Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มันคงเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดใจสำหรับนักรบผู้มีมโนทัศน์แบบก่อนศตวรรษที่ 21 ที่การกำจัดมนุษย์ทิ้งออกไปจากสถานที่หนึ่ง เพื่อแย่งชิงพื้นที่หรือเพียงประกาศศักดาแห่งอำนาจแบบเดิมๆ กลับสร้างความทรงจำถึงความป่าเถื่อนชิ้นนั้นฝังติดไว้บนสถานที่นั้นๆ ให้เป็นตราบาปของตนเอง แล้วก็ดูเหมือนจะหมดหนทางที่จะมีเครื่องมือชิ้นที่สองมาลบล้างความทรงจำแห่งสถานที่ที่เกิดใหม่นั้น

ผู้เขียนเคยนึกฝันเฟื่องแบบเก่าๆ หลังการฆ่าจบไปสักเดือน ว่าอนุสรณ์สถาน - วัตถุบางอย่างควรได้รับการบรรจุลงบนสถานที่นี้ แต่สิ่งที่เกิดเมื่อวันครบรอบสี่เดือน เช่นตาข่ายผ้าแดงที่ขึงตรึงโครงสร้างทันสมัยของสถานีรถไฟฟ้าเข้ากับพื้นถนนราชประสงค์นั้นเป็นอนุสรณ์สถานในแบบของมันเอง แบบที่ศิลปินนักคิดอาจเรียกมันว่า “ศิลปะฉับพลัน” (Happening Art)  หรือการแสดงออกทางสัญลักษณ์เพื่อสื่ออารมณ์ความรู้สึกในห้วงเวลาเฉพาะหนึ่งๆ ( moment ) และความที่มันเกิดขึ้นเฉพาะใน moment หนึ่งๆเท่านั้นนี่แหละที่น่าสนใจ เพราะมันเปิดกว้างให้ความทรงจำทั้งหลายพรั่งพรูออกมาในกาลเวลาที่ไม่มีขอบเขต...

เราพบกันได้อีกหลายครั้ง..มาเล่าเรื่องเล่าที่ยังเล่าไม่หมด...พาคนที่หวาดกลัวมาบอกเราในครั้งหน้าว่าทำไมจึงกลัวและจึงเลิกกลัว ...หลายคนคงเคยรู้สึก เมื่อสถานที่พิเศษบางแห่ง...ทำงานกับความทรงจำของเรา

ต้องขอบคุณโลกที่เคลื่อนไปจนต้นทุนทางการผลิตและทางสังคมเคลื่อนย้ายจากวัตถุครอบครองมาเป็น “เนื้อหา” (content)  แล้วอำนาจนิยมแบบเก่าก็ไล่ไม่ทันคนที่พวกเขาเรียกว่า “ประชาชนเสื้อแดงโง่ๆ” อีกครั้ง ไม่ใช่เพราะใครฉลาดทางกลยุทธ์มากกว่า แต่เพราะเราเป็นพลเมืองที่ใช้ชีวิตอย่างตรงไปตรงมามากกว่า รู้สึกนึกคิดอย่างพลเมืองที่เป็นเสรีชน เจ็บก็ร้องบอกว่าเจ็บ ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมก็ถามหาผู้กระทำ มิใช่ผู้ปกครองหรือผู้ครอบครองผู้หวงแหนเหนี่ยวรั้งกรรมสิทธิ์ไว้กับตัว บนเรื่องราวที่ต้องปกปิดมากมาย

ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ผืนดินรอบๆ แยกราชประสงค์จะเป็นของใครในตอนนี้ หรือจะเปลี่ยนมือไปอีกกี่รายในอนาคตก็ตาม ความทรงจำเรื่องความตาย ณ พ.ค.2553 ได้กลายเป็นเนื้อหา content เข้าครอบครองมวลอากาศย่านนั้นไปแล้ว เป็นความรู้สึกต่อสถานที่ (sense of place) ของพื้นที่ราชประสงค์ที่จะมิใช่เป็นแค่ของคนเสื้อแดง แต่ราชประสงค์ได้กลายเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์การเมืองชิ้นใหม่สำหรับสังคมไทยไปเสียแล้ว ...ก็เป็นครั้งแรกมิใช่หรือ...ที่ใครกันเอาอาวุธสงครามเข้าไปกระหน่ำยิงบนย่านบันเทิงนี้กันข้ามวันข้ามคืน ...เป็นรัฐอภิสิทธิ์เองที่เปิด “พิพิธภัณฑ์การเมืองไทยสมัยใหม่” นี้ขึ้นมาอย่างโฉ่งฉ่าง

อาจจะเกินเลยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการนัก ที่ผู้เขียนเหมาเอาว่า Happening Art ตามธรรมชาติบนราชประสงค์คือเนื้อหา และพื้นที่ราชประสงค์คือพิพิธภัณฑ์ ให้เราลองสังเกตสิ่งที่เกิดดังนี้

ลานหน้า Central World มีบุคลิกที่เป็น ความย้อนแย้ง  (paradox) ของสังคมเมืองหลวงนี้เอง ที่บอกว่าชาวเมืองหลวงมีสองบุคลิกของผู้มีรสนิยมสูงผู้รักการ shopping และความทันสมัยทันโลกแฟชั่น ไปพร้อมๆ กับความไร้รสนิยมทางการเมืองที่ถึงกับยอมให้มีการฆ่าช่วงสั้นๆ ที่ตายกันมากมาย ตามมาด้วยความแปลกแยกในการรำลึกถึงมัน เกิดขึ้นบนสถานที่ (space) เดียวกันนี้เอง  และมีกิจกรรมเหล่านี้สลับไปมาในเวลาที่ต่างกัน (time) แม้เจ้าของสถานที่อย่าง Central World ออกตัวแล้วว่าจะยังคงจุดยืนของการ shop in peace ด้วยโฉมหน้าใหม่ทันสมัยกว่าเก่าเพื่อให้ลืมเรื่องร้ายๆ  ในขณะเดียวกันสถานที่นี้ก็ยังคงทำงานกับความทรงจำของคนเสื้อแดงและผู้สูญเสียที่ไม่มีสีต่อไป ด้วยความทรงจำในโศกนาฎกรรมดึงดูดเขาเข้าผูกพันกับสถานที่อย่างช่วยไม่ได้ดังกล่าว ต่อให้ฆาตกรได้รับการลงโทษแล้วก็ตาม เขาก็มีสิทธิ์สมบูรณ์ที่จะกลับมารำลึกถึงคนที่เขารัก หรือเหตุการณ์ที่ตนเคยผ่านบนสถานที่แห่งนี้ในเวลาที่เขาต้องการ มันเป็น  ‘ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม’ (sense of belonging) ต่อสถานที่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการมีหรืออยากมีกรรมสิทธิ์ต่ออาคารสถานที่  เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนอยาก ‘เป็นเจ้าของร่วม’ (belong to) สถานที่ใดๆ  บนประสบการณ์แบบโศกนาฎกรรมแน่ๆ ถ้าราชประสงค์เป็นอาคาร มันก็กำลังเก็บมนุษย์กรุงเทพเป็นๆ ที่มีพฤติกรรมน่าศึกษาไม่น้อยสำหรับนักมานุษยวิทยา

คนเสื้อแดงที่ออกมาเล่าเรื่องที่ตัวประสบกันเป็นกลุ่มๆ ผลิต ‘กิจกรรมฉับพลัน’ ไร้แกนนำกันกลางถนนราชประสงค์ มันต่างอะไรกับ ‘พิพิธภัณฑ์เชิงปฏิสัมพันธ์’ (interactive museum) ? เมื่อมนุษย์ก็คืออุปกรณ์เล่าเรื่อง ทั้งในแบบข้อมูลดิบ เช่นความตายของกมลเกดกับเสื้อผ้าเปื้อนเลือดของเธอ ไปจนถึงข้อมูลขั้นประยุกต์เป็นงานศิลปะ เช่น ใยแมงมุมสีแดง ลูกโป่งกับข้อความของมัน เนื้อหาของเพลงที่ร้อง ไปจนถึงลีลาประกอบดนตรีที่บอกว่าเขาเป็นใครแบบไหน จากถิ่นใด และเคยเกิดอะไรขึ้นกับเขา ถ้าภาระของพิพิธภัณฑ์คือการเก็บเล่าเรื่องราวข้อเท็จจริงของสังคม ภาระที่คนเสื้อแดงแบกไว้ก็หนักหน่วงยิ่งกว่าภายใต้บรรยากาศของสังคมที่กำลังเลือกเก็บรับความจริงแบบไม่ถึงครึ่งไปจนถึงความเท็จและความเงียบไม่แยแส

อาคาร-ที่ดิน-วัตถุปลูกสร้างอาจไม่มีความหมายเท่ากับ”ปรากฏการณ์” กรุงเทพอาจมีอาคารที่แห้งแล้งบรรจุของเก่าเก็บ บรรจุมนุษย์ที่ประกอบกิจกรรมซ้ำๆ ไว้ข้างในมากเกินพอแล้ว จะแปลกอะไรถ้าเราออกมาข้างนอก มาเล่าเรื่องที่มีเลือดเนื้อจิตใจที่กล่องทีวีเลิกเล่าไปแล้ว ปรากฏการณ์อาจให้ความจดจำ ให้ความสงสัยอยากรู้ที่ค้นหาเองได้ไม่ตายสนิทแบบพิพิธภัณฑ์ในความหมายแบบไทยๆ อีกต่อไป

เหล่านี้ไม่ใช่หรือ... ที่เป็นคุณค่าของสถานที่แบบที่เราเรียกว่า “พิพิธภัณฑ์” แบบที่บางโครงการต้องระบุต่อท้ายว่า “...เพื่อการเรียนรู้” ราวกับเป็นไปได้ว่าเพราะเรามีบางพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วที่ไม่ได้มีไว้ให้เรียนรู้อะไรได้เลย? 

สำหรับผู้เขียน... ราชประสงค์จึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีพื้นผิวการจราจรอยู่ข้างในที่ชาวเมืองหลวงแล่นรถทับโศกนาฎกรรมไปมาได้...กรุงเทพนี่มันก็แปลกดี

สี่ปีรัฐประหารสี่เดือนราชประสงค์ มันไม่ใช่ “ราชประสงค์” ...ไม่ใช่ “ราษฎร์ประสงค์” ...มีแต่ “พลเมือง” ที่แค่ต้องการบอกว่าเขามีสติมากพอที่จะจดจำความจริงอะไรได้บ้าง...

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net