5 อาจารย์ นิติมธ. เปิดตัวเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com

วันที่ 19 กันยายน 2553 กลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และเพื่อนอาจารย์เปิดตัวเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com ที่ห้อง LT2 คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ รวบรวมผลงาน และบทวิเคราะห์ทางวิชาการ หวังเหตุผลและความรู้เข้าแทนที่ความงมงาย

โดย เวลาประมาณ 13.00 น. รศ.ดร.จันจิรา เอี่ยมมยุรา เปิดงาน โดยกล่าวถึงความเป็นมาของคณะนิติราษฎร์ และที่มาของเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com โดยกล่าวว่าเดิมทีมาจากกลุ่ม 5 อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ซึ่งมีสมาชิก 5 คน คือ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ธีระ สุธีวรางกูร ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล และปิยบุตร แสงกนกกุล

“อาจารย์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างกล้าหาญ โดยการออกแถลงการณ์โต้แย้งผู้มีอำนาจในบ้านเมืองโดยการชี้แจงข้อกฎหมายต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ตามหลักนิติรัฐ และการทำหน้าที่ของกลุ่มห้าอาจารย์ก็คงเปรียบได้เหมือนกับบ่อน้ำที่ราษฎรทั้งหลายจะมาตักดื่มเพ่อดับความกระหายใคร่รู้ในความเป็นประชาธิปไตย และกลุ่มนี้ก็จะทำหน้าที่ในการตอบคำถามกฎหมายที่สอดคล้องกับแนวทางประชาธิปไตยและความเป็นธรรมมาตลอด”

รศ.ดร. จันทจิรา อธิบายต่อไปว่าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาอาจจะพูดได้ว่าในวิกฤตก็มีโอกาส ความเป็นไปของบ้านเมืองในสี่ปีหลังรัฐประหาร โดยเพาะในช่วงเดือนท้ายๆ ที่มีการสังหารหมู่ประชาชนที่ราชประสงค์ ก็จำเป็นที่นักกฎหมายกลุ่มนี้ต้องก้าวมาข้างหน้าให้ดังขึ้น โดยมีสมาชิกเพิ่มคือ สาวตรี สุขศรี และจันทจิรา เอี่ยมมยุรา

“ถามว่าในบ้านเมืองเรามีนักกฎหมายที่มีความรู้ความสามรถเยี่ยมยอดมีมากมายแต่ที่จะมีความกล้าหาญที่จะพูดในสิ่งทีถูกในเวลาที่จำเป็นเพื่อคนส่วนใหญ่ เราก็จะเห็นว่ามีได้น้อยกว่าน้อย นี่ก็เป็นที่มาของการเปิดตัวเว็บไซต์ของคณะนิติราษฎร์ โดยจะทำหน้าที่เป็นห้องเรียนกฎหมาย และใช้เป็นช่องทางในการต่อสู้ทางความคิดหรือโต้แย้งในประเด็นกฎหมายที่เห็นว่าสำคัญตามวาระต่างๆ”

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อธิบายที่มาของชื่อทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยกล่าวว่าชื่อภาษาอังกฤษ นั้นอาจจะแปลเป็นไทยได้ยากหน่อย แต่ว่าที่ผ่านมานักนิติศาสตร์เข้ามาช่วงชิงอำนาจ ทำลายล้างอำนาจ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลให้กับกฎหมายอย่างรุนแรงแต่ยังสร้างความอยุติธรรมในกับราษฎรทั่วไปด้วย เพราะผู้คนจำนวนมากที่มีบทบาทความคิดทางสังคมปิดล้อมความคิดของผู้คน ทำให้ไม่สามารถตั้งคำถามเพื่อไปสู่ความจริงได้

“ตลอดระยะ เวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจ สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจ ตลอดจนทำลายอำนาจ การช่วงชิง สร้างความชอบธรรม และทำลายล้างในนามของกฎหมายและความยุติธรรมนั้น ไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลที่ลึกอย่างยิ่งให้กับวงการกฎหมายและวงวิชาการ นิติศาสตร์ไทยเท่านั้น แต่ยังมีผลสร้างความอยุติธรรมอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมโดยรวม ด้วย

