Skip to main content
sharethis

ศ.วิทิต เสนอพันธกรณี 10 ประการสำหรับอนาคตสิทธิมนุษยชนอาเซียน ด้านอาจารย์นิติศาสตร์จากมาเลเซีย ย้ำหลักการไม่แทรกแซงประเทศสมาชิกสร้างปัญหา แนะอาเซียนต้องการกฎหมายสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่แค่ข้อตกลงที่ไม่มีผลบังคับให้เกิดการปฏิบัติ

 
วานนี้ (14 ต.ค.53) เครือข่ายสิทธิมนุษยชนศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 “สิทธิมนุษยชนในอุษาคเณย์” ระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2553 ที่ห้องประชุมภาณุรังษี โรงแรมรอยัลริเวอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสิทธิและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการสร้างสิทธิมนุษยชนในอุษาคเณย์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ มีกลุ่มภาคประชาสังคมทั้งไทยและต่างประเทศ ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 500 คน
 
ศ.วิทิต มันตาภรณ์ ประธานร่วมคณะทำงานเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ภาคประชาสังคม) กล่าวในการเสวนาในช่วงเช้า เรื่อง “สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ถึงสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดเรื่องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค 7 ประการ ซึ่งประกอบด้วย 1.สถาบันสิทธิมนุษยชน ซึ่งในระดับภูมิภาคมีกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน แต่มีข้อจำกัดในการสืบสวนและรับข้อเท็จจริงจากปัจเจกบุคลที่ร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิก ส่วนระดับประเทศ ในไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นแล้ว ขณะที่อีกหลายประเทศยังไม่มี อย่างไรก็ตามประเด็นไม่ได้อยู่จำนวน แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพ ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสในที่มาและการทำงาน
 
2.กฎหมาย ประเด็นสิทธิมนุษยชนได้รับการรับรองในระดับอาเซียน แต่ประเทศในอาเซียนก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น กรณีกฎหมายความมั่นคง และกฎหมายควบคุมการแสดงความคิดเห็นต่างๆ 3.นโยบาย แผนงานของอาเซียนมีความมุ่งมั่นในเรื่องชุมชน ความมั่นคง และเศรษฐกิจ อีกทั้งมีการพูดถึงเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ไม่พูดถึงการกระจายรายได้ที่เท่าเทียม และเรื่องประชาธิปไตย 4.เรื่องแนวปฏิบัติ ประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีการพูดถึงการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ดีพอ 
 
5.ทรัพยากร ในเรื่องงบประมาณ หลายประเทศในอาเซียนมีรายจ่ายทางการทหารมาก ขณะที่งบประมาณเรื่องสิทธิมนุษยชนน้อย การลงทุนเพื่อคุณภาพสังคมต่ำ พบปัญหาการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน ในขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็พบปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการทำงาน 6.การประมวลผล อาเซียนมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ แต่ไม่มีตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชน หรือตัวชี้วัดทางสังคม และเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพ นอกจากนี้เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษายังไม่ได้รับความสนใจ และ 7.เครือข่ายและการมีส่วนร่วมที่ ยังพบว่ามีการปิดกันในหลายประเทศ 
 
ศ.วิทิต ยังนำเสนอพันธกรณีสิทธิมนุษยชน 10 ประการสำหรับอนาคตอาเซียน ได้แก่ 1.ตั้งสถาบันที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางที่มีประสิทธิภาพ 2.มีการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและระดับอาเซียน 3.มีรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 4.มีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน 5.มีสภาประชาชนอาเซียน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเรื่องสิทธิฯ 6.มีศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อปกป้องและให้ความเป็นธรรมกับประชาชน 7.กระบวนการสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนเข้าถึง 8.มีเวทีประชาชนในภูมิภาค ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงออกด้านสิทธิมนุษยชน 9.ส่งเสริมการสร้างอาสาสมัครทำงานด้านสิทธิในอาเซียนมากขึ้น 10.ทำให้อาเซียนมีความเป็นประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประชุมอาเซียนในอนาคต
 
ด้าน Dr.Azmi Sharom อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย กล่าวในเวทีเดียวกันว่า กฎบัตรอาเซียนถูกตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อย่างสันติ ในสังคมประชาธิปไตย ส่งเสริมวิถีชีวิตชาวบ้าน แต่ก็มีปัญหาในเรื่องหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชน และเรื่องการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา ซึ่งกลายมาเป็นช่องโหว่ให้การละเมิดสิทธิฯ ยังคงมีอยู่
 
