเป็นความขัดแย้งทางการเมือง    สงครามเงินตราเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต  เช่น  สงครามเงินตราในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม   ซึ่งจบลงด้วยข้อตกลงระหว่างประเทศอุตสาหกรรมให้เงินเยนและเงินมาร์คแข็งตัวขึ้น   สงครามเงินตราที่มีผลกระทบมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินระหว่างประเทศคือสงครามเงินตราในสมัยรัชกาลที่ 7   ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศอุตสาหกรรมจนวิกฤตเศรษฐกิจลุกลามไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2   วิกฤตดังกล่าวได้ลุกลามมาถึงไทยจนเกิดแรงกดดันให้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 

ภาวะบาทแข็งในปัจจุบัน
โดยนิยามการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์คือการแข็งตัวของเงินสกุลอื่น    การประเมินภาวะบาทแข็งต้องคำนึงถึงโครงสร้างการค้าขายระหว่างประเทศเพราะเงินของประเทศคู่ค้าก็ปรับตัวด้วย    เราต้องดูค่าเฉลี่ยของการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินของประเทศคู่ค้าต่างๆ   นอกจากนี้ราคาสินค้าส่งออกขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อด้วย   ดังนั้นเราต้องปรับค่าเฉลี่ยดังกล่าวด้วยอัตราเงินเฟ้อของไทยและประเทศคู่ค้า    สถิตินี้เรียกว่าดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (Real effective exchange rate)   

รูปข้างล่างแสดงดัชนีค่าเงินที่แท้จริงของไทยและประเทศคู่แข่งที่สำคัญระหว่าง ม.ค. 2550 และ ก.ย. 2553   ประเด็นคือการเปลี่ยนแปลงของดัชนีไม่ใช่ระดับของดัชนี   การปรับตัวขึ้นของดัชนีบ่งบอกว่าเงินแข็งขึ้น   รูปนี้สมมุติให้ดัชนีเดือน ม.ค. 2550 เป็น 100    ปี 2550 เป็นปีที่วิกฤตการเงินปะทุที่สหรัฐฯ   ปัญหาหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยทำให้แบร์สเติร์นส์ (Bear Stearns) ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจเก่าแก่ต้องปิดกิจการ   เห็นได้ชัดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเอ่อนลงเพียงสกุลเดียว   เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2550 แล้วเงินดอลลาร์อ่อนลง 6%    เงินเยนแข็งที่สุดคือแข็งขึ้น 23%   แต่ต้นปีที่แล้วเงินเยนญี่ปุ่นแข็งขึ้นถึง 30%    รองลงมาคือเงินหยวนจีนซึ่งแข็งขึ้น 16%  ต้นปีที่แล้วเงินหยวนแข็งขึ้นถึง 20%  เงินสกุลอาเซียนทั้ง 4 สกุลได้แก่ดอลลาร์สิงคโปร์   เงินบาท  เปโซฟิลิปปินส์   และริงกิตมาเลเซียแข็งขึ้นไล่เลี่ยกันด้วยอัตรา 11% 9%  8% และ 7% ตามลำดับ   ยังไม่มีสถิติของเดือนนี้ซึ่งเป็นเดือนที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนทะลุอัตรา 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ    อย่างไรก็ตาม   ชัดเจนว่าสหรัฐฯชนะสงครามเงินตราครั้งนี้อย่างขาดลอย    เงินดอลลาร์ไม่เพียงแต่อ่อนค่าลงแต่เงินสกุลอื่นๆยังแข็งขึ้นมากกว่าที่เงินดอลลาร์อ่อนลงเสียอีก 
 

 

 

ใครได้ใครเสียจากภาวะบาทแข็ง? 
กลุ่มที่เสียหายจากภาวะบาทแข็งคือผู้ส่งออก   โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายย่อยที่รายจ่ายตายตัว (Fixed cost) มีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับมูลค่าการผลิต    เมื่อผู้ส่งออกเสียหายแรงงานในภาคส่งออกก็ได้รับผลกระทบด้วย    งานวิจัยเชิงประจักษ์พบว่าการแข็งค่าของเงินมีผลกระทบเชิงลบต่อมูลค่าการส่งออกด้วยความเฉื่อยประมาณ 6-12 เดือน    ถ้าค่าเงินแข็งวันนี้มูลค่าส่งออกจะลดลงใน 6-12 เดือนข้างหน้า    เนื่องจากสัญญาซื้อขายสินค้ากำหนดราคาและปริมาณสินค้าก่อนค่าเงินจะเปลี่ยน   และผู้ส่งออกมักยอมลด Profit margin ในระยะสั้น    ดังนั้นสถิติการส่งออกในระยะสั้นจะไม่แสดงผลกระทบจากจากค่าเงิน    ผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกขึ้นอยู่กับทั้งอัตราการแข็งค่าของเงินและความยืดหยุ่นของการทดแทน (Elasticity of substitution)  ของสินค้า    แม้ว่าเงินบาทแข็งขึ้นด้วยอัตราที่ต่ำกว่าดอลลาร์สิงคโปร์ 2% (ดูดัชนีค่าเงินที่แท้จริงในรูปข้างบน)    สินค้าและบริการของไทยยังมีคุณภาพไม่สูงทำให้ประเทศคู่ค้าทดแทนด้วยสินค้าและบริการจากประเทศคู่แข่งได้ง่าย    ดังนั้นการหดตัวของปริมาณการส่งออกของไทยน่าจะมากกว่าการหดตัวของปริมาณสินค้าและบริการจากสิงคโปร์ 

กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากภาวะบาทแข็งมี 5 กลุ่ม

1.    ผู้นำเข้าสินค้าบริโภค (Consumption goods) จากต่างประเทศและผู้บริโภค   ในแง่ดีภาวะบาทแข็งทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสบริโภคสินค้าที่หลากหลายและได้ใช้สินค้าคุณภาพสูงในราคาที่ต่ำลง    ในแง่ไม่ดีทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยราคาต่ำลง   อาจทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มสร้างหนี้สินเพื่อบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย

2.    ผู้นำเข้าสินค้าทุน (Capital goods) ที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าเพื่อบริโภคในประเทศ  เช่น  ผู้นำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง   ในแง่ดีผู้ประกอบการแบ่งกำไรให้แรงงานได้โดยการขึ้นค่าแรงและนำกำไรไปลงทุนเพื่อยกระดับเทคโนโลยีได้   ในแง่ไม่ดีผู้ประกอบการอาจผูกขาดทั้งตลาดแรงงานและตลาดสินค้า   ในกรณีนี้กำไรจากภาวะบาทแข็งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้มากขึ้น

3.    นักลงทุนไทยในตลาดตราสารหนี้   ตลาดหุ้น   และตลาดอสังหาริมทรัพย์   ได้กำไรจากส่วนต่างของราคาทรัพย์สิน   เพราะเม็ดเงินจากทุนต่างชาติเข้ามาหนุนแรงซื้อ    แม้ว่ากฏหมายไทยในปัจจุบันยังไม่ยินยอมให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย   ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของห้องชุดคอนโดมิเนียมและสามารถจดทะเบียนร่วมทุนกับคนไทยเพื่อทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์

4.    นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดตราสารหนี้   ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาฯ    กำไรที่ชัดเจนที่สุดคือส่วนต่างดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้    ส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยไม่ต้องเสียภาษีเหมือนในสหรัฐฯและอังกฤษ (และอีกหลายประเทศ)   ทุนต่างชาติมีปริมาณสูงมากจึงสามารถดันราคาสินทรัพย์ในตลาดทุนให้ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง   ในอนาคตเมื่อทุนต่างชาติไหลออกราคาหลักทรัพย์จะปรับตัวลงอย่างรวดเร็วแต่ทุนต่างชาติเป็นผู้กำหนดราคา    ดังนั้นนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นจะรับภาระขาดทุนหลังทุนต่างชาติออกไปแล้ว    การลงทุนในตลาดอสังหาฯไทยก็ไม่มีภาษีทรัพย์สินแบบในสหรัฐฯหรือยุโรป    ผลกำไรสุทธิจากตลาดอสังหาฯไทยจึงมากกว่าการลงทุนในต่างประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับอสังหาฯที่ราคาเท่ากัน

5.    กลุ่มทุนไทยที่นำทุนออกไปซื้อกิจการต่างประเทศ    ในแง่ดีกลุ่มนี้สามารถซื้อเทคโนโลยีแล้วนำเข้ามาต่อยอดในประเทศเพื่อยกระดับเทคโนโลยีและช่วยสร้างงาน   ในแง่ไม่ดีคือการลงทุนซื้อกิจการต่างประเทศอาจเป็นเพียงการเก็งกำไรในระยะสั้น    เมื่อเงินบาทอ่อนลงในอนาคตหลังจากที่ทุนต่างชาติไหลออกแล้ว    กลุ่มนี้สามารถขายกิจการในต่างประเทศแล้วนำกำไรจากส่วนต่างกลับมาซื้อทรัพย์สินในไทย    วิธีการทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวคล้ายคลึงกับการช้อนซื้อทรัพย์สินไทยโดยกลุ่มทุนต่างชาติด้วยราคาถูกหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540  

        
มาตรการแก้ไขปัญหาเงินดอลลาร์อ่อนตัว
ประเทศต่างๆรับมือกับภาวะดอลลาร์อ่อนตัวด้วยมาตรการดังต่อไปนี้

1.    การแทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศ     เช่น  การแทรกแซงของธนาคารกลางญี่ปุ่น  จีนและสิงคโปร์   ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงค์ชาติได้เปลี่ยนมาใช้ระบบแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เสรีกว่าระบบตะกร้าเงินตั้งแต่ปี 2540   ระบบนี้เป็นผลโดยตรงจากการสูญเสียทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ    ถ้าตอนนี้ไทยหันกลับไปใช้ระบบเดิมแบงค์ชาติก็ต้องแทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศด้วยการขายเงินบาทและซื้อเงินดอลลาร์    นโยบายนี้จะสร้างปัญหาเงินเฟ้อและเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่     ปัญหาเงินเฟ้อก็เป็นปัญหาสำหรับจีน    แต่จีนถือว่าซื้อเวลาเพื่อใช้ภาคส่งออกถ่ายเทแรงงานออกจากภาคเกษตร    ที่สำคัญจีนต่อรองให้บรรษัทข้ามชาติขึ้นค่าแรงได้    ดังนั้นผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อต่อคุณภาพชีวิตของคนรายได้ต่ำในจีนน้อยกว่าในไทย    นอกจากนี้จีนมีอำนาจในตลาดสินค้าโลกจึงกำหนดราคาสินค้าส่งออกให้ชดเชยอัตราเงินเฟ้อได้   ส่วนญี่ปุ่นไม่มีปัญหาเงินเฟ้อและมีปัญหาประชากรลดลงซึ่งเป็นปัจจัยหนุนภาวะเงินฝืด   ดังนั้นญี่ปุ่นจึงแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศโดยไม่ต้องกังวลปัญหาเงินเฟ้อ    ส่วนสิงคโปร์มีความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ต่ำกว่าไทยเพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์มีขนาดเล็กมาก    

2.    การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าทำสัญญาค้าขายระหว่างประเทศและชำระเงินด้วยเงินสกุลของตนแทนเงินดอลลาร์   นโยบายนี้ใช้ในสหภาพยุโรปและจีน   นโยบายของจีนได้รับการตอบรับที่ดีจากธนาคารต่างชาติรวมทั้งธนาคารอเมริกัน   วิธีบริหารความเสี่ยงแบบนี้ราคาถูกกว่าทำสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้าและเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาเงินเป็นเงินนานาชาติเพื่อแข่งขันกับเงินดอลลาร์ในอนาคต    ไทยมีอำนาจต่อรองในตลาดสินค้าและตลาดเงินตราต่างประเทศน้อยกว่าสหภาพยุโรปและจีน   ไทยจึงไม่สามารถสนับสนุนให้ผู้ส่งออกทำสัญญาซื้อขายสินค้าด้วยเงินบาทได้     จึงสนับสนุนให้ผู้ส่งออกทำสัญญาซื้อขายเงินบาทล่วงหน้าแทน    การบริหารความเสี่ยงด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดตรงที่ว่าเงินบาทไม่ใช่เงินสกุลหลักที่มีปริมาณการซื้อขายล่วงหน้ามากแบบเงินเยน   ในภาวะความเสี่ยงสูงมักหาคู่ค้าธุรกรรม (Counterparty) ยากและทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมสูงขึ้น   

3.    การลดดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐฯเพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ย   เช่น นโยบายของธนาคารกลางที่ญี่ปุ่น  สวิสเซอร์แลนด์   อังกฤษ   สิงคโปร์  ฯลฯ  นโยบายนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่   เพราะทำให้ทุนในประเทศไหลเข้าตลาดหุ้น  ตลาดตราสารหนี้  และตลาดอสังหาฯแทนทุนต่างชาติ    ประเทศที่ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซาสามารถใช้นโยบายนี้ได้     โปรดสังเกตุว่าการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในเดือน ตค. 2551  เป็นการประสานนโยบายลดดอกเบี้ยพร้อมธนาคารกลางยุโรป  ธนาคารกลางอังกฤษ   สวีเดน  สวิสเซอร์แลนด์  และแคนาดา   ความร่วมมือดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามเงินตราระหว่างประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก 

4.    นโยบายควบคุมการไหลเวียนของทุนต่างชาติ    มีทั้งที่ใช้กฏเกณฑ์จำกัดธุรกรรมแบบจีนหรืออินเดีย    และการเก็บภาษีจากเงินทุนต่างชาติแบบบราซิล    ในปีนี้บราซิลได้ประกาศขึ้นอัตราภาษีที่เก็บจากทุนต่างชาติถึง  2 ครั้ง   ภาษีดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับทุนต่างชาติทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น   มีผลบังคับครอบคลุมถึงกองทุนรวม  กองทุนบำนาญและเฮดจ์ฟันด์จากต่างประเทศ    การส่งเสริมให้ทุนไหลออกนอกประเทศไม่ใช่มาตรการโดยตรงที่ทำให้เงินอ่อนค่าลง    จีนคือตัวอย่างที่ชัดเจน   แม้จีนอนุญาตให้คนจีนไปลงทุนในต่างประเทศได้บ้างและให้สถาบันการเงินต่างชาติเริ่มซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลจีน   นโยบายนี้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเงินหยวนให้เป็นเงินนานาชาติเพื่อแข่งขันกับเงินดอลลาร์ในอนาคต   และใช้พร้อมกับการทำสัญญาค้าขายระหว่างประเทศด้วยเงินหยวน    ปัจจุบันกระทรวงการคลังของไทยได้เสนอให้จัดเก็บภาษีจากดอกเบี้ยจากการลงทุนในตราสารหนี้ของทุนต่างชาติด้วยอัตรา 15%   แต่ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่ารัฐสภาจะอนุมัติเมื่อไรและจะมีผลบังคับใช้เมื่อไร    จึงกล่าวได้ว่าไทยยังไม่มีมาตรการควบคุมการไหลเวียนของทุนต่างชาติ    

ทางเลือกของไทย
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้ว   ไทยมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมากกว่าญี่ปุ่น    มีอำนาจต่อรองในตลาดสินค้าโลกน้อยกว่าจีน  มีอำนาจต่อรองค่าแรงกับบรรษัทข้ามชาติน้อยกว่าจีน    มีตลาดอสังหาฯขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์    ดังนั้นการเข้าร่วมสงครามเงินตราด้วยการแทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศไม่ใช่นโยบายที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว    การลดดอกเบี้ยก็ทำได้เพียงเล็กน้อยเพราะตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาฯของไทยไม่ซบเซา   ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ไม่ลดดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับสหรัฐฯ   บราซิลก็จำเป็นต้องใช้ดอกเบี้ยสูงกว่าสหรัฐฯเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่

ทางเลือกอื่นคือการควบคุมการไหลเข้าของทุนต่างชาติควบคู่ไปกับการลดดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยหรือคงดอกเบี้ยไว้   การควบคุมทุนต่างชาติมี 2 วิธี  หนึ่งคือกระทรวงการคลังเก็บภาษีจากทุนต่างชาติเหมือนนโยบายในบราซิล    สองคือวิธีที่ชิลีใช้ในอดีต    กล่าวคือ  ธนาคารกลางกำหนดว่ากี่เปอร์เซ็นต์ของทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นต้องกลายเป็นทุนสำรองในบัญชีที่ไม่ได้ดอกเบี้ยนานเท่าไร   ที่สำคัญคือต้องประกาศกฏเกณฑ์ให้นักลงทุนรู้ล่วงหน้าว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อไร    ไม่ใช่ทำโดยไม่ประกาศล่วงหน้าแบบที่ไทยลองเมื่อ 3 ปีที่แล้ว    การประกาศล่วงหน้าจะป้องกันภาวะตื่นตระหนกในตลาดทุน
 
ทุนต่างชาติไหลทะลักเข้าตลาดทุนไทยใน 3-4 ปีที่ผ่านมาเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและดอกเบี้ยต่ำที่สหรัฐฯ   ยุโรป  และญี่ปุ่น   ทำให้สถาบันการเงินต่างชาติไม่ค่อยมีที่เก็งกำไร   ด้วยเหตุนี้อำนาจต่อรองของไทยในตลาดทุนจึงสูงกว่าทศวรรษที่แล้วมากมาย   ขณะนี้ไทยสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อตั้งกฎเกณฑ์ควบคุมทุนต่างชาติให้มีแรงจูงใจลงทุนระยะยาว    มิฉะนั้นทุนต่างชาติจะเก็งกำไรและดันให้เงินบาทแข็งจนอาจจะทำลายฐานส่งออก   เมื่อทุนต่างชาติไหลออกในภายหลัง    เงินบาทจะอ่อนตัวลงแต่ตอนนั้นฐานส่งออกอาจจะถูกทำลายแล้ว    ผู้ส่งออกไม่สามารถปรับตัวในเวลาระยะสั้น   เมื่อเทียบกับมูลค่าผลผลิตแล้วรายจ่ายตายตัว (Fixed cost) ของการผลิตเพื่อส่งออกสูงกว่าการรายจ่ายตายตัวของการลงทุนในตลาดทุน   

แม้ว่าในระยะยาวทุกประเทศมีเป้าหมายลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ    โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังห่างไกลจากจุดนั้นเป็นทศวรรษ   ในด้านการผลิตไทยยังไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยีที่ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการบริโภค   อาทิ   การรักษาพยาบาล   อาวุธยุทโธปกรณ์   เครื่องจักรกล  ยานพาหนะ ฯลฯ   ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างชัดเจนของประเทศที่ปรับค่าเงินหลังพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว    การพัฒนาคุณภาพสินค้าส่งออกขึ้นอยู่กับทั้งภาคส่งออกและภาคธุรกิจอื่น    เพราะคุณภาพวัตถุดิบและบริการที่เป็นปัจจัยการผลิตมีอิทธิพลกับคุณภาพสินค้าส่งออกเท่ากับเทคโนโลยีของผู้ส่งออก    ดังนั้นคุณภาพแรงงานในภาคธุรกิจอื่นมีผลกระทบต่อคุณภาพสินค้าส่งออกด้วย    เป็นไปไม่ได้ที่ภาคส่งออกจะพัฒนาคุณภาพสินค้าได้ฉับไวในเวลาไม่กี่ปี    ในด้านการบริโภค   กำลังซื้อในไทยยังไม่สูงพอที่จะยกระดับรายได้และฐานภาษีเพื่อสร้างสวัสดิการสังคม    สวัสดิการสังคมในที่นี้คือการประกันความเสี่ยงขั้นพื้นฐานที่แม้แต่ประเทศทุนนิยมสุดขั้วอย่างสหรัฐฯยังมี   เช่น  ประกันการตกงาน  (Unemployment insurance)    ดังนั้นการส่งออกจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาไทยไปอีกหลายทศวรรษ     การแทรกแซงตลาดทุนเพื่อแก้ปัญหาบาทแข็งจึงเป็นนโยบายที่สำคัญมากต่ออนาคตของไทย    

แม้ว่าสถาบันการเงินต่างชาติจะไม่ชื่นชอบนโยบายควบคุมทุนต่างชาติ    ถ้าเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพสถาบันการเงินต่างชาติจะปรับตัวได้เอง    เพราะการลงทุนในตลาดทุนมีรายจ่ายตายตัว (Fixed cost) ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการผลิต     ไทยไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวว่าทุนต่างชาติจะไม่ไหลกลับมา    แม้แต่อาร์เจนตินาที่เคยชักดาบไม่จ่ายดอกเบี้ยตอนเศรษฐกิจตกต่ำก็ไม่มีปัญหาว่าเงินทุนนอกไม่ไหลกลับ    เมื่อเศรษฐกิจในประเทศดีหรือเมื่อเศรษฐกิจต่างประเทศซบเซาทุนต่างชาติจะไหลกลับมาเอง   แม้ IMF จะคัดค้านการควบคุมทุนต่างชาติ    นั่นไม่ได้หมายความว่าไทยจะเสียสิทธิการเป็นสมาชิกของ IMF   ไทยไม่จำเป็นต้องตามนโยบายของ IMF ตราบใดที่ไม่กู้เงินจาก IMF   นอกจากนี้สมดุลอำนาจใน IMF ได้มาถึงยุคเปลี่ยนผ่านแล้ว    อีกไม่นานประเทศในเอเชียตะวันออกและตะวันออกกลางจะมีอำนาจใน IMF สูสีกับสหรัฐฯและสหภาพยุโรปโดยการนำของจีน เกาหลีใต้ และซาอุดิอาระเบีย    ส่วนประเทศในละตินอเมริกามีบราซิลเป็นหัวหอกต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจใน IMF   

ปรากฎการณ์ที่ทุนต่างชาติไหลทะลักเข้าตลาดทุนไทยเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและดอกเบี้ยต่ำที่สหรัฐฯ   ยุโรป  และญี่ปุ่น   เหมือนการไหลทะลักของทุนต่างชาติเข้าตลาดทุนไทยก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540    ถ้าทุนต่างชาติยังไหลเข้ามาดันราคาทรัพย์สินในตลาดทุนและตลาดอสังหาฯอย่างเสรีต่อไป    เมื่อเศรษฐกิจประเทศอื่น(ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสหรัฐฯ  ยุโรปหรือญี่ปุ่น)ดีขึ้น   หรือเมื่อต่างประเทศปรับดอกเบี้ยขึ้น    หรือเมื่อความเสี่ยงด้านการเมืองไทยเพิ่มขึ้น   เงินทุนต่างชาติจะไหลออกแล้วตลาดทุนและตลาดอสังหาฯจะซบเซาเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง    และนั่นจะยิ่งซ้ำเติมความเสียหายจากภาคส่งออกจนอาจก่อปัญหาหนี้เสียในสถาบันการเงินได้    นโยบายควบคุมทุนแบบชิลิน่าจะป้องกันการไหลออกของทุนอย่างกะทันหันและสร้างเสถียรภาพได้มากกว่าการเก็บภาษีจากทุนต่างชาติแบบบราซิล    การไหลออกของทุนต่างชาติอย่างกะทันหันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินครั้งใหญ่เหมือนหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง    กล่าวคือ   ทุนต่างชาติจะย้อนกลับมาซื้อทรัพย์สินไทยด้วยราคาถูกในภายหลังแต่คราวนี้จะมีกลุ่มทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศกลับมาซื้อทรัพย์สินด้วย    การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินหลังวิกฤตการเงินมักทำให้ปัญหาทุนผูกขาดย่ำแย่ลง    วิกฤตการเงินทำให้มีการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์จากกลุ่มทุนผูกขาดบางกลุ่มกลุ่มไปยังกลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มอื่น    แต่กลุ่มทุนผูกขาดอีกหลายกลุ่มก็สามารถขยายตัวหลังวิกฤตการเงินได้    ดังที่ไทยได้เรียนรู้มาแล้วจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

 
บทสรุป
“สงครามคือธุรกิจ”ไม่ว่าจะเป็นสงครามเงินตราหรือสงครามระหว่างกองทัพ    สงครามทุกครั้งทำกำไรให้คนบางกลุ่มในขณะที่คนบางกลุ่มขาดทุน    ภาวะบาทแข็งทำกำไรให้ผู้นำเข้าสินค้าและบริการ    กลุ่มทุนไทยที่ซื้อกิจการต่างประเทศ    นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยในตลาดตราสารหนี้    ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาฯ    แต่ให้โทษแก่ผู้ส่งออกและแรงงานในภาคส่งออก    ภาคธุรกิจที่ได้กำไรจากภาวะบาทแข็งคือภาคที่มีค่าแรงสูงกว่า    ภาวะบาทแข็งจะซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้    การเรียกร้องให้ภาคส่งออกพัฒนาคุณภาพสินค้าไม่ใช่วิธีการรับมือภาวะบาทแข็งที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง    การพัฒนาคุณภาพสินค้าส่งออกต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ  สินค้าและบริการในภาคธุรกิจอื่นซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสินค้าส่งออก    รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพคน   ในทางกลับกันกลุ่มที่ปรับตัวได้ง่ายกว่าคือผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นโดยเฉพาะผู้ลงทุนชาวต่างชาติที่ลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น     นโยบายควบคุมทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นจะช่วยบรรเทาพิษของสงครามเงินตราครั้งนี้
 

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net