Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากกรณีที่  พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... กำลังจะเข้าสู่วาระที่ 2 และ 3 ในสภาผู้แทนราษฎรวันพรุ่งนี้ (22 ก.ย.) จึงขอนำเสนอความในใจของสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย และความเห็นจาก บัณฑิต แป้นวิเศษ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน มูลนิธิเพื่อนหญิง

 

 



ความในใจสำหรับการเดินทางมายาวนานถึง 17 ปี ของการผลักดัน ร่าง พรบ.สถาบันฯ

สมบุญ สีคำดอกแค
 
การเดินทางมายาวนานถึง 17 ปี ของการผลักดัน ร่าง พรบ.สถาบันฯเพื่อให้เกิดมีการจัดตั้งองค์กรอิสระ ขึ้นมาทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งพวกเรากลุ่มคนป่วยผู้ถูกผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม เราต้องเหนื่อยยากสูญเสีย พลังกาย พลังใจ และ ทุนทรัพย์ ในการเคลื่อนไหวมามากมายยาวนานเกือบตลอดชีวิตของการป่วย รวมทั้งชีวิต พี่น้องเพื่อนผู้ป่วยของเรา พี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ต้องสังเวย ชีวิตเลือดเนื้อมาไม่รู้เท่าไหร่กับการไม่รับผิดชอบต่อสังคมของนายทุนสถานประกอบการ และก็พวกนักการเมืองที่ออกนโยบายการพัฒนาประเทศไปในทิศทางอุตสาหกรรม ที่คอยทำร้ายชีวิตผู้คนผู้ใช้แรงงาน ทำร้ายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เคยสวยงาม เราถูกกระทำย่ำยีมานานกว่า 50 ปีแล้ว ที่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างดุเดือดเช่นนี้ ได้กอบโกย เอาความสมบูรณ์ของร่างกายสุขภาพ อวัยวะแขนขา ปอด หัวใจ ร่างกายรวมทั้งชีวิตพี่น้องผู้ใช้แรงงานของเราไปไม่รู้เท่าไหร่

และนี่คือต้นทุน ที่ไม่เคยมีใครมองเห็น ไม่เคยมีใครนึกถึง เขารวยขึ้นขยายกิจการมากขึ้น แต่ชีวิตครอบครัว ตัวคนงานที่ป่วย ต้องจนลง จนมาก จนลงเรื่อยๆ จนมองหาอนาคตไม่เห็น หาความสุขในชีวิตไม่มีเพราะต้องป่วยเรื้อรังจากการทำงาน เราก็ไม่รู้เลยนะว่า ทำไมการเรียกร้องผลักดันองค์กรอิสระเพื่อมาส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหานี้ มันถึงต้องเรียกร้องกันมายาวนานขนาดนี้ ผู้ถูกผลกระทบอย่างพวกเราไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเองสักหน่อย เราเรียกร้องให้ลูกหลานแรงงานของเราในวันข้างหน้า ให้เขามีชีวิตในการทำงานที่ปลอดภัย ทำไมทีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ สร้างขึ้นได้เรื่อยๆ ด้วยราคาหลายร้อยล้าน ซึ่งเป็นการรองรับที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่การตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เป็นการป้องกันที่ต้นเหตุทำไมรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่สนใจไม่สนับสนุน มันเป็นเพราะอะไร อยากให้มีศูนย์คนพิการเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมืองเพื่อโชว์ชาวโลกหรืออย่างไร ?

วันที่ 22 กันยายน 2553 นี้ จะเป็นทางแพร่งที่ฝ่ายการเมืองจะต้องตัดสินใจเดิน ระหว่างความปลอดภัยและชีวิตที่มีค่าของประชาชนคนทำงาน หรือกลเกมทางการเมือง

วันที่ 22 กันยายน นี้ ที่สภาผู้แทนราษฎร กำลังจะมีการพิจารณาพรบ. ความปลอดภัยที่บรรจุการตั้งสถาบันส่งเสริม ในวาระ 2-3 เราจะรอคอยว่า วันนี้จะเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกความเลวร้ายอีกครั้งหรือเปล่า ? หรือจะเป็นประวัติศาสตร์ที่พวกเราจะต้องชื่นชมยกย่องที่ สส.ในสภาชุดนี้ยุคนี้มีความเข้าใจความเดือดร้อนและปัญหาของผู้ใช้แรงงาน โดยพร้อมใจกันออกกฎหมายความปลอดภัยที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย

เราขอภาวนาให้วิญญาณของผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานที่ได้สังเวยไปด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ได้โปรดมาดลจิตดลใจ ดลบันดาลใจให้พวก สส.ในสภาทั้งหลายทุกท่าน ได้ตาสว่างร่วมใจกันมีมติผ่านร่างกฎหมาย พรบ. ความปลอดภัย ฉบับนี้ ที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้วยเถิด.... เพราะมันเป็นโค้งสุดท้ายจริงๆ รวมทั้ง เพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่รักยิ่งทั้งหลายขอให้ช่วยกันส่งใจส่งพลังจิตกันอย่างพร้อมเพียงเพื่อความปลอดภัยของชีวิตพวกเราทุกคน

ขอขอบคุณล่วงหน้า
สมบุญ สีคำดอกแค

ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย
21 กันยายน 2553

“พรบ.ความปลอดภัย อีกหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ ของรัฐสภาไทย ”

บัณฑิต แป้นวิเศษ
มูลนิธิเพื่อนหญิง
เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน

    เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมาข่าวหน้าหนึ่งหลายฉบับได้พาดหัว การเกิดโศกนาฏกรรมตึกที่กำลังก่อสร้างของมหาวิทยาลัยมศว.บางแสน ถล่มลงมามีแรงงานที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากกว่า 30 คน มีผู้เสียชีวิต 3 คน นี่เป็นบทเรียนครั้งล่าสุด  ในรอบ17 ปี หลังเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานครั้งร้ายแรงเป็นอันดับสองของโลกคือโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม ตายไป 188 คน บาดเจ็บ 469 ราย  และถ้ารวมผลกระทบจากสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนที่ถูกทำลายจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง หรือเขตการพัฒนาอุตสาหกรรมมาบตะพุดที่ จังหวัดระยอง ที่คร่าชีวิตคนและชุมชนแบบผ่อนส่งอย่างไม่มีทางเลือก เพียงเพราะความต้องการให้ได้มาซึ่งเงินตรา ภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศอุตสาหกรรม

การเรียกร้องด้านสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย ชีวิตและความตายของผู้ใช้แรงงาน ประชาชนและชุมชนจึงเปรียบเสมือนการยืนอยู่บนเส้นด้ายของการพัฒนาที่แทบจะไม่มีอะไรให้เกาะยึดเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายในชีวิตอย่างมั่นคงยั่งยืน ที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และภาคประชาชนได้มีการรณรงค์ เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายความปลอดภัย ยกระดับงานด้านอาชีวอนามัย อาชีวเวชศาสตร์ที่เกี่ยวกับการทำงาน และสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาอุตสาหกรรม  โดยเฉพาะประเด็นการขอให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายที่ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.....” (ฉบับภาคประชาชน)

การร้องขอให้รัฐบาลออกกฎหมายฉบับนี้  ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันใช้รัฐบาลเกือบ 7 ชุด ซึ่งแต่ละรัฐบาลก็ให้คำมั่น สัญญาว่าจะเร่งผลักดันร่างกฎหมายออกมารับใช้พี่น้องผู้ใช้แรงงานประชาชนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการเกิดโศกนาฏกรรมความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน กระทั่งเมื่อกลางปี 2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ได้นำร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ....(ฉบับร่างรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน) ผ่านมติคณะรัฐมนตรี และเสนอเข้าการพิจารณาร่างกฎหมาย ชั้นสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 โดยมีการเสนอร่าง พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ (ฉบับภาคประชาชน) ผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 20 รายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.ทั้งสองฉบับ จากทั้งหมด 7 ร่างที่ถูกเสนอเข้ามาโดยผ่านพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีเสียงอยู่ในสภาฯ  โดยที่ผ่านมาได้มีการบรรจุเข้าพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระ 2-3 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 แต่ก็มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางใน หมวด 6/1 เรื่องการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ว่าควรเป็นองค์กรอิสระในรูปแบบองค์กรมหาชน หรือจะเป็นในรูปแบบองค์กรของรัฐรูปแบบใหม่ จนกระทั่งทางสภาได้มีมติให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.ความปลอดภัยได้ถอนร่างทั้งฉบับและนำไปแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะหมวด6/1 ซึ่งบัดนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุง เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่14 กันยายน 2553 โดยให้คงไว้ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พรบ.ความปลอดภัยฯที่ยอมรับได้ของภาคประชาชน คือ การบรรจุหมวด 6/1 ว่าด้วย ”ให้มีการจัดตั้งสถาบันฯส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่เป็นองค์กรอิสระมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งให้มีวัตถุประสงค์อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย”เมื่อผ่านร่างพรบ.ฯ ในวาระ 2-3 แล้วนั้น ให้กระทรวงแรงงาน ไปยกร่างกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ องค์กรอิสระรูปแบบมหาชน เป็นต้น

ในวันพุธที่ 22 กันยายน 2553 ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังจะเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 23 ปีที่ 3  (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นครั้งที่ 2 โดยถูกบรรจุไว้ในวาระการพิจารณาที่ 4.3 ณ วันนี้ ประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงานหลายล้านคนและคนในสังคมซึ่งได้ติดตามผลักดันกฎหมายความปลอดภัยฯ ฉบับนี้มาตลอด กำลังจับตามองการทำงานของรัฐสภาอย่างใจจดใจจ่อว่า ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะคำนึงถึงเป้าประโยชน์ของประชาชน คนทำงานที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยจากการทำงานซึ่งเขาทั้งหลายเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ในโอกาสนี้ นักการเมือง พรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน น่าจะพร้อมใจกันใช้การประชุมรัฐสภาครั้งนี้สร้างและบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยการผ่านร่างกฎหมายความปลอดภัยฯ ที่มีหัวใจอยู่ที่ประเด็น ”การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ” ให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ครั้งหนึ่งพวกท่านได้ออกกฎหมายสำคัญต่อการกำหนดชีวิต ความเป็นและความตายของประชาชน และประเทศชาติ

ผมและพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ต้องฝากความหวังกับท่าน สส. ทั้งหลายให้ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย พรบ. ความปลอดภัยที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ให้ผ่านวาระ 2-3 ออกมาให้ได้ เพราะร่าง พรบ. ความปลอดภัยฯ พี่น้องแรงงานได้ร้องขอ และรอคอยมากว่า 17 ปีแล้วครับ ถ้าไม่เร่งให้ผ่านในสมัยสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกกี่ชาติ อีกกี่ศพ อีกกี่คนพิกลพิการ

ขอเถอะครับท่านสส. ขอให้ท่านมีส่วนร่วมบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องคิดถึงชีวิตคนมากกว่ากลการเมืองและเงินตรา
 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net