Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การที่วิกิลีคส์ (Wikileaks, http://www.wikileaks.org/) นำเอกสารลับเกี่ยวกับสงครามอัฟกานิสถานมาตีพิมพ์ใน เดอะ การ์เดียน [1] เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส์ [2] และ เดอ สปีเกล [3] ภายใต้ข้อตกลงกับวิกิลีคส์ ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก นอกจากนี้ เลอ มอนด์ ดิพโลมาธิก ร่วมกับ โอวนิ และเว็บสเลทฝรั่งเศส (Slate.fr) ยังได้เผยแพร่เอกสารออนไลน์บนเว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ [4] นัยด้านความมั่นคงของเอกสารที่รั่วออกมาจะเป็นที่ถกเถียงไปอีกนานหลายปี ในขณะเดียวกัน การปล่อยเอกสารกว่า 900,000 ชิ้นก็ได้ก่อให้เกิดวิวาทะเกี่ยวกับพลังที่เพิ่มขึ้นของสื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย วิวาทะหลายครั้งมีรากอยู่ในสิ่งที่ผมเรียกว่า มายาคติอินเทอร์เน็ตหรือมายาคติดิจิทัล กล่าวคือ มายาคติที่มีรากอยู่ในแนวคิดที่มองเทคโนโลยีอย่างโรแมนติกและมองว่าเราเปลี่ยนมันไม่ได้

มายาคติ #1: พลังของโซเชียลมีเดีย

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ด้านสื่อถูกถามอยู่เนืองๆ ว่ากรณีของวิกิลีคส์บอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับพลังของโซเชียลมีเดียในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในแง่ของการรายงานข่าวสงคราม [5] คำถามนี้ไม่มีอะไรผิด แต่มันก็สะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวล ที่จะอุปโลกน์ว่าโซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ (บล็อก ทวิตเตอร์ เฟซบุค วิกิลีคส์) เป็นสิ่งเดียวกัน มายาคติคือความคิดที่ว่าโซเชียลมีเดียเหล่านี้เหมือนกันหมดเพราะใช้เทคโนโลยีเดียวกัน แต่วิกิลีคส์ไม่มีอะไรเหมือนกับทวิตเตอร์หรือยูทูบเลย สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างจากโซเชียลมีเดียรูปแบบอื่น คือกระบวนการกลั่นกรองที่ใช้สำหรับเนื้อหาก่อนที่จะนำมาโพสบนเว็บไซต์ [6] กระบวนการนี้อาจดูเหมือนรายละเอียด แต่มันก็พุ่งตรงเข้าที่หัวใจของแนวคิดแบบ “ยูโทเปียเทคโนโลยี” ที่เชื่อใน “พื้นที่เปิดสาธารณะ” ที่ทุกคนสามารถโพส(แทบจะ)ทุกอย่างให้คนอื่นได้อ่าน ฟัง และดู

พลังที่แท้จริงของวิกิลีคส์ไม่ใช่เทคโนโลยี (ซึ่งก็ช่วย แต่อย่าลืมว่าโลกมีเว็บไซต์หลายล้านเว็บ) แต่อยู่ที่ความไว้วางใจของผู้อ่านว่าสิ่งที่พวกเขาอ่านนั้นเป็นของแท้ ผู้อ่านเชื่อว่าทีมงานวิกิลีคส์รับรองความถูกต้องของเนื้อหา ยูทูบมีวีดีโอหลายร้อยคลิปจากอิรักและอัฟกานิสถานที่แสดงทหารจากกองกำลังผสมกระทำการไม่เหมาะสมและบางกรณีก็ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน [7] แต่แล้วก็ไม่มีคลิปวีดีโอบนยูทูบคลิปไหนที่สร้างผลกระทบสูงเท่ากับคลิปวีดีโอคลิปเดียวบนวิกิลีคส์ที่แสดงภาพพลเรือนหลายสิบคน (รวมนักข่าวรอยเตอร์สองคน) ถูกกราดยิงด้วยปืนแรงสูงจากเครื่องบินรบแถบชานเมืองของกรุงแบกแดด [8] ทำไม? เพราะถึงแม้ว่าการเปิดสมบูรณ์แบบอาจน่าดึงดูดใจในทฤษฎี ข้อมูลก็มีค่าเท่ากับความน่าเชื่อถือของมันเท่านั้น วิกิลีคส์มีโครงสร้างการกลั่นกรองแบบองค์กรที่ทวิตเตอร์ เฟซบุค ยูทูบ และบล็อกอื่นๆ ไม่มี (ด้วยเหตุผลที่ชัดเจน) ในเมื่อโซเชียลมีเดียไม่เท่าเทียมกัน พลังของมันจึงไม่เท่าเทียมกันด้วย

มายาคติ #2: รัฐชาติกำลังจะตาย

ถ้ากรณีของวิกิลีคส์ให้บทเรียนอะไรกับเรา บทเรียนนั้นก็คือ รัฐชาติไม่ได้กำลังเสื่อมถอยลงแม้แต่น้อย วาทกรรมมากมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียบอกว่าเรากำลังอยู่ในสังคมดิจิทัลที่ไร้พรมแดน

แนวคิดที่ว่ารัฐชาติกำลังเสื่อมถอยลงนั้นเป็นสิ่งที่นักวิชาการบางสำนักยืนกรานมานานหลายปีแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาควรทำให้เราหยุดทบทวนใหม่ ชัดเจนว่าคนที่ทำวิกิลีคส์เข้าใจบทบาทที่ขาดไม่ได้ของรัฐชาติในแง่ของกฎหมาย ถึงแม้ว่า เจย์ โรเซน (Jay Rosen) นักวิชาการด้านสื่อจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กจะอ้างว่าวิกิลีคส์เป็น “องค์กรสื่อแห่งแรกของโลกที่ไร้รัฐ” [9] ที่จริงวิกิลีคส์ก็อยู่ติดพื้นที่ทางกายภาพอย่างมาก

วิกิลีคส์ตั้งอยู่ในสวีเดนอย่างไม่เป็นทางการ ใช้ประโยชน์จากกฎหมายสวีเดนที่มีบทบัญญัติคุ้มครองผู้ให้เบาะแสคอร์รัปชั่นและพิทักษ์ตัวตนที่แท้จริงของแหล่งข่าว [10] ดังที่ เดอะ นิวยอร์กเกอร์ รายงานในเดือนมิถุนายน 2010 ว่า [11] ผู้ให้บริการของวิกิลีคส์คือไอเอสพีสวีเดนชื่อ พีอาร์คิว [12] เนื้อหาที่คนส่งมาให้วิกิลีคส์ ก่อนอื่นจะต้องผ่านพีอาร์คิว แล้วค่อยส่งต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ในเบลเยียม ทำไมต้องเบลเยียม? เพราะเบลเยียมมีกฎหมายที่เข้มเป็นอันดับสองในแง่ของการปกป้องแหล่งข่าว และ จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) ผู้ก่อตั้งวิกิลีคส์ ก็เลือกไอซ์แลนด์เป็นสถานที่ถอดรหัสคลิปวีดีโอการสังหารหมู่ในแบกแดด เพราะเมื่อไม่นานมานี้ไอซ์แลนด์เพิ่งดำเนินนโยบาย “Icelandic Modern Media Initiative” [13] ซึ่งถูกออกแบบมาให้ประเทศนี้เป็นแหล่งหลบภัยสำหรับผู้ให้เบาะแสคอร์รัปชั่น การทำข่าวเจาะ และเสรีภาพในการแสดงออก

นอกจากวิกิลีคส์ เราก็มีกรณีอื่นที่เตือนให้เห็นความสำคัญของรัฐและกฎหมายในโลกดิจิทัลที่ลื่นไหล เช่น กรณีที่รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบียประกาศแบนฟังก์ชั่นแชทของเครื่องแบล็กเบอรี [14] หรือกรณีที่รัฐบาลตุรกีสั่งแบนยูทูบอย่างดูไม่มีที่สิ้นสุด [15] ถึงแม้ว่าโครงสร้างของวิกิลีคส์จะถูกออกแบบมาเพื่อข้ามพ้นกฎหมายในบางประเทศ (ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเอื้อให้ทำอย่างนั้นได้) มันก็ฉวยใช้ประโยชน์จากกฎหมายของประเทศอื่นเช่นกัน วิกิลีคส์ไม่ใช่ไม่ทำตามกฎหมาย มันเพียงแต่ย้ายเกมทั้งเกมไปอยู่ในที่ที่กฎกติกาแตกต่างออกไป

มายาคติ #3: สื่อมวลชนไม่ได้ตายแล้ว (หรือเกือบตาย)

ข่าวที่ว่าสื่อมวลชนตายแล้วนั้นเกินจริงไปมาก (ถ้าจะเลียนแบบคำพูดของ มาร์ค ทเวน) กรณีของวิกิลีคส์สะท้อนพลังของเทคโนโลยีที่ทำให้เราทบทวนว่า “สื่อมวลชน” หมายความว่าอะไรในยุคต้นศตวรรษที่ 21 แต่มันก็ช่วยตอกตรึงตำแหน่งแห่งที่ของสื่อกระแสหลักในวัฒนธรรมร่วมสมัยด้วย วิกิลีคส์ตัดสินใจปล่อยเอกสารจากอัฟกานิสถานให้กับ เดอะ การ์เดียน, เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส์ และ เดอ สปีเกล ก่อนที่จะปล่อยมันออนไลน์ ซึ่งทั้งสามฉบับนี้ล้วนเป็นสื่อกระแสหลัก ไม่ใช่ “สื่อทางเลือก” (ที่น่าจะสนับสนุนวิกิลีคส์) อย่างเช่น เนชั่น, แซด แมกกาซีน หรือ อินดีมีเดีย เหตุผลก็น่าจะชัดเจนว่าเป็นเพราะสื่อกระแสหลักทั้งสามนั้นเป็นผู้กำหนดวาระข่าวระดับนานาชาติ มีสื่อไม่กี่องค์กร (ถ้าไม่นับสื่อโทรทัศน์อย่างเช่นบีบีซีหรือซีเอ็นเอ็น) ที่มีอิทธิพลเท่ากับ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส์ และ เดอะ การ์เดียน และการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษก็ช่วยให้คนเข้าถึงเช่นกัน ทีมงานของวิกิลีคส์ช่ำชองพอที่จะตระหนักว่าการปล่อยเอกสารออนไลน์ไปเลยโดยไม่ติดต่อสื่อกระแสหลักที่เลือกแล้วบางแห่งรังแต่จะทำให้เกิดกระแสแห่กันโพสบทความที่สับสนวุ่นวายไปทั่วโลก

วิธีของวิกิลีคส์ทำให้ความสนใจทั้งหมดพุ่งไปสู่เนื้อหาในหนังสือพิมพ์สามฉบับ ซึ่งได้วิเคราะห์และสรุปเอกสารจำนวนมากเรียบร้อยแล้ว และบทบาทของวิกิลีคส์ก็ไม่ได้หลุดหายไปในวังวนข้อมูลด้วย แนวคิดเรื่องความตายของสื่อมวลชนสับสนระหว่างการเปลี่ยนแปลงกับการกำจัดทิ้ง (เหมือนกับแนวคิดเรื่องความตายของรัฐชาติ) การปล่อยเอกสารอัฟกานิสถานชี้ให้เห็นว่า สื่อมวลชนกระแสหลักยังมีอิทธิพลสูงมาก แต่ลักษณะของอิทธิพลนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป (เทียบกับเมื่อ 20-30 ปีก่อน) ยกตัวอย่างเช่น บิล เคลเลอร์ (Bill Keller) บรรณาธิการบริหาร เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส์ อธิบายการติดต่อระหว่างกองบรรณาธิการกับทำเนียบขาว [16] หลังจากที่เอกสารได้รับการตีพิมพ์ว่า

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะประณามวิกิลีคส์ที่เผยแพร่เอกสารสู่สาธารณะ รัฐบาลก็ไม่ได้บอกว่าหนังสือพิมพ์เราไม่ควรเขียนข่าวเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวท้าทายข้อสรุปบางข้อที่เราสรุปจากเนื้อหา ขอบคุณเราที่เราจัดการกับเอกสารเหล่านี้อย่างระมัดระวัง และขอให้เราไปกระตุ้นเตือนวิกิลีคส์ให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตคน และเราก็ได้ส่งต่อสารนั้นแล้ว”

นั่นคือคำยอมรับที่น่าทึ่งโดยบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุดในสหรัฐอเมริกา น่าทึ่งด้วยเหตุผลสองข้อด้วยกัน ข้อแรก คำอธิบายการแลกเปลี่ยนกับทำเนียบขาวสะท้อนถึงความภาคภูมิใจในคำชมที่ได้รับจากทำเนียบขาว ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดดั้งเดิมที่ว่า สื่อเป็น “หมาเฝ้าบ้าน” ที่คอยตรวจสอบผู้มีอำนาจ ข้อสอง บทบาทของ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส์ ในการเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลอเมริกันกับวิกิลีคส์นั้น สะท้อนพลวัตอำนาจใหม่ที่น่าสนใจในโลกของข่าวสารและข้อมูลในอเมริกา

หัวใจของมายาคติเกี่ยวกับความตายของสื่อมวลชน (และบทบาทของโซเชียลมีเดีย) คือสมมุติฐานที่ว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นเหตุปัจจัยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอันเป็นประชาธิปไตย ความคิดที่ว่าลำพังการเข้าถึงข้อมูลดิบจะสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ (ไม่ว่าจะเปลี่ยนอย่างสุดขั้วหรือไม่) นั้นเป็นความคิดที่โรแมนติกพอๆ กับความคิดที่ว่าลำพังการเข้าถึงเทคโนโลยีจะทำอย่างนั้นเหมือนกัน ข้อมูลก็เหมือนกับเทคโนโลยีตรงที่มันเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อคนมีความรู้และทักษะที่จะใช้ข้อมูลนั้นๆ วิกิลีคส์เลือกหนังสือพิมพ์สามฉบับนี้ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาเป็นตัวแทนอุดมการณ์เดียวกันกับ จูเลียน อัสซานจ์ กับเพื่อนร่วมงานของเขา แต่เพราะหนังสือพิมพ์สามฉบับนี้มีความพร้อมทางวิชาชีพ ทางองค์กร และทางเศรษฐกิจที่จะลงมือถอดรหัสและกระจายเนื้อหาที่วิกิลีคส์ส่งให้

ในโลกดิจิทัลที่กำลังถูกตั้งนิยามอยู่เนืองๆ ว่าไร้ลำดับชั้น ไร้พรมแดน และลื่นไหล วิกิลีคส์ได้ย้ำเตือนเราว่าโครงสร้าง พรมแดน กฎหมาย และชื่อเสียงล้วนยังเป็นสิ่งสำคัญ.

…………………………………………………………………….

[1] http://www.guardian.co.uk/world/the-war-logs

[2] http://www.nytimes.com/interactive/world/war-logs.html

[3] http://www.spiegel.de/international/world/0,1518,708314,00.html

[4] http://app.owni.fr/warlogs/

[5] http://www.huffingtonpost.com/phil-bronstein/the-wikileaks-incident-ho_b_527788.html

[6] http://www.thelocal.de/society/20100730-28855.html

[7] http://www.youtube.com/verify_age?next_url=http://www.youtube.com/watch%3Fv%3DLoFq9jYB2wo

[8] http://www.youtube.com/verify_age?next_url=http://www.youtube.com/watch%3Fv%3D5rXPrfnU3G0

[9] http://archive.pressthink.org/2010/07/26/wikileaks_afghan.html

[10] http://www.euractiv.com/en/infosociety/sweden-gives-legal-shelter-controversial-wikileaks-site-news-426138

[11] http://www.newyorker.com/reporting/2010/06/07/100607fa_fact_khatchadourian

[12] http://prq.se/?intl=1

[13] http://www.immi.is/?l=en

[14] http://www.bbc.co.uk/news/technology-10866417

[15] http://www.csmonitor.com/From-the-news-wires/2010/0627/Internet-censorship-alive-and-well-in-Turkey-YouTube-some-Google-sites-blocked

[16] http://www.nytimes.com/2010/07/26/world/26askthetimes.html?ex=1295755200&en=f5e76af6999f3d76&ei=5087&WT.mc_id=NYT-E-I-NYT-E-AT-0728-L5

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net