"เหตุที่ทำให้เกิดสภาพการณ์แบบนี้ขึ้นในสังคม ก็เนื่องจากผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทชี้นำสังคม และนักกฎหมายที่เป็นชนชั้นนำปิดล้อมความคิดความอ่านของผู้คนด้วยการยกเอาข้อ ธรรม ความเชื่อในทางจารีตประเพณี ตลอดจนบุคคลที่ถูกสร้างให้เป็นที่ยึดถือศรัทธาขึ้นเป็นกรงขังการใช้เหตุผล และสติปัญญาของผู้คนเพื่อ จะไปให้พ้นจากสภาวะเช่นนี้ เราเห็นว่าสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์จะต้องก้าวข้ามยุคมืดไป สู่ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา ดังที่ได้เคยเกิดมาแล้วในยุโรป

"ลักษณะ สำคัญของ Enlightenment คือ การเกิดความเคลื่อนไหวทางความคิดในทุกแขนงวิชา โดยการเคลื่อนไหวทางความคิดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือคำสอนทางศาสนา ทั้งนี้โดยที่ถือว่า “เหตุผล” มีคุณค่าเท่าเทียมกับ “ความดี” การใช้สติปัญญาครุ่นคิดตรึกตรองไม่หลงเชื่ออะไรอย่างงมงายมีค่าเป็นคุณธรรม ถือว่ามนุษย์ทั้งหลายสามารถที่จะได้รับการฝึกฝนให้ใช้สติปัญญาได้ และถือว่าเหตุผลเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรับรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบ ตัวอย่างเท่าทัน

ยุค นี้เป็นยุคที่เกิดการเรียกร้องให้มีขันติธรรมในเรื่องความเชื่อทางศาสนา กล่าวให้ถึงที่สุด ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา คือ ยุคที่เสรีภาพจะเข้าแทนที่สมบูรณาญาสิทธิ์ ความเสมอภาคจะเข้าแทนที่ระบบชนชั้น เหตุผล ความรู้ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะเข้าแทนที่อคติและความงมงายทั้งหลาย” รศ.ดร.วรเจตน์กล่าว และว่า

“เราเรียกร้องให้บุคคลทั้งหลายใช้เหตุผลใช้ปัญญาให้เข้าถึงความจริง สำหรับชื่อภาษาไทยที่เราใช้คำว่านิติราษฎร์ เพราะเราเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาสะท้องให้เห็นความล้มเหลวของการสถาปนานิติรัฐและประชาธิปไตยในสังคมไทย ทำให้ใช้กฎหมายมารองรับการทำลายระบบพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือประชาธิปไตย เหตุผลสำคัญอันหนึ่งทีเกิดปรากฏการณ์นั้นก็คือทำให้กฎหมายไม่สามรรถเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งทางสังคม เพราะว่าการเรียนการสอนตามวิชาชีพนั้นตัดขาดจากสังคมและขาดการสอนคุณค่าที่แท้จริง เราจึงเห็นการนำตัวเองเข้าไปรับใช้รัฐประหารของบรรดานักกฎหมาย ท้ายที่สุดก็ทำลายนิติรัฐลงอย่างราบคาบ เราถือว่าราษฎรนั้นมีความหมายอย่างเดียวกับประชาชนและพลเมือง เราหวังว่านักกฎหมายจะตระหนักว่าการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของราษฎร เราจึงใช้ชื่อว่านิติราษฎร์ และขยายความว่าเป็นนิติศาสตร์เพื่อราษฎร”

รศ.ดร. วรเจตน์กล่าวว่า ทางเว็บไซต์จะเปิดคอลัมน์ให้นักศึกษากฎหมายได้เขียนบทความที่สนับสนุนอุดมการณ์ นิติรัฐและประชาธิปไตย เว็บไซต์นี่จะพยายามเคลื่อนไหวเป็นระยะ และพยายามใส่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และบรรดาผู้ก่อตั้งจะมาเขียนบทนำ และแสดงทัศนะทางกฎหมาย และหวังว่าจะทำให้การเรียนการสอนกฎหมายมีชีวิตชีวามากขึ้น
“หวังว่าความพยายามของเราจะเป็นจุดเล็กๆ ที่จะสร้างความเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้น เหตุผลสำคัญคือเพราะว่าอำนาจนั้นยังไม่เป็นของราษฎรทั้งหลายอย่างแท้จริง” รศ.ดร. วรเจตน์กล่าวในที่สุด

ด้าน อ.ดร. ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม 5 อาจารย์กล่าวว่า ชื่อเว็บเป็นสัญลักษณ์ที่น่าสนใจและต้องการให้ผู้ที่เข้าใช้ประโยชน์ได้รับประโยชน์จากข้อคิดงานเขียนที่เชื่อว่านี่คือหนทางที่จะนำเราไปสู่หลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ผมเคยคิดว่าเส้นทางของสังคมไทยคงไม่มีเส้นทางการต่อสู้แบบที่เกิดขึ้นในตะวันตกเพราะว่าเราไม่ได้มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ และช่วงเวลาสี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ผมรู้ว่าผมคิดผิด เพราะมันคิดไม่ถึง และแพร่หลายอย่างรวดเร็ว อาวุธที่สำคัญที่สุดก็คืออาวุธทางปัญญา และต้องรู้จักใช้เหตุผล กล้าที่จะใช้เหตุผลโยปราศจากการชี้นำ ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งสากลสำหรับมนุษยชาติทุกคน ใครบอกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ผมไม่เชื่อ คนไทยไม่ใช่มนุษย์หรือ ผมเชื่อว่าถ้าเรากล้าใช้เหตุผล และมันจะนำเราไปสูสังคมที่เหมาะสม เป็นสังคมที่พวกเราเหลือกจะอยู่ เป็นสังคมที่มีกฎหมายที่ตอบสนองความต้องการของพวกเรา ความขัดแย้งทางการมันเป็นโอกาสให้ความคิดได้ฟูมฟักและเบ่งบาน ผมคิดว่าความขัดแย้งนี้เป็นโอกาส

“กฎหมายคือเหตุผลที่ถูกต้อง True Law is Right Reason ผมคิดว่าท่ามกลางความขัดแย่งอันนี้กลุ่มผมเองก็พยายามยืนยันว่ากฎหมายที่แท้จริงคือเหตุผลที่ถูกต้อง

“และกฎหมายไม่ใช่อำนาจ กฎหมายไม่ใช่ตัวบท กฎหมายคืออะไรบางสิ่งบางอย่างที่พิทักษ์คุณค่าการอยู่ร่วมกัน หากเราละเมิดกฎหมาย เราไม่ได้ละเมิดแค่กฎหมายแต่เราละเมิดความปลอดภัยของพี่น้องในสังคมเดียวกัน กฎหมายเป็นเรื่องที่ในท่ามกลางความขัดแย่งหากเราสามรถที่จะเห็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของมันและพูดถึงมันในฐานะเหตุผลที่ถูกต้องและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และหวังว่าเว็บไซต์นี้จะทำให้เรามองกฎหมายในแง่ที่เป็นเหตุผลคุณค่ามากขึ้น”

อ.สาวตรี สุขศรี ผู้ร่วมจัดทำเว็บไซต์กล่าวว่า “เมื่อจะเปิดเว็บไซต์แห่งนี้ มีสื่อมวลชนบางส่วนถามว่าเปิดเว็บแบบนี้ไม่กลัวเหรอ เราต้องบอกว่าเราไม่เคยกลัว เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด งานทั้งหมดทั้งมวลที่พวกเรานำเสนอเป็นสิทธิเสรีภาพ เว็บไซต์นี่ทำในเชิงวิชาการจริงๆ ย้ำอีกครั้งว่าเราไม่กลัว แต่เราก็ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เราได้เตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้ งานทั้งหมดทั้งมวล อยู่ภายใต้หลักการครีเอทีฟ คอมมอน สามารถนำไปใช้ได้แต่ต้องอ้างอิง และไม่ใช้เพื่อการค้าและไม่ทำการดัดแปลง”

อ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ฉบับที่ 1

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท