วิวาทะ “ศาสนากับการเมือง”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่านผู้อ่านคงพอทราบมาบ้าง เรื่องต้องห้ามในบทสนทนาคือเรื่องศาสนาและเรื่องการเมือง เพราะหากยกขึ้นมาเมื่อไหร่มักนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดได้ทุกที ในอีกด้านหนึ่งความขัดแย้งหากไม่ร่วมกันถกเถียงหาข้อสรุปที่แต่ละฝ่ายพอจะยอมรับกันได้ ให้ความรู้สึกนั้นทุเลาเบาบางลง ความขัดแย้งนั้นย่อมไม่สามารถนำประเทศไปสู่ความเจริญ และกลุ่มก้อนทางการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อกันก็จะไม่มีที่ให้ยืน

หากย้อนดูเชิงลึกจะเห็นว่าการต่อสู้บนความขัดแย้งของความเชื่อทางศาสนามักมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง อยู่ที่ว่าบทบาทของความเชื่อที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น มีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด ในความสัมพันธ์ของบริบทต่อเหตุการณ์นั้น เช่นความขัดแย้งของผู้นับถือศาสนาอิสลามต่างนิกายในอิรัก-อิหร่านและอัฟกานิสถาน

ดูอย่างกำแพงเบอร์ลินเคยเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งที่อ้างว่าเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาจนเกิดโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวร่วมหกล้านคน ผู้คนจำนนวนอีกไม่น้อยที่ต้องจบชีวิตลงที่บริเวณกำแพงนี้ ที่ถูกขนานนามว่า Death Strip หรือเส้นทางแห่งความตาย

กรณี “ The Troubles” เมื่อปี 1968 ในไอส์แลนด์เหนือมีประชากรโปรเตสแตนต์ประมาณร้อยละ 60 อีก 40 เป็นคาทอลิก กลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม Unionist เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม รวมทั้งให้ยุติการกดขี่กีดกันชาวคาทอลิก เกิดการประทะกันสูญเสียชีวิตกว่า 3,600 คน ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยสันติวิธี

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา คนมุสลิมตกเป็นผู้ต้องหาในเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ในหลายประเทศ ความเข้าใจเหล่านี้นำไปสู่ความระแวง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้เข้าใจว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความรุนแรง ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะมีศาสนาใดในโลกสอนให้ศาสนิกของตนใช้ความรุนแรงในการยุติความขัดแย้ง

ในขณะนี้สหรัฐเองก็กำลังมีประเด็นร้อนๆ ที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้งที่อ้างว่ามีที่มาทางศาสนา กรณีการประท้วงต่อต้านโครงการ Park51 ที่จะก่อสร้างมัสยิด ศูนย์วัฒนธรรมมุสลิมใจกลางเมือง Manhattan New York City ใกล้กับ Ground Zero ที่เคยเป็นที่ตั้งของตึก World Trade Center ที่โดนเครื่องบินชน เมื่อ 11 กันยายน 2001 ส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตร่วม 3,000 คน กระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นก็ด้วยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอ้างว่าความสูญเสียเหล่านี้เป็นการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายทหารมุสลิม หรือAI Qaeda

เหล่านี้คือบางเหตุการณ์ของความขัดแย้งที่โยงเข้าหาด้านลัทธิความเชื่อในต่างประเทศ ที่ต้องยกขึ้นมานี้ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงการแสดงทัศนะทางการเมืองและทางศาสนา เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากไม่ทำความเข้าใจให้ครบถ้วนกระบวนความจะก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรืออาจถึงขั้นหลงประเด็นไป

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย ทรงเผยแผ่พระศาสนาอย่างอิสระ ไม่ขึ้นต่อพรรคการเมืองหรือระบอบการปกครองใดๆทั้งสิ้น จึงทรงสามารถประกาศพระศาสนาไปได้ทุกประเทศทุกแว่นแคว้นไม่เลือกว่าจะมีการปกครองในระบอบใด พุทธธรรมสามารถเข้าสู่จิตใจของประชาชนได้ทุกชาติชั้นวรรณะและทุกเพศทุกวัย

การเผยแผ่ศาสนาของพระองค์และสาวกมิได้ถูกแทรกแซงจากผู้ปกครองประเทศและนักการ

เมืองใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ยังได้รับความอุปถัมภ์จากบรรดาผู้ปกครองและประชาชนด้วยดี เป็นการให้ความอุปถัมภ์อย่างบริสุทธิ์ใจมิได้มีการเมืองมาปะปนเลย

ในสมัยนั้นไม่มีนักการเมืองใดที่ใช้พระศาสนาเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ หรือในการหาเสียงเลย พระศาสนาจึงสามรถทรงตัวอยู่ได้ด้วยดี และอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องตลอดมา

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป บทบาทพระสงฆ์เหล่าสาวกในการเผยแผ่พระศาสนาปรับเปลี่ยนวิธีการให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ในประเทศไทยประชาชนมากกว่าร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนา เป็นเวลากว่าพันปีแล้วที่พระพุทธศาสนาได้เข้ามาผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยจนแยกกันไม่ออก กล่าวได้ว่าความเจริญหรือความเสื่อมของพระพุทธศาสนาย่อมมีผลกระทบต่อสังคมไทย

กรณีการให้สัมภาษณ์และบทความของพระไพศาล วิสาโล เป็นการสะท้อนบทบาทพระสงฆ์ต่อการทำหน้าที่ในฐานะพุทธสาวก และอีกฐานะหนึ่งคือสมาชิกในสังคมร่วมสมัย คำสัมภาษณ์และบทความทั้งหมดของท่านอาจไม่ใช่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาทั้งหมดเลยทีเดียว บางที่บางแห่งอาจเป็นทัศนะความคิดเห็นส่วนตัวของท่าน

คำให้สัมภาษณ์และบทความของท่าน สามารถตรวจทาน หรือแม้แต่วาทกรรมทางศาสนาของ เกจิแต่ละสำนักก็ต้องพร้อมพิสูจน์ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เพราะแม้แต่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเรายังต้องอ้างอิงว่าอยู่ในพระไตรปิฏกเล่มไหน เทศนา ณ ที่ใด กับใคร และว่าอย่างไร

ผมแสดงทัศนะต่อบทความ ไม่เถียงแต่ด่า* ที่คุณคำ ผกา เขียนด่าพระไพศาล ด้วยเห็นว่าคุณคำ ผกา แสดงท่าทีต่อพระสงฆ์ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมสังคม อาจกล่าวได้ว่ามีอคติต่อท่านด้วยซ้ำไป สำหรับวิวาทะของผมที่มีต่อข้อวิจารณ์นั้น ผมระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ..กรณีพระไพศาลผมก็หาได้เห็นด้วยกับบทสัมภาษณ์และงานเขียนของพระไพศาลทั้งหมด เพียงแต่อยากให้ปุถุชนทึบหนาเช่นเราฉุกคิดว่าเราควรกำหนดท่าทีต่อบทบาทของพระสงฆ์อย่างไร จึงจะพองาม และพระสงฆ์เองก็ควรตระหนักในบทความร่วมสมัยของท่านด้วย

แม้ผมไม่ได้รู้จักพระไพศาลเป็นการส่วนตัว หรือมีโอกาสได้สนทนากับท่านเลย แต่ผมก็ให้ความเคารพท่านในฐานะพระรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า เป็นพระนักเผยแผ่และมีกิจกรรมส่งเสริมการปฏิบัติธรรมที่ควรแก่การยกย่องอีกรูปหนึ่ง กรณีบทความ ไม่เถียงแต่ด่า ไม่ใช่เพียงการวิพากษ์แนวคิดเท่านั้น แต่เป้าหลักน่าจะอยู่ที่จงใจด่า เสียดสี กดให้ท่านต่ำลง ซึ่งพระท่านคงไม่ถือสาอะไรกับคนเยี่ยงเราหรอก

หลายท่านอยากฟังทัศนะของผมต่อกรณีคุณสนธิด่าพระอาจารย์พยอม กัลยาโณ ที่พระท่านเตือนผู้ปกครองอย่าพาเด็กไปร่วมฟังการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพราะเกรงจะได้ยินคำที่ไม่สุภาพนั้น คำกล่าวของคุณสนธิที่สถุลเช่นนั้นผมไม่อยากนำมาขยายให้มากความ

กรณีคุณคำ ผกา ถือว่าเป็นผู้มีความคิดเห็นหวือหวา ปากคอร้อนแรงแหลมคม โต้ตอบประเด็นได้เผ็ดร้อนตรงไปตรงมาน่าประทับใจ แต่ในมุมความลุ่มลึกด้านจิตวิญญาณตามแนวทางศาสนา ดูเหมือนคุณเธอจะยัง ละอ่อนมัก มั่ก ดูอย่างบทสัมภาษณ์เรื่อง ศาสนาในฐานะต้นทุนทางสังคม **

คุณวิจักขณ์ พานิช ถามว่า: ไม่รู้สึกว่าถ้าพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำทางศาสนาเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้วจะแปดเปื้อน

คุณคำ ผกา ตอบว่า: ถ้าคุณพูด คุณต้องยอมแปดเปื้อน (เน้นเสียง) แต่ถ้าคุณไม่อยากแปดเปื้อน คุณต้องไม่พูดเลย คนมาขอสัมภาษณ์ก็ต้องบอกว่าไม่ให้สัมภาษณ์ เพราะว่าไม่อยากยุ่ง ไม่อยากแปดเปื้อน อาตมาอยู่เหนือการเมือง ก็ต้องพูดแบบนี้ ไม่ต้องมาถาม อยากฆ่ากันก็ฆ่าไป อาตมาไม่เกี่ยว ถ้าจะออกมาพูดก็ต้องยอมแปดเปื้อน ถ้าออกมาพูดแล้วไม่ยอมแปดเปื้อน เอาแต่ play safe อย่างนี้ แขกว่าเห็นแก่ตัว

ดูเหมือนคุณคำ ผกา จะนึกถึงบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองเพียงการให้สัมภาษณ์ การร่วมขบวนประท้วงเท่านั้น ซึ่งอันที่จริงบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองมีหลากหลายทั้งในระดับที่เกี่ยวข้องกับชนชั้นผู้ปกครอง และกับระดับชาวบ้านฐานราก ดังที่ได้นำเรียนไปบ้างแล้ว อีกทั้งหากเกิดมิคสัญญีขึ้นการจะให้พระสงฆ์ดูดาย นิ่งเฉยปล่อยให้ผู้คนล้มตายเป็นสิ่งที่สังคมเรียกร้องให้บทบาทท่านเป็นเช่นนั้นหรือ การกระแทกแดกดันเช่นนี้ดูจะไม่เป็นธรรมนัก ท่าทีการมองบทบาทศาสนาหรือพระสงฆ์ในสายตาของคุณคำ ผกา ยังกระตุกให้นึกภาพตามต่อ เช่นงเท่านั้น ซึ่งอันที่จริงบทบาทพระสงฆ์ทั้งในท่านเลย แต่ท่านถือเป็นพระหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ เป็นนักเผ

คุณคำ ผกากล่าวอีกว่า ...อย่างงานศพมันก็จะเป็นความโศกเศร้าแบบดราม่ากันคืนเดียว สมมติว่าวันนี้มีคนตาย ก็จะร้องห่มร้องไห้กัน พอร้องไห้เสร็จก็จะเป็นเรื่องพิธีกรรม ทุกคนก็จะลืมความทุกข์ แล้วไป concentrate เรื่องว่าเราจะเอาอาหารอะไรมารับแขก ใครจะมาตั้งวงไฮโลกี่วง เราจะเอาดนตรีอะไรมาเล่น จะเอาปี่พาทย์หรือวงดนตรีสมัยใหม่ จะนิมนต์พระที่ไหน มีพระที่เทศน์ตลกที่สุด ฮาที่สุด ที่ไหนบ้าง แล้วมีเงินจะจ่ายค่าตัวพระมั้ย พระเทศน์เก่งๆก็จะค่าตัวแพงหน่อย คือมันก็จะกลายเป็นเรื่องกิจกรรมทั้งหมด แล้วทุกคนก็ไม่ได้เศร้าอะไรกันนาน

นั่นแสดงว่าคุณคำ ผกาแสดงอาการทำนองเหน็บเย้ย และไม่เข้าใจคติธรรมคำสอนทางศาสนาที่สอดแทรกอยู่ในศาสนพิธีแม้แต่เพียงหยิบมือ ในพิธีศพนั้น หาใช่เรื่องกิจกรรมทั้งหมดไม่ โบราณท่านได้สอนธรรมะไว้ในพิธีกรรมเหล่านั้นด้วยอุบายอันแยบคาย เช่น การรดน้ำที่มือของผู้ตาย ซึ่งบางท่านเข้าใจว่าเป็นการขออโหสิกรรม ความจริงแล้วมุ่งเตือนสติผู้ที่มาร่วมงานว่าแม้แต่น้ำที่เทลงฝ่ามือก็ไหลร่วง ผู้ที่ตายทุกคนไปแต่มือเปล่าไม่ได้อะไรติดตัวไปเลย การเอาเหรียญใส่ปาก เอาอาหารวางหน้าหีบศพ การจุดตะเกียงหน้าศพ การเคาะโลงรับศีลฟังธรรม การสวดอภิธรรม การบังสุกุล กรวดน้ำ การวางดอกไม้จันทน์ การเก็บกระดูกฯลฯ ล้วนแฝงด้วยคติคำสอนทั้งสิ้น หาใช่เป็นเพียงกิจกรรมดังที่คุณคำ ผกาเข้าใจไม่ เพื่อไม่ยืดเยื้อในที่นี้ ยกตัวอย่าง อาทิ

การเอาเหรียญใส่ปากศพ ทางโลกถือว่าให้ค่าเสบียงอาหาร ค่ารถ ค่าเรือ แก่คนตายสำหรับเดินทางไปสวรรค์ ทางธรรมถือว่าสอนคนเป็นให้รู้จักใช้เงินให้เป็นประโยชน์ อย่าตระหนี่ถี่เหนียว ไม่รู้จักกินรู้จักใช้ และอย่าโลภมาก เพราะเงินบาทสุดท้ายเขาเอาเงินยัดใส่ปาก ก็เอาไปไม่ได้

ดอกไม้จันทน์คือผลสะท้อนทางความเชื่อว่าเป็นไม้มงคล แม้แต่การจะสำเร็จโทษเจ้านายชั้นสูง ก็จะมิให้ต้องคมหอกคมดาบ แต่คลุมด้วยถุงแดงแล้วทุบด้วยท่อนจันทน์ นัยว่าเป็นการประหารชีวิตอย่างให้เกียรติสูงสุด

ความเชื่อถือเรื่องไม้จันทน์นี้ ได้มีการทำดอกไม้จันทน์ขึ้นมาจากแก่นจันทน์ฝานบางๆ นำมาขึ้นรูปให้เป็นดอกไม้ ภายหลังมีการทำจากไม้ฉำฉา จนแม้เปลือกข้าวโพดก็มี แต่ก็ยังสู้เรียกว่า ดอกไม้จันทน์ ดังเดิม กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความสลดอาลัย และเป็นดอกไม้ในวาระสุดท้ายมอบให้เป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์

ในบทสัมภาษณ์ ลอกคราบวาทกรรมทางศาสนา *** คุณวิจักขณ์ ถามต่อว่า: แต่ถ้าเรามองในแง่ดี อย่างที่คุณแขกว่า พระก็มีหลายแบบ พระอย่าง ว.วชิรเมธี ที่ได้กลายเป็น Icon พระ Intellectual ของชนชั้นกลาง ท่านก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนเยอะนะ สิ่งที่ท่านสอนก็ถูกจริตกับคนกลุ่มหนึ่ง งานหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คมากมายของท่านก็ทำให้คนรู้สึกดี อิ่มเอม มีความสุข ได้แง่คิด แบบนี้ปล่อยท่านทำไป ไม่ต้องไปจิกกัดท่านไม่ได้เหรอ

คุณคำ ผกา ตอบว่า: แต่แขกมองว่างานของ ว.วชิรเมธีมันเป็นยากล่อมประสาท หลอกขายกันไปวันๆ ไม่ได้ทำให้คนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม มันเป็นการเอาตัวรอดคนเดียว...แขกเลยมองว่ามันเป็นการมอมเมาทางปัญญา สอนให้คนหลีกหนีปัญหา แล้วก็ทำให้มืดบอดต่อปัญหาของคนอื่นในสังคมด้วย คำพูดของว.วชิรเมธี มีอะไรที่ลึกซึ้งบ้าง ไม่มี แต่ทำไมคนถึงให้ความสำคัญ เพราะมันออกมาจากพระที่บอกว่าตัวเองอ่านพระไตรปิฎกเจนจบ เป็นศิษย์พุทธทาส แล้วตอนนี้ก็จะเป็นศิษย์อะไรนะ สวนพลัม ใช่มั๊ย แล้วล่าสุดอมรินทร์ก็ยกให้เป็นหนึ่งในอริยบุคคลของสังคมไทย นี่ก็ยิ่งเป็นการเชิดชูกันหนักเข้าไปอีก

ผมคิดว่ามนุษย์เราควรมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อยู่ที่ว่าแต่ละบุคคลจะต้องใจกับหลักธรรมของศาสนาใด ในพระพุทธศาสนา หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 2 เดือน พระองค์ทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงอุปมามนุษย์ดั่งบัวสี่เหล่าที่แต่ละคนมีกิเลสน้อยมากต่างกัน มีอินทรีย์กล้าอ่อนต่างกัน มีอาการดีทรามต่างกัน คนที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี จึงทรงพิจารณาหาบุคคลที่สมควรจะเสด็จไปโปรด นั่นแสดงว่าคนเรามีอยู่หลายประเภท ผู้ที่ควรรับรู้พระธรรมก็มี ผู้ที่โปรดได้ยากก็มี จริตของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน มุมมองของคุณคำ ผกา ที่มีต่องานของท่าน ว. วชิรเมธี ก็เป็นสิทธิที่เธอจะเห็นเช่นนั้น แต่คงมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ศรัทธาและต้องใจในวิธีการเผยแผ่ธรรมของท่าน ว.วชิรเมธี

ในโลกปัจจุบันผู้คนจำนวนไม่น้อยประกาศตนว่าไม่นับถือศาสนาใด การประกาศตนว่าเป็นคนไม่มีศาสนาก็ไม่ได้สร้างความทุกข์ร้อนให้แก่ใคร ตราบที่ทุกสมาชิกในสังคมปฏิบัติตนตามครรลองแห่งศีลธรรมอันดี เพราะทุกคนล้วนมีเหตุผลและศรัทธาในใจและมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะดำเนินชีวิตไปตามแนวทางที่ตนยึดถือนั้น ตราบที่ไม่ไปเบียดเบียนหรือกระทบสิทธิ์ผู้อื่น

ข้อจำกัดเรื่องเหตุผลและศรัทธา เป็นสิ่งที่ท้าทายให้ช่วยกันขบคิดมาช้านาน ทั้งความมีอยู่ของพระเจ้าในศาสนาเทวนิยม ปัญหาเรื่องความชั่วร้ายในศาสนาคริสต์ที่เมื่อจักรวาลและมนุษย์ถูกสร้างโดยพระเจ้าผู้ทรงสรรพฤทธิ์ จักรวาลนี้จึงน่าที่จะปราศจากความชั่วร้าย ทั้งด้านศีลธรรมหรือบาป ภัยธรรมชาติ และทางอภิปรัชญา ปัญหาความขัดแย้งทางจริยศาสตร์ในภควัทคีตาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และปัญหาความขัดแย้งทางจริยศาสตร์ในพระเวสสันดรชาดกของพระพุทธศาสนา ล้วนเป็นประเด็นให้ชวนเสวนา

เหตุผลและศรัทธาเป็นข้อเท็จจริงที่บังเกิดในแต่ละบริบทของสังคม ดูอย่างในเมืองไทยมีการทำฟาร์มโคนมและวัวไม่เพียงแต่ช่วยไถนา ลากเกวียน และใช้แรงงานอื่นๆ วัวยังเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย สำหรับที่อินเดียวัวเป็นสัตว์ที่ชาวฮินดูนับถือเหมือนหนึ่งพระเจ้า

เหตุผลและศรัทธาจึงมีคุณค่าในตัวของมันเอง เพียงให้เหตุผลและศรัทธานั้นมุ่งไปเพื่อความศานติของทุกสมาชิกในสังคม ที่สำคัญ มิควรหมิ่นเหตุผลและศรัทธาอันเป็นบรรทัดฐานของคนส่วนใหญ่

วิวาทะเกี่ยวกับศาสนาและการเมืองที่จำต้องนำมาแถลงแจงสี่เบี้ยอยู่นี้ ด้วยเห็นว่าเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ อีกทั้งเป็นห่วงผู้เหน็บด่าพระสงฆ์ด้วยผรุสวาจา หากยังไม่สำนึกรู้ตัว ลามปามไปมากกว่านี้ เกิดพลั้งพลาดขึ้นมาจะน่าเสียดาย

อ้างอิง

*http://www.prachatai.com/journal/2010/09/31022

**http://www.prachatai3.info/journal/2010/08/30688

*** http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1282225912&grpid=no&catid=02

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท