รำลึก 7 ตุลา จดหมายถึงนิธิและเสกสรรค์ ก.ก.ปฏิรูปประเทศไทย เรื่องบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองของไทย

รียน อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ด้วยความเคารพ
 
จดหมายฉบับนี้มีความมุ่งหมาย 2 ประการดังชื่อเรื่องคือ ประการหนึ่งต้องการรำลึกถึงเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นวาระในขณะที่เขียนบทความชิ้นนี้ และอีกประการหนึ่งต้องการเสนอความคิดและตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย มาถึงอาจารย์ทั้งสองท่านในฐานะที่ท่านทั้งสองร่วมอยู่ในคณะบุคคลที่เรียกว่า “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย”
 
เหตุที่ผมเขียนถึงอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นการเฉพาะเจาะจงนั้น ก็เนื่องจากความใกล้ชิด ทั้งในฐานะที่เป็นนักเขียนรุ่นหลัง และในฐานะของผู้ซึ่งผลงานของท่านอาจารย์ทั้งสองได้เคยมีส่วนในการขยับขยายโลกของการอ่านให้เติบใหญ่
 
ลำดับแรก ผมขอทบทวนความเข้าใจของตนเองเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นการปกครองของประเทศไทย
 
ตั้งแต่พอจะรู้ความในเรื่องดังกล่าว ผมเข้าใจมาตลอดว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นคือระบอบที่ทุกคนมีความเสมอภาค มีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกัน โดยทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงในการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง
 
จนกระทั่งต่อมามีความเข้าใจเพิ่มเติมขึ้นมาว่า ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี้ มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประธานของระบอบ กล่าวคือเป็นผู้ใช้สิทธิ์นั้นแทนปวงชนชาวไทยผ่านทางฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อำนาจทั้งสามฝ่ายย่อมถ่วงดุลตรวจสอบซึ่งกันและกัน และผู้ใช้อำนาจดังกล่าวย่อมจะต้องมีความยึดโยงกับประชาชน
 
ผมเข้าใจมาโดยตลอดว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น เป็นเรื่องของ “ระบบ” ไม่น้อยไปกว่า “คน” กล่าวคือ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงการเลือก “คนดี” เข้าไปปกครองบ้านเมืองเท่านั้น สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ คนซึ่งได้ “อำนาจ” ในการปกครองไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายข้าราชการ ย่อมจะต้องมี “ระบบ” ที่กำกับคนเหล่านั้นด้วย ซึ่งต่อมาผมก็ได้รู้เพิ่มเติมว่า ระบอบการปกครองของไทยนั้นมีหลักที่เรียกว่า ระบบการรับผิด เช่นเดียวกับนานาประเทศที่เจริญแล้ว กล่าวคือ ผู้ใดมีอำนาจ ผู้นั้นก็จะต้องมีความรับผิด หากผู้ใดไม่มีความรับผิด ผู้นั้นก็จะต้องไม่มีอำนาจ  “ความรับผิด” ในที่นี้ย่อมจะต้องเป็นความรับผิดที่ถูกมองเห็นโดยระบบ เช่นที่ คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดต่อสภา เป็นต้น  ดังนั้น เมื่อเกิดกรณี “ถวายคืนพระราชอำนาจ” เพื่อเรียกร้อง “นายกฯ พระราชทาน” ขึ้น ผมจึงไม่เห็นด้วย เนื่องจากหากทำเช่นนั้น จะทำให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงมารับผิด ซึ่งก็ไม่มีระบบใดที่จะรองรับ ดังที่ในหลวงได้ทรงตรัสไว้ด้วยพระองค์เองแล้วว่า การอ้างมาตรา 7 ขอนายกฯ พระราชทานนั้นคือ “มั่ว”
 
ท่านอาจารย์ทั้งสองครับ วิกฤติการเมืองที่ผ่านมาท่านอาจารย์คงจะเห็นพ้องกันกับผมว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้วิกฤตินี้รุนแรงก็เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกดึงลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ในวาระนี้ ขอให้ผมได้รำลึกถึงเหตุการณ์บางเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
 
 

 

สมเด็จฯห่วงใยผู้ได้รับบาดเจ็บ

 

นพ.ชัยวัน เจริญโชคทวี ผอ.โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งจากแก๊สน้ำตาและสะเก็ดระเบิด ซึ่งท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ รองราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้โทรศัพท์มาสอบถามถึงสถานการณ์ พร้อมแจ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยพสกนิกรคนไทยทุกคน ทรงสอบถามถึงอาการผู้บาดเจ็บ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับผู้บาดเจ็บไว้ในพระอุปถัมภ์ทั้งหมด พร้อมกำชับให้ดูแลเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ยังทรงพระราชทานเงินจำนวน 100,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล ทำให้ผู้บาดเจ็บ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ต่างปลาบปลื้ม ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ถือเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลจะสนองตามพระราชประสงค์ทุกประการ ส่วนค่ารักษานั้นคงไม่ต้องพูดถึง
ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
 
นอกจากนี้ น.ส.อัญชลี ไพรีรักษ์ พิธีกรของกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวบนเวทีปราศรัยว่า ขณะนี้สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งแสนบาท เป็นค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ จากการที่ถูกตำรวจสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา พร้อมทั้งรับผู้บาดเจ็บไว้เป็นคนไข้ในพระราชินูปถัมภ์ เมื่อผู้ชุมนุมพันธมิตรฯที่ชุมนุมอยู่หลายพันคนได้รับทราบข่าว ต่างพากันร้องตะโกน “ ทรงพระเจริญ” จนดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ
 

 

“ สนธิ” ขีดเส้นตายรัฐบาล 6 โมงเย็น

 

เวลาเดียวกัน นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ขึ้นเวทีในทำเนียบรัฐบาลกล่าวเตือนผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ตอนนี้เตรียมรับโทษความผิดที่ทำร้ายประชาชนและให้ถอยออกจากทำเนียบฯและรัฐสภา เพราะรัฐบาลนี้จะอยู่ไม่เกิน 6 โมงเย็นวันนี้ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทำผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิต ที่ไปรับใช้นายสมชายทำร้ายประชาชน ใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงประชาชนขาขาด ตนบอกตั้งแต่สะพานมัฆวานฯแล้วว่าผู้ชุมนุมทั้งผู้หญิงผู้ชายล้วนแต่เป็นทหารเสือพระราชา วันนี้รู้แล้วทำร้ายลูกหลานพระองค์ท่าน ทำร้ายประชาชน ด้วยเหตุนี้พระองค์ท่านจึงพระราชทานเงินมาช่วยเหลือหนึ่งแสนบาท และรับเป็นคนไข้ไว้ในส่วนพระองค์ทั้งหมด
 

 

ไทยรัฐ 8 ตค.51

 

 
ผู้ชุมนุมใช้ด้ามธงไล่แทงตำรวจ แผลฉกรรจ์ชายโครง-ทะลุปอด
(7 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะพล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่กำลังประชุมหารือวางแนวทางปฏิบัติดูแลความสงบเรียบร้อยรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งเครียดอยู่นั้น เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯที่ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณแยกอู่ทองในได้ใช้หนังสติ๊กยิงลูกเหล็ก ลูกหิน ลูกแก้ว น็อตเหล็ก ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจและใช้ด้ามธงที่เป็นเหล็กแหลมไล่ตีและไล่แทงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่บริเวณนั้น จนเจ้าหน้าที่ต้องถอยออกไม่สามารถต้านทานการผลักดันของกลุ่มผู้ชุมนุมได้
จนเกิดเหตุชุลมุนขึ้นอีกครั้งเพราะกำลังตำรวจไม่สามารถสู้ได้มีเพียงโล่ห์กำบังอย่างเดียว หลังเหตุสงบพบเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 นายคือ ด.ต.ทวีป กลิ่นเรียม สังกัดตำรวจภูธร จ.นครสวรรค์ มีบาดแผลถูกปลายเหล็กแหลมแทงเข้าที่ชายโครงด้านซ้ายทะลุปอด นำตัวส่งห้องไอซียูโรงพยาบาลพระมงกุฏฯโดยเร่งด่วน ส่วนอีกรายอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อได้รับบาดเจ็บถูกแทงบริเวณชายโครงลักษณะเดียวกัน
 

 

คมชัดลึก 7 ตค.51

 

 
10.05 น.- มีรายงานข่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานรถพยาบาลจำนวน 4 คัน พร้อมนายทหารพยาบาลเข้ารอให้ความช่วยเหลือผู้ชุมนุม
16.25 น.- นายทหารพยาบาลพระราชทาน เคลื่อนที่เร็วเข้าช่วยเหลือประชาชนที่แยกการเรือน
16.45 น.- เจ้าหน้าที่ตำรวจผลักดันประชาชน โดยยิงแก๊สน้ำตาเข้ามาเป็นระยะๆ จนถึงแยกอู่ทองใน อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระทำการโหดเหี้ยม ยิงแม้กระทั่งรถพยาบาลที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่หน้ารัฐสภาอย่างต่อเนื่อง และไม่ยอมให้รถพยาบาลผ่านเข้าออก กลับยิงใส่เจ้าหน้าทีพยาบาลข้างหลัง ขณะเข้าตรวจสอบพื้นที่ว่ามีผู้บาดเจ็บหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากนั้นนายทหารพยาบาลพระราชทาน ได้เดินทางมาถึงหน้ารัฐสภา และเป็นด่านหน้าเข้าช่วยเหลือประชาชน
17.30 น.- แกนนำพันธมิตรฯ ขออาสารถน้ำชุมชนเข้าช่วยเหลือที่หน้ารัฐสภา ขณะเดียวกันมีรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่หน่วยพยาบาลพระราชทาน ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงได้รับบาดเจ็บ 6 ราย
18.30 น.- พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกของกองทัพบก ให้สัมภาษณ์กับเนชั่น แชลแนล ว่าช่วงบ่ายที่ผ่านมามีการจัดทหารเสนารักษ์จำนวนหนึ่งเข้าช่วยเหลือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยลำเลียงและปฐมพยาบาลกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยยืนยันว่าจะไม่มีอาวุธและไม่มีส่วนในการสลายการชุมนุม รวมทั้งจะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร โดยจะแบ่งความรับผิดชอบไปทั้งกองทัพบก ทัพเรือและทัพอากาศ
19.30 น.- กองทัพเคลื่อนย้ายกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมาก ติดริบบิ้นสีขาวเข้ามาหน้าสนามเสือป่าแล้ว ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมที่กระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณใกล้เคียง
 

 

ผู้จัดการออนไลน์ 7 ตุลาคม

 

 
ท่านอาจารย์ทั้งสองครับ จากรายงายข่าวที่ผมยกมานี้ ผมเชื่อว่าท่านอาจารย์คงจะได้เห็นเช่นเดียวกับผมว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ถูกดึงลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเพียงใด โดยเฉพาะในส่วนที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวบนเวทีนั้น เป็นการอ้างด้วยความเข้าใจอันบริสุทธิ์หรือไม่ก็ตาม ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นกำลังสนับสนุนพวกเขาอยู่ แม้ว่าพวกเขาจะกำลังกระทำผิดกฎหมายอยู่ในขณะนั้น
 
ลำดับต่อมา ผมเชื่อว่าท่านอาจารย์ทั้งสองทราบเป็นอย่างดีว่าการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกดึงลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในวิกฤติการณ์ที่แตกแยกเช่นนี้ ล้วนไม่เป็นผลดี ทั้งต่อระบอบการปกครองของไทย และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในสภาพที่ประชาชนจำนวนมากแตกแยกความคิดเป็นสองฝ่าย และความขัดแย้งรุนแรงลึกซึ้งเช่นนี้ ท่านอาจารย์ทั้งสองจะเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศไทยอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่เหลือปัญญาของผมจะคิดได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผมสามารถยืนยันกับท่านอาจารย์ทั้งสองได้ก็คือ ความไม่เท่าเทียมกันนั้นมีอยู่จริง การกดขี่นั้นมีอยู่จริง และในกรณีที่เป็นปัญหาวิกฤติการเมืองที่ผ่านมานั้น หาได้เป็น “ความเหลื่อมล้ำ” อย่างที่ปัญญาชนและสื่อโทรทัศน์พยายามจะเสนออย่างมืดบอดพร้อมกับยืนยันว่าไม่มีอำมาตย์ไม่มีไพร่
 
อาจารย์เสกสรรค์ครับ ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ตอนหนึ่งอาจารย์กล่าวว่า คนตัวเล็กๆ ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการชีวิตของตัวเอง กรรมการปฏิรูปพูดคุยกันมาหลายครั้ง ทิศทางที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ เราต้องปรับความสัมพันธ์อำนาจตรงนี้ให้ได้ เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจจัดการชีวิต อาจารย์กล่าวถึงเรื่องการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน... ผมคิดว่า 4 ปีที่ผ่านมานี้ เห็นได้ชัดว่าคนกลุ่มใดต้องการ “ลด” อำนาจของประชาชน แม้แต่อำนาจพื้นฐานที่สุดในระบอบประชาธิปไตยอย่าง “หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง” ก็ยังไม่ถูกยอมรับและมีความพยายามริดรอนโดยชนชั้นนำจำนวนหนึ่งและชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง อำนาจพื้นฐานนี้ถูกกระทำย่ำยีมาตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องการเพิ่มอำนาจของประชาชนตามที่อาจารย์กล่าว ผมมีความเห็นว่า กลุ่มเป้าหมายของอาจารย์คือคนที่ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชนเหล่านั้น หากคณะกรรมการปฏิรูปจะเสนอแนวทางที่จะปฏิรูปความคิด จิตสำนึก และจิตวิญญาณประชาธิปไตยให้กับคนเหล่านั้น ให้การศึกษาแก่บรรดาชนชั้นนำและชนชั้นกลางที่ไม่มีความเคารพในสิทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะชนชั้นกลางและปัญญาชนซึ่งอยู่ในฐานะซึ่งมีหน้าที่อบรมผู้อื่น เช่น บรรดาคณาจารย์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัย ที่เข้าไปรับใช้คณะรัฐประหาร และมีบทบาทในการไม่ยอมรับผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผมเชื่อว่าจะช่วยคลี่คลายวิกฤติได้ไม่มากก็น้อย
 
ท่านอาจารย์ครับ อำมาตย์และไพร่สำหรับคนเสื้อแดงนั้น ไม่ได้หมายถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความยากดีมีจน อย่างที่ทีวีซึ่งใช้เงินภาษีของประชาชนกำลังพยายามจะบอกหรอกครับ ความเหลื่อมล้ำนั้นมีมานานแล้ว และผมเชื่อว่ามีมาก่อนจะมี “ประเทศไทย” ด้วยซ้ำ ท่านอาจารย์นิธิย่อมทราบดี เหตุใดเล่าคนจึงเพิ่งตระหนักและมาลุกฮือเอาตอนนี้
 
อำมาตย์และไพร่ของคนเสื้อแดงนั้นเข้าใจง่ายครับ ไม่ซับซ้อนแม้แต่น้อย ความไม่เท่าเทียมและการกดขี่ที่สร้างความคับแค้นให้กับคนเสื้อแดงนั้นก็คือ การไม่ยอมรับหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงตามระบอบประชาธิปไตยนั่นเองครับ รัฐบาลที่เขาเลือกมาถูกรัฐประหาร เขาก็ไม่ว่าอะไร เลือกใหม่มาอีกครั้ง ก็ถูกต่อต้านด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลแรกถูกยุบไปด้วยเรื่องทำกับข้าว รัฐบาลต่อมาก็ถูกล้มไปในสถานการณ์ที่มีการจับสนามบินแห่งชาติเป็นตัวประกัน ข้อเสนอของพันธมิตรที่ให้เลือกตั้ง 30% คัดสรร 70% นั้น สะท้อนวิธีคิดที่ “กดขี่” ผู้อื่นได้ชัดเจนโดยที่ไม่ต้องขยายความเพิ่ม ยังไม่นับถ้อยคำเหยียดหยามดูถูก ทั้งต่อการใช้สิทธิ์ของพวกเขา ทั้งต่อการชุมนุมของพวกเขา
 
อำมาตย์ของคนเสื้อแดงนั้น แท้จริงแล้วก็คือ คนที่มีอำนาจ คนที่ใช้อำนาจ โดยไม่ต้อง “รับผิด” นั่นเองครับ
 
ผมรู้สึกประหลาดใจเหลือเกินที่เรื่องง่าย ๆ เพียงแค่นี้ ปัญญาชนชั้นนำ สื่อมวลชนจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อที่ใช้เงินจากภาษีของประชาชน กลับแสดงสีหน้าไร้เดียงสาต่อปัญหาดังกล่าว ราวกับเด็กที่เพิ่งเคยเห็นของลับผู้ใหญ่เป็นครั้งแรก
 
อาจารย์ทั้งสองท่านจะมีแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยอยู่ในใจอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมคาดหวัง และก็อาจจะเป็นสิ่งที่คนเสื้อแดงคาดหวังเช่นเดียวกันก็คือ อย่างน้อยสิทธิทางการเมืองของประชาชนจะต้องได้รับความเคารพ ไม่มีคณะผู้ปกครองประเทศที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีผู้ที่สามารถใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องรับผิด ไม่มีองค์กรที่มีอำนาจโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน และสิ่งที่สำคัญ ซึ่งผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นว่าสำคัญ ก็คือบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเชื่อว่าอาจารย์ทั้งสองท่านจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่า การปฏิรูปประเทศโดยไม่นำประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์มาพิจารณานั้น เป็นได้แต่เพียงการปฏิรูปจอมปลอมเท่านั้น ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำนุบำรุงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นองค์ประธานของระบอบการปกครองอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีบทบาทที่สอดพ้องกับระบอบประชาธิปไตย อยู่พ้นจากอำนาจ จากการเมือง เพื่อพ้นจากการรับผิด เพื่อมิให้ใครอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยหวังผลทางการเมือง ไม่มีใครใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือในการทำลายกันทางการเมือง ประชาชนไม่ต้องหวาดกลัวและรับโทษหนักจากความผิดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น มาตรา 112  
 
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ก็คือ ประชาชนที่สูญเสียชีวิตจำนวนมากระหว่างเหตุการณ์เดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น จะต้องมีการสอบสวนหาคนรับผิดชอบ แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยก็ตาม แต่ผมเชื่อว่า โดยสติปัญญาของท่านอาจารย์ทั้งสอง คงไม่คิดว่าจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยโดยที่ประชาชนยังไม่ได้รับความยุติธรรมเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้ การกล่าวว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยจะไม่เป็นธุระในเรื่องดังกล่าว แต่จะสนใจเฉพาะเรื่องการปฏิรูปในอนาคตนั้น เป็นคำกล่าวที่โง่เขลา เพราะนั่นคือการเสนอในสิ่งที่ทำไม่ได้ ผมเชื่อว่าจะไม่มีการตอบรับใด ๆ จากคนเสื้อแดงต่อข้อเสนอของคณะปฏิรูปฯ ตราบใดที่คณะบุคคลนี้ไม่สามารถมอบความยุติธรรมหรืออย่างน้อยมีจุดยืนที่จะมอบความยุติธรรมให้พวกเขา การปฏิรูปประเทศบนการไม่รับผิดชอบของรัฐบาล หรือแม้กระทั่งถูกมองว่าเป็นการสร้างความชอบธรรม และบ่ายเบี่ยงความรับผิดของรัฐบาล นั้น ไม่มีวันประสบความสำเร็จ จุดยืนในเรื่องการเรียกร้องให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และดำเนินคดีต่อฝ่ายปกครองที่กระทำผิด จึงเป็นจุดเดียวกับจุดเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศไทย เป็นจุดที่จะเพิ่มความชอบธรรมให้กับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปฯ หลังจากที่ประชาชนจำนวนมากถูกย่ำยีอย่างไร้ความเป็นธรรมต่อเนื่องมาตลอดวิกฤติการณ์
 
ทั้งนี้ ผมมีความเชื่อมั่นในสติปัญญาของท่านอาจารย์ทั้งสอง ว่าย่อมเห็นความสำคัญของ “ระบบที่ดี” ซึ่งยั่งยืนมากกว่า “คนดี” และผมเชื่อมั่นในความกล้าหาญของท่านอาจารย์ทั้งสอง ที่จะไม่ประนีประนอมกับแนวทางซึ่งหวังผลทางการเมืองระยะสั้น หรือแนวทางที่เป็นการกดขี่ทางการเมือง
 
“ถ้าท่านไม่ศรัทธาประชาชน ถ้าท่านไม่ฝากความหวังไว้กับพลังและจิตใจต่อสู้ของพวกเขา ท่านก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะยื่นมือเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชะตาของพวกเขา” เป็นคำกล่าวของฟิเดล คาสโตร ซึ่งผมขอนำมาเอ่ยไว้ ณ ที่นี้ ไม่ว่าผลบั้นปลายของการปฏิวัติคิวบาจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าคำกล่าวนี้ยังคงมีความจริงที่เป็นอมตะอยู่
 
สุดท้ายขอให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล สามารถทำหน้าที่ได้ดังที่ตั้งใจไว้ และขอคุณพระศรีรัตนตรัย และคุณประชาชนผู้เสียสละชีวิต คุ้มครองอาจารย์ทั้งสอง
 
วาด รวี
 
6 ตุลาคม 2553
 
 
 
ชื่อบทความเดิม: บทความรำลึก 7 ตุลา และจดหมายเปิดผนึกถึงอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์และอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย เรื่องบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองของไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท