Skip to main content
sharethis

 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ข่าวคราวโศกนาฏกรรมของคนทำงานอย่างกรณีการฆ่าตัวตายของคนงานจีนที่ทนสภาพ “แรงบีบคั้น” ไม่ไหว ที่โรงงาน Foxconn รวมถึงการประท้วงใหญ่ของคนงานหญิงในกัมพูชา และอีกหลายที่ในถิ่นที่มี “ค่าแรงถูก” ทั่วทวีปเอเชีย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมานั้นรัฐบาลของประเทศค่าแรงต่ำต่างๆ อาจจะไม่ใช่ผู้รับผิดชอบ หรือตัวการเพียงกลุ่มเดียว เพราะเมื่อมาดูถึงสายพานที่โยงใยการผลิตจะพบว่าแบรนด์ดังหลายๆ แบรนด์ เป็นต้นตอสำคัญด้วยเช่นกัน

แบรนด์ vs. เรียกร้องค่าแรง

ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำเอเชียสวนทางค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเริ่มลุกลามไปทั่วเอเชีย สำหรับผู้ลงทุนกำลังกลายเป็นปัจจัยความเสี่ยงใหม่ต่อการลงทุนในภูมิภาคนี้ ส่วนแรงงานนั้น ถือว่าเป็นสภาพถูกบีบบังคับให้สู่กระบวนการเรียกร้องหน้าโรงงานและบนท้องถนน เรียกร้องกับนายจ้าง และรัฐให้เข้ามาแก้ปัญหาตามลำดับ

บรรดาผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ดังทั่วโลกต่างกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาแรงงานในเอเชียซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดหลายประเทศในเอเชีย นั้นได้เกิดความเคลื่อนไหวขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทั้งในบังกลาเทศ กัมพูชา เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย

สำนักข่าว AP รายงานว่า สัญญาณล่าสุดของการเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้นของแรงงานเอเชียนั้น ได้ปะทุขึ้นในกัมพูชา ประเทศที่มีอัตราการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยแรงงานจำนวนมากได้เรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการและค่าแรงขั้นต่ำขึ้น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาโดยมีแรงงานเข้าร่วมการประท้วงร่วมหลายหมื่นคน

ในรายงานระบุว่า แรงงานส่วนใหญ่ที่รวมตัวกันประท้วงในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากโรงงาน ในอุตสาหกรรมภาคสิ่งทอ ซึ่งโรงงานเหล่านี้ในกัมพูชาได้ทำการผลิตสินค้ายี่ห้อดังของโลกทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Gap, Benetton, Adidas และ Puma ซึ่งในขณะที่ทางการได้กำหนดอัตราค่าแรงไว้ที่ 61 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,890 บาท) ต่อเดือนนั้น แต่ทว่าทางสหภาพแรงงานต้องการให้ฐานเงินเดือนอยู่สูงกว่านั้นที่ 93 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 2,880 บาท)

เลขาธิการสหพันธ์แรงงานแห่งกัมพูชากล่าวว่าแรงงานเหล่านี้กำลังใช้ชีวิตอย่างยากลำบากกับค่าแรงที่ต่ำมาก

ความเคลื่อนไหวของแรงงานกัมพูชาในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ แรงงานภาคสิ่งทอในบังกลาเทศราว 3 ล้านคน ซึ่งมีบทบาทในกระบวนการผลิตเสื้อผ้าให้กับบริษัทสัญชาติตะวันตกด้วยเช่นกัน ได้เรียกร้องขึ้นเงินเดือนถึง 80% จากที่ได้รับ โดยการประท้วงถูกบีบบังคับให้จบลงด้วยความรุนแรง มีการจลาจล เผารถยนต์และสร้างความเสียหายให้กับโรงงานผลิตอย่างหนัก

 

คนงานในภาคสิ่งทอของกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง

แรงงานในบังกลาเทศเหล่านี้เป็นผู้ทำการผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อดัง เช่น H&M และ Tesco ซึ่งต่างไม่พอใจที่ได้รับการยื่นข้อเสนอค่าแรงขั้นต่ำที่ 3,000 ทากา (ราว 1,330 บาท) โดยแรงงานเหล่านี้ต้องการขึ้นค่าแรงมาอยู่ที่ 5,000 ทากา (ราว 2,200 บาท)

สหภาพแรงงานในบังกลาเทศระบุว่าค่าแรงที่ได้ต่อรองกลับไปที่ 5,000 ทากาต่อเดือนนั้น น่าจะช่วยให้แรงงานเหล่านี้สามารถพอแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นในบังกลาเทศได้บ้าง ซึ่งขณะนี้กำลังเกิดภาวะเงินเฟ้อในสินค้าประเภทบริโภคที่พุ่งสูงขึ้นมากด้วย

ที่กัมพูชานั้นการประท้วงหยุดงานเมื่อต้นเดือนถือว่าเป็นวาระที่ส่งผลกระทบต่อ ภาคเศรษฐกิจโดยรวมของกัมพูชา ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องเข้ามาแทรกแซงด้วยการจัดเปิดการเจรจาขึ้นจากฝ่ายสหภาพ แรงงานและฝ่ายผู้ผลิตในปลายเดือนกันยายนนี้ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นถือเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจกัมพูชา โดยมีแรงงานอยู่ราว 3.45 แสนคน ในภาคอุตสาหกรรมประเภทนี้

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่เวียดนามนั้น แม้ว่ารัฐบาลเวียดนามได้ห้ามการตั้งสหภาพแรงงานที่เป็นอิสระขึ้น แต่กระนั้นได้เกิดการนัดหยุดงานประท้วงของแรงงานแล้วถึง 139 ครั้ง ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2010 เนื่องจากปัญหาดัชนีค่าครองชีพในเวียดนามที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวพุ่งสูงขึ้นไปที่ 8.75% แล้วในปีนี้

การประท้วงของแรงงานส่วนใหญ่มุ่งไปที่การแสดงความไม่พอใจกับค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ประกอบกับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ โดยแรงงานส่วนใหญ่นั้นต่างทำงานอยู่ในโรงงานของบริษัทข้ามชาติ ผลิตให้แบรนด์ดังระดับโลก ซึ่งเมื่อเดือน เม.ย. ก็เกิดการประท้วงขึ้นของแรงงานหลายหมื่นคนในโรงงานผลิตรองเท้าของไต้หวัน

ในอินโดนีเซียที่ถือว่าเป็นแหล่งแรงงานค่าแรงถูกอีกแห่งหนึ่งของเอเชียนั้น อินโดนีเซียมีสหภาพแรงงานที่ทรงอำนาจมากที่สุดอยู่ 3 องค์กร ครอบคลุมแรงงานราว 3.4 ล้านคน และในขณะนี้ก็กำลังเกิดภาวะกดดันให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากขึ้นทุกทีเช่นกัน โดยเฉพาะแรงงานในโรงงานสิ่งทอที่มีเจ้าของเป็นนายทุนต่างชาตินั้นได้เกิดการ ประท้วงขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จากปัญหาชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป แต่ค่าแรงที่ได้นั้นกลับไม่สมดุลกับชั่วโมงการทำงาน

ระบบค่าแรงขั้นต่ำในอินโดนีเซียไม่ได้รับการกำหนดขึ้นจากรัฐบาลกรุงจาการ์ตา แต่จะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เมื่อปี 2008 ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่จังหวัดปาปัว ที่ 123 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 3,800 บาท) ส่วนค่าแรงที่ถูกที่สุดอยู่ที่ชวาตะวันออก ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 1,860 บาท)

สถานการณ์แรงงานในอินโดนีเซีย ได้ปะทุขึ้นเมื่อวันแรงงานในวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเกิดการเดินประท้วงใหญ่ขึ้นในกรุงจาการ์ตา แต่ทว่าตำรวจก็เข้าควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ

ส่วนที่ในอินเดียซึ่ง การเคลื่อนไหวของแรงงานอยู่บ่อยครั้ง โดยกรณีพิพาทเรื่องค่าแรงหลายครั้งในช่วงปีนี้ เกิดขึ้นในโรงงานผลิตสินค้ายี่ห้อดังของโลก เช่น Nokia ของฟินแลนด์ Hyundai ของเกาหลีใต้ ตลอดจน Bosch ผู้ผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยีจากเยอรมัน

 

สถานการณ์บีบคั้นที่ “โรงงานของโลก”

 

ความไม่พอใจของแรงงานต่อสภาพการทำงานส่งผลให้มี "การประท้วง-ข้อพิพาทแรงงาน"
แพร่กระจายไปหลายที่ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในปี 2010 

แม้กระทั่งสถานการณ์ในจีนเอง ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็น “โรงงานผลิตของโลก” นั้น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมหลายประเภทต่างก็ลุกฮือขึ้นเรียกร้องขอค่าแรงและสวัสดิการให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ดังที่เกิดขึ้นกับการประท้วงของแรงงานในโรงงานผลิตของบริษัทรถยนต์ Toyota และ Honda ตลอดไปจนถึงการประท้วงของแรงงานในโรงงานบริษัทไอที “Foxconn” ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายแบรนด์ดัง (อาทิ ชิ้นส่วนของ Mac mini, iPod, iPad, iPhone ผลิตภัณฑ์ในตระกูลของ Apple เมนบอร์ดคอมพิวเตอร์ของ Intel ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ของ Dell และ Hewlett-Packard ชิ้นส่วนของเครื่องเล่นเกมส์ PlayStation 2 และ PlayStation 3 ของ Sony ชิ้นส่วนของเครื่องเล่นเกมส์ Wii  ของ Nintendo ชิ้นส่วนเครื่องเล่นเกมส์ Xbox 360 ของ Microsoft แบ็ตเตอร์รี่ของ Motorola และชิ้นส่วนของเครื่องอ่านหนังสืออิเล็คทรอนิคส์ Kindle ของ Amazon เป็นต้น)

ปัญหาของ Foxconn ซึ่งนักรณรงค์ต่อผู้บริโภคได้นำไปเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์แห่งยุค อย่างผลิตภัณฑ์ในตระกูล Apple ทำให้เกิดผลสะท้อนกลับ มีการขึ้นค่าแรงให้กับคนงานในโรงงานที่เสิ่นเจิ้น 30% (อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเกาะกระแสตัวสินค้าที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นขบถแห่งยุคสมัย?) ส่วนการประท้วงและการนัดหยุดงานของคนงาน Honda หลายครั้งในกวางตุ้ง จึงสามารถกดดันทำให้ฝ่ายบริหารขึ้นค่าแรงให้คนงานจาก 939 หยวน เป็น 1,600 หยวน

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าว รัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ของจีนได้ทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามลำดับ โดยขณะนี้ค่าแรงในพื้นที่เซี่ยงไฮ้มีราคาแพงมากที่สุดในจีน อยู่ที่ 1,120 หยวนต่อเดือน หรือประมาณ 166 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 5,150 บาท)

รวมถึงการออกมาแสดงทัศนะคติของบุคคลสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ระบุว่าบริษัทข้ามชาติ (ญี่ปุ่น) มักที่จะให้ค่าแรงแก่แรงงานจีนน้อยเกินไป (นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่าของจีนได้ขอให้บริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในจีนขึ้นค่าแรงให้กับแรงงานชาวจีน หลังจากที่เกิดการประท้วงหลายครั้ง) รวมถึงร่างกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ของจีนที่จะเปิดทางให้แรงงานจีนในเสิ่นเจิ้นต่อรองสิทธิ์การทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษได้มากขึ้น

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในเสิ่นเจิ้นเป็นอันดับต้นๆ (และก็เหนียวค่าแรงให้คนงานเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเช่นกัน) ออกมาแสดงความกังวลต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะจากร่างกฎหมายดังกล่าวแรงงานจากโรงงานจะได้สิทธิ์ในการเปิดเจรจาต่อรองกับผู้บริหาร หากค่าแรงของแรงงานส่วนใหญ่น้อยกว่า 50% ของระดับเฉลี่ยที่จ่ายในเมืองเสิ่นเจิ้น โดยข้อกำหนดใหม่จะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายให้กับแรงงานในโรงงานที่จ่ายค่าแรงต่ำ

 ด้านข้อมูลจากทางการเสิ่นเจิ้นระบุว่า รายได้เฉลี่ยของแรงงานในโรงงานที่อยู่ในเมืองอยู่ที่ประมาณ 3,900 หยวนหรือ 560 ดอลลาร์สหรัฐฯ   ส่วนรายได้ที่บริษัทญี่ปุ่นขนาดเล็กและธุรกิจในเครือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทผลิตสินค้ารับอยู่ระหว่าง 1,100 - 1,500 หยวน เท่านั้น

ซึ่งหมายถึงว่า  แรงงานในบริษัทญี่ปุ่น และบริษัทในเครือสามารถเรียกร้องขึ้นค่าแรงได้กว่า 70%  เพียงแต่ปรับระดับเงินชดเชยขึ้นมาที่ครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ย ข้อกำหนดใหม่จะเปิดทางให้แรงงานในเสิ่นเจิ้นเรียกร้องการต่อรองกับฝ่ายบริหารได้มากเท่าที่ต้องการ

 

 มุมมองนักลงทุน รัฐบาล

นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจในฮ่องกง ให้ความเห็นว่าต้นทุนในกระบวนการผลิตที่สูงขึ้นในจีนนั้นกำลังทำให้ผู้ผลิตย้ายไปยังแหล่งผลิตอื่นๆ ที่มีต้นทุนถูกกว่า เช่น เวียดนาม กัมพูชา หรือบังกลาเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศเหล่านี้ และแม้ว่าในประเทศเหล่านี้จะพบปัญหาขึ้นบ้างเช่นกัน แต่ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับจีนแล้ว ระดับของปัญหานั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง

จีนกำลังแพงขึ้นอย่างมาก และประเทศอื่นๆ ที่ด้อยพัฒนากว่าก็กำลังแพงขึ้นเช่นกัน แต่ทว่าช่องว่างระหว่างรายได้ต่อหัวในสถานที่อย่างบังกลาเทศ กัมพูชา และเวียดนาม เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในจีนนั้นต่างกันมาก

ปัญหาการขอขึ้นค่าแรงของแรงงานในประเทศเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะไม่เพิ่มขึ้นทันการปรับขึ้นของแรงงานในจีน

ส่วนรัฐมนตรีมหาดไทยของกัมพูชาออกมากล่าวว่า หากเกิดการประท้วงของแรงงานขึ้นอีกนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสวัสดิการของตัวแรงงานเอง นอกเหนือจากจะกระทบต่อนายจ้าง และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมไปด้วย

 

 

เรียบเรียงจาก :

Global brands face growing labour militancy in Asia (Cat Barton, AFP, 18-9-2010)
http://www.google.com/hostednews/afp/article/ALeqM5iCMogtK81iCrVi9Hkdr6ZDlf7k4w

http://en.wikipedia.org/wiki/Foxconn

http://en.wikipedia.org/wiki/2010_Chinese_labour_unrest

นายกฯจีนเรียกร้อง บ.เอกชนญี่ปุ่นช่วยขึ้นค่าแรงให้แรงงานชาวจีน (พิมพ์ไทย, 1-9-2553)

กฎหมายแรงงานใหม่จีนกระทบบริษัทญี่ปุ่น (สยามรัฐ, 7-9-2553)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net