Dr.Azmi กล่าวด้วยว่า แม้อาเซียนจะเป็นนิติบุคคล แต่หลักการไม่แทรกแซง ทำให้อาเซียนไม่สามารถฟ้องร้องกรณีการละเมิดสิทธิต่อประเทศสมาชิกได้ และเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิฯ แล้วรัฐบาลประเทศนั้นไม่ขอความช่วยเหลือ อาเซียนก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการจัดการปัญหาได้ นอกจากนั้น อาเซียนมีเพียงแต่คำประกาศ และข้อตกลง ซึ่งไม่มีสถานทางกฎหมายที่ใช้บังคับกับประเทศสมาชิก ในขณะที่ประเทศบางประเทศก็ไม่ลงนามในข้อตกลง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่กระตือรือร้นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน 
 
Dr.Azmi กล่าวต่อมาว่า อาเซียนต้องการกฎหมายสิทธิมนุษยชนอาเซียน ไม่ใช่แค่ข้อตกลงที่ไม่มีผลบังคับให้เกิดการปฏิบัติ และอาเซียนต้องการกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศสมาชิกทำการปรับเปลี่ยนกฎหมายภายในประเทศ ไม่ใช้อ้างกฎหมายภายในประเทศแล้วไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาแม้สิ่งเหล่านี้จะไม่เคยได้เห็นในอาเซียน แต่ก็ยังมีความหวัง เพราะอาเซียนเป็นหน่วยงานที่มีสถานภาพที่ชัดเจน คาดว่าจะสามารถพัฒนาได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามทั้งรัฐบาลและประชาชน จะต้องมองเห็นระบบคุณค่าของเรื่องดังกล่าวไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
 
ขณะที่ Prof.Carlos Medina เลขาธิการคณะทำงานเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน กล่าวว่า ยูเอ็นได้พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้มานาน รวมทั้งในส่วนของเอ็นจีโอ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการไม่เชื่อใจต่อภาครัฐ แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนก็ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการของอาเซียน และมีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียนขึ้น ซึ่งในส่วนคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ถือเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของอาเซียน แต่หน้าตาอาจยังไม่สมบูรณ์ เพราะเน้นเรื่องการส่งเสริมไม่ได้เน้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
 
Prof.Carlos กล่าวต่อมาถึงข้อเสนอว่า ในส่วนภาคประชาสังคมควรให้ความสำคัญกับกระบวนการ โดยการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนต้องทำอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และยั่งยืน เพราะในส่วนของภาครัฐมีการเปลี่ยนหน้าคนที่เข้ามาขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่มีความยังยืน และในบางครั้งรัฐเองต้องมาขอข้อมูลจากภาคประชาสังคม นอกจากนั้นต้องหาแนวร่วมในท้องถิ่นที่จะเข้ามาเป็นภาคีเพื่อการขับเคลื่อน ซึ่งอาจเป็นภาครัฐ หรือประชาสังคมอื่นๆ โดยที่แต่ละคนไม่จำเป็นต้องพูดเหมือนกันทั้งหมด แต่ร่วมกันทำงานในบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป 
 
Prof.Carlos กล่าวด้วยว่า รัฐบาลอาเซียนต้องการความช่วยเหลือจากภาคประชาชน แม้ในการพูดคุยร่วมกันอาเซียนอาจไม่รับในข้อเสนอบางอย่าง แต่อาเซียนก็รู้ตัวว่าต้องการภาพลักษณ์อย่างไร และอาเซียนจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตรงนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้อันสืบเนื่องมาจากมุมมองของรัฐและภาคประชาสังคม
ทั้งนี้ ในพิธีเปิดการประชุมวานนี้มีการกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เนื้อหาสำคัญตอนหนึ่งว่า ในอาเซียนได้มีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยมีคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ AICHR ซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล 10 ชาติ และเกิดคำถามว่าอาเซียนจะทำงานร่วมกันอย่างไร ในเมื่อแต่ละประเทศมีความแตกต่างเรื่องระดับการพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งโดยส่วนตัวให้การสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ แต่ในเรื่องนี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำร่วมกันโดยอาศัยกลุ่มเอ็นจีโอ องค์การระหว่างประเทศ ที่สำคัญต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการดูแลและจัดการระดับสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net