ถึงยุคความสัมพันธ์เชิงอำนาจเปลี่ยน ปชช.ใช้ "สื่อ" ตรวจสอบอำนาจรัฐได้มากขึ้น

 

 

(15 ก.ย.53) อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ (คปส.) อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ปาฐกถาในหัวข้อ "2543-2553 ทศวรรษการปฎิรูปสื่อที่สูญเปล่า?" ที่ห้องประชุมศศนิเวศ จุฬาฯ ว่า สื่อเป็นตัวแทนของคำว่า "สิทธิเสรีภาพ" ในระดับนานาชาติ เสรีภาพสื่อจะเป็นดัชนีชี้วัดว่าสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน สำหรับประเทศไทย จากที่เป็นผู้นำในด้านสิทธิเสรีภาพของอาเซียน ล่าสุดหล่นลงไปอยู่ที่กลุ่ม 25% ล่าง ใกล้ๆ กับประเทศตองกา เป็น partially free หรือแปลเป็นไทย ก็คือไม่มีเสรีภาพ

ประธาน คปส. กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่สิทธิเสรีภาพของสื่อใดถูกลิดรอน สิทธิของประชาชนก็ถูกตัดไปด้วย เสรีภาพเหล่านี้ไม่ได้แยกออกจากกัน แต่เป็นก้อนเดียวกันทั้งหมด และย้ำว่า เสรีภาพเป็นเรื่องของทุกคน แม้ไม่เห็นด้วย แต่ก็ควรปกป้องเสรีภาพนี้ เช่นเดียวกับเสรีภาพของเราเอง

อุบลรัตน์ กล่าวว่า ในอนาคตจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าการกลับข้างกันของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จากการที่เทคโนโลยีอนุญาตให้สื่อสารได้ด้วยตัวเอง ผู้รับหรือผู้บริโภคจะผลิตสื่อเองและทำการสื่อสารด้วยตัวเอง ไม่ต้องการให้ใครมาพูดแทน ซึ่งจะทำให้ทิศทางนโยบายสื่อเปลี่ยนเป็นจากล่างขึ้นบนและไม่รวมศูนย์

เธอบอกว่า ประชาชนพลเมืองที่เคยถูกคุมโดยอำนาจรัฐ จะควบคุมการบริหารงานของรัฐได้มากขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT 200 ที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกลุ่มหว้ากอในพันทิป โดยมีข้อมูลข่าวสารจากสำนักข่าวบีบีซี อังกฤษ ซึ่งรายงานในประเด็นเดียวกันนี้หนุนหลังอีกแรง อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลข่าวสารจะทำให้เราตาสว่าง เห็นปัญหาการบริหาารงานของรัฐ หน่วยงานที่ซื้อเครื่องนี้อาจรู้สึกล่อนจ้อนที่ถูกเปิดเผยให้เห็นว่าตัวเองทำอะไรอยู่ แต่ปัญหาก็ไม่จบในตัวเอง เพราะดุลอำนาจยังไม่มากพอ อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก็ถือว่าได้เริ่มต้น และสิทธิเสรีภาพไม่ใช่เรื่องจับต้องไม่ได้อีกต่อไป

อุบลรัตน์ ระบุว่า จินตนาการปฎิรูปสื่อในช่วงสามสี่ปีมานี้เป็นของมวลชนกลุ่มใหม่ที่สร้างความกระสับกระส่ายให้อำนาจรัฐ โดยใช้อำนาจผ่านเทคโนโลยีสื่อใหม่ เมื่อถูกปิดเว็บก็หนีไปเปิดใหม่ หรือไปเผยแพร่ผ่านดาวเทียม โดยที่สื่อใหม่ๆ เหล่านี้ไม่ได้จัดตั้งคนแบบเก่าแบบที่รัฐจัดตั้งผ่านวิทยุแห่งประทเศไทย แต่ผู้ใช้สื่อ-ผู้ผลิตไปจัดตั้งและถูกจัดตั้งด้วยคนกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่อำนาจรัฐ นี่เป็นข้อที่น่าพิสมัย มีเสน่ห์ ท้าทาย แต่สร้างความวิตกอย่างยิ่งให้รัฐ เราถูกจัดตั้งโดยกูเกิ้ล จีนก็ปิดกูเกิ้ล หมอตุลย์จัดตั้งผ่านเพื่อนบนเฟซบุ๊คจนมีกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล มีการจัดตั้งในทวิตเตอร์ เริ่มมีการรวบรวมสร้างมวลชนอยู่เรื่อยๆ ผ่านอำนาจของสื่อบูรณาการ

อุบลรัตน์ มองว่าสำหรับการปฎิรูปสื่อในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งพยายามลดการผูกขาดสื่อของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพนั้น คว้าน้ำเหลว แต่ก็ได้เรียนรู้กระบวนการในแต่ละขั้น ได้ประสบการณ์ เรียนรู้ มองเห็นแง่มุมของสิทธิเสรีภาพและภูมิทัศน์สื่อ ทั้งนี้ เสริมว่า ที่ผ่านมา อาจไม่เดียงสาว่าแรงต้านทานมีสูง ผู้ต้านมีอำนาจมาก โดยเฉพาะในปี 2549

อย่างไรก็ตาม อุบลรัตน์มองว่า การปฎิรูปสื่อไม่ได้สูญเปล่า เพราะมีสื่อทางเลือกเกิดขึ้น มีเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กๆ จำนวนมาก วิทยุท้องถิ่นกว่าหกพันสถานี มีผู้บริโภค ผู้ประกอบการ นักวิชาชีพสื่อรุ่นใหม่ ที่มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น แต่ก็อาจจะต้องฟังกันมากขึ้นด้วย เพื่อให้เกิดการสื่อสารขึ้นจริงๆ นอกจากนี้ยังเกิดการเมือง Digital Politics เช่นกรณีที่มีแฟนๆ พีทีวีไปปกป้องสถานีสัญญาณดาวเทียมซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ใช้ทหารไปปกป้อง ซึ่งก็ปรากฎว่าปกป้องไม่ได้ ซึ่งน่าสนใจที่พลังของแฟนๆ ที่จะปกป้องสื่อของตัวเอง ดันให้ฝ่ายรัฐถอยไปจากบริเวณนั้นได้ และรัฐวิตกขนาดประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งจนปัจจุบันยังคงประกาศใช้อยู่

ทั้งนี้ ในงานมีการเปิดตัวหนังสือ "จินตนาการปฎิรูปสื่อในทศวรรษหน้า" ซึ่งเป็นผลจากรายงานการศึกษาเรื่องจินตนาการปฎิรูปสื่อในทศวรรษหน้า โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต มูลนิธิหนังไทย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อฯ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และ Siam Intelligence Unit ซึ่งศึกษาทิศทางการสื่อสารด้านสื่อ 4 ประเภท ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และภาพยนตร์ โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ http://thmedia2020.wordpress.com

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ จาก Siam Intelligence Unit กล่าวถึงข้อเสนอในการปฎิรูปสื่ออินเทอร์เน็ตว่า รัฐควรลงทุนกับอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น โดยมองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ ต่อประเด็นเรื่อง ไเนื้อหา" ในอินเทอร์เน็ต รัฐควรหาแนวทางกำกับดูแลเนื้อหาที่ชัดเจนและมีมาตรฐาน ขณะที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของผู้ใช้

ส่วนข้อเสนอต่อภาคประชาสังคมนั้น อิสริยะระบุว่า ภาคประชาสังคมควรมองอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เสียงเล็กๆ มีความหมายมากขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณี นพ.ตุลย์ ระดมผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อหลากสีผ่านทางเฟซบุ๊ค ขณะที่หลังการชุมนุม นายสมบัติ บุญงามอนงค์ก็รณรงค์กิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงผ่านทางเฟซบุ๊คเช่นกัน ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงควรช่ยกันปกป้องความเป็นอิสระของอินเทอร์เน็ต ไม่ให้หน่วยงานใดเข้ามาควบคุมได้โดยง่าย

ด้านสัณห์ชัย โชติรสเศรณี มูลนิธิหนังไทย กล่าวถึงข้อเสนอต่อการปฎิรูปสื่อภาพยนตร์ว่า รัฐต้องเข้ามาควบคุมเรื่องการผูกขาดทางธุรกิจ เพราะจะเป็นอันตรายต่อผู้เล่นรายใหม่ๆ โดยยกตัวอย่างเจ้าของโรงภาพยนตร์หลายรายที่มีทั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ของตัวเอง นำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ ขายดีวีดี รวมถึงมีช่องทีวีดาวเทียมเป็นของตัวเองอีกด้วย ทั้งนี้ พบว่าหนังกระแสหลัก มีระยะเวลาฉายน้อยลง โดยมีรายได้ 4 วันแรกเป็นตัวตัดสิน หากคนดูน้อย วันจันทร์หนังก็จะหายไปแล้ว ขณะที่หนังนอกกระแส แม้จะได้ฉายในโรงมากขึ้น แต่ก็พบว่าต้องเป็นหนังที่ได้รับรางวัลจากต่างประเทศ เช่น "ลุงบุญมีระลึกชาติ"

นอกจากนี้ สัณห์ชัยยังเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ซึ่งจำกัดการแสดงความเห็น ผูกขาดความคิด โดยวิจารณ์ว่า หนังที่ได้ "ส." หรือ ส่งเสริมการเรียนรู้ นั้น ไม่ต่างจากการโฆษณาชวนเชื่อสมัยนาซี โดยยกตัวอย่างว่า กรณีหนังนเรศวร แม้จะมีการใช้ความรุนแรงในเรื่องอย่างไรก็คงได้อยู่ในหมวด "ส." แน่ เพราะส่งเสริมการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ รวมถึงกรณีที่แม้จะมีการจัดเรตติ้งอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการเซ็นเซอร์หรือห้ามฉายหนังอยู่ นอกจากนี้ หนังที่ถูกมองว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดี หรือความมั่นคง ยังถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ โดยยกตัวอย่างกรณี หนัง "นาคปรก" ที่ถูกให้ขึ้นข้อความระหว่างหนังฉาย เช่น "พระสักไม่ได้" หรือ "พระแตะเนื้อต้องตัวสตรีไม่ได้" ราวกับไม่เชื่อว่าคนดูตัดสินเองได้

เขาเสนอว่า อยากให้รัฐสนับสนุนการควบคุมกันเองในวงวิชาชีพ รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนเป็นผู้ตั้งหน่วยงานตรวจสอบคนทำหนังเอง โดยรัฐมีหน้าที่แค่เปิดพื้นที่ให้องค์กรเหล่านี้ โดยยกตัวอย่าง กลุ่มของพ่อแม่ผู้ปกครองใน http://www.parentpreviews.com/ ซึ่งไม่ยอมรับการจัดเรตติ้งของกลุ่มภาพยนตร์ จึงจัดเรตติ้งของตัวเอง รวมถึงมีนักจิตวิทยาเด็กให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาพยนตร์ด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท