Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นข่าวฮ็อตของนักร้องซุปเปอร์สตาร์ “ฟิล์ม” รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ กับนักแสดงสาวลูกครึ่ง แอนนี่ บรู๊ค ที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาและสามารถแย่งพื้นที่ข่าว 3G ข่าวการสละตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของ พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม เพื่อแสดงสปิริตเพราะกลัวผลกระทบของชาวมุสลิมไทยที่ยื่นวีซ่าไปยังประเทศซาอุฯเพื่อประกอบพิธีฮัจน์ หรือแม้กระทั่งกระแสการปรองดองของรัฐบาลกับกลุ่มต่างๆ ก็ถูกกลบไปอย่างเห็นได้ชัด

ทันทีที่ฉันได้ยินข่าวนี้ ความรู้สึกแรกคือตกตะลึงเหมือนๆ กับคนทั่วไปนั่นแหละ ทั้งๆ ที่ข่าวดาราเป็นข่าวหน้าท้ายๆ ที่ให้ความสนใจ

ตลอดสัปดาห์ฉันจึงคิดหาเหตุผลกับเรื่องฮ็อตดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยายามหาคำตอบของความคิดเห็นของตัวเอง

ฉันไม่ค่อยสนใจความฟูมฟายของผู้คนทั่วไปกับประเด็นดังกล่าวเท่าไหร่นัก ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เห็นอกเห็นใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ   แต่ฉันมีแง่มุมบางประการทีคิดขึ้นมาได้และอยากแลกเปลี่ยนตามสติปัญญาของคนวัยใกล้สี่สิบ

และ....เมื่อวานฉันได้อ่านบทความของคุณ “คำ ผกา” เรื่อง “พี่ทำท้อง น้องทำแท้ง” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 -30 กันยายน 2553  

ในตอนหนึ่งของบทความที่เธอเขียน ไว้ว่า ”ปัญหาเส้นผมบังภูเขาของสังคมไทยที่เกิดขึ้นกับกรณีของฟิล์มและแอนนี่คือ ยังแยกแยะไม่ได้ว่าการเป็นพ่อและแม่นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นแพ็กเกจคู่มาพร้อมกันกับความเป็นผัวเป็นเมีย เพราะมันไม่เหมือนการซื้อน้ำยาล้างจานแถมสก็อตไบรท์ ของบางอย่างไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกันหรือมาด้วยกันเสมอไป

เพราะฉะนั้น นักข่าวจึงไม่จำเป็นต้องไปตั้งคำถามอย่างอีเดียทว่า “จะแต่งงานกันมั้ยคะ ฟิล์มจะรับผิดชอบอย่างไร จะช่วยเหลือ เลี้ยงดูอย่างไร”

สังคมไทยควรต้องยอมรับความจริงกันเสียทีว่า “การเอากัน” นอกสถาบันการแต่งงานนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา และไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ดังนั้นการท้องโดยไม่ได้แต่งงานจึงเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง และหากคุณคัทลียา และสังคมไทย ณ เวลานั้น ตระหนักในความจริงที่ว่า ผู้หญิงท้องได้โดยไม่แต่งงาน เธอก็คงไม่ต้องออกมาโกหก กินเบนโล จนเป็นที่ประณามหยามเหยียดจากสังคม มันจะยากอะไรนักหนากับการบอกว่า สวัสดีคะ ดิฉันตั้งครรภ์ และยังไม่แน่ใจว่าจะแต่งงานเมื่อไหร่ดี จะแต่งเมื่อไหร่หรือหากว่าใครเป็นพ่อเด็ก เพราะตัวดิฉันเองยังไม่แน่ใจเช่นกันว่าเป็นลูกใคร จบข่าว”

ฉันอ่านบทความชิ้นนี้ของคำผกาอย่างถึงสองรอบ ครั้งแรกอ่านผ่านๆ ก่อนไปรับลูกกลับจากโรงเรียนในวันศุกร์ และอ่านอย่างพินิจในครั้งที่สองเมื่อขึ้นไปบนห้องก่อนจะพาลูกๆ นอน

ฉันพอจะจับความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาที่สุดได้ชัดขึ้น และออกจะคิดคล้อยไปกับบทความของคำ ผกาชิ้นนี้

นั่นคือ สถานภาพความเป็นพ่อเป็นแม่ หรือเป็นผัวเมียกันมันเป็นเรื่องที่สังคมต้องเปิดใจ และมีแง่มุมในการมองว่าเป็นเรื่องของ “สิทธิ” ในการเลือกมีชีวิตแบบใดก็ได้แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละคู่ แต่ละบุคคล บริบทของคนคนหนึ่งย่อมแตกต่างหลายหลากกันไป สังคมไม่มีสิทธิพิพากษา

ฉันกำลังบอกว่าฉันมองประเด็นฮ็อตของสองดารา ตลอดจนมีทัศนคติต่อการมีชีวิตอยู่โดยยึดถือเรื่องสิทธิและเสรีภาพเป็นสำคัญ

ฉันมองว่าจุดเริ่มต้นของการที่ดาราสองคนนี้มีความลึกซึ้งกันนั้น มันไม่ได้มีเป้าหมายที่ “ลงเอย” ด้วย “การแต่งงาน” ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มันอาจเป็นเพียงความสุขและสนุกชั่วคราวของคนสองคน แต่ซวยที่ผู้หญิงดันท้องจนเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมาและออกมาประกาศต่อสาธารณะเมื่อลูกมีอายุได้ 3 เดือนแล้ว

เช่นเดียวกันกับเรื่องของดาราคนอื่นๆ ที่เปลี่ยนคู่ไปมา รักแล้วเลิก เลิกแล้วรัก ซึ่งก็ออกจะเป็นข่าวธรรมดา แต่ตลาดสื่อกลับ “ขายได้” ทุกทีไป

กระทั่งเรื่องดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นกับคนบ้านๆ อย่างเราๆ ซึ่งฉันก็ยังมองว่ามันเป็นเรื่อง “สิทธิส่วนบุคคล” อยู่ดี ทุกคนมีสิทธิเลือกที่จะมีชีวิตในรูปแบบใดๆ ก็ได้ตามความเชื่อและปัจจัยที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน

สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นกับฟิล์มและแอนนี่ตั้งแต่เริ่มคบหากัน จนมีความสัมพันธ์กัน และยังคงลังเลสงสัยว่า “ลูกใครหว่า” ในปัจจุบัน ฉันมองว่ามันเป็นเงื่อนไขของคนสองคนที่จะตกลงกันว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด แม้เขาทั้งสองคนจะเป็นคนของสาธารณะก็ตาม แต่มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขาอยู่ดี ซึ่งอันที่จริงจะออกมาแถลงข่าวหรือไม่ก็ไม่แปลก จะตอบคำถาม หรือจะตรวจดีเอ็นเอหรือไม่ก็สุดแล้วแต่จะตกลงกัน ไม่ควรมีใครเข้าไปยุ่งหรือกดดันใดๆ

คำถามของนักข่าวสะท้อนภาพที่ชัดเจนมากของการก้าวล้ำความเป็นส่วนตัว หรือสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ฉันคิดว่าไม่ว่าแอนนี่หรือฟิล์มอาจไม่จำเป็นตอบคำถามใดๆ ก็ได้ถ้ามันอึดอัดขัดใจนัก หรือยังหาทางออกไม่ได้

กระแสวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาถึงความผิดชอบชั่วดีต่างๆ ต่อกรณีข่าวนี้บอกกับเราว่าคนส่วนมากยังไม่เข้าใจชีวิตของมนุษย์ที่หลากหลายดีพอ ต่างคนต่างคิดและวิจารณ์ตามมุมมองที่ตัวเองถูกปลูกฝังมาตั้งแต่กำเนิด ไม่ว่าจะเรื่องการรักนวลสงวนตัว การท้องโดยไม่มีพ่อ หรือแม้กระทั่งเรื่องการทำแท้ง ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นที่หาหาข้อสรุปไม่ได้

มีประโยคหนึ่งที่ ”คำ ผกา” กล่าวในบทความแล้วโดนใจฉันมากคือ “มนุษย์แต่ละคนต้องเผชิญกับเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป และไม่มีไม้บรรทัดแห่งความดีงามของใครมาวัดของใครได้ มีแต่ต้องพิจารณาหาทางออกไปตามเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ และหากยอมรับไม่ได้ ก็มีที่พึ่งคือ “กฎหมาย” และ “ศาล” สังคมไม่มีหน้าที่ไป sanction(แ ทรกแซงดิฉันแปลเอง)ว่าต้องลงโทษ บอยคอตใครให้สิ้นอนาคต”

เพราะฉะนั้นบทความชิ้นนี้จึงมิได้มีจุดประสงค์ที่จะตัดสินถูกผิดใครทั้งสิ้น เพียงอยากบอกว่าในสภาวะเงื่อนไขที่คนรักหลายๆ คู่ประสบมันแตกต่างหลากหลายกันไป ร้อยคู่ก็ร้อยแบบ ชีวิตของใครก็ต้องแก้เป็นกรณีๆ ไป ด้วยคู่ของเขาเอง ไม่ใช่ต้องรอคำพิพากษาของสังคมหรือสื่อมวลชนที่ชอบทำตัวเป็นเปาบุ้นจิ้นตัดสินถูกผิดดีชั่วเลวทราม

เพราะฉันเชื่อในเรื่องเสรีภาพเหนือเรื่องใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศีลธรรมอันดีงามสังคม หรือแม้กระทั่งบรรทัดฐานและการคาดหวังของสังคม เพราะในบางบริบทการกระทำหนึ่งอาจดีอาจงามในยุคหนึ่ง แต่พอเวลาเปลี่ยนไปก็อาจเลวร้ายไปก็เป็นได้ นี่คือพลวัตรของสังคม เราสตั๊ฟสังคมไม่ได้ และเราก็ห้ามความคิดและความรู้สึกของคนไม่ได้ด้วย ถูกของคนคนหนึ่งอาจจะผิดในมุมของอีกคนหนึ่งก็ได้ เอาอะไรมาวัด

ที่สำคัญมันคือเสรีภาพในร่างกายของเราที่จะหลับนอนกับใครสักคนก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นสิทธิในร่างกายของคนสองคน ตราบใดที่ความสัมพันธ์นั้นเป็นไปโดยยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย ถ้าเป็นกรณีข่มขืนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมีกระบวนการกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายของผู้อื่น แต่ในกรณีนี้มันไม่ใช่

กรณีของฟิล์มและแอนนี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของวงการบันเทิงหรือในสังคมไทย ถ้าเรายังจำกันได้เมื่อหลายปีก่อน ”เจ้าพ่อแร็ป” เมืองไทยอย่าง “เจ เจตริน” ก็มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีความสัมพันธ์กับนางงามคนหนึ่งจนถึงมีลูกขึ้นมา ซึ่งในเวลาต่อมาคุณเจก็ยอมรับเป็นพ่อเด็ก แต่ไม่พร้อมจะดำรงสถานะสามีกับเธอผู้นั้นได้

เรื่องจึงจบลงด้วยการที่ทั้งสองคนยอมรับในสถานภาพพ่อและแม่ของเด็ก แต่ไม่ต้องการดำรงได้ซึ่งความเป็น “ผัวเมีย” กัน เพราะก่อนหน้าที่จะเป็นข่าวเจได้แต่งงานกับนักแสดงสาวคนหนึ่งและมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น มีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจถึง 3 คน ทั้งนี้เขาก็ไม่ได้ละทิ้งลูกคนแรกที่เกิดจากผู้หญิงในอดีต โดยได้ส่งเสียและอุปการะด้านการเงินและด้านอื่นๆ ตามควร ฝ่ายหญิงเองก็เข้าใจและก็ไม่เคยปิดบังว่าใครเป็นพ่อของลูก ส่วนภรรยาคนปัจจุบันของเจก็อยู่ในสภาพที่โอเครับได้

ฉันยกตัวอย่างถึงการแก้ปัญหาของคนคู่หนึ่ง เพื่อเป็นอะไรให้สังคมได้ฉุกคิด

ฉันกำลังจะบอกว่าสังคมไทยก้าวไปไกลกว่าเรื่องศีลธรรมดีงามตามความหมายของคุณระเบียบรัตน์มากแล้ว การชี้ผิดชี้ถูกของคุณระเบียบรัตน์มันสุดโต่งและมองแต่ด้านเดียว ไม่เข้าใจบริบทของสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนไปจนหลายๆ คนตามไม่ทัน รวมถึงคุณระเบียบรัตน์เองด้วยที่ออกมาต่อว่าต่อขานฟิล์มอย่างรุนแรง โดยที่ลืมไปว่าคุณไม่เกี่ยวอะไรกับเขาเลย เป็นมือที่สามที่สี่ที่แย่งซีนเข้ามาเลยก็ว่าได้

ฉันเองก็เป็นคนที่มีครอบครัวแล้วและยังดำรงสถานภาพสมรสอยู่มานานถึง 10 ปี มีลูกด้วยกัน 2 คนเงื่อนไขในชีวิตคู่ของดิฉันย่อมต่างจากกับคู่อื่นๆ แน่นอน ไม่มีคู่ใครเหมือนคู่ใครได้ฉันมั่นใจ

ตลอดจนการที่ฉันและสามียังดำรงสถานสภาพสมรสกันถึงปัจจุบันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของฉันและสามี เป็นเรื่องของคนสองคนที่ตกลงกันโดยยินยอมพร้อมใจและกายกันทั้งสองฝ่าย สังคมห้ามมาล้ำเส้นเกินที่เราต้องการ มันคือเสรีภาพของการใช้ชีวิตของคนคู่หนึ่ง และการจะบอกว่าคนนั้นเหมาะกับคนนี่ยิ่งไปกันใหญ่ ละเมิดความเป็นส่วนตัวกันเต็มๆ  ชีวิตของคนๆ หนึ่งหรือคู่หนึ่งมันเหมือนหนังสือที่ร่วมกันเขียน ส่วนตอนจบจะเป็นเช่นไร คนสองคนเท่านั้นที่รู้ และต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอง

ในกรณีตรงกันข้ามสำหรับคู่หย่าร้าง ก็เป็นอีกเงื่อนไขที่คู่นั้นๆ ต้องจัดการกับชีวิตคู่ของเขา บางคู่อยู่กันจนลูกโตเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยังมีดรณีแยกทาง ฉันมองว่าเป็นเรื่องธรรมดามากๆ อีกเช่นกันเพราะในชีวิตคู่มันมีความหลากหลายซับซ้อนของปัญหาแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ หรือวิสัยทัศน์ หรือแม้กระทั่งทัศนคติซึ่งถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ จากพ่อแม่

ฉันไม่ได้กำลังยุให้เกิดการหย่าร้างมากขึ้นในสังคมไทย แต่ฉันต้องการจะบอกว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกทางเดินชีวิตในแบบใดก็ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และตัวเองก็มีความสุข ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วอึดอัดขัดใจ เจอหน้ากันก็ทะเลาะกันต่อหน้าลูกๆ ฉันคิดว่าคนคู่นี้สมควรอย่างยิ่งที่จะปรับความสัมพันธ์กันใหม่เพื่อความสุขของทั้งสองฝ่าย

โดยเฉพาะความสบายใจของคนกลางอย่างลูก จะทู่ซี้อยู่ด้วยกันเพื่อรักษาภาพอะไรกันนักกันหนา ก็ในเมื่อใจและอะไรๆ มันก็เปลี่ยนไป มันถึงจุดอิ่มตัวกันแล้ว จะแคร์ทำไมกับคำว่า “หม้าย” หากเรารู้อยู่แก่ใจระหว่างคู่ของเราว่ามันต้องจบลงอย่างนี้ แค่กล้าหาญที่จะตัดสินใจและยอมรับมันก็เจ๋งมากแล้ว ทั้งนี้ฉันก็เชื่อว่าคู่ไหนๆ  ก็คงไม่อยากจบแบบนี้สักเท่าไหร่ แต่ถ้าคู่ของคุณหากเลือกจะต้อง “จบ” ชีวิตคู่ลง ฉันก็คิดว่าไม่มีใครผิด  สำคัญก็คือเมื่อมั่นใจที่จะเลือกทางนี้แล้ว ก็ต้องกล้าที่จะยอมรับกับอะไรๆ ที่ตามมาภายหลัง หากนั้นเป็นทางเลือกที่คนสองคนเลือกแล้ว ตัดสินใจดีแล้ว ฉันก็เคารพในการตัดสินใจโดยดุษฎี ไม่มีข้อกังขา และไม่มีการเปรียบเทียบกับชีวิตของใครๆ ทั้งสิ้น

กระแสสังคมและบรรทัดสังคมมีไว้เพื่อจัดระเบียบเรื่องราวต่างๆ ก็จริง แต่สำหรับเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของการเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ของคนไม่ใช่หรือ ไม่ว่าจะสถานภาพสมรส หย่าร้าง single mom หรือ single dad ก็ตาม ไม่มีสถานภาพใดดีกว่ากว่าสถานภาพใดหรอก ขอเพียงเรามั่นใจและภูมิใจในสถานภาพนั้น และดำเนินชีวิตต่อไป

การตกลงสถานภาพกันใหม่จึงเป็นเรื่องดีมากกว่าเรื่องเสีย เช่น เมื่อหย่าร้างกันแล้วลูกจะอยู่กับใคร ใครจะรับผิดชอบลูกในส่วนไหนบ้าง อย่างน้อยๆ ลูกก็ยังมีทั้งพ่อและแม่ เพียงแต่ต้องบอกให้เด็กเข้าใจว่าเพราะเหตุใดปลายทางของพ่อแม่จึงจบในอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนครอบครัวของเพื่อนๆ ลูก หากคุณอธิบายได้ เด็กก็พร้อมจะรับฟังพวกคุณ

กลับมาถึงประเด็นที่ฉันอยากนำเสนอเพราะเป็นเรื่องที่ดิฉันกำลังคิดหาคำตอบถึงขั้นนอนไม่หลับในคืนก่อน และตัดสินใจเขียนมันออกมา นั่นคือ เรื่อง “การนอกใจ” สำหรับคู่แต่งงาน อย่าตกใจไปฉันไม่ได้ตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้นนะคะ แต่ฉันกำลังมองถึงเหตุปัจจัยของเรื่องนี้อยู่ว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง และทฤษฎีว่าด้วยการนอกใจมันมีให้ศึกษาหรือเปล่า ตลอดจนมีประวัติศาสตร์อันใดบ้างที่พูดถึงเรื่องนี้

อย่างในสมัยก่อนที่ผู้ชายไทยมีเมียมากกว่าหนึ่งคนมันเป็นการนอกใจหรือไม่ หรือการที่ในศาสนาอิสลามบอกไว้ว่าผู้ชายสามารถมีภรรยาได้ถึง 4 คน มันสัมพันธ์กับการนอกใจประการใด

แม้กระทั่งบทประพันธ์เรื่องขุนช้างขุนแผนที่นางเอกมีสามีถึงสองคนจนได้รับฉายาว่า “เป็นนางวันทองสองใจ”

เรื่องของนางวันทองเป็นเรื่องที่สังคมมองถึงภาพการนอกใจในระดับที่รุนแรงนั่นคือ การมีชู้ ทุกคนต่างตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีผิดประเพณี โดยไม่ได้ค้นถึงต้นสายปลายเหตุของเรื่องว่าทำไมนางถึงต้องตกอยู่ในสภาพสองผัวเช่นนั้น และท้ายสุดตัวนางเองก็บอกไม่ได้ว่าจะเลือกใคร จนทำให้ถูกตัดสินประหารชีวิตในที่สุด

ฉันมองว่าการที่นางวันทองเลือกไม่ได้ก็เป็นเรื่องของสิทธิที่จะเลือกทั้งสองคนนั่นแหละ ตรงๆ เลย(เหมือนเพลงอยากจะเก็บเธอไว้ทั้งสองคนของทาทายังถ้าฉันจำไม่ผิด) เพราะนางวันทองถูกยื้อยุดไปมาระหว่างขุนช้างและขุนแผน ซึ่งก็เป็นชายที่รักนางทั้งสองคน ถ้าคุณต้องตกอยู่ในภาวะเช่นนางคุณจะทำเช่นไร แล้วคุณจะเลือกได้ไหมว่าจะอยู่กับใคร

ฉันยกตัวอย่างเรื่องนางวันทองเพื่อจะพูดถึงประเด็น “ทางเลือก” ในเรื่องที่ไม่อยากเลือก ของคนกำลังนอกใจสามีหรือภรรยาของคุณอยู่ ฉันไม่ได้ส่งเสริมให้ใครนอกใจใครหรอกนะ แต่อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่ามันเป็นเงื่อนไขของคนสอง(สาม)คน ที่ยากจะฟันธงผิดชอบชั่วดี

ฉันคิดว่าหลายๆ คนคงเคยหรือกำลังประสบความรู้สึกเช่นนี้ คือจะทิ้งเมีย(ผัว) ก็ไม่ได้ จะให้เลิกกับผู้หญิง(ผู้ชาย) ที่เข้ามาสัมพันธ์ภายหลังชีวิตสมรสก็ไม่ได้อีก มันทรมาน และอึดอัด บางคนถึงขั้นเครียดเลยก็มี

ในมุมมองของฉัน ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามในทุกเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นรักซ้อน รักซ่อนปมก็ตามเถอะ เรื่องของหัวใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากและยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ฉันคิดว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากเป็น “น้อย” หรือ คงไม่มีภรรยาคนใดรับได้เมื่อรู้ว่าสามีนอกใจไปมีผู้หญิงอีกคน

เรื่องรักสามเส้าของแต่ละคู่(คี่) ก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป อยู่ที่การมองของแต่ละคนมากกว่า แต่สิ่งที่ดิฉันเชื่อด้วยใจจริงก็คือในทุกๆ เรื่องราวของแต่ละคนมันมีที่มาและที่ไปของพฤติกรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรักในกรอบ รักนอกกรอบอย่างเรื่องนี้ก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นบางครั้งเราก็ค้นความรู้สึกลึกของตัวเองไม่เจอว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้นหากคุณกำลังตกอยู่ในสภาพที่อยากจะจับปลาสองมือคุณก็ไม่จำเป็นต้องเลือกใคร เพียงแต่คุณต้องตกลงให้ได้กับความสัมพันธ์ใหม่นี้ให้สร้างความกดดันให้ตัวเองให้น้อยที่สุด กับใครก็ได้ระหว่างผู้หญิงสองคน (เลือกตกลงคนเดียวจะดีกว่า ถ้าไม่อยากเกิดปัญหา ดิฉันว่าน่าจะเป็นผู้หญิงคนที่สองของคุณ)

ถ้าคุณยังทำหน้าที่สามีอย่างไม่บกพร่อง ในขณะเดียวกันก็คบกับผู้หญิงอีกคน (ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แค่คบกันหรือจะมีเซ็กส์ด้วยหรือไม่ก็ตามแต่) ถ้าเธอผู้นั้นพอใจในสถานภาพที่อาจเป็น “รอง” และไม่ต้องการครอบครองตัวคุณเพียงคนเดียว มันก็เป็นเรื่องของเสรีภาพในการได้รัก และสิทธิที่จะทำตามความรู้สึกของตัวเอง อย่างน้อยเธอผู้นั้นก็รู้หัวใจตัวเอง ไม่ได้หลอกตัวเอง

อย่างที่ฉันย้ำนักย้ำหนาว่าเรื่องคนสองคน(หรือเกิดมีคนที่สามขึ้นมาก็ตาม) เป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เป็นส่วนตัว ทุกคนมีสิทธิคิดและรู้สึกแบบนี้ได้ อย่าเอาบรรทัดฐานสังคมมากดดันตัวเองให้ต้องรู้สึกผิดเลย เพราะเรื่องบางเรื่องมันอธิบายเป็นคำพูด เป็นตัวอักษรไม่ได้ แต่มันรู้สึกได้ และเป็นความรู้สึกที่ยากจะฝืนหรือยากที่จะเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ

ฉันขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่เคยนอกใจสามี และก็ไม่ส่งเสริมเรื่องเช่นนี้ แต่หากมันเกิดกับคุณขึ้นมาไม่วันได้ก็วันหนึ่ง และหากต้องตกเป็นจำเลยของศีลธรรมอันแสนดีงามว่าด้วยเรื่องผัวเดียวเมียเดียว คุณจะรับหรือแก้ปัญหานี้ให้ตกอย่างไร

ตัวฉันเองก็ไม่ได้เอาตัวเองเป็นมาตรวัดว่าเป็นคนดีเสียเต็มประดาที่มีรักเดียวใจเดียว ตลอดจนก็ไม่คิดจะตัดสินผิดถูกให้กับใครหาก “ปัญหาการนอกใจ” มันเกิดขึ้นกับชีวิตคู่ใดๆ ก็ตาม มันเป็นเรื่องส่วนตัวเฉพาะคู่(คี่)ของคุณ ลองปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของหัวใจนั่นแหละ ผิดหรือถูก ความรู้สึกอันเป็นธรรมชาติจะตอบคำถามนี้ได้เอง

เพราะ...ชีวิตเป็นของเรา เราต้องกำหนดชีวิตด้วยตัวของเราเอง ความรักเป็นสิ่งที่หอมหวานในขณะเดียวกันก็เย้ายวนใจมิใช่น้อย ซึ่งในคนคนหนึ่งอาจเกิดความรักได้พร้อมๆ กันกับผู้หญิง(ผู้ชาย) ถึง สองคนก็ได้ อยู่ที่คุณจัดความสัมพันธ์เช่นไรมากกว่า คุณมีเสรีภาพในทุกๆ เรื่องแม้กระทั่งเรื่องที่สังคมมองว่า “นอกกรอบ”   เช่นนี้

ฉันเชื่อในสิทธิและเสรีภาพอย่างถึงที่สุด โดยเสรีภาพในเรื่องความรัก.....ในเงื่อนไขและบริบทที่ต่างกันไปของแต่ละคู่ เรื่องของใครก็เรื่องของมันสังคมไม่มีหน้าที่ตัดสิน...อย่าได้แคร์ ผิดชอบชั่วดีขึ้นกับตัวเราเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net