Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“การนำ” ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แบบขบวนการเสื้อแดงในไทย มีสองชนิดคือ

1. การนำจากเบื้องบน คือมีการพูดคุยกันในหมู่คนส่วนน้อยที่ถือว่าตนเองเป็น “ผู้ใหญ่” ของขบวนการ หรือ “ผู้รู้” ของขบวนการ แล้วมีการแต่งตั้งแกนนำ ไม่ว่าจะแต่งตั้งตนเองหรือแต่งตั้งผู้อื่น แกนนำประเภทนี้จะพยายาม “ควบคุม” และ “สั่ง” มวลชน แกนนำแบบนี้เป็นแกนนำเชิงเผด็จการ ข้อเสียคือไม่สามารถอาศัยพลังและความสร้างสรรค์ของมวลชนเต็มที่ มีการปิดโอกาสที่จะให้คนธรรมดาในมวลชนนำตนเอง

2. การนำจากเบื้องล่างหรือรากหญ้า ความหมายของ “การนำ” ในกรณีนี้ไม่ใช่การตัดสินใจในหมู่คนกลุ่มเล็กๆ และไม่ใช่การ “สั่ง” ลงมาให้มวลชนทำตาม แต่เป็นปรากฏการณ์ของการ “ร่วมกันคิดร่วมกันทำ” โครงสร้างขบวนการไม่ได้มีลักษณะแบบทหาร แต่มีลักษณะแบบ “แกนนำแนวราบ” การเป็นผู้นำไม่ได้ขึ้นกับ “บารมี” ไม่ได้ขึ้นกับ “การเป็นผู้ใหญ่” และไม่ได้ถูกำหนดมาจากประเด็นว่าใครตะโกนสั่งคนอื่นได้ แต่การนำในรูปแบบนี้หมายถึงความสามารถในรูปธรรมที่จะเสนอข้อคิดและแนวทางในการต่อสู้ที่มวลชนยอมรับและมองว่ามีประโยชน์ ดังนั้นจะมีผู้นำที่หลากหลาย ไม่ถาวร บางครั้งมวลชนจะรับฟังข้อเสนอของบุคคลคนหนึ่ง ครั้งต่อไปจะรับฟังข้อเสนอของคนอื่น มันเปิดโอกาสให้มวลชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการกำหนดทิศทางการต่อสู้ และแกนนำจะพัฒนางอกจากรากหญ้าตามการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่เป็นจริง นี่คือรูปแบบการนำที่คนเสื้อแดงควรใช้

ในหมู่คนที่สนับสนุนการนำจากเบื้องล่างหรือรากหญ้า อาจมีความแตกต่างกันในรูปแบบ บางคนจะไม่ชอบการจัดองค์กรถาวร เช่นพวกที่มีความคิดอนาธิปไตย อาจมองว่าควรปล่อยทุกอย่างตามธรรมชาติ ไม่ต้อง “จัดตั้งอะไร”

แต่ในหมู่นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์อย่างผม เราจะมองว่าต้องมีความพยายามที่จะจัดตั้ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราจะจัดตั้งอย่างไร เพื่อรักษาการนำจากรากหญ้าได้ เพราะสองกระบวนการนี้ “การจัดตั้ง และการนำจากรากหญ้า” มันขัดแย้งกัน คำตอบสำหรับนักสังคมนิยมที่อาศัยประสบการณ์ของคนอย่างเลนิน ตรอทสกี และโรซา ลัคแซมเบอร์ค คือ เราต้องมีองค์กรหรือพรรคสังคมนิยม พรรคนั้นต้องมีประชาธิปไตยภายในเต็มที่ เพื่อให้สมาชิกรากหญ้านำได้ และเมื่อเข้าไปเคลื่อนไหวในกลุ่มมวลชนขนาดใหญ่ พรรคก็จะเสนอแนวทางต่อสู้และข้อคิด แต่ยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่ของมวลชน ไม่ครอบงำมวลชน และไม่กีดกันคนที่คิดต่าง พูดง่ายๆ คือในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม จะมีกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย แต่ละกลุ่มก็มีข้อเสนอกับมวลชน มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน แล้วมีการตัดสินใจร่วมกันภายใต้ความสามัคคีในการต่อสู้หรือเคลื่อนไหว

การที่ใครหรือกลุ่มใดจะเป็นแกนนำได้ในเวลาหนึ่ง ต้องพิสูจน์ในรูปธรรมท่ามกลางการเคลื่อนไหวโดยธรรมชาติ ว่าสามารถนำมวลชนได้จริง.... ไม่ใช่มา “แต่งตั้ง” แกนนำล่วงหน้าจาก “ผู้ใหญ่” หรือ “ผู้รู้”

ในกรณีการชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อวันที่ ๑๙ กันยาที่ผ่านมา เราไม่ควรหลงคิดว่าไม่มีการนำ เพราะการที่คนมาเป็นหมื่นแปลว่ากลุ่มคนเสื้อแดงตามชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ และที่อื่น ได้คุยกันล่วงหน้าและเตรียมตัวเพื่อที่จะมาชุมนุม นี่คือการนำที่สำคัญ เพราะเป็นการนำตนเอง และการที่มวลชนมีความเห็นพร้อมกันว่าควรมาชุมนุม พิสูจน์ความสามารถของแกนนอนวันอาทิตย์สีแดงในการนำแบบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ถ้าเราสามารถจัด “สมัชชาคนเสื้อแดง” ที่เปิดกว้างประกอบไปด้วยผู้แทนรากหญ้าของเสื้อแดงตามพื้นที่ต่างๆ มันจะมีประโยชน์มากในการประสานการทำงาน และการร่วมกันกำหนดนโยบายทางการเมืองและทิศทางการต่อสู้ แต่ที่สำคัญคือมันต้องเป็นสมัชชารากหญ้า

มีบางคนพูดว่าการชุมนุมในวันที่ ๑๙ “เปิดเผยจุดอ่อนของการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์” การพูดแบบนี้แสดงว่าไม่เข้าใจลักษณะพื้นฐานของการเคลื่อนไหวเลย เพราะการชุมนุมเดินขบวนทุกครั้ง ไม่ว่าจะใช้รูปแบบไหน และไม่ว่าจะมาสิบคนหรือสามแสนคน ล้วนแต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทั้งนั้น และมันสร้างความสามารถที่จะนำไปสู่การต่อสู้ที่ไม่เป็นสัญลักษณ์ได้ เช่นการนัดหยุดงาน การยึดสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่การยึดอำนาจโดยประชาชนและล้มเผด็จการได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net