“คำพิพากษา” กรณีฟิล์ม-แอนนี่ : “ฮีสทีเรียทางศีลธรรม” ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครที่ไม่รับรู้ข่าวความสัมพันธ์ระหว่างนักร้องดัง ฟิล์ม รัฐภูมิ กับดาราสาว แอนนี บรู๊คก็นับว่าเป็นคนตกกระแสสังคมไปเลยทีเดียว

เหตุเกิดจากข่าวลือเรื่องฟิล์มใช้เงินสองแสนบาทปิดข่าวเรื่องทำดาราสาว อ. คนหนึ่งท้อง จนทำให้ฟิล์มต้องออกมาแถลงข่าวยอมรับว่าเคยคบหากับแอนนี่ ตามมาด้วยการที่แอนนี่อุ้มลูกน้อยวัย 3 เดือนไปออกรายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้” ของสรยุทธ สุทัศนจินดา หลังจากนั้นเราก็จะเห็นการ ทยอยกันออกโรงของ “ตัวละคร” ตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเฮียฮ้อ ค่ายอาร์เอส, จดหมายจากเรือนจำของเสี่ยอู๊ด ผู้เคยตกเป็นข่าวมีความสัมพันธ์กับนักร้องหนุ่ม, บทสัมภาษณ์ของพจน์ อานนท์ และล่าสุด นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช นายกสมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ของพิธีกรดังคนเดิมทางช่อง 3 

ยังไม่นับรวมการแสดงความคิดเห็นอย่างดุเด็ดเผ็ดมันของสาธารณชนในพื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ อย่างเวปไซต์พันทิปดอทคอม ที่สะท้อนให้เห็นพายุไต้ฝุ่นทางอารมณ์ของชาวไทยที่มีหัวใจโอบอ้อมอารี แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมเข้าจู่โจมทำลายล้างบุคคลใดก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าเป็นภัยต่อ “ความสงบสุขเรียบร้อยทางศีลธรรม” ของบ้านเมืองโดยเฉพาะถ้าคนนั้นเป็นบุคคลที่เขาเรียกว่า “บุคคลสาธารณะ”

แรงกดดันจากกระแสสังคมที่โหมกระหน่ำนี้ทำให้ฟิล์มออกมาแถลงข่าวอีกครั้งในวันที่ 23 กันยายน 2553 โดยกล่าวว่า "ผมยอมทุกอย่างไม่ว่าจะให้ทำอะไร ผมขอบคุณทุกคนจริงๆนะครับ ผมไม่มีอะไรจะพูด" [1]  นับเป็นการปิดองก์แรกของเรียลลิตี้โชว์ ตอน “โศกนาฏกรรมของชีวิต (คนอื่น) คือสุขนาฏกรรมของเรา (คนไทย)”

เรียลลิตี้โชว์ชีวิตฟิล์ม-แอนนี่ครั้งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างแยบยลและเป็นขั้นเป็นตอนโดยสื่อมวลชนและกระแสสังคมดังที่เราได้เห็นจากการนำเสนอข่าวแบบลูกปิงปอง และทุกภาคส่วนในสังคมก็พร้อมจะออกมาเชียร์และเลือกโหวตปกป้อง V 1 “คนดี” ในดวงใจของตนเองและเลือกโหวตออก V 2 ที่ตนเห็นว่าเป็น “คนเลว”

“คนดี” ทุกหมู่เหล่าของสังคมไทยพร้อมใจกันดาหน้าเข้าร่วมวิวาทะเพื่อหาข้อสรุปแบบฟันธงว่าใครคือ “พระเอก” ใครคือ “นางร้าย” ว่าใครคือ “ตัวร้าย” ใครคือ “นางเอก” หรือไม่ก็แข่งขันกันต่อคิวเข้าประกวดรับรางวัล “บุคคลตัวอย่าง” โดยการแย่งชิงพื้นที่ ทั้งทางสื่อกระแสหลักและพื้นที่ออนไลน์ เพื่อแสดง “ความสูงส่งทางจริยธรรม” ของตนเองให้ปรากฎเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ราวกับเป็นการร่วมลงแขกเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ทางจริยธรรมที่ถูกกดทับไว้ใต้สำนึกทางศีลธรรมของตน

ศาลเตี้ยได้ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติที่สุดในพื้นที่สาธารณะ และการเข่นฆ่าประหารชีวิตได้ถูกกระทำขึ้นอย่างเลือดเย็นภายใต้ข้ออ้างเรื่อง “ความถูกต้อง”, “จิตสำนึกทางศีลธรรม” แม้กระทั่ง “ความยุติธรรม” ที่นางระเบียบรัตน์ใช้สร้างความถูกต้องให้กับการ “โหวต” ของตน

กรอบคิดเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม ของการเป็น “คนดี”  ที่สังคมไทยสถาปนาให้เป็น “คุณค่าสูงสุด” ซึ่งราษฎรไทยพึงยึดถือเป็น “ความจริงสูงสุด” ได้แสดงแสนยานุภาพของตนเองในพื้นที่สาธารณะผ่านกรณีฟิล์ม-แอนนี่ได้อย่างไม่ขัดเขิน

การพยายามตัดสินว่าใครผิด/ถูก ใครดี/เลว ใครขาว/ดำ ในนามของ “ลัทธิศีลธรรมนิยม” นี้กลายเป็นบรรทัดฐานเชิงคุณค่าที่สังคมมักจะใช้ครอบและตัดสินปรากฎการณ์ใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ โดยไม่ใส่ใจว่ากรณีแต่ละกรณีมีบริบทที่เฉพาะเจาะจง มีความซับซ้อนอ่อนไหวต่างกันไป และ ในกรณีเฉพาะเจาะจงนี้ มีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่ไร้เหตุผลมาเกี่ยวข้องด้วย

นี่เป็นอาการของ “โรคร้ายเรื้อรัง” ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่ว “ร่างกาย” ของชาติไทย

นั่นก็คือ “โรคคลั่งความดี/ความถูกต้อง” และเชื้อร้ายของมันก็ค่อยๆปรากฎอาการให้เห็นในรูปของ “ฮีสทีเรียทางศีลธรรม”

ในกรณีตัวอย่างนี้ ความบ้าคลั่งได้พุ่งเป้าไปที่ “เหยื่อ” สองราย ฟิล์มและแอนนี่
แท้จริงแล้ว “คู่กรณี” ทั้งสองเป็น “ผู้ถูกกระทำ” และพวกเขาถูกกระทำในสองระดับที่เกี่ยวเนื่องกัน

ระดับแรกคือ พวกเขาตกเป็น “เหยื่อ” ทางตรงของความคิดเห็นสาธารณะที่รุมกันทำร้ายทางวาจาและทางจิตวิทยา ดังจะเห็นจากภาวะเครียด เศร้าโศกและเสียใจสุดจะบรรยายของบุคคลทั้งสอง

ระดับที่สองคือ  ปฏิกิริยาและคำพูดในพื้นที่สาธารณะของพวกเขาทั้งสองล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการติดเชื้อโรคฮีสทีเรียทางศีลธรรมในตัวของคนทั้งสองอีกขั้นหนึ่ง

ดังจะเห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของแอนนี่ในรายการสรยุทธที่ว่า "ในเมื่อเราตัดสินใจและตัดใจแล้ว ฉะนั้นถ้าเขาต้องมายอมรับเพียงเพราะสังคมบีบบังคับอย่าดีกว่า เพราะไม่ได้ทำด้วยใจตั้งแต่แรก ทั้งๆ ที่เราแสดงความบริสุทธิ์ใจไปตั้งแต่แรก ถ้าทำเพราะสังคมบีบอย่าเลย เราเลี้ยงเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาตรวจอะไรแล้ว ไม่ต้องมาให้อะไรด้วย หนูไม่เอา ถ้าเราจะทำร้ายเขาก็ทำแต่แรกดีไหม แต่นี่ออกมาจะได้อะไร เรามีแต่เสีย" [2]  และคำพูดของฟิล์มในงานแถลงข่าวดังที่ได้ยกไปแล้วในตอนต้นของบทความ

ในสถานการณ์วิกฤต คำพูดของคนทั้งสองแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการตอบสนองต่อบรรทัดฐานทางศีลธรรมชุดหนึ่งที่กำกับความคิดเห็นสาธารณะ และกำกับแม้กระทั่งตัวผู้ถูกกระทำเอง พวกเขาพูดและทำในสิ่งที่คนไทยที่ดี มีศีลธรรม “พึง” กระทำในพื้นที่สาธารณะ (โดยที่ ในความเป็นจริง ไม่มีใครสนใจว่าเขาจะ “คิด” อย่างนั้นจริงๆ แต่ในสังคม “ซึนเดเระ”[3] ที่เรากำลังอยู่กันนี้ “ภาพลักษณ์” ที่ถูกนำเสนอย่อมมีความสำคัญมากกว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว) 

ดัง นั้น จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม พวกเขา (และผู้คนที่เรียงคิวกันประกาศ “คำพิพากษา” เบื้องหน้าพวกเขา) เป็นทั้ง “ภาพสะท้อน” อาการติดเชื้อของสังคมไทย และ ในขณะเดียวกัน ก็เป็น “พาหะ” ของโรคฮีสทีเรียทางศีลธรรมนี้ด้วย  พวกเขาเหล่านี้ได้ร่วมกระจายไวรัสให้ขยายวงกว้างและหยั่งรากลึกในระบบคุณค่าของสังคมไทยไปโดยปริยาย

และความรุนแรงของไวรัสนี้ร้ายแรงจนกระทั่ง “อาการ” ไม่ได้ปรากฏให้เห็นเฉพาะในด้านจิตวิทยาดังที่กล่าวไปแล้ว แต่ในด้านกายภาพด้วยเช่นกัน

ดังเช่น มารดาของฟิล์มถึงกับต้องถูกหามเข้าโรงพยาบาลด้วย “อาการท้องเสีย ถ่าย 4-5 ครั้งต่อวัน และในวันนี้ตื่นเช้ามามีอาการ ปวดตัว ปวดศีรษะ มีเสลดแห้งๆ อยู่ในลำคอ ไอเจ็บคอ และมีอาการหนาวสั่นเข้ากระดูก” [4] ส่วนมารดาของแอนนี่มีอาการ “ไม่สบายเพราะเกิดอาการเครียด คิดมากต่อเรื่องของลูกสาวทำให้ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะและอาเจียนอยู่บ่อยครั้ง ถือว่าส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อผู้เป็นแม่อย่างมาก” [5]

นี่แสดงให้เห็นว่าศีลธรรมนั้นทรงพลังมากจนส่งผลรุนแรงต่อร่างกายโดยตรง
อาจกล่าวได้ว่า ร่างกายของคนในสังคมไทยนั้นได้กลายเป็น “ร่างกายใต้บงการ” [6] ของศีลธรรมว่าด้วย “ความดีงามและความถูกต้อง” !

อาการ “ฮีสทีเรียทางศีลธรรม” นี้ก้าวเข้าสู่จุดสุดยอดเมื่อนักข่าวตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรีว่าควรจะถอดถอนรางวัลเยาวชนดีเด่นจากฟิล์มหรือไม่ ?

สิ่งนี้สะท้อนว่าเรากำลังยกระดับกรณีฟิล์ม-แอนนี่จากเรื่องอื้อฉาวของวงการดาราสู่ประเด็นคอขาดบาดตายทางศีลธรรมที่นายกรัฐมนตรี ผู้นำของประเทศ จะต้องลงมาดูแลและแก้ปัญหาด้วยตนเองอย่างนั้นหรือ ?

แท้จริงแล้ว ปัญหาของเรื่องนี้่ไม่ได้อยู่ที่ความประพฤติดี/ชั่วของฟิล์ม แต่อยู่ที่กรอบคิดเรื่อง “รางวัลเยาวชนดีเด่น” รวมถึง “รางวัลคนดีเด่น” อื่นๆที่ทุกสถาบันของรัฐจะต้องยกขึ้นหิ้งเป็นผลงานบังคับที่ต้องทำในแต่ละปีงบประมาณ

รางวัล “เยาวชนดีเด่น” นี้เกิดขึ้นภายใต้กรอบคิดคู่ตรง ข้ามว่ามี “เยาวชนเลวเด่น”  ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหา “ความเลวดีเด่น” ที่เกาะกินเยาวชนของเรา “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายจึงคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อล่อลวงให้เด็กไทยยึดถือกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นตัวอย่างของ “ความดีอันสัมบูรณ์” 

นับว่าเป็นการสับขาหลอกที่แยบยลมากของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา เพราะแทนที่จะให้สังคมร่วมถก คิดวิเคราะห์ที่มาที่ไปของปัญหาและร่วมกันหาทางออกอย่างตรงไปตรงมา (โดยไม่ต้องเดินอ้อมผ่านจุดอ้างอิงเรื่องความดีงามทางศีลธรรมจริยธรรมอยู่เสมอๆ) ผู้ใหญ่ของเรากลับโยนของเล่นชิ้นนี้ให้กับสังคมเป็นการชั่วคราวเพื่อแก้อาการเคล็ดขัดยอกอันเนื่องมาจากต่อมศีลธรรมปูดบวม

“ลัทธิบูชาปูชนียบุคคล” ที่แฝงตัวอยู่ภายใต้หน้ากากอันสวยหรูของ “รางวัลคนดีเด่น” นี้จึงเป็น “ทายาทอสูร” สายตรงที่คลอดออกมาน้ำลายของเชื้อโรค “ฮีสทีเรียทางศีลธรรม”

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราทุกคนในสังคมไทยจะต้องตระหนักถึงภัยของโรค “ฮีสทีเรียทางศีลธรรม” นี้ ซึ่งเราทุกคนเป็นทั้งผู้ติดเชื้อและผู้แพร่เชื้อ เป็นทั้งเหยื่อและฆาตกร เป็นทั้งไอ้ฟักและผู้พิพากษา ?

หากเราไม่ต้องการให้สมองและร่างกายของเราชักกระตุกอย่างควบคุบไม่ได้จาก “อาการคลั่ง” นี้ เราจะต้องหันมาพิจารณาและตั้งคำถามอย่างถึงรากถึงโคนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการยึดติดกับ “ลัทธิศักดิ์สิทธิ์นิยม”​ ว่าเป็นคุณค่าสากลสูงสุดอันละเมิดมิได้ (ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของ “ความดีงาม” หรือ “ปูชนียบุคคล” ใดๆ) ?

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะเปิดใจกว้างและยอมรับว่าไม่มีอะไรขาว/ดำอย่างเบ็ดเสร็จ และมองปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม (ไม่ว่าจะเป็นการเมือง วัฒนธรรม ศรัทธาหรือจารีต) อย่างไม่ด่วนตัดสิน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพูดถึงเรื่องต่างๆอย่างตรงไปตรงมาไม่ซึนเดเระ?

กรณีฟิล์ม-แอนนี่แสดงให้เห็นว่าเราทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราพูดและเป่าหูตัวเราเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและในพื้นที่สาธารณะ เพราะเรากำลังทำสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเอง กล่าวคือ เรากำลังดึงระดับมาตราฐานทางมนุษยธรรมของเราให้ต่ำลง โดยใช้ข้ออ้างเรื่องศีลธรรม/ความถูกต้องอันสูงสุด เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่เราเรียกกันว่า “ดีงาม”

อาจยังไม่สายเกินไปนักที่เราจะเริ่มสกัดหา “แอนตี้บอดี้” จากฉันทามติร่วมของคนในสังคม ก่อนที่คนไทยทุกคนจะกลายร่างเป็น “อีสมทรง” กันทั้งเมือง !

ขอขอบคุณอาจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับคำแนะนำในการเขียนบทความนี้

..................................................

[1]  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1285230134&grpid=00&catid

[2] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1284721442&grpid=06&catid=08

[3] “ซึนเดเระ” เป็นคำศัพท์ของวัยรุ่นที่ใช้กันมากในอินเตอร์เน็ต มีต้นกำเนิดจากลักษณะของตัวละครผู้หญิงในการ์ตูนญี่ปุ่นที่เมื่อมีความรักมักจะแสดงอาการ "รักนะ แต่ไม่แสดงออก" หรือ "ปากไม่ตรงกับใจ"   ในปัจจุบัน เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึง ที่หน้าไหว้หลังหลอกหรือที่พูดไม่ตรงกับสิ่งที่คิด/กระทำ

[4] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1285138542&grpid=10&catid=08

[5] http://www.khanpak.com/entertainment/3170/

[6] “ร่างกายใต้บงการ ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่” เป็นชื่อหนังสือฉบับภาษาไทยซึ่งแปลมาจากบท “Les corps dociles” ในหนังสือ Surveiller et Punir ของนักคิดชื่อดังชาวฝรั่งเศสมิแชล ฟูโก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท