การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวพม่า ก่อวิกฤติด้านสุขภาพในเด็กและผู้หญิง

องค์กรชนกลุ่มน้อยและองค์กรสุขภาพหลายกลุ่มได้เปิดเผยรายงานใหม่ล่าสุดชื่อ "ผลวินิจฉัย:ขั้นวิกฤติ ภาวะสุขภาพและสิทธิมนุษยชน ในภาคตะวันออกของพม่า" (Diagnosis Critical: Health and Human Rights in Eastern Burma) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.53 ที่ผ่านมา โดยในรายงานชี้ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังดำเนินต่อไป ส่งผลให้เด็กและผู้หญิงที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศพม่า กำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพเข้าขั้นวิกฤติและเลวร้ายที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก 

กลุ่มคณะกรรมการด้านสุขภาพและการศึกษาแห่งชาติ (National Health and Education Committee -Burma) สมาคมการแพทย์แห่งพม่า (The Burma Medical Association) หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ (Back Pack Health Worker Team) รวมถึงองค์กรด้านสุขภาพของชนกลุ่มน้อยอีกหลายกลุ่ม ได้ร่วมกันจัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้น โดยจากการสำรวจชาวบ้านกว่า 27,000 คน ในรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะเรนนี รัฐมอญ รัฐฉาน รวมไปถึงในภาคพะโคและภาคตะนาวศรีพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวน 40 เปอร์เซ็นต์กำลังป่วยเป็นโรคขาดสารอาหาร นอกจากนี้พบว่า เด็กจำนวน 60 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่เสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้อย่างโรคมาลาเรีย และท้องร่วง ซึ่งโรคมาเลเรียเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเสียชีวิต  

“เด็กที่มาจากครอบครัวถูกบังคับย้ายถิ่นฐานไม่มีบ้านอยู่นั้น เราพบว่า เด็กได้รับผลกระทบจากการขาดสารอาหารมากกว่า 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่ถูกกองทัพพม่าบังคับใช้แรงงานมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า นั่นแสดงให้เห็นว่า ระบบการดูแลสุขภาพในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่ย่ำแย่ของคนในพื้นที่โดยตรง” แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้งคลินิกแม่ตาวกล่าว

ในรายงานยังระบุว่า ลักษณะของประชากรในภาคตะวันออกของพม่า มีทั้งอัตราการเกิดและอัตราการตายสูง โดยเฉพาะเด็กที่มีช่วงชีวิตที่สั้นลงจากโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้ยังพบจำนวนประชากรชายน้อยกว่าจำนวนประชากรหญิงในทุกช่วงอายุ และยังพบว่า ประชากรชายในช่วงอายุต่ำกว่า 45 ปีได้ขาดหายไป ซึ่งสถานการณ์ลักษณะนี้ พบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีสงครามมายาวนาน ซึ่งก็คล้ายกับลักษณะประชากรของประเทศเซียร่า ลีโอน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปอยู่ในกองทัพและเสียชีวิตจากการสู้รบ

ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของแม่สูงเป็นสามเท่า เมื่อเทียบกับตัวเลขที่รัฐบาลพม่าออกมาประกาศ  นอกจากนี้ในผู้หญิงทุกๆ 14 คน จะมีผู้หญิง 1 คน ที่มีเชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม (pf) ซึ่งเป็นสายพันธุ์เชื้อมาเลเรียชนิดที่อันตรายที่สุด และมีผู้หญิงเพียงร้อยละ 14.7 เท่านั้นที่ได้รับธาตุเหล็กเสริมระหว่างที่มีการตั้งครรภ์ เช่นเดียวกับในกลุ่มผู้หญิงเจริญพันธุ์ร้อยละ 18 พบว่า อยู่ในภาวะที่ขาดสารอาหาร ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้กำเนิดทารก เพราะจะทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยและมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต

ปัญหาสุขภาพไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศพม่าเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงไทยด้วย โดยพบว่า พื้นที่ประเทศไทยที่ติดกับชายแดนพม่านั้น มีอัตราการติดเชื้อมาเลเรียสูงที่สุด ในรายงานยังระบุว่า สถานการณ์จะคลี่คลายลงได้ ก็ต่อเมื่อกองทัพพม่ายุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสงครามและความขัดแย้งในพม่า ได้ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นภายในอย่างน้อย 446, 000 คน ในพื้นที่เขตชนบทของภาคตะวันออกเพียงแห่งเดียว ปี 2552 มีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลพม่ามีรายได้กว่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐจากการขายก๊าซธรรมชาติ แต่รัฐบาลกลับให้งบประมาณในด้านสุขภาพเพียง ร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณด้านสุขภาพน้อยที่สุด

 

 (ข้อมูลจากเว็บไซต์แม่ตาวคลินิค http://maetaoclinic.org/ สำนักข่าว Mizzima 20 ต.ค.53)

 


แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost     

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท