Skip to main content
sharethis

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลกขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด   ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุก

วันที่ 22 ก.ย. 2553  เมื่อเวลา 14.00 น.ที่มัสยิดกลางประจำ จ.สงขลา องค์กรมุสลิมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ประกอบด้วย อิหม่าม และผู้บริหารมัสยิด ผู้ประกอบการกิจการฮัจญ์ ผู้นำกลุ่มฮัจญ์ ผู้แสวงบุญ สมาคมมุสลิม และกลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม กว่า 500 คน รวมแสดงพลังเพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทย กับซาอุดีอาระเบีย จนส่งผลกระทบต่อการขอวีซ่าเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของผู้แสวงบุญชาวไทย

พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดเสวนาของกลุ่มนักวิชาการมุสลิมเกี่ยวกับความสัมพันธ์และต้นตอของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทย กับซาอุดีอาระเบียซึ่งมีผู้เขียน  อาจารย์ ดร. วิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ หัวหน้าฝ่ายวิชาการและการต่างประเทศสำนักงานกิจคณะกรรมการอิสลาม จ.สงขลา และหัวหน้าศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีภาคใต้ โดยมี ดร. อับดุลรอหมาน กาเหย็ม เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.สงขลาเป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร. อับดุลรอหมาน กาเหย็มได้กล่าวถึงเหตุผลของการกิจกรรมในวันนี้ว่า เพื่อร่วมเสวนาหาทางออกและร่วมกันละหมาดฮายัตขอพรต่อพระเจ้าให้ปัญหากรณีความขัดแย้ง ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย คลี่คลายไปในทางที่ดี และยุติโดยเร็วเสมือนเป็นการช่วยชาติไทยในภาพรวม ในขณะเดียวกันเพื่อให้ชาวไทยมุสลิมในประเทศไทยที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในปีนี้ตามโควตา 13,000 คน สามารถเดินทางด้วยความสะดวกและสบายใจ เนื่องจากใกล้ถึงวันเดินทางเที่ยวแรกในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ ที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่
      
หลังจากนั้นผู้ดำเนินรายการให้ผู้เขียนได้กรุณาเท้าความปมความขัดแย้งเพื่อปูพื้นฐานให้กับผู้ฟังซึ่งผู้เขียนกล่าวแก่ผู้ฟังซึ่งพอจะสรุปได้ว่า  หากย้อนอดีตไปลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่น คือ การที่เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีฯถูกลอบสังหารกลางเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 โดยตำรวจไทยไม่สามารถที่จะสืบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้ซึ่งต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 คนร้ายได้ลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดีฯอีก 3 ศพ รวดในเวลาเดียวกัน รวมทั้งหมดเป็น 4 ศพ แต่ตำรวจไทยก็ไม่สามารถจับคนร้ายตัวจริงมาลงโทษได้ มีการจับตัวผู้ต้องหามาสอบสวนเหมือนกัน แต่ก็ผิดตัว

ในเดือนดังก่าว นายมุฮัมมัด อัลรูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอารเบีย ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาจึงมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ข้อหา "อุ้ม" นายมุฮัมมัด อัลรูไวรี่ไปหาข้อมูลเชิงลึกในรูปบบที่ไม่เหมาะสม ตามกระบวนการยุติธรรม เพราะเชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดิอารเบียซึ่งส่งผลให้ทางการซาอุดีฯไม่พอใจอย่างยิ่ง จนถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุดนี่ยังไม่นับรวมกรณีที่นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ลักลอบโจรกรรมเพชรกลับประเทศไทย แต่ตำรวจไทย สร้างวีรกรรมอันฉาวโฉ่ โดยเอาของปลอมไปคืนให้ซาอุดิอารเบีย

แต่ทางการซาอุดิอารเบียก็สนใจคดีอุ้มฆ่ามุฮัมมัดอัลรูไวรี่มากที่สุด เพราะตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราชกลับไป"อุ้ม" "อัลรูไวรี่" ไปกักขังไว้และบีบบังคับให้สารภาพผิด แต่ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเสียชีวิตของนักธุรกิจ ผู้นี้อย่างเป็นปริศนา

ที่สำคัญที่สุดอัลรูไวรี่เป็นหนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์อัสสะอูด แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียโดยเฉพาะกับว่าที่กษัตรย์องค์ต่อไป ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ

ซาอุดิอารเบียรอคอยด้วยความอดทนเป็นเวลาเกือบ 20 ปีเกี่ยวกับคดีนี้ จนกระทั่งก่อนหมดอายุคดีความเพียง 1 เดือนกล่าวคือ เดือนมกราคม 2553  กรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา อันประกอบไปด้วย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่านายมุฮัมมัด อัลรูไวรี จนทำให้ฝ่ายซาอุดิอารเบียมองว่ารัฐบาลไทยมีความจริงใจในการแก้ปัญหา แต่แล้วความหวังดังกล่าวของซาอุดิอารเบีย จะไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เมื่อมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ทั้งๆ ที่เป็นผู้ต้องหาคดีอัลรูไวรี และคดียังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล จนทำให้รัฐบาลซาอุดิอารเบียเปิดไฟเขียวให้อุปฑูตนาบีล เดินเกมส์การเมืองและออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจกรณีการแต่งตั้งดังกล่าว โดยอ้างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา  เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจตามมาตรา 72 (ผบ.ตร.) หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนด
ในระเบียบ ก.ตร. มีอำนาจสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยได้   ไหนคือสิ่งที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ เวชชาชีวะย้ำอยู่เสมอว่ารัฐบาลภายใต้การบริหารของท่านจะรักษามาตรฐานทางด้านจริยธรรมและ นิติรัฐแต่พฤติกรรมดังกล่าวได้แสดงว่ารัฐบาลกำลังจะอุ้มพรรคพวกเพราะสังคมทั้งประเทศไทยรวมทั้งรัฐบาลซาอุดิอารเบียย่อมทราบดีว่าพล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม คือน้องชายแท้ ของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯ คมช.) ผู้มีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐานการทุจริตเลือกตั้งของแกนนำพรรคพลังประชาชน จนนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การสนับสนุนอย่างมั่นคงของทหาร
 
ความเป็นไปดังกล่าวทำให้เกมส์การเมืองเข้ามามีอิทธิพลต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าซาอุดิอารเบีย  รัฐบาลและฝ่ายค้านแต่ผู้ที่เดือดร้อนคือประชาชนชาวไทยเพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไทยจะได้รับจากการจัดส่งแรงงาน ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องสูญเสีย และลามปามไปสู่พิธีกรรมทางศาสนาของพี่น้องชาวบ้านที่สะสมเงินทั้งชีวิตที่จะไปประกอบพิธีฮัจญ์ต้องสิ้นสลายดังนั้นกระบวนการที่จะช่วยกดดันทุกฝ่ายมุสลิมต้องใช่กระบวนการทางการเมืองอย่างสันติขับเคลือนเพราะโดยประวัติศาสตร์ประเทศไทยไม่ว่าปัญหาภาคใต้ ม๊อบเสื้อแดง เสื้อเหลือง เครื่อข่ายเกษตรกรก็ล้วนใช้มวลชนกดดันรัฐบาล

หลังจากนั้นอาจารย์ ดร. วิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ ได้อธิบายถึงความสำคัญระหว่างศาสนากับกระบวนการทางการเมืองที่อิสลามอนุมัติ

ซึ่งท่านกล่าวในตอนหนึ่งว่า การเมืองกับศาสนานั้นแยกกันไม่ออก เพราะการเมืองจะมีผลต่อการประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม ว่า จะทำให้สมบูรณ์แบบหรือไม่ โดยเฉพาะการประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของศาสนาอิสลามข้อที่ 5 เพราะการเมืองที่ไร้ความยุติธรรม ไม่มีทางที่จะทำให้ศาสนาสมบูรณ์แบบได้ ที่สำคัญ ศาสนาต้องอยู่เหนือการเมือง ไม่ใช้เอาศาสนาไปรับใช้การเมือง
      
“กรณีความสัมพันธ์ไทยกับซาอุดีอาระเบีย จึงมีความพิเศษ เพราะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณชาวมุสลิมที่จะต้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์อันศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศอันเป็นที่ตั้งของกะบะฮ์ และมัสยิดนาบาวีย์ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่สำคัญยิ่งของมุสลิมเพราะทุกคนต้องไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นั่น จึงจำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างการเมืองของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะทำให้การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทยมุสลิมสะดวกยิ่งขึ้น”         

หลังจากนั้นท่านและคณะ ในนามของสมัชชาองค์การมุสลิมภาคใต้ และ นายอิบรอฮิม อาดำ นายกสมาคมผู้ประกอบการฮัจญ์ในภาคใต้ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 หลังทราบข่าวการประกาศไม่รับตำแหน่งของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม
      
โดยระบุว่า การประกาศไม่รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของ พล.ต.ท.สมคิด เป็นความเสียสละอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการแสดงออกที่หวังว่าจะนำสู่ไปสู่ความปรองดองของไทย และซาอุดีอาระเบียได้ จึงเป็นความเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ควรแก่การชื่นชม พร้อมกับได้เรียกร้องให้รัฐบาลใช้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนในการสร้างความสงบร่วมเย็นความสมานฉันท์ปรองดอง ซึ่งจะต้องยืนอยู่บนความยุติธรรม และการเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก และควรตระหนักว่าการปกครองที่ไร้ความยุติธรรม คือ ชนวนสำคัญที่ทำให้สังคมขาดความสมดุลและนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงได้
      
อย่างไรก็ตาม ทางองค์กรมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประกาศยุติการเคลื่อนไหวทุกอย่างชั่วคราวหลังจากนี้ เพราะสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และไม่ได้มีการละหมาดฮายัตตามกำหนดการที่ประกาศไว้ เพราะมองว่าพระเจ้าได้พระทานพรอันยิ่งใหญ่ให้กับชาวไทยมุสลิมแล้วซึ่งมุสลิมที่ร่วมประชุมครั้งนี้ได้ร่วมกันกล่าว อัลลอฮุอักบัร (พระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่)แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่ออกเคล่อนไหวอีกตลอดการณ์แต่จะดูผลหลังจากนี้นี้ว่าจะคลี่คล้ายอย่างถาวรจริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net