Skip to main content
sharethis

 

 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป

 

ตอนที่ 2 ปราปต์ บุนปาน: ถ้าไม่เปิดพื้นที่ให้หลากหลาย สื่อก็จะไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม

นับจาก พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา มติชนออนไลน์ก็ถือว่ามีอายุมาได้ 13 ขวบปีแล้ว จริงอยู่ว่า ที่จุดเริ่มต้นแนวทางของมติชนอาจจะไม่แตกต่างจากสื่อกระแสหลักเดิมที่มีอยู่ในประเทศนี้ และมุมอื่นๆ ของโลก นั่นคือการไม่อาจทัดทานกับเทคโลยีใหม่ ที่มาพร้อมช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ อันนำมาสู่การต้องปรับทิศทาง หรือขยายช่องทางในการนำเสนอมากขึ้น ทว่า หากอ่านด้วยสายตาวิเคราะห์วิจารณ์ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า มติชนออนไลน์นั้น มีแนวทางที่ “เป็นตัวของตัวเอง” มากขึ้น และเดินออกห่างจาก “เงา” ของสื่อสิ่งพิมพ์มาไกลกว่าสื่อกระแสหลักสำนักอื่นๆ ในประเทศนี้

เว็บไซต์มติชนออนไลน์ ค่อยๆ ปรับแนวทางการทำงาน จากเดิมที่อิงอยู่กับข่าวรายวัน มาสู่การมีกองบรรณาธิการของเว็บไซต์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ปัจจุบันมีทีมงานอยู่ 17 ชีวิต ซึ่งสามารถอัพโหลดข่าวได้ด้วยตัวเอง และไต่ระดับความนิยมจากผู้อ่านมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมีตัวเลขผู้เข้าชมสูงถึงราว 150,000 200,000 ยูนิคไอพีต่อวันในช่วงที่เหตุการณ์ทางการเมืองร้อนแรงมากที่สุด เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม ที่ผ่านมา และกลับมาอยู่ที่ตัวเลขประมาณ 60,000 ยูนิคไอพีต่อวันในสถานการณ์ที่ลดความร้อนแรงทางการเมืองลง

ในความนิยมชมชอบนั้น ตามติดมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ระแวงระวัง “มติชนพักหลังๆ แดงขึ้นหรือเปล่า” ความแดงและไม่แดงนี้ ส่งผลอะไรต่อการดำรงอยู่ของมติชนออนไลน์บ้างหรือไม่……

ประชาไทสัมภาษณ์ปราปต์ บุนปาน ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในฐานะบรรณาธิการข่าวมติชนออนไลน์ ซึ่งเขาอธิบายว่าตัวเขาเริ่มหันมารับผิดชอบเว็บไซต์มติชนออนไลน์มา 1 ปี แล้ว โดยที่ความสนใจส่วนตัวของเขาเกี่ยวกับสื่อออนไลน์นั้นไม่ได้มุ่งไปที่เทคโนโลยีของมันมากเท่ากับที่กำลังคิดว่ามันคือพื้นที่ “ผมจะมองมันในฐานะพื้นที่หนึ่ง ถ้าเรามีพื้นที่ใหม่ เราจะเล่นอะไรกับมันได้บ้าง จะนำเสนออะไรได้บ้างนะครับ” เขาตอบด้วยใบหน้าเจือรอยยิ้ม แต่นัยน์ตาครุ่นคิด

ตัวเขาเองก็ยังไม่ชัดเจนกับความหมายของนิวมีเดีย หากแต่มองว่ามันคือพื้นที่หนึ่งในการนำเสนอข่าว และเป็นพื้นที่ใหม่ที่อาจจะเปิดโอกาสให้คนหลากหลายมากขึ้น และเปิดให้นำเสนอได้มากกว่าสื่อกระแสหลัก

“มันอาจจะเป็นพื้นที่ใหม่ที่เปิดโอกาสให้หลายๆ คนเสนอข่าวที่มันไม่มีที่ทางในกระแสหลัก หรือบทความงานเขียนอะไรบางส่วนได้มาเผยแพรตรงพื้นที่นี้ได้ ถ้าเราพูดถึง new media เราอาจจะคิดถึงว่ามันเป็นพื้นที่ใหม่ ถ้าคิดแบบคร่าวๆ ตอนนี้ ก็คิดว่ามันเป็นพื้นที่ใหม่ แล้วก็เพราะว่ามันเป็นพื้นที่ใหม่มันก็เลยมีช่องทางให้เรานำเสนออะไรได้มากกว่าสื่อกระแสหลักเดิม”

เปิดประเด็นเช่นนั้นแล้ว แปลว่าสื่อหลักเดิม เช่นสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่ในเครือของมติชน มีข้อจำกัดในการนำเสนออย่างนั้นหรือ เราถาม และเขาตอบว่า

“ก็อาจจะเป็นได้ ก็คือคล้ายๆ ว่า มันอาจจะเปิดพื้นที่ได้ไม่พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพสังคมที่มันกำลังเปลี่ยนไปอย่างนี้ บางทีตัวสื่อหลักเดิมอาจจะมีพื้นที่ไม่พอ คือในแง่พื้นที่ในการนำเสนอก็ชัดอยู่แล้วว่า หนังสือพิมพ์เขาจะมีพื้นที่จำกัด แต่ขณะที่อินเตอร์เน็ตมันเกินกว่านั้นได้ แต่ขณะเดียวกันสื่อใน อินเตอร์เน็ตหรือสื่อใหม่ที่ก็จะมีคุณลักษณะอะไรบางอย่างซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับเรื่องของความคิดด้วย ซึ่งคนทำสื่อหลักเดิมก็อาจจะเป็นไปอีกแบบหนึ่ง คล้ายๆกับสื่อใหม่ ในพื้นที่ใหม่ อาจจะเปิดให้มีเพดานที่สูงขึ้น หรือเน้นพื้นที่ให้เปิดกว้างทางความคิดหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ผมก็กำลังคิดๆ อยู่เหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม ปราบไม่แน่ใจว่า เมื่อพูดถึงพื้นที่ออนไลน์ นั่นจะหมายถึงพื้นที่ใหม่ห่างเสรีภาพได้จริงๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลายกรณีที่ผ่านมา ทั้งการจับกุมหรือไล่ปิดเว็บไซต์ต่างๆ

“ถ้าพูดถึงว่ามันเป็นพื้นที่ใหม่ด้วยไหม มันก็ไม่แน่ใจว่าพื้นที่นี้มันจะเปิดได้ตลอด อย่างเช่นกรณีที่ประชาไท หรือเว็บบอร์ดต่างๆ ที่ถูกปิดไปในช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า พื้นที่ใหม่นี้จะเปิดได้จริงแค่ไหน หรืออย่างว่ามันมีอยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงเมษา-พฤษภา ที่ผ่านมา มติชนเรา พอประชาไทถูกบล็อกหรือพวกเว็บบอร์ด หรือคนเหมือนกันถูกบล็อก เราก็พยายามตามดึงเนื้อหาบางส่วนในเว็บพวกนั้นมา แต่เราก็จะไม่โดนอะไร มันก็เกิดคำถามว่าบางส่วนโดนนะ แต่พอเราเอามาเล่นก็ยังไม่โดนอะไร เขาอาจจะแค่จับตาอยู่เฉยๆ ซึ่งมันก็ทำให้เห็นเหมือนกันว่า ถ้าเรามองว่าเป็นพื้นที่ใหม่ตรงนี้ อำนาจรัฐก็อาจจะยังไม่ได้มาลงหลักปักฐานให้มันชัด คือบางส่วนก็จะทำไปได้ แต่บางส่วนก็อาจจะไม่แน่ใจว่าจะทำดีหรือไม่ทำ มันก็เลยเป็นส่วนที่ท้าทาย ว่าเราจะจัดการหรือนำเสนอข่าวในพื้นที่ใหม่ตรงนี้ยังไง”

แม้มติชนจะยังไม่ถึงกับต้องปิดตัวเอง หรือรู้สึกสั่นสะเทือนต่อการตักเตือนจากรัฐ และยังไม่ปรากฏว่ามีการส่งสัญญาณถึงผู้ดูแลเว็บไซต์โดยตรง ทว่า เพื่อความไม่ประมาท ในช่วงที่การเมืองร้อนแรงถึงขีดสุด มติชนออนไลน์ก็เลือกที่จะปิดการแสดงความเห็นท้ายข่าวไปก่อน เมื่อเราถามง่ายๆ ก็คือ ท้ายข่าวของมติชนออนไลน์ดูเหมือนจะมีเสื้อแดงเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เขาตอบสั้นๆ ว่า “ใช่”

โดยอธิบายต่อไปว่า

“เท่าที่มีข้อสังเกตคร่าวๆ ก็คือ ก็คล้ายๆ กับว่าพื้นที่ของคนเสื้อแดงถูกปิดไปหลายๆ พื้นที่ เพราะฉะนั้นพอสื่อกระแสหลักมาเปิดพื้นที่ให้เขาบางบางส่วนอย่างนี้ มันก็เป็นพื้นที่ ที่เขาจะมาแสดงความเห็น หรือมาแสดงบทบาทอะไรได้ คือมันก็ช่วยไม่ได้ที่มันถูกปิดไปเยอะ ถ้ามันมีอะไรเปิดขึ้นมาจุกหนึ่ง คนก็ต้องมาทางนี้”

