เสวนา: “4 ปี รัฐประหาร 4 เดือน พฤษภาอำมหิต อนาคตสังคมไทย”


ปิยบุตร แสงกนกกุลระบุรัฐประหาร 19 กันยา พร่าความเป็นพลเมืองให้เหลือเพียงไพร่, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอกำหนดให้ทหารและกษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ, ธีระ สุธีวรางกูร คาดความขัดแย้งยาวนาน ไม่มีเจ๊า, สาวตรี สุขศรี ระบุ สื่อไทยเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐและเผชิญการปิดกั้นด้วยการใช้กฎหมายแบบไม่มีหลักเกณฑ์

19 ก.ย. 2553 กลุ่มนิติราษฎร์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ร่วมกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จัดงานเสวนา “4 ปี รัฐประหาร 4 เดือน พฤษภาอำมหิต อนาคตสังคมไทย” ที่ห้อง  LT2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผู้อภิปรายประกอบด้วย ปิยบุตร แสงกนกกุล, ธีระ สุธีวรางกูร, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, สาวตรี สุขศรี และ ดำเนินรายการโดย กฤษณ์ ภูญียามะ

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เสวนาเป็นคนแรกโดยแบ่งหัวข้อการอภิปราย เป็น 3 หัวข้อคือ ความสำเร็จของรัฐประหาร ลักษณะเฉพาะของรัฐประหาร 19 กันยา และ 19 กันยากับพฤษภาอำมหิต

หัวข้อแรก นั้น ปิยบุตรกล่าวว่า ความสำเร็จของการรัฐประหาร โดยตัวของมันเองอาจจะไม่มีอะไรเลย แต่ต้องมีปัจจัยสนับสนุนในการลงมือทำรัฐประหาร มีกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร หนึ่ง แรงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากซึ่งอาจจะเกิดจากวัฒนธรรมการเมืองของแต่ละประเทศที่เชื่อว่ารัฐประหารเป็นวิธีสุดท้ายที่จะแก้ปัญหา หรือเกิดจากการโหมกระพือของสื่อมวลชนและปัญญาชนก่อนหน้านั้น ปัจจัยที่สองคือ การใช้มาตรการรุนแรงของรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่จัดการประชาชนที่ออกมาต่อต้าน ปัจจัยที่สามคือการใช้กระบวนการตามกฎหมายเช่นการตรารัฐธรรมนูญรับรองความชอบธรรม ปัจจัยที่สี่ ประเทศมหาอำนาจให้การรับรองความชอบธรรม และปัจจัยที่ห้า มีบุคคลผู้มากบารมีและมีวาจาสิทธิ์ที่รับรองการรัฐประหาร ถ้าปราศจากซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่สำเร็จ

รัฐประหาร 19 ก.ย. มีลักษณะเฉพาะคือ หนึ่งเป็นรัฐประหารที่พร่าความเป็นพลเมืองที่มีอยู่น้อยนิดอยู่แล้วให้หายไป โดยชี้วัดความเป็นพลเมืองคือ ความเสมอภาคทางการเมือง หนึ่งคนหนึ่งเสียง ไม่ว่าติ ภาษาใด ฐานะทางเศรษฐกิจใด เมื่อเดินไปที่คูหาแล้วจะมีเสียงหนึ่งเสียง ไม่ได้หมายความรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำอะไรก็ถูกหมด แต่ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของความเป็นประชาธิปไตย สิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมเป็นการสถาปนาความเท่ากันของความเป็นพลเมือง

เสรีภาพทางการเมืองส่งเสริมให้มีความฟรีและแฟร์ในการวิพากษ์วิจารณ์ การรัฐประหาร 19 ก.ย. เป็นการประกาศว่าสถานที่แห่งนี้ไม่อนุญาตให้มีการเลือกตั้ง เป็นการพรากความพลเมืองและทำให้เป็นไพร่

ลักษณะเฉพาะประการที่สองคือ เป็นการฟื้นฟูประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้มั่นคงไปตลอดกาล และเมื่อกลุ่มบุคลชนชั้นนำจารีตประเพณีเริ่มเห็นว่าระบอบของเขาถูกสั่นคลอนโดยรัฐบาลขณะนั้นซึ่งรัฐบาลอาจจะไม่ได้คิดแต่พวกเขาคิดไปเอง

ประการที่สาม คือรัฐประหารของนักกฎหมาย กฎหมายเป็นกลไกที่สร้างความชอบธรรมเป็นกลไกในการปราบปราม และเป็นกลไกในการรักษาและเผยแพร่อุดมการณ์รัฐประหาร

อ่านรายละเอียดของการอภิปรายที่นี่

ธีระ สุธีวรางกูร

ธีระ สุธีวรางกูร อภิปรายว่า เหตุการณ์พฤษภาอำมหิตนั้นทำให้ย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีลักษณะต่างจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

“ถ้าท่านมีการสังเกตสักหน่อย ถ้าเหตุการณ์ไหนใครบางคนไม่ได้เป็นฮีโร่แต่เป็นผู้ร้าย เหตุการณ์นั้นจะไม่มีการให้เราพูดกัน แต่จะทำให้เราลืมๆ กันไป เหตุการณ์ตั้งแต่ปีสี่เก้าถึงปีนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะเป็นการหักเรือใบของหางเสือจากระบบหนึ่งไปอีกระบบหนึ่ง”

“มิติของเวลา นั้นมีมติของเวลาของเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว และมิติของอนาคต การจะพูดถึงอนาคตเราไม่สามารถทึกทักได้โดยไม่ดูความเป็นมาของอดีต เราก็ต้องย้อนถอยหลังกลับไปดู พฤษภา 53 และรัฐประหาร 49 ท่านสังเกตดูนะ การรัฐประหารนั้นเกิด 19 ก.ย. ก็จริงอยู่ แต่เหตุการณ์มันเกิดก่อนหน้านั้นแล้ว

“ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นเปรียบเสมือนกับสภาพที่เรียกว่า “เพื่อป้องกันแรงลมให้ต้นถั่วเขียว ถึงกับเอาต้นสักมาค้ำ”

“เหตุการณ์ที่เป็นปรากฏการณ์ในอดีต ผมจะย้ำให้คิดอย่าให้ลืมคือ หนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม อีกฝ่ายหนึ่งใช้วิธีการอะไรก็ได้มันเอาหมด เอาทุกอย่างเอาทุกท่า ไม่ต้องอายไม่ต้องเหนียมกันเลย คนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งครั้งนี้มันมีตั้งแต่ตัวเล็กถึงตัวใหญ่มากด้วยสักแปดสิบกิโล

“อนาคตสังคมไทยจะเป็นอย่างไร วันนี้ท่านต้องทำใจ ไม่แน่ท่านอาจจะชอบใจก็ได้ เราจะยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้งไปอีกนานเพราะการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ไม่ใช่มวยห้ายก แต่จะชกกันจนกว่าฝ่ายมดฝ่ายหนึ่งจะล้มลงไป เพราฉะนั้นความขัดแย้งมันเกิดขึ้นแน่ และไม่หายไป แล้วมันจะเป็นไปได้ไหมที่จะมีเรื่องการปรองดอง งานนี้ไม่มีเจ๊า มีแต่เจ๊งกับได้ เพราะอะไร เพราะว่าคู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะเจ๊าได้ เพราะการเจ๊าของเขามันหมายถึงเสมอเป็นแพ้ ถามว่าทำไม ท่านดูสี่ปีที่ผ่านมา ตังกลไกในการเข้ามาจัดการกับปัญหาที่จัดการกับคู่ตรงข้าม วิธีการที่เขาใช้ เขาใช้ยังไง รัฐประหาร ยึดทรัพย์ ตัดสินคดีลงโทษทางอาญา สรุปคืองานนี้ไม่มีเจ๊า แต่ใครจะเจ๊งใครจะได้ ผมคิดว่าเขาประเมินว่าเขาจะได้ แต่ผมดูคนที่มีวันนี้ผมประเมินว่าเขาจะเจ๊ง อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย เมื่อนั้นละเราจะชนะ”

สาวตรี สุขศรี

สาวตรี สุขศรี อภิปรายในประเด็นของการปิดกั้นสื่อภายใต้คณะรัฐประหาร โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก ความสำคัญและการใช้สื่อเป็นเครื่องมือโดยภาครัฐ

สาวตรีระบุว่า สื่อในสมัยนี้ล้วนแต่เป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐทั้งสิ้น นี่คือสิ่งที่เรารู้จักกันในนามของการโฆษณาชวนเชื่อ และเมื่อภาครัฐเป็นผู้รบและดูเหมือนว่าตอนนี้เขาจะเป็นผู้ชนะ เขาไม่ใช่กบฏ แต่เขากลายเป็นผู้ที่สร้างสื่อ เป็นคนที่ครอบงำสื่อ นี่เป็นสิ่งที่เขาต้องคอยกำจัดหรือจำกัดการแสดงความคิดเห็น

ประเด็นที่ 2 สถานการณ์การปิดกั้นสื่อมวลชนทุกรูปแบบ

“สิ่งแรก ทีวีสาธารณะ หรือฟรีทีวี สมัยรัฐประหาร คมช. เอารถถังเข้าไปปิด สี่ปีหลังจากนั้นใช้ พรก. เข้าไปปิด ถ้าเป็นวิทยุชุมชน จะใช้ทหารตำรวจประมาณ 50-500 นายพร้อมอาวุธปืนกลและเอ็ม 16 ถ้าไม่บอกไม่รู้คิดว่าไปล่าแรมโบ้ ในส่วนของฟรีทีวีคือสองมาตรฐาน สถานีสีหนึ่งถูกปิด แต่อีกสีหนึ่งซึ่งเป็นสีเดียวกันเสนอภาพความรุนแรงไม่ต่างกันไม่ถูกปิด”

สำหรับสถานีวิทยุชุมชน ถูกปิดจำนวน 26 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัด เว็บไซต์  ก่อนหน้ารัฐประหาร รัฐบาลทักษิณก็มีการแทรกแซงเว็บไซต์ มากที่สุดคือ 2500 เว็บ การสำรวจโดยกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทยพบว่าหลังจากมีการรัฐประหาร เว็บไซต์ที่ถูกปิด มี 13400 เว็บ ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร รัฐไม่มีเครื่องมือใดๆ ในการปิดกั้นเว็บไซต์ แต่เมื่อมีการรัฐประหาร มีการไล่ปิด และตอบคำถามไม่ได้ว่าใช้เครื่องมือ คปค. จึงสร้างเครื่องมือ ว่าต่อไปนี้จะมีอำนาจปิด และได้รับการรับรองจากผู้พิพากษา ว่าเป็นกฎหมายที่ถูกต้องชอบธรรม เป็นกฎหมายที่ออกจากเป็นรัฏฐาธิปัตย์

สาวตรีกล่าวต่อไปว่า ในยุคของจุติ ไกรฤกษ์ รัฐบาลปิดเว็บไซต์ไปแล้ว 43,000 เว็บไซต์

“นอกจากนั้นท่านไม่ได้ใช้อำนาจแต่เพียงกระทรวงเดียว แต่มีการทำเอ็มโอยูกับกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงยุติธรรม ซึ่งในสี่หมื่นสามพันเว็บเป็นเว็บที่เข้าข่ายหมิ่นเหม่หรือจาบจ้วงต่อองค์สถาบัน คำถามคือ มีเว็บมากมายขนาดนั้นเลยหรือ

คำถามที่สอง ถ้าสมมติว่ามันมีมากขนาดนั้นจริงๆ นี่หมายความว่าอะไร ประชาชนกำลังคิดอะไร นี่คือสัญญาณอะไรหรือเปล่าที่ประชาชนกำลังส่งออกมา หรือว่ามีความอัดอั้นอะไรหรือไม่”

สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์นั้น มีการล่ามแท่นพิมพ์หรืออายัดแท่นพิมพ์ 11 เครื่อง

“เรากำลังย้อนยุคไปสมัยหกตุลา ท่านทราบไหมว่าเขาใช้กฎหมายอะไร เขาบอกว่าใช้ พรก. ฉุกเฉินมาตรา 9 แต่ตอนปิดเขาใช้ พ.ร.บ. โรงงาน สำหรับฟ้าเดียวกันเขาใช้ พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ สำหรับวิทยุชุมชน เขาใช้ พรบ. วิทยุโทรคมนาคม 2498 

“ณ ปัจจุบัน รัฐกำลังปิดแบบมั่วซั่ว รัฐไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนทราบไดว่าเนื้อหาส่วนไหนเป็นความผิด แล้วจึงโยกให้เป็นความผิดทางเทคนิค เขาไม่รู้ว่าฟ้าเดียวกันตรงไหนผิด หรือเขามองว่าประชาไทน่าจะมีเนื้อหาที่ผิด แต่เขาไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าตรงไหนที่ผิด อย่ากระนั้นเลย ใช้กฎหมายเทคนิค”

สาวตรีกล่าวว่าปัญหาที่พบจากการปิดกั้นสื่อ ประการแรกคือตัวกฎหมายมที่คลุมเครือและไม่ชัดเจน เช่น เพื่อความมั่นคงของรัฐ เพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี

“คำถามคือท่านอธิบายนิยามหรือถ้อยคำเหล่านี้ได้หรือไม่ว่ามันหมายถึงอะไร อะไรคือการละเมิดความมั่นคงของรัฐ หรือศีลธรรมอันดี ถ้อยคำแบบนี้เยอรมันเคยใช้ในยุคนาซี ยุคที่ฮิตเลอร์เรืองอำนาจ หลังจากฮิตเล่อร์สิ้นไป กรณีนี้ก็จะเกิดหลักกฎหมายว่ากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสารีภาพต้องเขียนให้ชัดเจนว่าใครทำอะไรได้และใครทำอะไรไม่ได้

“อีกประการคือตัวผู้บังคับใช้กฎหมาย อ่อนด้อยต่อข้อกฎหมาย พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิดเพิ่งบอกเราไปเมื่อสักวันที่ 12 ก.ย.ว่าเราเจอหนังสือพิมพ์ที่หมิ่นเหม่ ต่อความมั่นคงเราจะไปปิดสิ่งพิมพ์นั้น ท่านรู้กฎหมายหรือไม่ ว่าท่านทำไม่ได้ ตรรกะประหลาดๆ แบบนี้ออกมาจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย

“หนึ่งคือเรื่องกฎหมายมีความคลุมเครือ สองมีการใช้การตีความที่อ่อนด้อยและคุมเครือ และไม่สมารถอธิบายได้ทางเนื้อหาจึงหันไปใช้กฎหมายเทคนิค”

ปัญหาที่สามคือการใช้กฎหมายสองมาตรฐานหรือไม่มีมาตรฐาน ขณะเดียวกันผู้ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายมี่ความอ่อนด้อย แต่ตราบใดก็ตามหากว่าผู้ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย ทำหน้าที่ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ สิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจจะได้รับการปกป้องคุ้มครองได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือตุลาการภิวัตน์ ศาลบอกว่าไม่มีอำนาจไปตรวจสอบ และเห็นว่ารัฐบาลได้ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว เราจะไม่ไปล่วงเกิน ไม่ไปตรวจสอบ

“ฉะนั้น ทั้งกระบวนการยุติธรรมมันทำไม่ได้ มันใช้ไม่ได้แล้ว และเราต้องตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ”

ประเด็นที่ 3 การปฏิรูปสื่อที่ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

“มีการชงประเด็นจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าจะมีการปฏิรูปสื่อ แต่ถามว่าตราบใดที่พระราชกำหนดยังบังคับใช้ จะปฏิรูปได้จริงหรือไม่ ตราบที่มีการไล่ล่าปิดกั้น ทุกวันนี้ยังคงเห็นความย้อนแย้ง ทุกคนมีความสุข คนเสื้อแดงไม่มี รถไม่ติด แต่พอนำเสนอไปสักพักใกล้ถึงจุดสุดยอด ก็จะมีเสียงระเบิดตูมนึง รัฐบาลก็บอกว่าเห็นไหมๆ ยังต้องคงพระราชกำหนดเอาไว้ นี่คือการใช้สื่อเป็นเครื่องมือ แล้วจะปฏิรูปได้หรือไม่ ตอนนี้เรายังถูกปกครองโยคณะรัฐประหารหรือไม่ อนาคตจะแก้ไขกันอย่างไร สื่อก็โดนปิด”

สาวตรีระบุว่า ทางแก้ทางเดียว คือคืนอำนาจทั้งหมดทั้งมวลแบบถาวรให้ประชาชน

“คืนความเป็นพลเมืองให้พวกเรา หยุดหวงอำนาจ หยุดหวงบารมี สอง ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวพัน หรือมีลักษณะเป็นเผด็จการทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้ายกเลิกได้ต้องยกเลิกได้ ปรับปรุงได้ต้องปรับปรุง การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ อาจจะมีประเด็นบางอย่างที่จำเป็นแต่ต้องอธิบายได้ชัดเจน และต้องถูกตรวจสอบได้ ฝ่ายผู้ใช้อำนาจรัฐถ้าคิดว่าตัวเองทำถูกต้อวงต้องพร้อมให้อำฝ่ายหนึ่งมาตรวจสอบการทำงานของตน”

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

 

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ “อาจจะตั้งคำถามว่าทำไมจึงเกิดการรัฐประหารขึ้นในบ้านเมืองของเรา ซึ่งถ้าเราไปศึกษาความสำเร็จและความล้มเหลวแต่ละครั้ง ก็จะเห็นว่ามีอะไรน่าสนใจ แต่ถ้าถามว่ามีอะไรเหลืออีกไหมที่เราพอจะทำได้ ผมก็คิดว่าในทางกฎหมายเราก็ทำกันจนเกือบจะหมดแล้ว เราเคยมีรัฐธรรมนูญ 2517 ห้ามนิรโทษกรรมการล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ถึงสองปี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกฉีกไป”

อย่างไรก็ตาม วรเจตน์เสนอว่า ในทางกฎหมายอย่างน้อยยังมีอีกสองเรื่อง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะกันการรัฐประหารได้โดยบริบูรณ์นั่นก็คือการกำหนดหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ให้กับพระมหากษัตริย์ และบรรดาทหารและราชการทั้งปวง

“ทำไมผมจึงพูดว่าสององค์กรนี้ ต้องกำหนด เพราะสององค์กรนี้ทุกวันนี้ไม่มีการกำหนดไว้ ถ้าต้องการที่จะรักษาตัวระบบรัฐธรรมนูญไว้ในทางกฎหมาย เหมือนที่เรากำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก เพราะว่าเมื่อมีการรัฐประหาร พระมหากษัตริย์จะมีมีสิทธิ และหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะปฏิเสธ

สอง หน้าที่ของทหาร รวมทั้งตำรวจและข้าราชการพลเมือง ที่จะปฏิเสธคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ที่จะทำการลบล้างรัฐธรรมนูญ เมื่อได้รับคำสั่งต้องหันปลายกระลบอกปืนไปที่คำสั่ง”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการวางข้อกำหนดดังกล่าว แต่ก็อาจจะป้องกันการรัฐประหารได้โดยบริบูรณ์ เพราะรัฐประหารที่สำเร็จไม่ใช้ว่ามีเพียงกลไกทางกฎหมาย การทำรัฐประหารที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญมีเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ นอกนั้นเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น แต่ความสำเร็จของการรัฐประหารก็คือความสำเร็จของการทายอุดมการณ์นิติรัฐและประชาธิปไตย เพราะว่าไม่ลงไปที่ตัวบุคคลขององค์กร เป็นปัญหาในระดับของอุดมการณ์ เพราะว่าตัวอุดมการณ์ประชาธิปไตยถ้าถูกปลูกฝังลงในจิตสำนึกของผู้คนอย่างเต็มที่รัฐประหารจะไม่อาจทำได้สำเร็จ เพราะผู้พิพากษาเวลาบังคับใช้กฎหมายก็จะใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น

“ถามว่าทำไมไม่สำเร็จ คำตอบมันอาจจะอยู่ที่การโฆษณาชวนเชื่อที่ทำกันมาเป็นระยะเวลานาน จนคนไทยเกิดการง่อยเปลี้ยทางสติปัญญาขึ้น เพราะถูกกล่อมเกลาโดยอุดมการณ์บางอย่างอยู่ตลอดเวลาอาวุธที่สำคัญที่สุดก็คือการสู้กันทางความคิด”

วรเจตน์คาดการณ์ต่อไปกว่า อาจจะมีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง และอาจจะเป็นครั้งสุดท้าย “ผมเห็นว่าทุกวันนี้เรายังไม่พ้นไปจากสภาวะของการรัฐประหาร ในทางเนื้อหามันยังดำเนินอยู่ตลอดเวลา และไม่ยุติราบคาบ และยังก่อให้เกิดผลสะเทือนใหม่ๆ ซึ่งคนทำรัฐประหารและคนที่อยู่เบื้องหลังนึกไม่ถึง

“แต่ผมก็มองว่ามันเป็นโอกาส เพราะหากไม่เกิด 19 ก.ย. จะทำให้เกิดความตื่นตัวทางสติปัญญาของคนขนาดนี้ได้ไหม มันเป็นตัวจุดให้เกิดความคิดที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง

สำหรับอนาคต สี่ปี่และสี่เดือนนั้น มันยังไม่สำเร็จแม้จะเป็นรัฐประหารที่มีต้นทุนสูงมาก หมายความว่าสถาบันทั้งหลายทั้งปวงลงมาให้ความชอบธรรม รัฐประหารทุกครั้งมันมีเป้าหมายหรือมีวัตถุประสงค์ ซึ่งไม่ต่างกับที่ อ.ปิยบุตรพูดไป คือการทำลายล้างปรปักษ์หรือศัตรูทางการเมืองที่ดูเหมือนเข้มแข็งมากเกินไป”

วรเจตน์กล่าวว่า รัฐประหาร 19 กันยาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเกิดสภาพความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ทางการเมือง

และความเปลี่ยนแปลงอันนี้ถูกประเมินต่ำไป จึงคิดว่าการรัฐประหารยังทำได้อยู่ และแม้การรัฐประหาร 19 ก.ย. จะประสบความสำเร็จจริงในแง่การยึดอำนาจรัฐและทำลายล้างทางการเมือง แต่สถาบันที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีการรัฐประหารครั้งไหนที่ต้องอาศัยแรงหนุนเท่ากับรัฐประหารสิบเก้ากันยา มีนักกฎหมายเข้าไปช่วย การยุบพรรคการเมืองในอดีตทำโดยตัวคณะรัฐประหารเอง แต่โดยความซับซ้อนของเหตุการณ์ ถึงอยากยุบก็ยุบไม่ได้โดยประกาศคณะรัฐประหาร นี่มีสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงของกระแสประชาธิปไตย และกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะถ้าจะใช้อำนาจเด็ดขาดก็ต้องดึงประเทศกลับไปแบบพม่า ซึ่งชนชั้นนำอาจจะมองว่าเสี่ยงเกินไปกลไกทางกฎหมายจึงต้องเข้ารับช่วงต่อ

ชนชั้นนำมองประชาชนเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือผู้เสมอไร้ความสามารถ จึงต้องมีผู้อนุบาล ลดสถานะของการที่เราบรรลุนิติภาวะทางสติปัญญา ลดทอนขนาดสมองของประชาชนลง ความพยายามอันนี้ดูเหมือนประสบความสำเร็จแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดูได้จากการเลือกตั้ง 3 ธ.ค.50 เป็นคำตอบว่าคนคิดอย่างไรกับการรัฐประหาร กระบวนการที่จะขับเคลื่อนให้รัฐประหารสำเร็จนั้นไม่มีแล้ว กลไกทางกฎหมายจึงต้องรับช่วงแต่ แต่มันจะทำไม่ได้ หากว่าตัวอุดมการณ์ประชาธิปไตยหยั่งรากลึก เมือประชาธิปไตยไม่ใช่อุดมการณ์หลัก กระบวนการรัฐประหารจึงขับเคลื่อนต่อเนื่องไป

เหตุการณ์พฤษภาอำมหิต แสดงให้เห็นว่าตัวอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยนั้นอ่อนแอลงมาก จึงต้องใช้ความรุนแรง

“ผมมีความรู้สึกว่าหลังพฤษภามาแล้ว เรารู้สึกว่ากระบวนการที่สนับสนุนประชาธิปไตยแพ้ แต่การสลายผู้ชุมนุมก็สะท้อนถึงความอ่อนแอของตัวระบบ ถามว่าต่อไปข้างหน้าการปะทะแบบนี้เป็นไปได้ไหม ผมคิดว่ายังเป็นไปได้และอาจจะเกิดขึ้นได้อีก แต่การเคลื่อนไหวที่ใครจะมาชุมนุมแล้วยอมให้ยิงเฉยๆ มันน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว การเปิดให้มีการปิดล้อมแล้วยิงผมคิดว่าภาพการณ์แบบนี้จะไม่เกิด

ตอนนี้สังคมกำลังเกิดการขยับตัว กำลังต่อสู้กัน ความรุนแรงทางกายภาพนั้น เขาประเมินว่าพฤษภาคมที่ผ่านมาน่าจะแรงที่สุด “ผมไม่ได้ลดทอนการปราบปรามนักศึกษาลง แต่ระดับของการสั่งการให้ใช้อาวุธเข้าจัดการครั้งนี้สูงมาก”

สำหรับอนาคตของสังคมไทย เขามีความเห็นไปในทางเดียวกับผู้ร่วมเสวนาว่า ประเทศไทยจะต้องอยู่ในสภาพการณ์แบบนี้ไปนานพอสมควร

“เราจะอยู่กับสภาวะแบบนี้แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า อะไรที่ไม่จริงไม่ใช่สัจจะ วันหนึ่งไอ้ความไม่จริงมันก็จะถูกเปิดออก สิ่งที่มันจริงแท้ อย่างไรเสียมันก็จริง ช่วงเวลานี้  ที่บางคนกำลังตื่น บางคนตื่นแล้ว บางคนตื่นขึ้นมาเจอแสงสว่างจ้า เรากำลังอยู่ในสภาพแบบนี้ เราโชคดีที่เราได้เกิดมาในยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลงและผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ผมไม่รู้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แต่มันจะเปลี่ยนแปลง ใครก็รั้งไม่ได้ มันเป็นอนิจจัง มันจะต้องเกิด ทุกสิ่งมันจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สิ่งที่เราต้องทำก็คือการทำให้ความคิดที่ถูกต้องนั้นได้แพร่กระจายไป ถ้าเราก่อสร้างเหตุปัจจัยไว้

“ถ้าเราเชื่อในความเสมอภาคของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนจะมีสติปัญญา นี่คือการสร้างสมเหตุปัจจัยที่ดี ความเปลี่ยนแปลงข้างหน้าก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพียงแต่ว่าก่อนที่ฟ้าจะใส พายุที่พัดกระหน่ำมันจะแรงแค่ไหน มันจะทำลายอะไรบ้าง แต่ในที่สุดมันจะเกิดความสว่างขึ้น และเชื่อว่าอนาคตสังคมไทยจะนำไปสู่ความสว่างไสว และเชื่อว่ามันเป็นกฎสากล แต่ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งทุกคนต้องอดทนหน่อย

“เราอาจจะเปลี่ยนไปเป็นแบบพม่าสักห้าปี อันนี้ไม่ทราบได้ ทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นมันจะเกิดได้ไหม ส่วนการปฏิรูปปรองดองเป็นของเล่นทั้งนั้น ถ่วงเวลาได้แล้วเป็นปีๆ โดยหวังว่าคนจะลืม เวลานี้ท่านก็โฆษณาชวนเชื่อทำประชาสัมพันธ์เข้าไปสิ แต่คราวนี้มันยาก การปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่พูดความจริง ทุกวันนี้ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐอย่าว่าแต่พูดความจริงเลย แค่อดทนฟังความจริงนิดนึงฟังได้ไหม แล้วถ้าจะอดทนฟังความจริงยังไม่ได้ จะปรองดองได้อย่างไร แล้วคนที่ผิดต้องรับครับ คุณกล้ารับไหมว่ามันผิด ถ้าไม่กล้าก็อย่างหวังว่าจะปรองดอง และผมคิดว่าเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากเห็นว่าปรองดองไม่ได้ มันก็จะเป็นการฆ่าความจริงและเป็นเรื่องที่เจ็บปวดที่สุดของความเป็นมนุษย์ถ้าไม่ใช่การฆ่าความจริง

“สิ่งที่เกิดขึ้นมาในสี่ปี และสี่เดือนที่ผ่านมานี้ เราจะจำไว้ และเมื่อเงาทะมึนที่ครอบงำไว้จะโรยราไป และแสงสว่างทางปัญญาก็จะเกิดขึ้น”

บรรยากาศการเสวนา

หมายเหตุ ภาพถ่ายโดย กล้า สมุทรวณิช

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท