Skip to main content
sharethis

นอกจากรัฐบาลพม่าจะออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อกีดกันนางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีและผู้นำพรรคฝ่ายค้านลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ล่าสุดยังพบว่า ทางการพม่าตัดชื่อของนางซูจี ออกจากจำนวนผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 7 เดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ด้วย

มีรายงานว่า คณะกรรมการเลือกตั้งในเมืองบาฮาน เขตกรุงย่างกุ้ง ไม่เพียงแต่จะตัดชื่อของนางซูจีออกจากรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังพบว่า ผู้ดูแลนางซูจีอีกสองคน ซึ่งก็คือนางขิ่นขิ่นวินและนางวินมามาก็ถูกตัดชื่อออกจากรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการเลือกตั้งพม่าได้ออกมาประกาศว่า หากบุคคลใดไม่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็สามารถเข้ายื่นต่อทางการได้ภายใน 7 วัน

ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา นางขิ่นขิ่นวินและนางวินมามาเคยถูกทางการพม่าสั่งลงโทษพร้อมกับนางซูจีในข้อหาละเมิดกฎกักบริเวณ ที่ปล่อยให้ชายอเมริกันเข้าไปในบ้านพักของนางซูจีมาแล้ว ขณะที่การเลือกตั้งครั้งแรกของพม่าในรอบ 20 ปี ที่กำลังจะมาถึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นเพียงแค่การทำขึ้นมาเพื่อตบตานานาชาติเท่านั้น

เช่นเดียวกับกฎหมายเลือกตั้งที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ระบุว่า ผู้ที่ต้องโทษคดีจะไม่สามารถลงเล่นการเมืองได้ก็ถูกหลายฝ่ายมองว่า เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อเล่นงานนางซูจีโดยตรงเพื่อไม่ให้เธอมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง 2010 อีกเท่านั้น  ทางด้านนางซูจี มีกำหนดการที่จะต้องได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้เช่นเดียวกัน แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า นางซูจีจะได้รับการปล่อยตัวก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นเท่านั้น (สำนักข่าวเอพี) 

 

 

ภาคประชาสังคมห่วงไทยส่งกลับผู้ลี้ภัย- เชื่อสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหลังเลือกตั้ง

ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์กรเพื่อนพม่า (Friends of Burma) และองค์กรหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ (The Back Pack Health Worker Team - BPHWT) ร่วมออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ผู้ลี้ภัย หากรัฐบาลไทยจะส่งกลับผู้ลี้ภัยหลังเลือกตั้งพม่า ย้ำจะไม่ส่งผลดีต่อทั้งผู้ลี้ภัยและประเทศไทย

ในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันที่ 15 ก.ย.53ที่ผ่านมาระบุว่า การส่งกลับผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงซึ่งพบมีจำนวนมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ในไทยกลับหลังเลือกตั้งพม่านั้นจะไม่ส่งผลดีต่อผู้ลี้ภัย เพราะในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงยังไม่มีความปลอดภัยเนื่องจากเต็มไปด้วยกับระเบิด เห็นได้จากที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งกลับหลายรายต้องเสียชีวิตจากกับระเบิด อีกทั้ง ยังคงมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อย โดยผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งกลับอาจยังต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่นๆจากกองทัพพม่า

ในแถลงการณ์ยังชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่คลื่นผู้อพยพจะทะลักเข้าไทยมากขึ้นในอนาคต หากมีการปะทะกันมากขึ้นระหว่างกองทัพพม่าและชนกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ยอมแปรเปลี่ยนเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) ภายใต้รัฐบาลพม่า และหากรัฐบาลไทยใช้วิธีส่งกลับผู้ลี้ภัย เชื่อว่าจะบีบให้ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งผันตัวเองไปเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ทำให้มีปัญหาอื่นๆตามมา โดยในแถลงการณ์ได้เรียกร้องว่า รัฐบาลไทยไม่ควรส่งผู้ลี้ภัยกลับจนกว่าจะแน่ใจว่าปัญหาในพม่าจะได้รับการแก้ไขอย่างสันติ นอกจากนี้เรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่สามารถอาศัยอยู่ในไทยชั่วคราวได้ จนกว่าผู้ลี้ภัยจะได้รับการยืนยันว่าสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยด้วยเช่นกัน

ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้องค์กรท้องถิ่นและกลุ่มมนุษยธรรม รวมไปถึงนักเคลื่อนไหวท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือและวางแผนกำหนดอนาคตให้กับผู้ลี้ภัย เนื่องจากองค์กรท้องถิ่นเหล่านี้มีเข้าใจสถานการณ์ ความต้องการของผู้ลี้ภัยและสถานการณ์ตรงชายแดนเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยควรอนุญาตให้องค์กรนานาชาติสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน (สาละวินโพสต์ 20 ก.ย.53)

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net