Skip to main content
sharethis
2 ต.ค. 53  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ AMRON (ASEAN Muslim Research Organization Network) เครือข่ายองค์กรวิจัยมุสลิมอาเซียน จัดประชุมนานาชาติAMRON ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ ‘มุสลิมในประเทศอาเซียนกับการศึกษา : เปลี่ยนแปลงจากภายในผ่านการศึกษา’  ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์   
ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในหัวข้อ ‘การศึกษากับสันติภาพ’ว่า ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในสังคมที่แตกแยก ในขณะที่ตัวเลขความรุนแรงพุ่งขึ้นไปอีก 7% เราจึงต้องตระเตรียมความพร้อมที่จะนำสันติภาพให้เด็กๆ ซึ่งต้องเคารพในความแตกต่างหลากหลาย
“ทำไมเราจึงเกลียดกันได้โดยที่เราไม่รู้จักกัน ซึ่งมันเป็นเส้นแบ่งเทียมๆ อะไรบางอย่างที่เราสร้างขึ้นมา” ดร.สุชาติตั้งคำถามเปิดและยกตัวอย่างการสร้างความเกลียดจากการฝึกทหารในอเมริกาที่ครั้งหนึ่งเคยให้ดูการฆ่าเพื่อให้การฆ่ากลายเป็นเรื่องธรรมดา หรือการทิ้งระเบิดในสงครามเวียดนามโดยให้มองคนเป็นกระต่าย หรือการบอกว่าคนเหล่านี้กินหมาจึงป่าเถื่อน สามารถบอมบ์ได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นอคติที่สำคัญ
ดร.สุชาติ ยกตัวอย่างที่มีในสังคมมุสลิมเช่นกันว่า ทำไมตอลีบันจึงมีความชอบธรรมที่ทำลายพระพุทธรูปบามิยัน ทั้งที่ตัวเขาเข้าใจว่า คำสอนของศาสดามีว่า ศาสนาของท่านก็คือของๆท่าน ศาสนาของเราก็คือของเรา แต่อคติเหล่านี้นำไปสู่การที่สถาบันการศึกษาที่สอนอิสลามศึกษาถูกเลิกสอนไปหลายแห่งในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นของการเสียโอกาส  
ส่วนจะปลดล็อคเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร ดร.สุชาติ ระบุว่า การเรียนการสอนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องใช้กิจกรรมที่มีส่วนร่วมและหลากหลาย ประเทศที่สำเร็จในเรื่องนี้ ครูเป็นกุญแจสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ดังนั้น ครูก็ต้องซึมซับ ความรู้ทักษะ ทัศนคติ ด้วย
นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า ปัจจุบันเรากำลังถูกครอบงำกำหนดโดยสิ่งที่ไม่รู้ตัว เช่น หลังเหตุการณ์ 911 มีภาพมุสลิมกำลังออกมาดีใจแพร่ออกมา แต่ภายหลังจึงรู้ว่าภาพนั้นเป็นภาพตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซีย ดังนั้น ต้องรู้เท่าทันเพื่อการสร้างทัศนคติเชิงบวก และในการตั้งคำถามเรื่องสันติภาพอย่าดูไปที่คู่ขัดแย้งอย่างเดียว เช่น การตายของนักมวยบนเวที ถามว่าใครเป็นผู้ใช้ความรุนแรง นักมวย กรรมการ สปอนเซอร์ หรือใคร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะบางครั้งหลายส่วนก็มีส่วน ปัญหาสังคมทุกวันนี้ไม่ใช่เพียงเกิดจากคนทำไม่ดี แต่มันรวมถึงเกิดจากการที่เราไม่ริเริ่มทำสิ่งที่ดีๆ
ด้าน ศ. สุริชัย หวันแก้ว อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อเดียวกันว่า มีคนถามว่า ทำไมสีเหลือง สีแดง จึงใหญ่กว่าสีรุ้ง และทำให้คนฆ่ากันได้ มันไร้สาระมาก แต่คนที่อยู่ในที่นั้นรู้สึกว่ากำลังทำในสิ่งที่ถูกที่สุดแล้ว เราอยู่ในโลกแบบนี้ ทำไมจึงเอาแค่สองสีมาเป็นเรื่อง ปัญหาของสันติภาพจึงไม่มีคำตอบแบบสำเร็จ
“โลกเรานี้เป็นโลกที่มีความสุดขั้ว โลกาภิวัตน์มีความสุดขั้วและชวนให้เราสุดขั้วได้ง่ายมาก ถ้าเราไม่เท่าทัน มีสติไม่เท่าทันซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก” ศ.สุริชัย กล่าวโดยยกตัวอย่างกรณีข่าว ฟิล์ม - แอนนี่ ซึ่งในช่วงแรกที่ผู้หญิงออกมาพูด เรทติ้งรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศได้พุ่งขึ้นถึง 20 ล้านคน
“เรากำลังสนใจอะไรกัน มันสุดขั้วจนเสพข่าวจนไม่รู้ว่าพลังอะไรขับเคลื่อนเราทุกวันนี้ คนทำรู้สึกว่าทำถูกต้องแล้ว อย่าเสือกมาสอน ผู้ใหญ่จะเชื่ออย่างนี้ ส่วนเด็กก็เชื่อว่ารู้หมดแล้ว เสิร์ชเน็ทได้ เรื่องนี้จึงใหญ่มาก”
ศ.สุริชัย ระบุว่า เรากำลังมีความเสี่ยงอย่างสูงต่อความรุนแรงที่ไร้สาระ คนจึงหันไปพึ่งศาสนามาก แต่ไม่มีที่ไหนสอนให้เข้าใจคนอื่นซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันเขาก็ไม่เชื่อว่าการสร้างประชาคมอาเซียนที่มุ่งแต่การค้าพาณิช แต่ไม่สร้างจิตวิญญาณร่วมกัน โดยปล่อยให้คนยังดูถูกกันจะไปได้ จุดบอดนี้เป็นเรื่องที่ต้องการการศึกษาการเรียนรู้ร่วมกัน แต่เรากำลังอยู่ในโลกาภิวัตน์ตลาด เศรษฐกิจต้องมาก่อนซึ่งยอมรับว่าสำคัญจริง เพราะคนต้องกินต้องอยู่ แต่โลกาภิวัตน์สังคมก็เป็นเรื่องต้องพูดกัน อย่างประเทศไทยก็กลายเป็นที่พึ่งของคนที่ไม่ถูกดูแลหรือมีคนไม่มีทะเบียนมากมาย และน่าจะมากขึ้นหลังการเลือกตั้งในพม่า เช่นเดียวกับเรทติ้งของนายกรัฐมนตรีที่สูงมาก ยิ่งเมื่อสั่งสลายการชุมนุมก็ยิ่งสูง เพราะเราอยู่ในโลกของความสะใจในวิธีความรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัว
ศ.สุริชัย กล่าวอีกว่า เราอาจจะต้องตั้งหลักใหม่ เพราะเรากำลังอยู่ในโลกที่ขาดดุลสูงใน 4 เรื่องหลัก คือ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ขาดดุลด้านสังคมเพราะมีความเหลื่อมล้ำสูงแต่มันต้องคิดไกลกว่าเรื่องวัตถุ ขาดดุลด้านธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย ซึ่งการใช้งบประมาณในกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ก็สะท้อนเรื่องนี้ ขาดดุลด้านความมั่นคงของมนุษย์ ดังที่มีการติดอาวุธให้กันเหมือนกรณีอินเดียกับปากีสถาน ดังนั้น ต้องสร้างความรู้สึกต่อกัน การคิดร่วมกัน ต้องมีศาสนสัมพันธ์ ต้องมีสายสัมพันธ์ต่อกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net