Skip to main content
sharethis

เครือข่ายภาคประชาชน นักกิจกรรม ร่วมลงชื่อ แถลงการณ์ หยุดปฏิรูปประเทศไทยบนกองศพวีรชน เพื่อระบอบอำมาตย์ หยุดอำนาจอำมาตย์นอกระบบ เสริมสร้างอำนาจประชาธิปไตย ปลดปล่อยนักโทษการเมือง  คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน ชี้ปัญหาตั้งแต่ รัฐประหาร 19 กันยา 49

 

แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้

 

 
แถลงการณ์
หยุดปฏิรูปประเทศไทยบนกองศพวีรชน เพื่อระบอบอำมาตย์
หยุดอำนาจอำมาตย์นอกระบบ เสริมสร้างอำนาจประชาธิปไตย
ปลดปล่อยนักโทษการเมือง คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน
 
สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา คณะรัฐประหารชุดนี้ได้ดำเนินการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และคณะรัฐประหารชุดนี้ได้มีกระบวนการร่างและสร้างรัฐธรรมนูญ 50 ขึ้นมาแทนซึ่งรัฐธรรมนูญ 50 นี้ ได้ให้อำนาจกับอำนาจนอกระบอบการเมืองที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นเหตุให้อำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตย จึงหวนคืนสู่สังคมการเมืองไทยอีกคำรบหนึ่ง
 
ความอัปลักษณ์ของการรัฐประหารในครั้งนั้น ยังได้นำพาสังคมไทยสู่ความขัดแย้งที่ลุกลามขยายใหญ่มากที่สุดในประวัติศาสตร์สังคมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะเหตุการณ์การล้อมปราบสังหารหมู่ประชาชนคนเสื้อแดงผู้เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์หุ่นเชิดของระบอบอำมาตย์ ดำเนินการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนตามหลักการทั่วไปของระบอบประชาธิปไตย
 
แต่รัฐอำมาตย์อภิสิทธิ์ชน กลับก่อ “อาชญากรรมแห่งรัฐ” ขึ้น โดยได้ใช้อำนาจเหี้ยมโหดอำมหิตเข่นฆ่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ไม่ต่างจากเหตุการณ์การล้อมปราบนักศึกษา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
โศกนาฎกรรมทางการเมืองในครั้งนี้ จึงซ้ำรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปราบปรามสังหารหมู่ประชาชนคนเสื้อแดง มีผู้สูญเสียชีวิต 92 ชีวิต และผู้บาดเจ็บสองพันกว่าคน รัฐอำมาตย์อภิสิทธิ์ชนยังได้ดำเนินการกระชับอำนาจนิยมเผด็จการมากยิ่งขึ้น โดยมีการจับกุมแกนนำและคนเสื้อแดงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉุกเฉินเร่งด่วน มีการกดทับเสรีภาพของสื่อสารมวลชนโดยการปิดเว็บไซต์ วิทยุชุมชน สื่อโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ทีมีความคิดเห็นต่างจากรัฐอำมาตย์อภิสิทธิ์ชน
 
นอกจากนี้แล้วท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประชาชนคนเสื้อแดงผู้รักในระบอบประชาธิปไตยกับผู้ได้อำนาจจากระบอบอำมาตยาธิปไตย รัฐบาลอภิสิทธิ์หุ่นเชิดของระบอบอำมาตย์ยังใช้กลยุทธ์ให้เครือข่ายอำมาตย์ของพวกเขาดำเนินการปฏิบัติการณ์ “ปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีอานันท์ ปันยารชุณ และประเวศ วะสี เป็นผู้นำ และใช้กลไกเครือข่ายขุนนางเอ็นจีโอ ซึ่งล้วนแล้วได้เคลื่อนไหวทั้งตรงและอ้อม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐอำมาตย์อภิสิทธิ์ชนมาโดยตลอด
 
และที่สำคัญได้เบี่ยงเบนประเด็นการถามหา ใครฆ่าประชาชน ? ใครสั่งฆ่าประชาชน ? ใครต้องรับผิดชอบ? ใครต้องถูกลงโทษ ?จากประชาชนคนเสื้อแดง หรือเป็น การปฏิรูปบนกองศพของวีรชนไพร่แดง นั่นเอง และจะมีการจัดเวทีปฏิรูปประเทศไทยในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ โดยชูคำขวัญ “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ทั้งๆที่หลักการของการปฏิรูปประเทศไทย ที่สำคัญในห้วงปัจจุบันนั้นต้อง “หยุดอำนาจอำมาตย์นอกระบบ เสริมสร้างอำนาจประชาธิปไตย” ต่างหาก
 
เราในนาม องค์กรที่มีรายชื่อข้างล่าง ซึ่งมีจุดยืนเพื่อระบอบประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรม เพื่อความเสมอภาค เพื่อเสรีภาพ และเพื่อสันติสุขในสังคมไทย มีข้อเรียกร้องและมีความคิดเห็นดังต่อไปนี้
 
1. รัฐต้องดำเนินการปล่อยนักโทษการเมืองโดยเร่งด่วน เนื่องจากพวกเขามิใช่อาชญากรแต่อย่างใด พวกเขาเป็นเพียงผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย
 
2. รัฐต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุติการปิดกั้นสื่อ หยุดข่มขู่คุกคามประชาชน คืนเสรีภาพให้สื่อ ให้ประชาชนในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐได้ ซึ่งความต่างทางความคิดย่อมเป็นเรื่องทีสร้างสรรค์ในสังคมประชาธิปไตย ไม่เหมือนกับระบอบอำนาจนิยมเผด็จการที่ผู้ปกครองเท่านั้นผูกขาดความคิดเห็น
 
3. รัฐต้องยุติการสร้างภาพลวงตาในการปฏิรูปประเทศไทย ต้องหยุดการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อระบอบอำมาตย์ โดยเครือข่ายอำมาตย์ ซึ่งใช้งบประมาณภาษีประชาชนจำนวนถึง 600 ล้านบาท เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และการปฏิรูปประเทศที่ดำเนินการกันอยู่นั่น ประชาชนคนเสื้อแดงซึ่งมีจำนวนมากในประเทศก็ไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด การปฏิรูปประเทศไทยเพียงเพื่อคงอำนาจของระบอบอำมาตย์เท่านั้นเอง
 
4 เรามีความคิดเห็นว่า การปฏิรูปประเทศไทย ต้องให้ประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วม เหมือนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 40 มิใช่ประชาชนเพียงบางส่วนอย่างที่กระทำกันอยู่ ที่สำคัญการปฏิรูปประเทศไทยต้องมีเป้าหมาย เพื่อ”หยุดอำนาจระบอบอำมาตยาธิปไตย สร้างอำนาจระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งจะนำสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาคในทุกด้านของสังคมไทยได้อย่างแท้จริงและเป็นการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนที่เท่าเทียมกัน
 
5. เรามีความคิดเห็นว่า การปฏิรูปประเทศไทย ที่สำคัญนั้นต้องดำเนินการปฏิรูปกองทัพ เพื่อไม่ให้กองทัพแทรกแซงทางการเมือง เพื่อไม่ให้กองทัพกระทำรัฐประหาร กองทัพจึงต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย และกระบวนการพัฒนากองทัพต้องมีการจัดสรรอำนาจและบังคับบัญชาที่เป็นประชาธิปไตย เหมือนอารยะประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ตลอดทั้งไม่ให้องคมนตรีแทรกแซงการเมืองด้วยเช่นกัน
 
6 เรามีความคิดเห็นว่า การปฏิรูปประเทศไทย ที่สำคัญนั้นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กฎหมายต้องมีความเป็นธรรม ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายต้องไม่มีสองมาตรฐาน หรือนิติรัฐต้องมีนิติธรรมอยู่ในตัวมันเอง ตลอดทั้งต้องมีการใช้ระบบลูกขุน เหมือนอารยประเทศ และเพื่อไม่ให้ศาลผูกขาดอำนาจอย่างที่เป็นอยู่
 
7 นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องดำเนินการยุบสภาโดยเร่งด่วน เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน เพื่อแก้ไขรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งทั้งปวง เพื่อเคารพสิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนเท่าเทียมกันในการเลือกผู้ปกครองผู้บริหารประเทศตามหลักการประชาธิปไตยระบอบรัฐสภา ซึ่งทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเหมือนกันไม่ว่าคนจนหรือคนรวย ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ว่าคนพิการหรือคนไม่พิการ ไม่ว่าผู้ดีหรือไพร่ ฯลฯ และระบอบประชาธิปไตยรัฐสภานั้น ก็มีวาระในการเลือกตั้งที่แน่นอน การยุบสภาจึงเป็นหนทางนำสังคมไทยสู่ความปรองดองที่แท้จริงได้ ตลอดทั้งการเสนอให้มีรัฐบาลแห่งชาติก็มิใช่ทางออกที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย
 
1เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย
2กลุ่มประกายไฟ
3องค์กรเลี้ยวซ้าย
4กลุ่มกรรมกรแดง
5สหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก
6เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.)
7เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)
8เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูค้อ-ภูกระแต จังหวัดเลย
9เครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน (คอส.)
10แนวร่วมเกษตรกรภาคอีสาน (นกส.)
11เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง จังหวัดอุบลราชธานี
12กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)
13กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา จังหวัดกาฬสินธุ์
14เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก จังหวัดอุดรธานี
15กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา จังหวัดสกลนคร
16เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยภูมิ
17กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย-แวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น
18กลุ่มเยาวชนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น
19กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์น้ำพรมตอนต้น จังหวัดชัยภูมิ
20กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง จังหวัดนครพนม
21เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร จังหวัดยโสธร
22สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)
23แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)
24ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง
25เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู จังหวัดพิษณุโลก
26เครือข่ายส่งเสริมสิทธิการจัดการทรัพยากรภาคเหนือตอนล่าง (คสปล.)
27สหพันธ์เยาวชนคลองเตย (สยค.)
28เครือข่ายองค์กรชุมชนคลองเตย
29เครือข่ายชุมชนเมืองบ่อนไก่ กทม.
30กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ
31เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก จังหวัดร้อยเอ็ด
32เครือข่ายองค์กรชาวบ้านนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
33กลุ่มคนรุ่นใหม่ภาคใต้
34กลุ่มนักศึกษาภาคเหนือเพื่อประชาธิปไตย
35กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ
36สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสาน (สนนอ.)
37สมัชชาสังคมก้าวหน้า
38สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ (TWFT)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net