เมื่อเราตั้งข้อสังเกตว่า มติชนออนไลน์ ดูจะแตกต่างจากมติชนรายวันมากขึ้นทุกทีๆ แถมพกด้วยขอกล่าวหาว่า “แดง” ขึ้นด้วย เขาบอกว่า นั่นเพราะเว็บไซต์นั้นแยกกอง บ.ก.ออกมาจากมติชนรายวันแล้ว ซึ่งนี่อาจจะเป็นส่วนที่ทำให้ “ออนไลน์” ต่างจาก “รายวัน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นกับสื่อหลักรายอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้ต่างได้จริงๆ ก็คงจะไม่พ้น “บุคลากร” และ “วิธีการทำงาน” ซึ่งแตกต่างกัน

“คือเว็บไซต์ก็จะแยกกองออกมา เพราะฉะนั้นมันจะมีจุดต่างระหว่างหนังสือพิมพ์มติชนกับเว็บไซต์มติชน แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่าในกอง บ.ก. มติชนเอง อย่างในช่วงเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา มันก็ต้องเริ่มจากฐานก่อน ฐานก็คือลักษณะงานมันอาจจะยังไม่ได้เป็นกอง บ.ก. อย่างลงตัว ประเภทกระจายงานให้นักข่าวทำ ตามคำสั่งหัวหน้าข่าว ตามคำสั่งกอง บ.ก. แล้วนักข่าวก็ทำมา แต่มันจะเป็นลักษณะเหมือนกึ่งๆ ซึ่งมันก็สะท้อนภาพของพื้นที่ออนไลน์หรือชุมชนออนไลน์ มันจะมีลักษณะต่างคนต่างยิงข่าวด้วย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายในเนื้อหาและก็ปะทะพอสมควร บางคนที่สนใจเสื้อแดง เขาก็จะออกไปทำสกู๊ป คนที่มาชุมนุมเสื้อแดง ขณะที่บางส่วนก็จะเห็นใจทหารก็ไปสัมภาษณ์ทหารที่โรงพยาบาล แต่เราเห็นว่าน่าสนใจดีที่ได้มาปะทะกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายด้วย เราก็พยายามจะคงพื้นที่ไว้ ว่าถ้าคุณมีความเห็นอะไรยังไงก็สามารถทำมันได้ในระดับหนึ่ง”

ปราปต์อธิบายว่า ลำดับชั้นในการทำงานของกองบรรณาธิการออนไลน์นั้น แตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ชัดเจน นักข่าวมีอิสระที่จะอัพโหลดสกู๊ปด้วยตัวเอง ซึ่งเขามองว่า นี่ก็แทบจะไม่ต่างกับการใช้ facebook ,twitter หรือ blog แต่ในส่วนของข่าวนั้น ยังคงต้องตรวจสอบเนื้อหา ซึ่งยอมรับว่า หลุด และดูแลไม่ทั่งถึง แต่ช่วงหลังนี้ได้รับการเสริมทัพจากทางกองบรรณาธิการประชาชาติ ซึ่งเข้ามาดูแลเป็นหัวหน้าข่าว จึงมีการตรวจสอบได้ทั่วถึงขึ้น

ปล่อยให้เรื่องเล่าหรือข้อมูลปะทะกัน แล้วคนก็จะเลือกเชื่อได้เอง เรียนรู้ได้เอง

จุดใหญ่ใจความที่ทำให้สื่อออนไลน์น่าสนใจสำหรับปราปต์ ดูเหมือนจะอยู่ที่การเปิดเพดานของ “เนื้อหา” ที่จะนำเสนอมากกว่า รูปแบบ หรือความเร็ว

สื่อบางสำนัก พอพูดถึง new media เขาจะออกไปแนว มันต้องเป็น media มันต้องมีทั้งคอมฯ โน้ตบุค เน็ตบุค ดีวีดี สะพายกล้องเต็มเลย ผมคิดว่ามันอาจจะต้องคิดว่ามันยังไม่ใช่จุดสำคัญมากนัก มันอาจจะไม่ใช่เส้นแบ่งว่านี้คือ สื่อใหม่ ขณะที่ไม่ใช่แบบนี้คือสื่อเก่ามากเท่ากับว่าเราเห็นพื้นที่นี้ยังไง แล้วพยายามใส่สิ่งใหม่ๆ ลงไปยังไง หรือถ้าเรารู้สึกว่าพื้นที่ทาง internet มันกว้างมากขึ้น จนมันสามารถทำให้การแสดงความเห็นในเรื่องสังคมไทยให้มันมีเพดานสูงขึ้น มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะใส่อะไร ใส่เนื้อหายังไงมากกว่า อย่างเช่นหลายๆ ปีที่ผ่านมา หัวข้อบทกวีทางการเมืองมันแรงขึ้น ทั้งๆ ที่ในแง่หนึ่งถ้าเราพูดถึงบทกวี มันก็อาจจะเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เก่ามากเลยก็ได้ อาจจะเป็นเชิงมุขปาฐะเลยก็ได้ แต่ผมว่า ถ้าบทกวีมันมีเนื้อหาที่อยู่ข้างประชาธิปไตย อยู่ข้างคนที่ถูกกดขี่ คนที่ถูกกระทำ แล้วอธิบายสังคมตอนนี้ได้ดี แล้วมันถูกนำมาพิมพ์ลงใน facebook ก็ได้ หรืออาจถูกพิมพ์ลงในเว็บก็ได้ หรืออาจจะปรากฏในรูปของคลิปอ่านบทกวีก็ได้ คือนั่นมันก็คือสื่อใหม่ ในความเห็นของผม”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราถามว่า ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่ต้องการข้อเท็จจริง เช่นกรณีการล้อมปราบประชาชนในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สื่อใหม่ออนไลน์ และเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของการถูกสื่อกระแสหลักวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตัวการอย่างหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบแพร่กระจายออกไป ทำให้เกิดการขยายแพร่ความแตกแยก ปราปต์ กลับมองต่างออกไป

“ประเด็นแรกเลย ผมไม่คิดว่าคนอ่านจะเชื่อง่ายๆขนาดว่ามีข่าวมาว่าอะไรก็เชื่อหมด หรืออย่างเช่นที่ผ่านมาก็เห็นแล้ว คนจำนวนมากเลยที่ active ในช่วงสังคม 4-5 ปี ที่ผ่านมา แล้วก็จะมีอีกประเด็นก็คือ ผมนึกถึงนิยายเรื่อง ลับแล แก่งคอย [1] เท่าที่ตีความในนิยายนั้นนะ คือไม่ได้รู้สึกว่าความจริงความลวง จะเป็นปัญหามากนัก จากนิยายเล่มนั้น เหมือนเขาพยายามเสนอว่ามันไม่มีความจริงที่สมบูรณ์ แล้วความคิดก็คือเรื่องเล่าต่างๆ ที่มาปะทะกัน พยายามคิดให้มันเป็นศิลปะ มันขึ้นอยู่กับรสนิยม สุนทรียะ ของคุณ ว่าคุณจะเลือกอะไร แต่นั่นมันก็คือนิยายนะ แต่ถ้ามาคิดเรื่องออนไลน์เราก็คิดว่า คนเขาคงไม่ได้ปักใจเชื่ออะไรต่างๆ ได้โดยง่ายแล้ว ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้มีความจริงสูงสุดอะไรที่เราหรือคนจะยึดเป็นหลักได้แล้วตอนนี้ มันเป็นความจริงที่หลากหลาย แล้วคนก็เลือกเชื่อหรือเลือกยึดกับมัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าเราจะคิดว่ามันไม่มีความจริงเลย เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าดูในพื้นที่ของสื่อ internet อย่างกรณีคลิป ต่างๆ ในช่วงเหตุการณ์เมษา พฤษภา เราก็สามารถเดินทางไปถึงข้อเท็จจริงบางอย่างได้เหมือนกัน คือมันอาจจะต่างมุมมอง ถ่ายจากต่างสถานที่ หรือว่าคนถ่ายอาจจะมีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน แต่สุดท้าย มันก็แสดงให้คนว่ามีคนถูกยิง แล้วรัฐบาลก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้”

เขาบอกว่า ด้วยความจริงที่หลากหลาย และสติปัญญาของมนุษย์ที่จะคัดกรอง และไม่เชื่อว่าคนจะยอมเชื่ออะไรง่าย ฉะนั้นแล้ว เขาจึงไม่เชื่อว่าจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “จริยธรรม” ในการนำเสนอข่าวแบบที่มีบางกระแสเรียกร้องให้มี

“เราคิดว่ามันอาจจะไม่ใช่แล้ว มันอาจจะปล่อยให้เป็นเรื่องเล่าหรือข้อมูลที่มันมาเป็นการปะทะกัน แล้วคนก็จะเลือกเชื่อได้เอง แล้วก็เรียนรู้ได้เองว่าอันไหนคือข่าวลือ อันไหนคือข่าวจริง หรืออีกอย่างหนึ่งในเมื่อมันเป็นข่าวลือ ข่าวลวง ทำไมคนถึงเลือกที่จะยึดกับมัน มันอาจจะมีฟังชั่น อะไรบางอย่างหรือเปล่า อย่างเช่น มันอาจจะรองรับอุดมการณ์เขา แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือ สื่อหลักเองก็รับประกันไม่ได้หรอกว่ามันจะมีข่าวที่ถูกตรวจสอบทั้งหมด คือสื่อหลักเอง คนเขียน คนตรวจสอบ จะมีฐานคติอะไรบางอย่างอยู่เหมือนกัน สุดท้ายแล้วปัญหานี้มันจะไม่ต่างกันทั้งสื่อใหม่และสื่อกระแสหลัก ผมคิดว่าอย่างนั้น”

สิ่งที่เขาพูดนั้นท้าทายกลับไปยังสื่อหลักที่เป็นรากฐานขององค์กรสื่อของเขาเอง ซึ่งเขาบอกว่า เป็นเรื่องที่สื่อหลักต้องปรับตัว

“ผมก็คิดว่าต้องเปิดมากขึ้น ต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนหลายกลุ่มมากขึ้น ถ้าในแง่ของสื่อหลักนะครับ คือจะเหมือนกับว่าคุณเชื่อว่าตัวเองคัดกรองข่าวมาแล้ว มันคือความจริงที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว มันจะไม่ใช่แล้ว หน้าที่ของเราก็อาจจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ความคิดต่างๆ ได้มาปะทะกัน ให้ได้มา dialogue กันมากกว่า เพราะความที่หลากหลายในพื้นที่ตรงนั้นมันน่ารองรับสังคมที่เปลี่ยนไปได้มากกว่า แล้วอีกด้านหนึ่งก็คือ มันจะทำให้คนทำงานในองค์กรสื่อเองได้เรียนรู้ด้วย เพราะอีกหน่อยก็ต้องยอมรับ อย่างเช่น กรณีมติชน มันก็เหมือนกับว่า สุดท้ายปัญญาชนที่ยังทำงานมติชน ก็ยังอยู่ในยุคของอาจารย์ นิธิ อาจารย์ผาสุก ในขณะที่คน หรือแม้แต่คนในองค์กร ก็ไม่ได้รู้ว่าปัญญาชนรุ่นถัดมาคิดยังไง หรือความคิดอื่นๆ องค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งมันอาจจะสามารถอธิบายสังคมได้ ขยายความต่อเนื่องมาจากปัญญาชนอีกรุ่นหนึ่งก็จะไม่เห็นแล้วอีกเหมือนกัน

“ซึ่งในแง่หนึ่งถ้าเราไม่เปิดพื้นที่ให้มันหลากหลาย หรือเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดมากขึ้น คิดอีกในแง่หนึ่ง สื่อก็จะไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมเอง ทั้งในแง่ที่คนอ่านก็คงจะหายไปจำนวนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันตัวคนทำด้วยก็จะมีปัญหาเองด้วยในการที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงนั้น”

ไม่ว่าจะสื่อหลักหรือสื่อใหม่ สิ่งที่ต้องคอยตรวจสอบคือ อคติ

ปราปต์ยืนยันอยู่บนฐานคิดที่ว่า ความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งไม่น่าจะไปด้วยกันได้กับการทำหน้าที่รับผิดชอบในการนำเสนอข้อเท็จจริงในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นสถาบันที่สถาปนาตัวเองมานาน และมีหลักจริยธรรมวิชาชีพที่ต้องเคารพและพึงถูกตรวจสอบ

“ต่อให้คุณจะมีหลักอะไรอย่างนี้ มันก็จะมีการตั้งคำถามกลับไปเหมือนกันว่า แล้วหลักที่คุณยึดจริงๆแล้วมันเป็นหลักจริงหรือเปล่า หรือบางแง่คือ คุณก็ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักนั้นเหมือนกัน ในแง่สื่อเก่านะ อย่างที่บอกคือประเภทข่าวจริง ข่าวลวง มันก็อาจจะไม่ได้ปรากฏในพื้นที่ internet แม้แต่สื่อกระดาษ สื่อทีวีดั้งเดิมเองก็จะมีลักษณะอย่างนี้กันทั้งนั้น โดยความคิดส่วนตัวก็คืออยากให้ยอมรับ และทำความเข้าใจกับมันมากกว่า”

สำหรับตัวเขาแล้ว เมื่อถามดึงการจัดการกับอคติของคนทำข่าวซึ่งอาจเป็นสิ่งชักพาคนที่ทำหน้าที่เสนอข้อมูลไปในทิศทางทิศทางหนึ่งมากเกินไป เขาบอกว่า เขาไม่จัดการกับอุดมการณ์ทางการเมืองของทีมข่าว

“เราอำนวยการให้เต็มที่ แต่หมายถึงว่าเราก็อาจจะต้องคุมอะไรบางอย่าง เช่น คุณต้องอย่าอินเกินไป หรือถ้ามันหมดมุขขึ้นมาจริงๆ มันก็หมดไปได้ เช่น อย่างกรณีเสื้อแดง คนที่ทำก็บอกว่าอยากทำให้ต่อเนื่อง แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มันขาดหายไป แล้วเขาก็เลยรวบรวมสาวเสื้อแดง เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ มันก็อาจจะไม่ต้องทำก็ได้นะ คือไม่แน่ใจว่ามันมีประเด็นอะไรแค่ไหน คือเราก็ต้องควบคุมเหมือนกันว่าไม่ให้หลุดออกมาจากกรอบ เช่น ถ้าเสื้อแดงคุณอาจจะพูดถึงวิธีคิด การมองโลกอะไรของเขาไป พูดถึงสังคมชนบทที่มีการเปลี่ยนแปลงไป พูดถึงการถูกกระทำ การไม่ได้รับความเป็นธรรม สองมาตรฐานก็ว่าไป

