Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
ถ้าจำกันได้ เหตุผลหนึ่งในการรองรับความชอบธรรมของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือรัฐประหารครั้งนั้นไม่นองเลือด (bloodless coup) แถมยังช่วยระงับ หยุดยั้งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 20 กันยายน 2549 หรือแม้แต่ข้ออ้างว่าเป็นการช่วยแก้ไขความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ตอนนั้นระหว่างรัฐบาลทักษิณกับพันธมิตรฯ  
 
แต่ 4 ปีผ่านไป พิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐประหารนอกจากจะไม่สามารถหยุดยั้งความขัดแย้งในสังคม ไม่สามารถปฏิรูปอะไรได้แล้ว กลับนำพาสังคมไทยเข้าสู่ความขัดแย้งที่ลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ และแม้จะไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงทันทีทันใด แต่การนองเลือดก็เกิดขึ้นและค่อยๆ มากขึ้นเป็นลำดับเมื่อเวลาผ่านไป
 
บทความนี้เสนอให้มองการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในระยะยาวกว่าวันที่ 19 กันยายน 2549 ยาวกว่าเวลาอยู่ในอำนาจของคมช. หรือยาวกว่าเวลาการมีอำนาจของรัฐบาลพลเอกสรยุทธ์ จุลานนท์ แต่หลังจากวันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงทุกวันนี้ สังคมไทยยังคงอยู่ใน "กระบวนการรัฐประหาร" ที่ไม่สิ้นสุด อีกทั้งยังได้ตกลงไปในหลุมลึกของความขัดแย้งใหม่ ซึ่งแหลมคมจนแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงมาหลายต่อหลายครั้ง เราจึงควรมองการรัฐประหารครั้งนี้ในฐานะรัฐประหารที่นำไปสู่การนองเลือดอย่างต่อเนื่อง (bloodshed coup) ทั้งของฝ่ายที่พิทักษ์กระบวนการรัฐประหาร และฝ่ายที่ต่อต้านกระบวนการรัฐประหาร
 
การจดจำเนื้อหา หรือความหมายที่ถูกให้กับเหตุการณ์นี้ใหม่มีความสำคัญยิ่ง ทั้งในแง่ของการมองผลของการรัฐประหารต่อความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และในแง่ของการปฏิเสธความชอบธรรมใดๆ ของรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
 
เนื้อหาและรูปแบบของการรัฐประหาร
 
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 3-9 กันยายน 2553 ได้ลงบทสัมภาษณ์พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำการรัฐประหาร 19 กันยายน ในโอกาสที่ใกล้ครบรอบ 4 ปีของเหตุการณ์นั้น ความตอนหนึ่งว่า
 
“มีสักแว่บหนึ่งของความคิดบ้างไหม ที่พอเห็นเหตุการณ์รุนแรงทางหน้าจอทีวี แล้วเกิดความรู้สึกว่า เป็นเพราะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือเปล่า บ้านเมืองถึงเดินมาถึงจุดนี้ได้
- ทางกองทัพมีหน้าที่ในเรื่องการรักษาความมั่นคง รักษาความปลอดภัย และที่สำคัญรักษาระบอบประชาธิปไตย กองทัพมีหน้าที่พวกนี้
 
ท่านไม่คิดว่าเป็นเพราะการรัฐประหารหรอกหรือ
- มันอาจจะเกิดจากที่ผ่านมา เกิดจากว่าเราประเมินสถานการณ์ข้างหน้าดูดีมากไปหน่อย
 
หมายความว่า ไม่ได้ประเมินว่ามันจะเลวร้าย
- ใช่ ไม่คิดว่ามันจะเลวร้ายไปถึงขนาดนี้ ไม่มีใครคาดคิด
 
ไม่คิดว่าเป็นเพราะการรัฐประหารแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณเขาสู้ ทำให้เกิดปัญหามาจนถึงวันนี้
- ผมทำตรงนี้ก็เพื่อว่ารักษาระบอบประชาธิปไตย เป็นหน้าที่ของกองทัพ บ้านเราต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในเมื่อมันกำลังสับสนในระบอบประชาธิปไตย เราก็เข้ามาจัดระบบให้มันเป็นประชาธิปไตย”
 
