การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กบนพื้นที่สื่อ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เด็กทุกๆ คนในทุกๆ สังคม พึงได้รับ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ถือกำเนิดจนถึงวัยบรรลุนิติภาวะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เพราะถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการสร้างและเตรียมความพร้อมคนดีมีคุณธรรมเข้าสู่การเป็นสมาชิกของสังคม

การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กเป็นเรื่องสากลซึ่งนานาอารยประเทศได้เห็นชอบและมีข้อตกลงร่วมกันทั้งใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่รับรองปฏิญญาสากลฯ ดังกล่าวด้วย ซึ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กทุกด้าน โดยเฉพาะการห้ามละเมิดความเป็นส่วนตัว และการกระทำที่มิชอบต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของเด็ก

นอกจากยึดมั่นตามข้อตกลงสากลแล้ว ในการดำเนินงานโดยภาครัฐและการเมืองยังมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก มีการจัดตั้งหน่วยราชการ และกลไกรองรับจำนวนมาก ขณะเดียวกันในการดำเนินงานของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ก็เป็นไปอย่างแข็งขัน 

ยิ่งไปกว่านั้นในภาคสื่อมวลชน ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการขัดเกลาทางสังคม และปัจจุบันกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญของเด็กๆ ได้มีการกำหนดไว้ในคู่มือทางวิชาชีพที่จะต้องคุ้มครองดูแลสิทธิมนุษยชนของเด็ก เช่นในระดับชาติ อาทิ ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2541 หรือในระดับองค์กร อาทิ  ข้อบังคับองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ. 2552 เป็นต้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน มีเสียงสะท้อนบ่อยครั้งว่า เกิดปรากฎการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กบนพื้นที่สื่อบ่อยครั้ง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ และสื่อโทรทัศน์

ตัวอย่างเช่น การนำเสนอข่าวเด็กที่ถูกกระทำในหลายกรณี เช่น การถูกกระทำด้วยความรุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีการนำเสนอภาพ ใบหน้า ชื่อ ชื่อโรงเรียน หรือข้อมูลอื่นๆ ที่นำไปถึงตัวเด็กผู้ถูกกระทำ จนทำให้เด็กต้องตกอยู่ในสภาพการถูกกระทำ หรือละเมิดสิทธิซ้ำสอง ซ้ำสาม

หรือล่าสุดการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน กรณีเสนอข่าวความสัมพันธ์ของดารานักแสดงหญิงที่ให้กำเนิดบุตรนอกสมรส ขณะที่ฝ่ายชายต้องการให้พิสูจน์ทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ว่าเป็นลูกของตน โดยมีการนำเด็กมาร่วมออกรายการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์นั้น ถือ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็ก” อย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้น

การเสนอข่าวความขัดแย้งระหว่างมารดากับผู้ที่ต้องการทราบผลการตรวจสอบก่อนยอมรับความเป็นบิดาที่เกิดขึ้น ตลอดจนข่าวพฤติกรรมฉาวต่างๆ กลับส่งผลเสียต่อเด็กที่

ต้องตกอยู่ในภาวะลูกที่บิดาเกิดความเคลือบแคลงสงสัยมิต้องการรับเป็นบุตร ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเมื่อเติบโตขึ้นแล้วได้รับทราบข่าวสารที่มีการบันทึกไว้

ดังนั้นแม้สื่ออาจมิได้ตั้งใจ แต่อาจเข้าข่ายละเมิดความเป็นส่วนตัว และการกระทำที่มิชอบต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของเด็กที่มีอายุเพียงไม่กี่เดือน และตัวเด็กเองไม่มีความสามารถปกป้องสิทธิของตน

ทั้งนี้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในกรณีของหนังสือพิมพ์นั้น ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ฯ กำหนดเอาไว้ว่า ในการเสนอข่าวหรือภาพใดๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ บุคคลที่ตกเป็นข่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส ในการเสนอข่าวต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาสนั้นไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง (ข้อ 15.) ส่วนกรณีของสื่อโทรทัศน์นั้น หากใช้แนวทางข้อบังคับองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะฯ นั้น การรายงานข่าวหรือการนำเสนอรายการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ต้องดำเนินการอย่างคำนึงถึงการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน (ข้อ 8.5)

การใช้เหตุผลความเป็นบุคคลสาธารณะของดารา อันอยู่ในความสนใจของสังคม สื่อมวลชนจึงต้องทำหน้าที่เปิดเผยรายงานเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างหมดเปลือก แต่ประเด็นนี้ก็มีข้อกำหนดว่า หนังสือพิมพ์พึงละเว้นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่กรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ข้อ 27.)

กรณีเช่นนี้ หากสื่อเพียงรายงานข่าวเหตุการณ์โต้เถียง การรับหรือไม่รับเป็นบิดาของเด็ก หรือข้อเรียกร้องการตรวจสอบพันธุกรรม จึงไม่น่าเป็นประโยชน์เพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง แต่ยิ่งส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กบนพื้นที่สื่อให้รุนแรงยิ่งขึ้น  

ในทางกลับกันหากการรายงานข่าวขยายเนื้อหาครอบคลุมมุมมองอื่นๆ ให้รอบด้าน เช่น ความเท่าเทียมกันของสิทธิมนุษยชนระหว่างคู่กรณีและเด็ก หรือแม้แต่ขุดรากของปัญหาที่แท้จริงคือปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคม” ซึ่งการศึกษาของคนแม้จะสูงระดับบัณฑิตก็ไม่ได้ช่วยป้องกันการละเมิดศีลธรรม หรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น ฯลฯ สื่อจึงควรนำเสนอแนวทางป้องกันมิให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นในอนาคตได้อย่างไร เป็นต้น

การทำงานของสื่อมวลชนด้วยเจตนาดีเพื่อเสาะแสวงหาความจริงมารายงานต่อสังคมเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนยังมีหน้าที่ในด้านการขัดเกลาสังคม สร้างและสืบสานดำรงวัฒนธรรมศีลธรรมอันดีเอาไว้ โดยเฉพาะการคุ้มครองเด็ก และเยาวชน จากการนำเสนอข่าวสาร หรือรายการที่แสดงออกถึงความรุนแรง การกระทำอันผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม อบายมุข ฯลฯ และที่สำคัญคือ ต้องพึงระลึกถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กด้วยมิให้เกิดการละเมิดอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้น อาจจะถึงเวลาต้องพิจารณาทบทวนกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กบนพื้นที่สื่อกันใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท