Skip to main content
sharethis
 
เนื่องในวันต่อต้านโทษประหารโลกในวันที่ 10 ตุลาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยแพร่แถลงการณ์กระตุ้นให้สหรัฐฯ ยุติการลงโทษที่มีลักษณะโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยังลงโทษประหารชีวิตเมื่อปี 2552
 
“ประเทศส่วนใหญ่ปฏิเสธการใช้โทษประหาร เหตุใดสหรัฐฯ ซึ่งอ้างความเป็นผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนยังคงใช้วิธีสังหารชีวิตคนอย่างถูกกฎหมายอีก?” วิดนีย์ บราวน์(Widney Brown) ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกฎหมายและนโยบายระหว่างประเทศแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
 
 “โทษประหารเป็นสิ่งที่โหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรี ไม่เป็นผล และไม่สอดคล้องเอาเลยกับแนวคิดด้านศักดิ์ศรีของมนุษย์ใด ๆ การที่ยังใช้โทษประหารในสหรัฐฯ แสดงถึงการกระทำโดยพลการ เลือกปฏิบัติ และผิดพลาด
 
ผู้หญิงและผู้ชายกว่า 1,200 คน ได้ถูกประหารในสหรัฐฯ นับแต่มีการนำโทษประหารกลับมาใช้ใหม่เมื่อปี 2520 หลังจากเว้นวรรคไปถึงหนึ่งทศวรรษ ศาลที่มีเขตอำนาจในรัฐเท็กซัส เวอร์จิเนีย และโอคลาโฮมา มีคำสั่งประหารชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งของคำสั่งประหารทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงอคติด้านภูมิศาสตร์ในวงกว้าง
 
นับแต่ปี 2519 มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังจากแดนประหารกว่า 130 คน เนื่องจากพบในภายหลังว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เฉพาะปี 2552 มีการปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์ถึงเก้าคน ส่วนที่เหลือได้ถูกประหารทั้ง ๆ ที่ยังมีข้อกังขาอย่างจริงจังถึงความผิดของพวกเขา
 
งานศึกษาต่าง ๆ ชี้ให้เห็นว่า เชื้อชาติเป็นประเด็นที่มีบทบาทต่อผู้ที่ถูกสั่งประหารในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในคดีฆาตกรรมที่มีเหยื่อเป็นชาวผิวขาว มักจะส่งผลให้ศาลตัดสินลงโทษประหารผู้ที่ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผิวดำ
 
 “เชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ การเมืองเนื่องจากการเลือกตั้ง ทุนในท้องถิ่น องค์ประกอบของคณะลูกขุน และคุณภาพของการว่าความ ต่างเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาในคดีที่มีโทษถึงขั้นประหารชีวิตในสหรัฐฯ การที่ต้องเข้ารับการไต่สวนในคดีอาชญากรรมร้ายแรงก็เหมือนกับการซื้อล็อตเตอรี่ที่ชี้เป็นชี้ตาย ระบบเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในระบบยุติธรรมใด ๆ” วิดนีย์ บราวน์วิดนีย์ บราวน์กล่าว
 
ไม่มีหลักฐานใดแสดงว่าโทษประหารเป็นมาตรการป้องปรามการก่ออาชญากรรมรุนแรงที่ได้ผลกว่าการขังคุก
 
 “การที่ยังปล่อยให้ประหารชีวิตคนต่อไปเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะหากเราทราบว่าผู้ที่ได้รับโทษประหารเป็นผู้บริสุทธิ์ สหรัฐฯ ต้องเข้าร่วมกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่มุ่งละทิ้งโทษประหาร" วิดนีย์ บราวน์ กล่าว
 
นับแต่ปี 2536 มีการประหารชีวิตกว่า 1,000 ครั้งในสหรัฐฯ ในขณะที่ภาคประชาชนและภาคการเมืองให้ความสนับสนุนการลงโทษเช่นนี้น้อยลง
 
รัฐนิวเม็กซิโกและรัฐนิวเจอร์ซี ได้ยกเลิกโทษประหารโทษประหารไปเมื่อสองปีที่แล้ว และจำนวนโทษประหารชีวิตในแต่ละปีได้ลดลงถึงสองในสามเมื่อเทียบกับช่วงที่มีจำนวนมากสุดในระหว่างทศวรรษ 1990 ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ศาลฎีกาของสหรัฐฯ ได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับผู้กระทำผิดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในขณะนั้น หรือเป็นผู้ที่มี “ความล่าช้าทางสติปัญญา”
 
การยกเลิกโทษประหารในสหรัฐฯ จะเป็นจังหวะเวลาสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกการลงโทษแบบนี้ในระดับโลก แต่ที่ผ่านมายังช้าเกินไป
 
 
ทั้งนี้ การรณรงค์ในวันต่อต้านโทษประหารโลกประจำปี 2553 จะเน้นที่การบังคับใช้โทษประหารในสหรัฐฯ วันที่ 10 ตุลาคมของแต่ละปีเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และจะมีกิจกรรมปิดท้ายในวันที่ 30 พฤศจิกายน โดยจะมีการเปิดไฟอาคารที่เป็นสัญลักษณ์ในกว่า 1,000 เมืองทั่วโลก เพื่อรำลึกถึงการยกเลิกโทษประหารเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2329 ที่แคว้นทัสคานี (Tuscany)
 
ในสหรัฐฯ โทษประหารมีอยู่ทั้งในระดับมลรัฐและรัฐบาลกลาง ในปัจจุบัน 15 จาก 50 รัฐ รวมทั้ง District of Columbia (กรุงวอชิงตันดีซี) ต่างยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net