Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ครั้งนี้ฉันได้เรียนรู้ด้วยตนเอง น้องๆ ตาบอดทุกคนเป็นคุณครูของฉัน คุณครูที่สอนให้มองชีวิตในมุมอื่น เอาตัวเองออกจากที่ๆ ที่ยืนอยู่ เพื่อไปเรียนรู้ เข้าใจคนอื่นที่แตกต่างจากเราในโลกของเขาเอง ไม่ใช่โลกที่เราเอาแต่มอง ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยสัมผัส มีแต่นึกคิด จินตนาการด้วยตัวเองว่ามันเป็นอย่างไร

เมื่อคุณอยู่ในโลกที่กลับด้าน เป็น “คุณเอง” ที่ “ตาบอด” มุมมอง ความคิด ทัศนคติที่คุณมีต่อคนตาบอดจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร และคุณจะเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ครั้งนี้

ในนิทรรศการ Dialogue in the Dark หรือ บทเรียนในความมืด น่าจะให้คำตอบแก่คุณได้

ฉันมีโอกาสได้นั่งคุยกับคนตาบอด 12 คน เป็นการพูดคุยเชิงสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกให้พวกเขามาเป็นไกด์ให้กับนิทรรศการ Dialogue in the Dark ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาตินำเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทย และจะจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สาขาอาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน เป็นนิทรรศการถาวรประมาณ 1 ปี นิทรรศการนี้เคยจัดขึ้นแล้วครั้งหนึ่งในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ ปี 2551 เป็นระยะเวลาสั้นๆ

หลายคนอาจจะมีข้อสงสัย ว่าทำไมถึงเลือกคนตาบอดมาเป็นไกด์ คนตาบอดจะมองเห็นอะไร และจะแนะนำให้คนเข้าชมนิทรรศการดูอะไรได้บ้าง

Dialogue in the Dark เรียกย่อๆ ว่า DID แปลเป็นภาษาไทยตรงๆ คือ บทสนทนาในความมืด ถ้าให้ความหมายลึกไปกว่านั้น คือ บทเรียนในความมืด ทำไมถึงเป็นบทเรียน เพราะเป็นโอกาสที่เรา -คนตาดี- จะได้เรียนรู้และเข้าใจด้วยตัวเองว่าในความมืดสนิทที่เราไม่สามารถใช้สายตา มองเห็นอะไรได้เลยนั้นเป็นอย่างไร เรามีความรู้สึกอย่างไร เราจะช่วยเหลือตัวเองอย่างไร และจะทำอย่างไรในความมืดนั้น

และในท่ามกลางความมืดที่ไม่รู้ว่าตัวเราอยู่ตรงไหน สิ่งของต่างๆ อยู่ตรงไหน คนที่จะนำเราเข้าไปรู้จักกับการใช้ชีวิตประจำวันช่วงสั้นๆ ประมาณ 1 ชั่วโมงในความมืดนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้เลย นอกจากคนที่อยู่กับความมืดทุกเมื่อเชื่อวัน และรู้จักความมืดดีที่สุด

นั่นคือ เหตุผลว่าทำไมถึงต้องคัดเลือกคนตาบอดมาเป็นไกด์ในนิทรรศการนี้

นิทรรศการนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมนี โดย ดร. อันเดรอัส ไฮเนอเกอ (Andreas Heinecke ) เมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักหนังสือพิมพ์และได้ร่วมงานกับคนตาบอด เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะอยู่ร่วมกับคนตาบอด แต่ก็ได้พบว่าคนตาบอดสามารถทำอะไรได้เหมือนคนทั่วไป และคนทั่วไปมักจะแบ่งแยกคนตาบอดจากสังคมของคนตาดี มีความรู้สึกสงสาร เห็นใจ และไม่กล้าสื่อสารกับคนตาบอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ และไม่เข้าใจคนตาบอดต่อมาเขาเปลี่ยนไปทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือและ อุปกรณ์เพื่อช่วยให้คนตาบอดมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์

ครั้งหนึ่งเมื่อไฟดับ เพื่อนคนตาบอดได้สอนเขาให้รู้จักสิ่งรอบข้างในความมืด และจากเหตุการณ์นั้นเองที่ได้จุดประกายแนวความคิดของนิทรรศการ Dialogue in the Dark เพื่อเป็นการสื่อสารให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และเข้าใจคนตาบอดมากขึ้น คนตาดีจะได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับคนตาบอด และคนตาบอดจะได้สอนคนตาดีในความมืด เพื่อที่จะค้นพบสิ่งที่มองไม่เห็นในตัวเราและรอบข้าง

Dialogue in the Dark เริ่มจัดแสดงในปี พ.ศ 2531 ที่ประเทศเยอรมนี และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นิทรรศการนี้จัดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 30 ประเทศ ใน 5 ทวีป มีคนมากกว่า 6 ล้านคนที่ได้สัมผัสประสบการณ์นี้แล้ว นิทรรศการนี้มีทั้งจัดแสดงถาวรและชั่วคราว ขณะนี้จัดแสดงและมีกำหนดจะจัดการแสดงใน 12 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย สำหรับประเทศไทย นิทรรศการนี้จะเริ่มเปิดให้เข้าชมในวันที่ 15 ตุลาคม 2553

...

ในฐานะที่ฉันได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในทีมฝึกอบรมคนตาบอดให้เป็นไกด์ในนิทรรศการ Dialogue in the Dark ในครั้งนี้ ทำให้ฉันได้มีโอกาสสัมผัสชีวิต ความรู้สึก ความนึกคิดของคนที่ตาบอดตั้งแต่กำเนิด คนที่เพิ่งจะตาบอดมาในภายหลัง คนที่มีปัญหาทางการมองเห็น คือ ยังพอเห็นแสง ยังพอมองเห็นคร่าวๆ ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ไม่ได้มืดสนิทเสียทีเดียว พวกเขาเคยชินกับการถูกถามถึงเรื่องตาบอด หรือได้รับการแสดงความสงสาร เห็นใจ ฉันพบว่าสำหรับคนที่เพิ่งสูญเสียการมองเห็นอาจจะรู้สึกไม่ชอบใจที่ถูกถามถึง เรื่องนี้ แต่เมื่อเจอกับคำถามเรื่องนี้มากเข้าก็ถือเป็นเรื่อง “ ธรรมดา” ไปในที่สุด

คนตาบอดโดยทั่วไปมีทั้งเป็นคนขายประกันทางโทรศัพท์ เว็บมาสเตอร์ ดีเจ หมอนวด หมอดู หลายคนยังเรียนหนังสือ บางคนได้ทุน กพ. ไปเรียนต่างประเทศ บางคนขายล็อตเตอรี่ ซึ่งบอกว่าขายได้น้อย และเสี่ยงอันตรายบนท้องถนน บางคนเป็นคุณครู เป็นอาสาสมัครสอนคนตาบอดให้ใช้คอมพิวเตอร์

จากการคาดประมาณขององค์การอนามัยโลก ประเทศกำลังพัฒนาจะมีจำนวนคนตาบอดและพิการทางสายตาประมาณร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ประเทศไทยจึงน่าจะมีจำนวนคนตาบอดและพิการทางสายตา ประมาณ 6 แสน ถึง 7 แสนคน

ข้อมูลจากมูลนิธิคนตาบอดไทย ในปี พ.ศ. 2550 ระบุว่า มีจำนวนคนตาบอดไม่ถึงร้อยละ 20 ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา และมีไม่ถึงร้อยละ 10 ที่สามารถเขียนอ่านอักษรเบรลล์ได้ และน้อยกว่าร้อยละ 5 ที่มีโอกาสประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น

หากสถานการณ์คนตาบอดเป็นไปตามข้อมูลตัวเลขดังกล่าว คนตาบอดส่วนใหญ่ในประเทศไทยจึงกำลังตกอยู่ในสภาพของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ในสังคม ไม่สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ อาจถูกทอดทิ้งให้เป็นภาระแก่ผู้อื่นและสังคม ตามที่เราเห็นคนตาบอดเป็นวณิพก หรือนั่งขอทานตามท้องถนน และนี่เองอาจทำให้คนไทยมีภาพพจน์ที่เป็นลบกับคนตาบอด

ฉันถามพวกเขาว่า จะใช้คำใดเรียกพวกเขาดี เรียกว่าคนตาบอด ผู้พิการทางสายตา ผู้ที่มีปัญหาทางสายตา หรือคำสละสลวยอื่นๆ ที่มีความหมายเดียวกัน เขาตอบว่า เรียกคนตาบอดได้ ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ถ้าเรียกด้วยคำสละสลวยอื่นๆ เขาจะรู้สึกว่าเป็นการแบ่งชั้นวรรณะ ไม่ต้องประดิษฐ์คำไพเราะเรียกพวกเขา นี่เป็นหนึ่งในความเข้าใจผิดของฉันที่เกี่ยวกับคนตาบอด ฉันนึกไปเองว่าเขาคงรู้สึกไม่ดีที่ได้ยินคำว่า “ ตาบอด” ราวกับไปตอกย้ำเขา

คนตาบอดก็เหมือนกับเรา มีความรู้สึกนึกคิด มีประสาทสัมผัสอย่างอื่นๆ เหมือนกับเรา บางประสาทสัมผัสอาจจะดีกว่า เช่น คนที่มองไม่เห็นแต่กำเนิดจะใช้นิ้วมือสัมผัสและรับรู้สิ่งของต่างๆ ได้ดีกว่าคนสายตาปกติทั่วไป การที่เขาตาบอดเป็นเพียงการที่เขาไม่สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยสายตาเท่านั้น

สำหรับคนตาบอดโดยกำเนิด ถ้าหากพวกเขาได้เรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอดตั้งแต่เด็กๆ พวกเขาจะรู้จักรูปทรงต่างๆ เช่น กล่องสี่เหลี่ยม เหรียญวงกลม แต่ถ้าเป็นคนตาบอดที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้ออกจากบ้าน ก็จะไม่รู้จักรูปทรงต่างๆ และเป็นเรื่องยาก หากจะมาเรียนรู้เรื่องรูปทรงต่างๆ เมื่อมีอายุมากแล้ว สำหรับคนตาบอดตั้งแต่เกิด และตาบอดภายหลังจะไม่รู้ว่าที่นี่ หรือที่นั่นอยู่ตรงไหน ในการที่จะพูดบอกสถานที่ที่ตั้งสิ่งของจึงต้องมีสิ่งอ้างอิงเสมอ เช่น ข้างหน้าที่เรายืนอยู่มีโต๊ะ 1 ตัว ถ้าเราเดินไปด้านขวา 1 เมตรจะเจอกำแพง เดินไปเรื่อยๆ ประมาณ 5 ก้าวจะเจอประตูที่เปิดออกไปด้านนอก หรือถ้าเราจะอธิบายอาหารในจาน เราก็จะเทียบกับหน้าปัดนาฬิกา เช่น อาหารในจานเป็นข้าวกระเพราไก่ มีแตงกวาอยู่ที่เลข 12 คือด้านบนของจาน ไข่ดาวอยู่ที่เลข 9 คือด้านซ้ายของจาน เป็นต้น

ในการพูดกับเขา หรือจะให้ความช่วยเหลือ เราจะต้องเรียกชื่อเขา และแนะนำตัวว่าเราชื่ออะไร เป็นใคร ทำหน้าที่อะไร (ถ้าทำงานด้วยกัน) การแตะตัว พร้อมๆ กับการเรียกชื่อ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องทำด้วยความสุภาพ โดยเลือกแตะบริเวณแขน

หากเราจะเดินนำ เราจะให้เขาแตะหรือจับเราบริเวณแขนที่เหนือข้อศอก หรือหัวไหล่ และหากเป็นที่แคบ เราก็จะพับแขนไปไว้ด้านหลัง เพื่อเป็นการบอกว่าเป็นการเดินในที่แคบ ถ้าหากมีความสนิทสนมคุ้ยเคยกันดีก็อาจจะคล้องแขนกันได้ ระหว่างที่พาเดิน เราก็อธิบายว่า เราเดินผ่านอะไรบ้าง ด้านซ้ายด้านขวามีอะไร

ในการพูดคุยกับคนตาบอด สามารถใช้คำพูดได้เป็นปกติ เหมือนที่เราคุยกันทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเลี่ยงคำพูด เช่น ดูบอล ดูหนัง ดูละคร อ่านหนังสือ ถึงแม้ว่าคำว่า “ดู” จะสื่อถึงการใช้สายตามองเห็น แต่เราก็พูดคำเหล่านี้กับเขาได้ บางคนถึงกับผิดศีลข้อ 4 เพราะเลี่ยงไปตอบคำถามว่า มาที่นี่ได้อย่างไร ด้วยการบอกว่านั่งรถไฟใต้ดินมา เนื่องจากไม่กล้าบอกว่าขับรถ เพราะการขับรถต้องใช้สายตา

เวลาพูดกับคนตาบอดไม่ต้องตะโกน เพราะเขาแค่มองไม่เห็น แต่หูยังได้ยินอยู่ และเวลาที่เราจะเดินไปจากเขาก็ให้บอกเขาด้วยว่าเราจะเดินไปแล้ว

พวกเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือจากเราตลอดเวลา เพราะมนุษย์ทุกคนต่างต้องการความเป็นอิสระ ต้องการอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างสง่างาม อย่างมีศักดิ์ศรี

พวกเขาเรียนหนังสือด้วยกันที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ทำกิจกรรมร่วมกัน รู้จักกันเป็นอย่างดี พูดคุยเรื่องต่างๆ เหมือนที่เราคุยกัน เช่น เรื่องฟุตบอล พวกเขาแต่งตัวตามแฟชั่น เดินสยาม ขึ้น-ลงรถเมล์ ต่อรถตู้ ขึ้นรถแท็กซี่ ขึ้นสะพานลอยได้เอง รู้จักสินค้าต่างๆ เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ในสังคมเป็นอย่างดี

ครั้งหนึ่ง ฉันนั่งรถไฟใต้ดินกลับบ้านกับพวกเขา พวกเขาเดินนำฉันลงลิฟต์และลงบันไดเลื่อนไปถึงชั้นใต้ดินโดยไม่หลงทาง พวกเขาขึ้น-ลงรถไฟใต้ดินฟรีทุกสถานี โดยยื่นบัตรคนตาบอดเพื่อแลกกับเหรียญที่ผ่านเข้าออก สำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอส หากเข้าใช้บริการในสถานีที่มีลิฟต์ 7 สถานี คือ หมอชิต สยาม อโศก อ่อนนุช ช่องนนทรี วงเวียนใหญ่ และกรุงธนบุรี จะไม่เสียค่าโดยสาร พนักงานบีทีเอสอธิบายให้ฉันฟังว่าเป็นกฎที่ให้บริการผู้พิการฟรีในสถานี เหล่านั้น แต่ไม่ทราบว่า “ลิฟต์” มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการไม่เก็บค่าโดยสาร

เมื่อน้องๆ ตาบอดและฉันไปถึงชานชาลา พนักงานคอยช่วยอำนวยความสะดวกพาขึ้นรถ ผู้โดยสารเกือบทุกคนต่างหันมามองพวกเขา อาจจะด้วยความสงสาร สงสัย หรืออยากรู้ว่าจะเดินขึ้นรถอย่างไร ก่อนหน้าที่ฉันจะได้ใกล้ชิดกับคนตาบอด ฉันก็คงเป็นหนึ่งในคนที่อยากรู้อยากเห็นเช่นกัน ที่คงจะเหลียวมองจนสุดสายตาเพื่อดูว่าพวกเขาจะไปยังไง

เมื่อถึงสถานีที่ฉันจะขึ้น ฉันมัวแต่รับไหว้จากพวกเขา และจูงน้องคนหนึ่ง ทำให้ฉันหันไปทางประตูรถที่ปิดอยู่ น้องที่มองเห็นลางๆ ตะโกนเสียงดังว่า “ ออกประตูโน้น” คนทั้งรถหันมามองฉันเป็นตาเดียว พร้อมทั้งหัวเราะและยิ้ม

ทำไมให้คนตาบอดบอกทางคนตาดี

พวกเขามีนาฬิกาพิเศษที่กดแล้วจะมีเสียงบอกเวลา หรือถ้าเป็นนาฬิกาที่เป็นเข็มบอกเวลาก็จะเปิดหน้าปัดออก แล้วใช้มือคลำเข็มสั้น เข็มยาว ฉันเคยถามพวกเขาว่า ถ้าคลำแล้วเข็มเลื่อนล่ะ เขาตอบฉันว่า “ พี่ก็คลำเบาๆ สิคะ จะไปเลื่อนเข็มนาฬิกาทำไม”

พวกเขาส่วนใหญ่อ่านอักษรเบรลล์ได้ แต่ก็มีคนที่เพิ่งตาบอดที่ยังไม่สามารถอ่านได้ อักษรเบรลล์ คือการรวมกลุ่มของจุดนูนบนกระดาษ และอ่านโดยการสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ การเขียนอักษรเบรลล์จะมีเครื่องมือที่เป็นแผ่นโลหะ มีบานพับให้สามารถสอดกระดาษเข้าไปได้ บนแผ่นโลหะจะแบ่งเป็นช่องๆ เอาแท่งที่มีปลายเป็นเข็มเหล็กจิ้มลงไปได้ กระดาษก็จะถูกเจาะให้เป็นรอยนูนกลายเป็นอักษรเบรลล์ รวมกันเป็นคำและประโยค อักษรเบรลล์จึงมีขนาดเดียว รูปแบบเดียว ไม่มีแบบต่างๆ ให้เลือก เวลาเขียนจะเขียนจากขวาไปซ้าย

ฉันยังมีโอกาสได้ดูคอมพิวเตอร์ที่คนตาบอดใช้ หน้าจอเหมือนกับที่เราใช้โปรแกรมเวิร์ด แต่เป็นโปรแกรมเฉพาะ ใช้เคอร์เซอร์เลื่อนขึ้นลง เคอร์เซอร์หยุดที่บรรทัดใด ก็จะมีเสียงอ่านประโยคและคำบรรทัดนั้น ฉันทราบมาว่า เวลาเราส่งอีเมล์ให้คนตาบอดก็สามารถเขียนข้อความในอีเมล์ได้เลย เพราะเขาจะสามารถอ่านได้ทันที หรือจะแนบไฟล์ข้อความที่เราเขียนไปด้วยก็ได้ คนตาบอดสามารถใช้โปรแกรมเอ็กเซลได้เช่นกัน แต่จะซับซ้อนเพราะเป็นรูปแบบตารางที่มีทั้งแนวตั้งและแนวนอน นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์สำหรับกลุ่มคนตาบอดโดยเฉพาะอีกด้วย

พวกเขามีเครื่องมือใช้วัดขนาดของธนบัตร เป็นแผ่นพับพลาสติก วิธีการใช้คือ เปิดแผ่นพลาสติกออก สอดปลายธนบัตรให้ชิดขอบด้านใน แล้วพับธนบัตรที่เหลือแนบกับแผ่นพลาสติกที่เปิดครั้งแรก ปลายธนบัตรอีกด้านหนึ่งจะแตะเส้นที่มีอักษรเบรลล์กำกับบอกว่าเป็นธนบัตรราคา ใด เพราะธนบัตรแต่ละราคามีขนาดไม่เท่ากัน

นอกจากนี้ พวกเขายังมีแหล่งข้อมูลข่าวสารจากบริการสายด่วนข่าวสารความรู้ 1414 เป็นบริการข้อมูลข่าวสารทางโทรศัพท์จากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซึ่งจะได้ฟังข้อมูลข่าวสารและรายการวิทยุจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย ข่าวจากหนังสือพิมพ์ หนังสือเสียงจากห้องสมุดคนตาบอดและผู้ด้อยโอกาสทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ

โครงการหนังสือเสียงสำหรับคนตาบอด เริ่มเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว นอกจากคนตาบอดแล้ว ผู้สูงอายุที่อ่านหนังสือได้ลำบากก็ใช้บริการได้ เรื่องที่มีให้ฟังเป็นข่าวสาร สารคดี นิยาย โดยมีทั้งเสียงสังเคราะห์จาก “โปรแกรมตาทิพย์” ที่เป็นโปรแกรมอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง ซึ่งเสียงที่อ่านออกมาจะไม่ต่อเนื่องมากนัก และเสียงคนจริงๆ อ่าน สำหรับข่าวประจำวันจะช้าไป 1 วัน เพราะต้องใช้เวลานำข่าวเข้าระบบ

ฉันนึกขอบคุณคนคิดโครงการนี้ ที่ยังนึกถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม สำหรับคนตาดีและใจดี สามารถไปอ่านหนังสือเพื่ออัดเป็นเสียงได้ที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซอยบุญอยู่ ถนนดินแดง

ฉันยังถามพวกเขาว่า เวลาเข้าห้องน้ำสาธารณะ รู้ได้อย่างไรว่าสะอาด หรือไม่สะอาด เขาบอกว่า ใช้จมูกพิสูจน์กลิ่น และมีกระดาษทั้งแบบเปียกและแห้งทำความสะอาดที่รองนั่งก่อน ฟังแล้วนึกสะท้อนถึงพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำสาธารณะของคนตาดีบางคน ที่ทิ้งร่องรอยไว้แม้มีตามองเห็น โดยไม่นึกถึงคนเข้าห้องน้ำคนถัดไป

และมาถึงคำถามสำคัญที่ฉันอยากรู้มาก ฉันถามพวกเขาว่ากลัวผีหรือเปล่า พวกเขาย้อนถามฉันว่าความกลัวผีเกิดจากอะไร เกิดจากจินตนาการใช่ไหม ฉันตอบว่า ใช่ และฉันรู้สึกว่าผีมันมากับความมืด
พวกเขาก็บอกว่า ถึงเขามองไม่เห็นก็ยังกลัวผี พวกเขายังมีจินตนาการอยู่แม้ตาจะมองไม่เห็น

...

ฉันอยู่กับน้องๆ ตลอดการฝึกอบรมเพื่อเป็นไกด์ ฉันเดินเข้า เดินออกห้องมืด เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ในระยะเวลา 8 วัน เดินวนไปวนมาในห้องมืดเป็นร้อยรอบ ฉันมีโอกาสได้เห็นห้องเมื่อเปิดไฟ เห็นว่าอะไรอยู่ตรงไหน แต่เมื่อปิดไฟ ฉันก็กลายเป็นคนตาบอดสนิท นอกจากตาบอดแล้ว ยังไม่มีทิศทางในหัวอีกด้วย ถ้าปล่อยฉันไว้คนเดียว ฉันก็คงหาทางออกไม่ถูก แต่น้องๆ เก่งมาก จำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกทิศทุกทาง

น้องๆ ที่จะเป็นไกด์ จะถูกผู้ฝึกอบรมหลักชาวบัลแกเรีย และเยอรมันฝึกอย่างหนัก ถูกเคี่ยวอย่างเข้มข้น รู้ประตูทางเข้า ทางออก ทางตรง ทางลัด ทางฉุกเฉิน ห้องต่างๆ มีลักษณะอย่างไร อะไรอยู่ตรงไหน จะสื่อสารกับผู้ชมอย่างไร ต้องผ่านเหตุการณ์จำลองทุกสถานการณ์ ถูกฝึกให้รับมือกับผู้เข้าชมที่แย่ที่สุดเท่าที่จะมีได้ หนึ่งในนั้นเป็นฉันเอง เพราะฉันเดินเกาะครูฝึกแจ ไม่ต้องกลัวหลงทางหรือเดินชน จึงทำตัวเป็นผู้เข้าชมที่แย่มากๆ ได้อย่างเต็มที่

ทุกคนสามารถเข้าชมนิทรรศการนี้ได้ โดยปกติจะให้เด็กที่อายุ 8 ขวบขึ้นไปเข้าชม หรือถ้าเป็นเด็กเล็กต้องมีผู้ปกครองเข้ามาด้วยและอุ้มตลอดเวลา หากเด็กร้องจะออกก็ต้องพาออกทันที จะได้ไม่เป็นการรบกวนการชมนิทรรศการของคนอื่น เพราะเมื่อตาไม่สามารถมองเห็นอะไรแล้ว ประสาทสัมผัสทั้งหมดจะถูกใช้เพื่อรับรู้สิ่งต่างๆ

ผู้ที่ต้องใช้รถเข็นก็จะมีรถเข็นบริการ และจะมีไกด์เฉพาะเพื่อเข็นรถและนำชม คนหูหนวกก็สามารถเข้าดูได้ เพราะจะมีล่ามภาษามืออธิบายวิธีการดู และการปฏิบัติขณะชมนิทรรศการ ผู้ป่วยทางจิตก็สามารถเข้าชมได้เช่นกัน อย่างที่ฉันบอก ไกด์ถูกฝึกให้รับมือกับทุกสถานการณ์ ถ้าหากต้องการบริการพิเศษเช่นนี้ ขอให้จองการเข้าชมล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมไกด์และอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม

เนื่องจากนิทรรศการนี้เป็นโอกาสให้พวกเขามีงานทำ ได้รับค่าตอบแทน และเหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาจะได้รับความรู้สึกดีๆ ความรู้สึกภูมิใจที่ว่าตัวเองมีค่า มีประโยชน์ สามารถทำงาน และช่วยสร้างการเรียนรู้ให้แก่คนตาดีได้ การเข้าชมนิทรรศการนี้จึงต้องเก็บค่าเข้าชมเหมือนกับนิทรรศการ Dialogue in the Dark ทุกแห่งทั่วโลก

คนที่เข้าชมจะได้รับทราบข้อปฏิบัติก่อนเข้าชม อาทิ ไม่แนะนำให้เอากระเป๋าติดตัวเข้าไปเพื่อความสะดวกในการเข้าชม เพราะต้องใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ เต็มที่ วัตถุที่เรืองแสงในที่มืด เช่น นาฬิกา เครื่องประดับ โทรศัพท์มือถือ ไม่ให้นำเข้าไป หรือถ้าจะนำเข้าไปต้องเก็บไม่ให้เกิดแสง หรือสามารถเก็บของในล็อกเกอร์ฝากของ รองเท้าที่มีแถบเรืองแสงจะมีเทปปิดให้ ไม่แนะนำให้ใส่รองเท้าส้นสูง เพราะบางพื้นที่อาจจะเดินไม่สะดวก แว่นสายตาก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะจะมองไม่เห็นอะไรอยู่แล้ว ห้ามนำไฟแช็ค ไฟฉายเข้าไป ห้ามถ่ายรูป หรือวิดีโอด้านใน เพื่อรักษาความมืด

สำหรับสื่อมวลชนเมื่อลงทะเบียนแล้ว ทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จะเตรียมข้อมูลและรูปภาพทั้งหมดไว้ให้ ผู้เข้าชมสามารถนำเงินติดตัวเข้าไปได้ เพราะมีน้ำและเครื่องดื่มขายด้านในให้ทดลองประสบการณ์ซื้อและรับประทานในที่ มืด นอกจากนี้ผู้เข้าชมจะได้รับคำแนะนำในการใช้ไม้เท้าแบบเดียวกับที่คนตาบอดใช้ โดยกวาดไปข้างหน้า ซ้าย ขวา อย่างเบาๆ เพื่อดูว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้าหรือไม่ ไม้เท้านี้จะเป็นอุปกรณ์ของทุกคนในการเดินชมนิทรรศการ

การเข้าชมจะจัดเป็นกลุ่ม จำนวนผู้เข้าชม 8 คน ต่อไกด์ 1 คน หากใครไม่อยากเดินต่อก็สามารถบอกไกด์ให้พาออกจากนิทรรศการได้ตลอดเวลา ระหว่างการชมนิทรรศการให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของไกด์ เจอประตูก็ไม่ต้องเปิดประตู ไกด์จะเป็นคนเปิดให้เราเอง มีข้อสงสัยอะไรสามารถถามไกด์ได้ตลอดเวลา

...

ระยะเวลา 9 วัน ที่ฉันอยู่ร่วมกับพวกเขาเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เป็นหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของฉัน ฉันเคยเรียนแต่ในห้องเรียน อ่านจากหนังสือ ฟังจากคุณครูสอน ซึ่งล้วนแต่เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของคนอื่น ครั้งนี้ฉันได้เรียนรู้ด้วยตนเอง น้องๆ ตาบอดทุกคนเป็นคุณครูของฉัน คุณครูที่สอนให้มองชีวิตในมุมอื่น เอาตัวเองออกจากที่ๆ ที่ยืนอยู่ เพื่อไปเรียนรู้ เข้าใจคนอื่นที่แตกต่างจากเราในโลกของเขาเอง ไม่ใช่โลกที่เราเอาแต่มอง ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยสัมผัส มีแต่นึกคิด จินตนาการด้วยตัวเองว่ามันเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ฉันยังได้เรียนรู้ความอดทน เพราะแน่นอนที่สุดคนที่อยู่ในที่ที่มองเห็นสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา ย่อมรู้สึกอึดอัดที่อยู่ในความมืดและมองไม่เห็นอะไรเลย ลองย้อนนึกดู ตอนไฟดับช่วงเวลาสั้นๆ เราก็รู้สึกว่ามันนานและทรมาน นี่จะเป็นการฝึกความอดทนต่อตัวเองและเข้าใจที่จะต้องอดทนต่อผู้อื่นด้วย

วันนี้ ฉันสามารถเรียกพวกเขาว่าเพื่อน ฉันสามารถคุยกับเขาได้อย่างสนิมสนม ไม่มีเส้นขีดกั้น แบ่งแยกใดๆ ระหว่างฉันและพวกเขา ฉันเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ของตัวเองว่าคนตาบอดมีความสามารถ มีความหมาย มีค่าในสังคม ทำประโยชน์ให้สังคมได้เหมือนอย่างคนตาดีทั่วไป

ฉันอยากให้ทุกคนได้ลองประสบการณ์ครั้งนี้ ลองดูว่าในโลกของคนตาบอดเป็นอย่างไร ลองให้คนตาบอดมานำทางให้คุณในความมืด เหมือนกับที่คุณเคยจูงเขาในที่สว่าง ลองดูว่าในความมืดที่ไม่สามารถมองเห็น หรือแบ่งแยกสิ่งต่างๆ ได้ด้วยสายตา ในที่ๆ ทุกคนมองเห็น (หรือไม่เห็น) อย่างเท่าเทียมกัน เมื่อคุณอยู่ในโลกที่กลับด้าน เป็นคุณเองที่ตาบอด มุมมอง ความคิด ทัศนคติที่คุณมีต่อคนตาบอด จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร

เพราะว่า วิธีเดียวที่จะเรียนรู้ได้ดีที่สุด คือการได้พบเจอด้วยตัวเอง ได้สัมผัสด้วยประสบการณ์ของตัวเอง The only way to learn is through encounter. (From the German-Jewish philosopher Martin Buber’s work “The Principles of Dialogue”.)

...

1 ชั่วโมงกับนิทรรศการที่ไม่ได้ใช้ตามองเหมือนนิทรรศการอื่นๆ

1 ชั่วโมงที่ประสาทสัมผัสอื่นๆ จะถูกใช้เพื่อสัมผัสและรับรู้สิ่งรอบข้าง แทนดวงตาที่โดยปกติเราจะใช้เพื่อรับรู้สิ่งต่างๆ มากที่สุด

1 ชั่วโมงที่คุณจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของพวกเขาในโลกมืด ผ่านนิทรรศการ Dialogue in the Dark หรือบทเรียนในความมืด นับเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาตลอดชีวิตของเขาที่อยู่ในโลกของความมืด

และ 1 ชั่วโมงนี้จะเป็น 1 ชั่วโมงที่คุณจะได้ค้นพบประสบการณ์ใหม่ๆ ค้นพบสิ่งที่มองไม่เห็นในตัวเราและรอบข้าง ได้เรียนรู้ตัวคุณ เอง เข้าใจคนตาบอด และเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติที่เคยมีกับพวกเขามาก่อน

ฉันหวังว่า ทุกคนจะได้มุมมองใหม่ๆ จากบทเรียนนี้ที่จะเชื่อมความแตกต่างในสังคมได้ พลิกมุมมองอื่นๆ ที่ไม่เคยมองเห็น เกิดความเข้าใจ เห็นใจคนอื่นมากขึ้น ไม่เฉพาะกับคนตาบอด แต่กับทุกคนที่ต่างจากเรา

บทเรียนในความมืดนี้ จะทำให้คุณอยู่ในสังคมร่วมกับคนที่แตกต่างจากคุณได้ดีขึ้น

 

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม "Dialogue in the Dark... การเรียนรู้โดยการชมนิทรรศการที่ไม่ต้องใช้ตา"
ที่มา: www.teenpath.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net