คือสุดท้ายคนก็จะเขียนอะไรจากมุมมองของตนเองทั้งนั้น แต่ทำยังไงให้มันไม่กระทบต่อคนอื่นอย่างเสียหาย หรืออย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ค่อยแฟร์ ต่อคนที่ถูกกล่าวถึง ซะมากกว่า แต่ถ้าพูดถึงหลักที่มันจะต้องมีจริยธรรมหรืออะไรที่ตรวจสอบได้ อันนี้มันอาจจะไม่ชัดมาก ก็ยังคิดอยู่ว่ามันยังใช่การได้อยู่หรือเปล่า”

คนไม่ได้เข้าเว็บไซต์เพื่ออ่านแค่เรื่องบันเทิง

ปราปต์ ยอมรับว่า หลังจากที่ตัดสินใจปิดพื้นที่แสดงความเห็นท้ายข่าวแล้ว ทำให้จับกระแสผู้อ่านยากขึ้น แต่ด้วยตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา ทำให้เขาต้องเปลี่ยนมุมมองว่า เว็บไซต์จะอยู่ได้ด้วยข่าวบันเทิง แม้ว่าทุกวันนี้สัดส่วนข่าวบันเทิงจะยังคงเยอะอยู่ก็ตาม

“ความคิดของเราก็คือว่า คอลัมน์บันเทิงทำให้คนอ่านเยอะ คือที่ผ่านมามันเป็นอย่างนั้นเลย จนกระทั่งช่วงเมษา พฤษภา มันจึงเป็นฐานอันหนึ่งที่ทำให้เราเชื่อว่ายังมีกลุ่มคนอ่านอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เขายังต้องการอ่านอะไรบางอย่างจากเรา แต่เราไม่ได้นำเสนอให้เขา อีกส่วนที่วัดได้ ก็คือมีนักวิชาการบางส่วน ส่งบทความเข้ามาช่วงสถานการณ์ คือเราคิดว่าเขาก็คงเห็นนะว่าเรามีพื้นที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเขาก็ส่งมาได้ หรือปัญญาชนบางคนเช่น คุณวิจักขณ์ (พานิช)ที่ทำเรื่องศาสนา เขาก็ส่งมา ซึ่งเราก็คิดว่าเขาก็คงเห็นอะไรบางอย่างว่าเรามีพื้นที่ตรงนั้นเขาถึงส่งเข้ามา เราก็จะจัดพื้นที่ตรงนี้ได้ส่วนหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ข่าวบันเทิงก็ยังคงอยู่ในสัดส่วนที่มาก เมื่อเทียบกับข่าวการเมือง ปราปต์อธิบายว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความถนัดและความสนใจของทีมงาน และแม้ว่าตัวเลขคนอ่านข่าวบันเทิงหรือไลฟ์สไตล์จะสูง แต่ยอดที่สูงนั้นไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้น

“อาจจะเป็นเรื่องรุ่นจริงๆ เพราะว่าคนรุ่น 20กว่าๆ อยู่ด้วยกันเยอะๆ ช่วงที่เรารับเขาเข้ามาใหม่ๆ มันเริ่มจากการรับเขามาเป็นนักข่าวของศูนย์ข้อมูล คือคีย์ข่าว เราได้เด็กกลุ่มนี้มา แล้วก็เป็นเด็กผู้หญิงหมดเลย แล้วก็ความสนใจจะไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองเข้มข้นนัก เพราะว่าพื้นฐานของเขาเป็นไลฟ์สไตล์หมดเลย พอเราเปิดโอกาสเช่น ลองทำอะไรที่สนใจมาสิ มันก็จะไปทางนั้นหมด ซึ่งเราอาจจะต้องยอมรับเงื่อนไขแล้วก็พยายามปรับเหมือนกัน คือถ้าไปทางนั้นก็อาจจะต้องปรับให้มันดี แต่โดยธรรมชาติของคนทำงานก็จะทำให้เห็นเลยว่า มติชนก็จะมีอะไรอย่างนี้เยอะ ไลฟ์สไตล์หรือบันเทิง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ข่าวบันเทิงคนอ่านจะค่อนข้างมากพอสมควร แต่ในความมากของช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มันไม่ได้เพิ่มไอพีเลย คือไอพีมันจะนิ่งตลอด จนเราทุ่มให้กับประเด็นการเมืองในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี่แหละ ที่ไอพีมันเพิ่มขึ้นแล้วก็ยังเพิ่มขึ้นติดกันอยู่จนถึงปัจจุบัน”

เรื่องแปลกแต่จริง คนอ่านเยอะ แต่ขายโฆษณายากเพราะ “แดง”!?

แม้ว่าตัวเลขผู้อ่านของมติชนออนไลน์จะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทว่าเมื่อเราถามถึงการอยู่รอด ตัวเลขหกหมื่นคนอ่านต่อวัน กลับไม่ช่วยอะไร

“มันก็ยังยากอยู่นะครับ พูดถึงเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้อย่างเปิดกว้าง มันก็ต้องอาศัยโฆษณาอย่างเดียว คือโฆษณาจริงๆ อย่างช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มันดูเหมือนจะเยอะขึ้น พัฒนาขึ้น แต่ปรากฏว่าหลังเหตุการณ์ทางการเมือง มันมีแนวโน้มตกลง แล้วส่วนหนึ่งที่คนขายโฆษณาทางออนไลน์เขาพูด เหมือนสะท้อนมาด้วยว่า องค์กร ธุรกิจบางส่วน อาจจะเห็นว่าองค์กรเราออกไปทางสีแดง เพราะฉะนั้นก็จะระงับโฆษณาเหมือนกัน มันก็เลยส่วนทางกันกับยอด ก็เลยน่าสนใจเหมือนกันว่า ถ้าพูดถึงธุรกิจ เราก็จะนึกถึงผู้บริโภค อะไรอย่างนี้ไปแบบปกติ แต่การใช้ตรรกะสังคมไทยมันไม่ใช่อย่างนั้น”

ทำไมไม่ไปขอธุรกิจที่น่าจะเชียร์เสื้อแดงละ ถ้าตรรกะของลูกค้าโฆษณาเป็นแบบนั้น - เราล้อ แต่เขาตอบจริงๆ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาตั้งคำถามกลับว่า ทำไมกลุ่มธุรกิจถึงไม่คิดว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้บริโภคของตัวเอง

“ผมก็ไม่ได้ไปทำงานส่วนนี้ แต่มันก็น่าสนใจเหมือนกันว่า หรือเรามุ่งไปที่กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มหรือเปล่า ยังติดอยู่หรือเปล่า คือเราจะสามารถทำได้แค่ไหน แล้วขณะเดียวกันก็น่าสนใจเหมือนกันว่าทำไมเรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้น ถ้ามองในแง่ของสายตานักธุรกิจต่างๆ เขาก็คิดว่าเสื้อแดงมันเป็นอะไรสักอย่าง นอกสังคม นอกระบบ แล้วเหมือนจะต้องตัดออกซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ คนเสื้อแดงไม่ได้ปฏิเสธระบบทุนนิยมนะ ใช่ไหม แล้วเสื้อแดงก็คือคนส่วนใหญ่เป็นคนชนบทที่พัฒนาเศรษฐกิจไปตามระบบทุนนิยม เพียงแต่ว่าเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไรอย่างนี้ คือมันก็ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามเหมือนกันว่า จริงๆ มันไม่ได้เกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจนะ มันไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องโฆษณาตามมา คือเสื้อแดงเขาก็อาจจะเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองมากกว่า แต่มันก็ทำให้น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่าตรรกะของสังคมหรือว่าตรรกะของภาคธุรกิจเป็นแบบไหน”

ถ้ามองในแง่ของผู้บริโภคแล้ว ปราปต์ตั้งข้อสังเกตว่า อาการคล้ายๆ “แดง” ของมติชนนั้นส่งผลอย่างสูงต่อยอดจำหน่ายหนังสือ นั่นแปลว่า ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ไม่ถูกนับโดยกลุ่มธุรกิจหลายๆ กลุ่มนั้น เป็นกลุ่มที่กว้างพอสมควร

“อย่างในมติชนสุดสัปดาห์ หรือข่าวสดเอง ยอดมันก็เพิ่มอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น มติชนสุดสัปดาห์ปกหน้าวัดปทุมฯ ตรงที่มีทหารบนรางรถไฟฟ้า ซึ่งยอดพิมพ์โดยเฉลี่ยก็จะ 8-9 หมื่นฉบับ แต่ยอดส่งคืนเล่มนั้น ส่งคืนแค่ 5 % เอง ก็หมายความว่าขายได้ 95 % ซึ่งมันก็น่าพอใจอยู่ ทีนี้มันก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารชั่งใจนะว่าคนบริโภคเยอะขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเรื่องโฆษณาจะทำยังไง”

สื่อใหม่ VS สื่อเก่า ไม่ใช่เรื่อง “เทคนิค” แต่คือ “เนื้อหา”

ปราปต์คิดว่า สื่อออนไลน์ กับสื่อกระแสหลักเดิมโดยเฉพาะสิ่งพิมพ์นั้น ไม่ได้ทำงานในฐานะคู่แข่ง แต่หากเข้าใจตรงกันว่า สังคมต้องการความหลากหลายและการปะทะกันของข้อมูล สื่อทั้งสองแบบย่อมทำงานหนุนเสริมกันได้

 “สุดท้ายก็ต้องตั้งคำถามสื่อหลักว่า เขาเข้าใจสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แล้วพร้อมที่จะเปิดพื้นที่รับวิธีคิดอะไรใหม่ๆ แค่ไหน คือถ้าสมมติเขาเปิด ก็สามารถทำงานไปด้วยกันได้กับสื่อหลักดั่งเดิมกับสื่อใหม่ สื่อออนไลน์ แล้วก็มันก็จะทำให้เรื่องรูปลักษณ์มันก็จะเห็นชัดมากขึ้น สื่อหลักก็จะเน้นในการนำเสนอข่าวในพื้นที่ของหนังสือพิมพ์ไป ส่วนออนไลน์ก็ช่วยเพิ่มได้ในฐานะเป็นเชิงอรรถของสื่อหลัก หรือจะอัพเดทข่าว แบบ real time มันก็สามารถทำได้ แต่ถ้าสื่อหลักมองไม่เห็นตรงนี้ มันก็เป็นที่แน่นอนว่า สื่อหลักก็คงจะต้องลดบทบาทไป คือมันก็คงทำให้คนส่วนหนึ่งรู้สึกเหมือนกันว่า สื่อหลักก็ไม่ได้ตอบสนองเขามากพอ หรือสื่อกระแสหลักไม่ได้อธิบายกระแสของสังคมไทยได้ดีพอ สื่อกระแสหลักเองก็คงจะมาบ่นอย่างเดียวไม่ได้ อย่างเช่น คนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสืออะไรอย่างนี้ มันก็อาจจะไม่ใช่เหมือนกัน ก็อาจจะต้องตั้งคำถามกลับไปเหมือนกันว่า หรือว่าเราทำในสิ่งที่เขาเห็นว่ามันไม่จำเป็นต้องอ่านหรือเปล่า คือมันอาจจะต้องตั้งคำถามเหมือนกัน ถ้าสื่อหลักพยายามทำความเข้าใจตรงจุดนี้ ผมคิดว่าเราสามารถทำงานด้วยกันได้ แล้วมันจะมีประสิทธิภาพด้วยกันทั้งคู่ ทั้งสื่อหลัก แล้วก็สื่อออนไลน์”

เรายังพูดคุยกับปราปต์ต่อเนื่องในรายละเอียด ทั้งในแง่ของการทำงานของกองบรรณาธิการเว็บ และการมองบทบาทของพื้นที่ออนไลน์ ปราปต์นิ่งคิด และตอบในฐานะของคนที่กำลังทดลองทำ สำหรับปราปต์แล้ว นิวมีเดีย หรือสื่อออนไลน์ ยังเป็นพื้นที่แห่งการทดลอง ซึ่งเขตแดนและกำแพงยังไม่ชัดเจนนัก ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ยังเอื้อต่อการปล่อยให้ ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่หลากหลายขัดแย้งได้มาปะทะสังสรรค์กัน

“ก็ต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่นำเสนอมากกว่า ว่าสิ่งที่โพสต์ใน twitter หรือ facebook มันคืออะไร มันมีเนื้อหายังไง มีกรอบวิธีคิดแบบไหน ก็อย่างที่บอกไปคือ ถ้ามันทำความเข้าใจกับสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ ต่อให้มีเครื่องไม้เครื่องมือเต็มตัวก็ไม่แน่ใจว่าจะมีประโยชน์หรือเปล่า”

ทิศทางของมติชนออนไลน์ข้างหน้านั้น ยังคงอยู่กับการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ให้กับ “เนื้อหา” ที่หลากหลาย เขาไม่ตื่นเต้นกับ “เครื่องมือ” ใหม่ๆ มากนัก เขาไม่เห่อ twitter หรือ facebook และยังไม่คิดว่านักข่าวต้องรีบส่งข่าวจากภาคสนามด้วยเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ และประโยคที่เขาย้ำหลายๆ ครั้งก็คือ สื่อใหม่ไม่ใช่แค่เทคนิค แต่มันคือพื้นที่สำหรับ “เนื้อหา” ที่สื่อหลักอาจมีพื้นที่ให้ไม่เพียงพอต่างหาก

 

หมายเหตุ

ลับแล, แก่งคอย เป็นนวนิยายที่ได้รับรางวัลซีไรต์ปี 2552เขียนโดยอุทิศ เหมะมูล จัดพิมพ์โดยแพรวสำนักพิมพ์

อ่านคำแนะนำหนังสือ http://www.naiin.com/ProductDetail.aspx?sku=BK502490283464448&AspxAutoDetectCookieSupport=1

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net