นอกจากจะน่าสนใจที่จะตั้งคำถามว่าเมื่อไรกันที่กองทัพมีหน้าที่สำคัญในการรักษา “ระบอบประชาธิปไตย” แล้ว ยังน่าสนใจในความขัดแย้งของตรรกะวิธีคิดของนายทหารผู้นี้ เพราะหากกองทัพทำไปเพราะต้องการรักษา “ระบอบประชาธิปไตย” แล้ว เหตุใดกระบวนการตัดสินใจ ประเมินสถานการณ์ข้างหน้าหลังจากการรัฐประหาร กลับกระทำโดยคณะรัฐประหาร หรือคนกลุ่มน้อยไม่กี่คน
 
แต่มองในอีกมุมหนึ่ง “ระบอบประชาธิปไตย” ที่พล.อ.สนธิกล่าวถึงนั้น กลับไม่ได้หมายความถึงการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ ที่ให้ความสำคัญกับเสียงส่วนน้อย ผู้คอยถ่วงดุลตรวจสอบเสียงส่วนใหญ่ และเสนอทางเลือกให้หากเสียงส่วนใหญ่พาไปในทางที่ผิดแล้ว  แต่หมายถึงการปกครองของคนส่วนน้อย ที่ในสภาวะซึ่งเกิด "ความสับสน" ขึ้นในสังคม จะ “รู้ดีกว่า” คนส่วนใหญ่ว่าอะไร “มั่นคง” อะไรคือ “ประชาธิปไตย” และอะไรคือทางแก้ปัญหา
 
จึงไม่ใช่เรื่องขัดแย้งหรือน่าแปลกใจ ที่เหล่าคณะรัฐประหารจะประเมินสถานการณ์ข้างหน้ากันเอาเอง แล้วจึง “เข้ามาจัดระบบให้มันเป็นประชาธิปไตย”
 
อาจกล่าวได้ว่า เนื้อหาของการรัฐประหารครั้งนี้คือการที่คนกลุ่มน้อยซึ่ง “รู้ดีกว่า” เข้ามาจัด “ระบบประชาธิปไตย” ใหม่ที่ถูกทำให้ “สับสน” ไปในสมัยของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้คืนสู่ “สภาพเดิม”
 
เกษียร เตชะพีระ เคยประเมินเนื้อหาหรือแก่นแท้ของการรัฐประหาร 19 กันยายน ว่าเป็น "รัฐประหารเพื่อราชบัลลังก์...กล่าวอีกนัยหนึ่งคือก่อรัฐประหารขึ้นก็เพื่อปฏิรูปประชาธิปไตยไทยไปในลักษณะวิถีทางที่จะทำให้มันปลอดภัยสำหรับสถาบันกษัตริย์จากการท้าทายด้วยอำนาจนำทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่ หรือที่พลเอกสนธิ เรียกในเวลาต่อมาว่า ‘เผด็จการทุนนิยม’ ” นั่นเอง (เน้นโดยเกษียรเอง ใน "รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 กับการเมืองไทย" รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 29 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2551 หน้า 52-53) 
 
สำหรับรูปแบบของการรัฐประหาร เกษียรก็ชี้ให้เห็นว่าเป็นการรัฐประหารเชิงตั้งรับ คือทหารเข้ามาแทรกแซง ยึดอำนาจรัฐแบบเฉพาะกิจเฉพาะการณ์ ช่วงเวลาค่อนข้างสั้น จากนั้นก็ฟื้นฟูการปกครองโดยพลเรือนคืนมาพร้อมกับทหารพากันยกพลกลับสู่กรมกองบางส่วน (หน้า 54) 
 
นอกจากนั้น รูปแบบอีกอย่างหนึ่งของการรัฐประหารในครั้งนี้คือ การดึงสถาบัน และองค์กรหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเข้ามารองรับความชอบธรรมของการยึดอำนาจโดยทหาร ไม่ว่าจะเป็นสถาบันตุลาการ สถาบันกษัตริย์ สถาบันวิชาการ องคมนตรี องค์กรอิสระ นักการเมือง เอ็นจีโอ รวมทั้ง “ภาคประชาชน” บางส่วน นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ในช่วงแรกของการรัฐประหารไม่มีความรุนแรง หรือการนองเลือดเกิดขึ้น เพราะมีฐานค้ำยันจำนวนมากอยู่
 
อีกทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐประหารยังไม่สามารถก่อตัว รวมตัวต่อสู้ ต่อต้านได้ แต่ก็เต็มไปด้วยการแสดงความไม่เห็นด้วยจากกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยหลายกลุ่มโดยตลอดตั้งแต่หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา ก่อนที่จะแปรกลายไปเป็นกลุ่มที่เรียกว่าเสื้อแดงหรือนปช.หลังการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 ในที่สุด
 
กระบวนการรัฐประหารและต้านรัฐประหารยังไม่สิ้นสุด
 
การยึดอำนาจโดยตัวของมันเอง ไม่ได้ทำให้เกิดการจัด “ระบบประชาธิปไตย” ใหม่ได้แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการขับไล่ผู้ครองอำนาจอยู่เดิมออกไปเท่านั้น กระบวนการต่างๆ ที่ตามมาหลังจากนั้นจึงเป็น
 
แถมวิธีการที่ใช้ก็เช่นเดียวกับช่วงรัฐประหาร คือการดึงสถาบันหรือองค์กรทุกๆ ภาคส่วนดังกล่าวข้างต้น เข้ามาพัวพัน แทรกแซง วุ่นวายกับการรื้อถอนระบบการเมืองเก่าที่ "สับสน" และจัดระบบการเมืองใหม่ที่จะทำให้สังคมไทยกลับสู่ "สภาพเดิม" อย่างปกติสุข ดังนั้นแม้คณะรัฐประหารจะหมดอำนาจไปแล้ว แต่กระบวนการจัดระบบใหม่ก็ยังถูกส่งไม้ไปยังตัวละครทางการเมืองอื่นๆ ต่อไป และแม้จะเกิดการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ขึ้น แต่กระบวนการหลังจากนั้นก็ยังดำเนินไปภายใต้เนื้อหาของการรัฐประหารเช่นเดิม
 
เพียงแต่ผลที่ "ไม่มีใครคาดคิด" ก็เกิดขึ้นตามมา เมื่อวิธีการดึงสถาบันและองค์กรจำนวนมากเข้ามาช่วยกันกำจัดระบบเก่า สร้างระบบใหม่ กลับกลายเป็นการกัดกร่อน ทำลาย บ่อนเซาะตัวสถาบัน องค์กรต่างๆ เหล่านั้นเสียเอง กระบวนการจัดการทักษิณและการ "ปฏิรูปประชาธิปไตยไทย" ดำเนินไปตลอด 4 ปีโดยสะสมปัญหาและผลิตความขัดแย้งมากขึ้นทุกวัน ยิ่งเดินหน้าไปความรุนแรงก็มากขึ้นเรื่อยๆ ความพยายามพิทักษ์เนื้อหาของการรัฐประหารจึงใช้ต้นทุนทางสังคมไทยสูงมากในทุกๆ ด้าน ซึ่งนอกจากจะไม่ได้กำไรแล้ว ยังไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไรจึงจะได้ทุนคืนมา
 
ระบบยุติธรรมที่พอจะมีอยู่บ้างในสังคม พังทลายลงจนคนจำนวนมากไม่เชื่อถืออีกเลยไม่ว่าจะตัดสินเรื่องใดก็ตาม ความน่าเชื่อถือต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมหลายคนมลายหายสูญไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สถาบันกษัตริย์ถูกดึงและลงมาพัวพันกับความขัดแย้ง ซึ่งยิ่งสร้างความสุ่มเสี่ยงของโอกาสเกิดความรุนแรง สถาบันวิชาการถูกท้าทาย ตั้งคำถาม และถูกมองอย่างหมดความหวัง สถานะความเป็นเอ็นจีโอถูกสงสัย เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ของรัฐเป็นจำนวนมาก และต้องเผชิญกับความแตกร้าวภายในอย่างรุนแรง
 
เงื่อนไขเหล่านี้เอง ที่ทำให้ขบวนการต้านรัฐประหารค่อยๆ เติบโตขึ้น การรวมตัวขยายใหญ่ขึ้น แน่นอนว่าคนบางส่วนก็สนับสนุนทักษิณ หากแม้รัฐบาลทักษิณจะมีปัญหาในหลายๆ ด้าน และตัวระบบการเมืองในสมัยทักษิณก็มีปัญหาเช่นกัน แต่ "การปฏิรูปประชาธิปไตย" โดยเริ่มต้นจากการทำรัฐประหารกลับกลายเป็นการเพิ่มเงื่อนไขของความขัดแย้ง แทนที่จะลดความรุนแรงลงไปดังที่ถูกอ้าง
 
ประเด็นความไม่เป็นธรรมจากการพยายามรื้อระบบเก่า เป็นไปอย่างโจ่งแจ้งและสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยมา จนหลอมรวมกลายเป็น "สภาวะสองมาตรฐาน" ประเด็นความไม่พอใจต่อ "คนกลุ่มน้อยที่รู้ดีกว่า" ผนวกรวมกับปัญหาการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยที่คาราคาซังมาตั้งแต่ 2475 กลายมาเป็นถ้อยคำที่ถูกเรียกว่า "อำมาตย์กับไพร่"
 
คนจำนวนมากที่ในตอนแรกไม่ได้สนใจเข้าร่วมต้านรัฐประหาร แต่สะสมความไม่พอใจไว้ และเมื่อกระบวนการพิทักษ์รัฐประหารยิ่งแสดงความไม่เป็นธรรมมากขึ้น คนเหล่านี้ก็ทยอยกระโดดลงมาร่วมการชุมนุมของคนเสื้อแดงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเมื่อสงกรานต์เลือดปีที่แล้ว ต้นปีที่ผ่านมา และในขณะนี้
 
สิ่งสำคัญอีกประการ ที่เป็นผลพวงใหญ่ของการรัฐประหารครั้งนี้ คือการรื้อฟื้นอำนาจของกองทัพต่อการเมือง และทำให้วิธีการทางทหารในการจัดการปัญหาความขัดแย้งต่างๆ กลับคืนมาสู่สังคมไทย
 
ไล่ตั้งแต่งบประมาณทางทหารที่หลายคนชี้ให้เห็นแล้วว่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี หรือการเข้ามาแทรกแซงการเมืองอย่างการตั้ง "รัฐบาลในค่ายทหาร" หรือการที่กฎหมายด้านความมั่นคง ซึ่งให้อำนาจกับทหารและฝ่ายความมั่นคงอย่างมาก ได้แก่ กฎอัยการศึก, พรก.ฉุกเฉิน และพรบ.ความมั่นคง ถูกประกาศใช้อย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แม้แต่ในสมัยนายกฯ สมัคร และสมชาย ก็มีการใช้กฎหมายเหล่านี้เช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าใครจะเข้ามายึดกุมอำนาจ แต่รัฐและสังคมไทยได้เปิดโอกาสให้มีการใช้กระบวนการทางทหารเข้ามาจัดการปัญหาอย่างเข้มข้น 
 
รวมถึงการใช้อาวุธสงครามไม่รู้กี่ประเภทที่มีให้เห็นอยู่แทบตลอดในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะใช้ยิงกันโต้งๆ กลางเมือง หรือแอบยิงในที่ต่างๆ ปรากฏการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นคนทำ มันกลับสะท้อนเช่นเดียวกันว่า "เครื่องมือแบบทหาร" กำลังถูกใช้ในความขัดแย้งครั้งนี้ จนอาจกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งไปเสียแล้ว 
 
หากก็ไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านี้อำนาจของกองทัพ หรือวิธีการทางทหารไม่ได้มีอยู่ในช่วงรัฐบาลทักษิณ (เห็นได้ชัดเจนในกรณีปัญหาชายแดนใต้) เพียงแต่ความเข้มข้นและปริมาณในระดับประเทศกลับมากขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
 
การดึงวิธีการและเครื่องมือแบบทหาร (Militarization) กลับเข้ามาในการเมืองไทยอย่างเข้มข้นดังกล่าว กลายเป็นผลผลิตหนึ่งของการรัฐประหาร ที่ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นคนใช้ มันกลับยิ่งค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความรุนแรงในความหมายกว้าง ที่ไม่จำเป็นต้องมีการบาดเจ็บล้มตาย อย่างการปิดกั้นสื่อ การคุกคามสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในรูปแบบต่างๆ และความรุนแรงในความหมายแคบ นั่นคือการบาดเจ็บ ล้มตายของผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน สีใด
 
ถ้าสังคมไทยไม่หาวิธีการลดความเข้มข้นของการใช้เครื่องมือแบบทหารเหล่านี้ลง อาจเป็นไปได้ว่า ความรุนแรงอาจขยายตัวต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่ก็พึงตระหนักว่าการใช้วิธีการแบบทหารจัดการกับวิธีการแบบทหารเหมือนกัน กลับจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงเสียอีกด้วยซ้ำ พรก.ฉุกเฉินที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ จึงส่งเสริมความรุนแรงในตัวของมันเอง
 
กลับไม่ได้ ไปก็ไม่ถึง
กระบวนการรัฐประหารได้พาสังคมไทยตกลงไปในหลุมลึกที่ขยายใหญ่ขึ้นทุกวัน บานปลายเรื่อยมา แถมการพยายามถอยขึ้นมาจากหลุมก็ดูจะไม่ง่าย จะไปต่อข้างหน้าก็ดูจะมืดๆ มัวๆ อีกเช่นกัน
 
คณะรัฐประหารดูเหมือนจะรู้ว่าทางเลือกที่นำสังคมไทยมานั้นผิด  พ.ล.เอกสนธิ บุญยรัตกลิน ตอบบทสัมภาษณ์ของมติชนสุดสัปดาห์ว่าถ้าเลือกใหม่ได้ อาจจะไม่ทำรัฐประหาร และ “ไม่คิดว่ามันจะเลวร้ายขนาดนี้” แม้คำตอบจะเป็นไปแบบอ้ำๆ อึ้งๆ อ้อมค้อมไปหน่อยก็ตาม แต่ปัญหาคือสังคมกลับไปก่อนหน้าการรัฐประหารไม่ได้เสียแล้ว พวกเขาทำการเลือกใหม่ไม่ได้  
 
ขณะที่เหล่าผู้พิทักษ์การรัฐประหารพยายามเดินหน้าต่อไป โดยไม่สนใจความผิดพลาดในอดีต อ้างซ้ำๆ ว่ามันเกิดขึ้นแล้วจะให้ทำอย่างไร แต่ก็กลับพบว่ากระบวนทั้งหมดที่ผ่านมาก็เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรมเสียแล้ว  “ความผิดเก่าๆ” ยังไม่เคยถูกแก้ไข “ความผิดใหม่ๆ” ก็สะสมเพิ่มขึ้นมา แถมคนจำนวนมากเลือกไม่สังฆกรรมกับกระบวนการใดๆ ทั้งหมดตลอดหลายปีที่ผ่านมา หากยังต่อสู้ เหนี่ยวรั้ง ตั้งคำถาม และท้าทายให้จัดการกับมันใหม่ ความตึงเครียดดังกล่าวจึงยังอยู่ในสังคมไทยมาตลอดและพร้อมแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา
 
อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการรัฐประหาร เป็นทั้งความรุนแรงโดยตัวมันเอง และเป็นโครงสร้างที่ผลิตความขัดแย้ง ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
 
เหตุการณ์ 10 เมษายน จนถึง 19 พฤษภาคม จึงถือได้ว่าเป็นผลพวงที่มาช้าไปเกือบ 4 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน แต่แทนที่พลเมืองจะออกมาต่อสู้กับทหารที่รัฐประหาร ทหารกลับออกมา “กระชับพื้นที่” ของพลเมืองแทน
 
แต่หากมองในทางกลับกัน สังคมไทยมีเวลาถึงเกือบ 4 ปีในการแก้ไข “ความผิดพลาด” หรือหยุดยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เราจึงอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเองร่วมกันว่าเหตุใดเราจึงมากันถึงวันนี้? และต่อจากนี้ไปเราจะจัดการกับโครงสร้างแบบนี้อย่างไร?
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net