Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลายปีที่ผ่านมามีคำถามต่อแนวคิด “ความเจริญ” ของเมืองเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยมายาคติดั้งเดิมของ “ความเจริญ” เริ่มใช้ไม่ได้ผล ตึกสูงระฟ้า ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ขายสินค้าแบรนด์ดัง รถยนต์ราคาแพงวิ่งแล่นบนท้องถนนที่กว้างขวาง มีทางยกทางลอดที่ดูราวของเล่นในสวนสนุก ค่ำคืนถูกแทนที่ด้วยแสงไฟสว่างระยิบระยับ ความฉาบฉวยเช่นนี้ชวนให้เคลิบเคลิ้มอยู่ระยะหนึ่งว่านี่แหละคือการพัฒนา ทว่าเมื่อคนเชียงใหม่เริ่มตระหนักแล้วว่า “ความเจริญ” ที่เคยคิดว่ามีลักษณะเป็นสากล ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสียแล้วสำหรับเมืองเก่าแก่กว่า 700 ปี ทำให้เกิดการรวมตัวกันของคนเชียงใหม่รวมถึงคนที่มาอาศัยเชียงใหม่เสมือนเป็นบ้านเกิด ต่อสู้รักษาเสน่ห์ของเมืองแห่งนี้ไม่ให้เดินย่ำรอยการพัฒนาแบบสำเร็จรูปอย่างเสมอมา ไม่ว่าจะคัดค้านการสร้างทางยกระดับ ต่อต้านตึกสูงในเขตเมือง ไม่ยอมรับผังเมืองที่ทำลายวิถีชีวิตผู้คนในเมืองเก่าแก่ รวมถึงรณรงค์ในหลายหลากประเด็นเพื่อสร้างเมืองอย่างยั่งยืน เช่น รณรงค์ต้านการรื้อฝายที่กรมชลประทานคิดง่ายๆ ว่าเป็นทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พร้อมๆ ไปกับที่กรมศิลปากรพยายามลองวิชาขุดค้นเมืองโบราณบริเวณประตูช้างเผือกโดยหาได้เข้าใจคติความเชื่อของท้องถิ่นที่แฝงอยู่ไม่ เป็นต้น

ความพยายามใช้สิทธิ-ส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจได้ยินที่มีมาโดยตลอดนั้น บ่อยครั้งเลยที่กลายกลับเป็นว่าคำตอบที่ได้รับอยู่ในสายลม เพราะตราบใดที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ตัวจริง ยังไม่ใช่คนของท้องถิ่นเองเช่นนี้แล้วละก็ ปัญหาทำนองนี้ก็จะมีอยู่ร่ำไปไม่รู้จักจบสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใดก็ตามที่มีช่องว่างทางกฎหมายและภาคปฏิบัติเกิดขึ้น

ล่าสุดกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดมหึมาที่แม้กระทั่งคนแถวนั้นเองก็อาจจะยังไม่ทราบมาก่อนด้วยซ้ำว่ากำลังจะมีโครงการระดับนี้มาเกิดขึ้นแถวๆ บ้านของตน จากแผ่นปลิวที่มาถึงมือผู้เขียนระบุความเป็นมาและวัตถุประสงค์ว่า “บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มีแผนดำเนินการโครงการอาคารชุดพักอาศัย 8 ชั้น จำนวน 4 อาคาร จำนวน 256 ห้อง บริเวณถนนบำรุงราษฎร์ ต.วัดเกตุ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้พักอาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งผู้พักอาศัยที่อยู่ใกล้เคียงได้มีทางเลือกในการเลือกที่พักอาศัยมากขึ้น” ในชื่อโครงการ คาซ่า คอนโด บำรุงราษฎร์

 

นอกนั้น บริษัทฯ ซึ่งรู้ดีถึงจุดอ่อนของการก่อสร้างโครงการฯ ในเขตเมืองได้อธิบายถึงมาตรการควบคุมต่างๆ ทั้งช่วงก่อสร้างโครงการ และในภายหลัง เป็นต้นว่า ด้านความสั่นสะเทือน จะเจาะเสาเข็มเฉพาะในเวลากลางวัน, มีประกันความเสียหายต่ออาคารที่อยู่ข้างเคียง ด้านฝุ่นละออง ฉีดพรมน้ำบริเวณที่มีการก่อสร้างความถี่อย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน, ปิดคลุมรถบรรทุกดินอย่างมิดชิด, จัดผ้าใบหรือตาข่ายมาปิดคลุมอาคารตอนก่อสร้าง ด้านเสียง ควบคุมเวลาสร้างให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด, จัดห้องป้องกันและลดเสียงจากกิจกรรมก่อสร้างบางชนิด ด้านการจราจร จำกัดความเร็วของรถช่วงที่วิ่งผ่านชุมชนไม่เกิน 30 กม./ชม., จัดพนักงานคอยดูแลการจราจรบริเวณทางเข้า-ออกพื้นที่ก่อสร้าง อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ติดป้ายสัญลักษณ์เตือนในบริเวณที่อาจจะเกิดอันตราย, จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่กอสร้างตลอด 24 ชม. ตลอดจนจัดพื้นที่สีเขียว ปลูกไม่ยืนต้นขนาดใหญ่, จัดระบบบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐาน ฯลฯ

หากอ่านจบแล้วก็ย่อมเคลิ้มตามได้ไม่ยาก แต่สิ่งยากกว่ามากคือการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้นอกเหนือจากที่มีปรากฏอยู่ในแผ่นปลิวดังกล่าว ซึ่งก็ชวนให้คิดไปในแง่ร้ายได้ว่าถ้าทางผู้สร้างมีความตั้งใจจริงทำไมจึงไม่เปิดเผยข้อมูลวงกว้างออกสู่สาธารณะ แต่นี่กลับหมดเม็ด ปิดๆ บังๆ มีเพียงข้อมูลที่บอกว่าจะสร้างบนเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ 3 งานแถวถนนบำรุงราษฎร์ ซึ่งน้อยคนนักจะรู้

ยิ่งกว่านั้นทางบริษัทก็น่าจะทราบดีด้วยว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ในย่านวัดเกต ซึ่งในผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) จะจัดประเภทเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อการอยู่อาศัย แต่ทว่ายังรอให้ประกาศเป็นกฎกระทรวงเสียก่อนจึงจะมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย เชื่อได้ว่าบริษัทกำลังอาศัยช่องว่าง หรือสุญญากาศของกฎหมายตรงนี้ ระหว่างที่ผังเมืองรวมฉบับเก่าหมดอายุและยังไม่มีผังเมืองรวมฉบับใหม่ออกมา เร่งรีบดำเนินการโดยเร็ว เพราะทราบดีว่าถ้าผังเมืองฯ มีผลใช้บังคับจริงจังเมื่อใด อาคารในพื้นที่บริเวณนี้จะมีความสูงได้ไม่เกิน 9 เมตร หรือ 3 ชั้นเท่านั้น

แน่นอนที่สุด การสร้างคอนโดมิเนียมอาจได้รับการยอมรับว่าเป็นการใช้พื้นที่ที่ ‘คุ้มค่า’ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่า ‘ความคุ้มค่า’ นั้นก็คือ ‘ความเหมาะสม’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของบริบทพื้นที่ และความต้องการของคนท้องถิ่น ดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนบทความไว้ว่า “...เสน่ห์ของเมืองเก่าไม่ได้อยู่ที่มีวัดวาอารามเก่าๆ และโบราณสถานมากมายอยู่ในเมืองเท่านั้น เสดน่ห์ทางกายภาพของเมืองเก่ายังประกอบด้วยตึกรามบ้านช่อง และถนนรนแคมที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินไปเหมือนเมืองสมัยใหม่ทั่วไปด้วย ขนาดที่เล็กนั้นคือขนาดของมนุษย์ (human scale) ฉะนั้น การเข้ามาอยู่ในเมืองเก่าจึงไม่รู้สึกถูกแปลกแยก อะไรๆ ก็มีสัดส่วนที่ร่างกายมนุษย์จะเข้าถึง ไม่ต้องอาศัยลิฟต์, บันไดเลื่อน, หรือรถไฟหัวกระสุน และท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับมนุษย์...”

ณ วันนี้ หลายๆ โครงการที่ถูกกำหนดให้แก่เมืองแห่งนี้ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนเชียงใหม่ยังคงวางใจฝากเมืองอันเป็นที่รักไว้กับฟากฝ่ายรัฐไม่ได้ และคงต้องบ่นกันปากเปียกปากแฉะกันต่อไป หากผู้ปกครองเพียงได้ยินแต่ไม่ได้รับฟังเอาซะเลย.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net