Skip to main content
sharethis

กกต.พม่าประกาศงดจัดการเลือกตั้งคลุมพื้นที่ 32 อำเภอใน 5 รัฐ โดยไม่ระบุเหตุผล คลุมพื้นที่ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม บก.สำนักข่าวฉานชี้งดเลือกตั้งเหตุตึงเครียดระหว่างพม่า – ชนกลุ่มน้อย ขณะที่ยังจัดการเลือกตั้งในเขตว้าที่ติดกับไทย เพื่อส่งสัญญาณถึงกอง บก.ใหญ่ของว้าที่ปางซางว่า ไม่ร่วมเลือกตั้งก็ไม่เป็นไร แต่ “คนของคุณ” ที่ชายแดนไทย ทหารพม่ายังคุยได้อยู่

 
 
 
 

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันที่ 17 ก.ย. 53 หน้า 8, 9 และ 16
ตีพิมพ์คำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพพม่า (กกต.พม่า)
ฉบับที่ 99/2010, 100/2010, 101/2010, 102/2010, 103/2010 และ 104/2010
ลงนามโดย ถั่นซอ (Thein Soe) ลงวันที่ 16 ก.ย. 2010
โดยมีผลทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง ใน 32 อำเภอในพื้นที่ 5 รัฐชนกลุ่มน้อยของพม่า

 
 
 
พม่างดจัดเลือกตั้งคลุมพื้นที่ 32 อำเภอ ใน 5 รัฐชนกลุ่มน้อย
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารพม่า ฉบับวันที่ 17 ก.ย. ได้ตีพิมพ์คำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพพม่า (กกต.พม่า) ฉบับที่ 99/2010, 100/2010, 101/2010, 102/2010, 103/2010 และ 104/2010 ลงนามโดย ถั่นซอ (Thein Soe) ลงวันที่ 16 ก.ย. 2010 เรื่องท้องที่ซึ่งงดจัดการเลือกตั้ง
 
โดยคำสั่งฉบับที่ 99/2010 ประกาศว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งในรัฐคะฉิ่นใน 68 ตำบล จาก 9 อำเภอ (township) คำสั่งฉบับที่ 100/2010 ประกาศว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งในรัฐคะยาห์ใน 9 ตำบลจาก 2 อำเภอ คำสั่งฉบับที่ 101/2010 ประกาศว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งในรัฐกะเหรี่ยงใน 155 ตำบลจาก 7 อำเภอ คำสั่งฉบับที่ 102/2010 ประกาศว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งในรัฐมอญ ใน 9 ตำบลจาก 2 อำเภอ คำสั่งฉบับที่ 103/2010 ประกาศว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งในรัฐฉาน 59 ตำบลใน 12 อำเภอ เฉพาะในรัฐฉาน มี 4 อำเภอ ที่จะไม่มีการเลือกตั้งเลยในทุกตำบล คือ ปางซาง นาปัน ปางแหวน และเมืองมาว
 
โดยพื้นที่ที่จะไม่มีการเลือกตั้งส่วนใหญ่อยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าและยังตัดสินใจเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ได้แก่ กองทัพเพื่ออิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ในรัฐคะฉิ่น กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มเมืองลา (NDAA) ในรัฐฉาน กองกำลังในสังกัดพรรคแผ่นดินใหม่คะยาห์ (KNLP) ในรัฐคะเรนนี กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) กองพลน้อยที่ 5 ในรัฐกะเหรี่ยง และพื้นที่อิทธิพลของพรรคมอญใหม่ (NMSP) ในรัฐมอญ
 
 
สั่งยุบพรรคคะยาห์ – เตรียมประกาศชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20 ก.ย.
นอกจากนี้ กกต.พม่า ยังมีคำสั่งฉบับที่ 104/2010 เรื่อง การเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมือง และคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง โดยข้อแรกมีคำสั่งอนุญาตให้กลุ่มการเมืองที่สนับสนุนการเลือกตั้งทั่วไปแบบหลายพรรคการเมือง มีสภาพเป็นพรรคการเมืองได้ตาม มาตรา 3 ของกฎหมายลงทะเบียนพรรคการเมือง และข้อสอง มีคำสั่งยุบพรรคเชื้อชาติทั้งมวลและการพัฒนา (รัฐคะยาห์) (ANRUDP – Kayah State) เนื่องจากไม่ลงทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วันที่กำหนด จึงเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ตั้งพรรคดังกล่าว และให้ยุบพรรค
 
ในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ยังระบุด้วยว่า ในวันที่ 20 ก.ย. นี้ จะมีการประกาศทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยผู้ที่รายชื่อตกหล่นให้มาลงทะเบียนรายชื่อภายใน 7 วัน นับจากวันที่ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีที่พำนักนอกเขตเลือกตั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 180 วันขึ้นไป และต้องการมีสิทธิเลือกตั้งในสถานที่พำนักให้ไปแจ้งความประสงค์เลือกตั้งนอกเขต โดยต้องมีหนังสือรับรองที่ออกโดยสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐในพื้นที่พำนักของตน โดยต้องอยู่ในพื้นที่พำนักดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน จนถึงวันเลือกตั้ง
 
ถ้าผู้ลงคะแนนต้องการแก้ไขข้อมูลของตนในทะเบียนเลือกตั้ง ให้แจ้งภายใน 7 วัน นับจากวันที่มีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดมีชื่อเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งของตนเอง และต้องการแก้ไขให้ถูกต้อง ให้นำทะเบียนบ้านไปเป็นหลักฐานเพื่อแจ้งแก้ไขรายชื่อให้อยู่ในเขตเลือกตั้งที่ถูกต้อง
 
ทั้งนี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 ก.ย.) กกต.พม่า ประกาศว่าการเลือกตั้ง 7 พ.ย. จะมีพรรคการเมือง 37 พรรคลงแข่งขัน ขณะที่ 5 พรรคการเมือง รวมทั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่มีนางอองซาน ซูจีเป็นผู้นำ และพรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ซึ่งเป็น 2 พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งปี 2533 ถูกยุบพรรค เนื่องจากไม่เข้าสู่การลงทะเบียนพรรคการเมืองตามที่ กกต.พม่ากำหนด
 
ทั้งนี้พรรค NLD ประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง 7 พ.ย. ดังกล่าว โดยระบุว่า ไม่มีความชอบธรรมและไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ตามกฎหมายเลือกตั้งมีผลทำให้ออง ซาน ซูจี และนักโทษการเมืองกว่าสองพันไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้เนื่องจากต้องโทษ
 
ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 การเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ย. ที่จะถึงนี้ เป็นการเลือกตั้ง 3 ระดับ ได้แก่ สภาประชาชน (สภาผู้แทนราษฎร) 330 ที่นั่ง จากทั้งหมด 440 ที่นั่ง โดยอีก 110 ที่นั่ง หรือร้อยละ 25 มาจากแต่งตั้งของทหาร สภาแห่งชาติ (วุฒิสภา) มีการเลือกตั้ง 168 ที่นั่ง จาก 224 ที่นั่ง โดยอีก 56 ที่นั่งหรือร้อยละ 25 มาจากการแต่งตั้งของทหาร และการเลือกตั้งระดับสภาท้องถิ่น 7 รัฐ และ 7 ภาคทั่วพม่า รวม 689 ที่นั่ง
 
ขณะที่พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (The Union Solidarity and Development Party) หรือ USDP ของนายกรัฐมนตรีเตงเส่ง (Thein Sein) และ 26 รัฐมนตรีที่เป็นนายทหาร จะลงแข่งในทุกเขตเลือกตั้ง
 
 
บก.สำนักข่าวฉานระบุงดเลือกตั้งบางพื้นที่เหตุตึงเครียดระหว่างพม่า - ชนกลุ่มน้อย
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (18 ก.ย.) “ประชาไท” สัมภาษณ์อาจารย์คืนใส ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) ซึ่งเป็นสำนักข่าวซึ่งรายงานสถานการณ์ในรัฐฉาน สหภาพพม่า เกี่ยวกับการประกาศงดจัดการเลือกตั้งหลายพื้นที่ในพม่า โดยอาจารย์คืนใส ระบุว่าการงดจัดการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากในการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าเมื่อปี 2533 ก็มีการทำในลักษณะนี้ ในเวลานั้นกลุ่มว้า และเมืองลา ซึ่งเพิ่งทำข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าในปี 2531 ก็มีความสัมพันธ์ที่ดี แต่กฎหมายเลือกตั้งออกมาก่อนการเจรจาหยุดยิง ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งในเขตดังกล่าว ขณะที่ในปีนี้ไม่มีการเลือกตั้งในเขตดังกล่าวเช่นกัน โดยสาเหตุที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตคือ น่าจะเกิดจากสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างกลุ่มว้าและเมืองลา กับรัฐบาลพม่า
 
นอกจากนี้ ยังสามารถกล่าวได้ว่า พม่าได้ใช้จิตวิทยาโจมตีว้าและเมืองลา และส่งสัญญาณไปยังจีน ถ้าพวกนี้ไม่เข้าร่วมเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน เราก็ไม่แคร์เหมือนกัน
 
เกี่ยวกับคำถามที่ว่าเกี่ยวข้องกับการตัดฐานเสียงพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติรัฐฉาน (SNDP) หรือไม่ บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน ระบุว่า ไม่เกี่ยวข้อง เพราะในพื้นที่ๆ ไม่มีการเลือกตั้ง พรรคดังกล่าวไม่มีฐานเสียง นอกจากนี้การไม่จัดการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย แต่เป็นเรื่องการเมืองตึงเครียดระหว่างกลุ่มหยุดยิงของชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า โดยเฉพาะกรณีว้า ที่จะเป็นฝ่ายไม่ปลอดภัยก็เป็นฝ่ายพม่า ถ้าซี้ซั้วเอาทหารเข้าไปก็มีปัญหา
 
ส่วนกรณีที่พื้นที่ในเขตรัฐฉานตอนใต้ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกองทัพสหรัฐว้า กองพลที่ 171 ยังเป็นเขตที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ย. นั้น บรรณาธิการสำนักข่าวฉานวิเคราะห์ว่า เป็นการส่งสัญญาณไปยังกองทัพสหรัฐว้า ส่วนที่อยู่ที่ฐานบัญชาการที่เมืองปางซาง ทางตอนเหนือของรัฐฉานว่า
 
“เป็นสัญญาณ (จากรัฐบาลพม่า) ว่ายังสามารถจัดการเลือกตั้งได้อยู่ คุณ (ว้า) ไม่ร่วมก็ไม่เป็นไร คนของคุณที่อยู่ชายแดนไทย เราก็ยังสามารถพูดกันได้อยู่” บก.สำนักข่าวฉานกล่าว
 
 
ที่มาของข่าว: แปลบางส่วนจาก
Electoral rolls to be issued, P1 Union Election Commission issues Notification No. 99/2010, Areas where elections will not be held, New Light of Myanmar, Sept 17, 2010 P8 and P16

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net