Skip to main content
sharethis

สุเนตร ชุตินธรานนท์” มองพม่านอกกรอบตะวันตก โดยชี้ให้เห็นความพยายามในการสร้าง “สิทธิธรรม” ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรมเพื่อสืบทอดอำนาจของนายพลพม่า ในขณะที่จัดการเลือกตั้ง "7 พ.ย." แล้วจะไม่ยอมรับผลหากแพ้แบบ 20 ปีก่อนก็ทำไม่ได้แล้ว จึงต้องทำการเลือกตั้งให้ “เป็นไปตามโผ” เป็น “mission” ที่สำคัญของรัฐที่ต้องทำให้ผลเป็นไปอย่างที่ต้องการ

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) ร่วมกับศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษาเพื่อการพัฒนา ได้จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์พม่า: ความหลากหลาย อำนาจ ความรู้ และความเป็นอื่น” นำเสนอโดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียดดังนี้ (หมายเหตุ: ตัวเน้นและคำโปรยเป็นการบรรณาธิกรโดยประชาไท)

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลไม่ถ่ายโอนอำนาจ ตั้งแต่ปี 1990 จนปัจจุบัน จนจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ สิ่งที่กองทัพทำคือการปฏิเสธถ่ายโอนอำนาจ ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นคือจะอธิบายความชอบธรรมทางอำนาจหรือ “political legitimacy” อย่างไร ตรงนี้เป็นปัญหาที่แหลมคมขึ้นมาทันที ทำให้ท้ายที่สุด รัฐบาลพม่าไม่มีทางเลือกมาก จึงต้องกลับไปสู่เวทีการเลือกตั้งอีกครั้ง จะช้าหรือเร็วก็ต้องไป ปัญหาคือรัฐบาลพม่าจะทำอย่างไรไม่ให้ผลการเลือกตั้งออกมาแบบเมื่อที่ผ่านมาคือฝ่ายค้านชนะ 80% แล้วจะมาบอกว่าไม่เอาผลการเลือกตั้งไม่ได้แล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือสร้างความแน่ใจ ว่าหากมีการเลือกตั้ง จะไม่มีการถ่ายโอนอำนาจของรัฐจากกองทัพไปสู่ฝ่าย pro democracy เหมือนที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง

สำหรับกระบวนการนี้ รัฐบาลพม่าใช้เวลา 20 ปี เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง เรียกได้ว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามโผที่รัฐบาลอยากให้เป็น เป็น mission ที่สำคัญของรัฐที่ต้องทำให้ผลเป็นไปอย่างที่ต้องการ”

 

มองพม่าผ่านมุมมองแบบพม่า

อาจารย์สุเนตรเริ่มต้นกล่าวถึงประเด็นของ “พม่า” ในการบรรยายว่า โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อมีพูดถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของพม่า จะมีกรอบการศึกษาอยู่เสมอ ประเด็นแรก เป็นกรอบที่ว่าคนส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคย ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่ โดยกรอบสำคัญที่ว่าคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภาวะปัจจุบัน เวลานี้อ่านบทความพม่าที่ไหนหรือไปฟังเรื่องพม่าที่ไหน ประเด็นการเลือกตั้งถูกชูเป็นประเด็นสำคัญ เราสนในภาวะปัจจุบันเป็นสำคัญ ส่วน ประการที่สอง คือเวลามองพม่าเราะจะมองผ่านแว่นของคนอื่นเสมอ คือคนไทยด้วยกันเอง หรือจากจุดยืนหรือมุมมองของเราเป็นสำคัญหรือข้อมูลผ่านโลกตะวันตก ซึ่งเป็นข้อมูลผูกขาดการรับรู้เรื่องเของพม่าจากเวทีนานาชาติ แต่ไม่เคยศึกษาจากมุมมองของพม่า

ในคำว่า “พม่า” มีหลายคิดหลายและมิติที่หลากหลาย เช่นคำว่าพม่า อาจจะหมายถึงคนพม่าที่อยู่ในประเทศ หรือคนที่ลี้ภัยหรือประกอบธุรกิจการค้านอกประเทศ พม่ากลุ่มที่เป็นกองทัพ หรือประชาชนทั่วไป หรือเป็นพม่าที่เป็นชาติพันธุ์เบอมัน (Burman) หรือที่เป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย หลายคนอาจจะเกิดคำถามขึ้นในใจว่าการบรรยายครั้งนี้จะมองจากส่วนไหน ซึ่งจะเป็นการมองจากเงื่อนไขภายในของภาครัฐหรือบทบาทของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้สะท้อนทั้งหมดของความเป็นพม่า แต่เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความเข้าใจเรื่องพม่าที่ผ่านมาและในปัจจุบัน เมื่อตีกรอบว่าจะศึกษาพม่าจากผู้นำหรือผู้ปกครองเป็นสำคัญ ปัจจัยสำคัญคือเน้นเรื่องการเมืองเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจ หรือเงื่อนไขในการใช้อำนาจของรัฐ หรือพม่ากับชนกลุ่มน้อย และพม่ากับต่างประเทศ เช่น จีนและอินเดีย และหากเรามองกลับไปที่ภายในของพม่า กิจกรรมของพม่ามีหลากหลายมหาศาลมาก บางครั้งไม่สามารถตีแบ่งแยกแยะว่าเป็นการเมือง ศาสนา สังคม และประวัติศาสตร์ เพราะสิ่งเหล่านี้มีการร้อยรัดเข้าด้วยกัน อย่างการย้ายเมืองเหลืองจากกรุงย่างกุ้งไปที่เนปิดอ ก็สามารถอธิบายได้หลายมิติทั้งการเมือง ศาสนา ประวัติศาสตร์ ขึ้นอยู่กับจะเอามิติส่วนไหนมานำเสนอ แต่ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากตรรกะทางการเมืองมาเป็นตัวตั้ง คือมีลักษณะสมเหตุสมผลและ scientific (เป็นวิทยาศาสตร์) หรือไม่ ซึ่งบางครั้งไม่สามารถอธิบายได้เพียงมิติใดมิติหนึ่งนั้นเท่านั้น

การบรรยายนี้จึงอยากเอาภาคส่วนอื่น ที่ไม่ได้พูดถึงในเชิงบทบาทของผู้นำพม่า โดยเริ่มแรกในมิติประวัติศาสตร์ และผู้นำพม่าใช้ประวัติศาสตร์อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอำนาจความชอบธรรมทางการเมือง การกล่อมเกลาทางสังคม ตัวอย่างของการย้ายเมืองหลวงเป็นต้น แต่พอจับในรายละเอียด ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ทั้งสามสิ่งหล่อหลอมกลมกลืนในตัวเอง ดังนั้น จะพูดเรื่องเหล่านี้ที่สัมพันธ์กัน โดยดูผ่านกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อดูว่าจะทำให้เราเข้าใจพม่าอย่างไร

เมื่อพูดเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาของนักประวัติศาสตร์ว่าจะมีจุดเน้นตรงไหน กรอบอยู่ตรงไหน การแบ่งยุคการเมืองพม่าทำได้หลายวาระ เช่น หลังการประกาศเอกราช มีการการแบ่งการเมืองได้หลายแบบ ยุคเนวิน หรือแบ่งตั้งแต่ปี 1988 ก็ได้อีกรูปแบบหนึ่ง

หากใช้กรอบการแบ่งตั้งแต่ปี 1988 หรือตั้งแต่ช่วงปี 1990 ถึงปัจจุบัน การอรรถาธิบายต้องย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ในปี 1988 ด้วยเมื่อเป็นกรอบนี้ เราต้องเข้าใจว่าประวัติศาสตร์ที่ผันแปรหรือช่วงเปลี่ยนแปลงจะใช้ปี 1988 เป็นจุดตัดช่วง และเป็นจุดเริ่มต้นเคลื่อนไหวทางการเมือง คือการลุกฮือของประชาชน ถ้าดูงานจากตะวันตกมักจะใช้คำว่า “popular revolution” หรือ “people revolution” แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหมือน 14 ตุลาอย่างในประเทศไทย เพราะท้ายที่สุดกองทัพก็กลับมายึดอำนาจได้เหมือนเดิม ถึงแม้ว่าจะการลุกฮือทั้งในเมืองหลวงและอื่นๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่เนวินขึ้นมาเถลิงอำนาจตั้งแต่ปี 1962 ซึ่งมีงานศึกษาเรื่องนี้มากมายแล้ว ผลจากการเหตุการณ์นี้ทำให้เนวิน ซึ่งครอบอำนาจมาเป็นเวลาช้านานในฐานะประธานาธิบดี ต้องก้าวลงจากอำนาจ จะลงจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่อง แต่จำเป็นต้องให้คนอื่นมารั้งสถานนะนั้นเอง ในเดือนกรกฎาคม 1988 นายพลเส่งลวิน (Sein Lwin) ประธานาธิบดีพม่า ซึ่งเป็นนายทหารมีกิตติศัพท์ “the butcher of Rangoon” เพราะเอากองกำลังปราบประชาชน ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง แต่อยู่ได้แค่ 2 เดือน ก็ต้องลงจากตำแหน่งและให้ ดร.หม่องหม่อง  (Maung Maung) พลเรือนซึ่งเป็นคนสนิทของเนวินขึ้นมาทำหน้าที่แทนในวันที่ 19 สิงหาคม 1988 แต่อยู่ได้ไม่เกินเดือน เพราะไม่สามารรถทำให้เกิดความสงบได้

ในขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่าเกิดปฏิวัติภายใน ทหารเก่าไม่พอใจที่เนวินไม่สามารถเอาความสงบภายในประเทศกลับมาได้ จึงเกิดรัฐประหารกลายๆ ในวันที่ 18 กันยายน 1988 ทำให้เกิดกลุ่มของนายพลซอหม่อง (Saw Maung) ตั้ง สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council) หรือสล็อร์ก (SLORC) โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการมาสร้างความสงบ และสัญญาจะว่าให้มีการเลือกตั้ง และในที่สุดการเลือก 16 มิถุนายน 1990 หลังจาก 28 ปีที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งขึ้นมาเลยตั้งแต่เนวินขึ้นในปี 1962 ได้เกิดการเลือกตั้งที่มีประชาชนที่มีสิทธิในการเลือกตั้งจำนวน 28.2 ล้านคน จำนวน 75% ของผู้มีสิทธิทั้งหมดออกมาเลือกตั้ง ในขณะนั้นมีพรรคการเมืองทั้งหมด 234 พรรค แต่พรรคลงเลือกได้จริงๆ เพียง 93 พรรค พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะเลือกตั้ง ได้จำนวนผู้แทนถึง 392 จาก 489 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 80 ส่วนพรรค UNP ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาลได้ 10 ที่นั่ง

ปรากฏว่า SLORC ปฏิเสธการถ่ายโอนอำนาจ ทั้งนี้ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกในปี 1992 เป็นการขึ้นมาของกลุ่มทหารที่มีบทบาทสำคัญในการรบกับชนกลุ่มน้อย เป็นทหารระดับภูมิภาค คนกลุ่มนี้มีตานฉ่วย และหม่องเอ ร่วมกับกลุ่มที่มีฐานอำนาจเดิมอย่าง ขิ่น ยุ้นต์ ซึ่งใกล้ชิดกับเนวิน ช่วงเวลานี้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้นำอย่างเป็นรูปธรรม เพราะฐานอำนาจเดิมค่อนข้างอาวุโสและสัมพันธ์กับการต่อสู้ในช่วงอาณานิคมกับอังกฤษและญี่ปุ่น ที่เป็นสายนายพลอองซาน ซึ่งกลุ่มใหม่มีบทบาทใหม่ในการรบในสนามจริง

อย่างไรก็ตาม จะเป็นกลุ่มไหนขึ้นมาก็แล้วแต่ มันไม่เกิดกระบวนการส่งอำนาจจากการเลือกตั้งจากกองทัพสู่ฝ่าย pro democracy ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมกองทัพถึงคงอำนาจได้ยาวนานเหลือเกิน แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นนั้น ถ้าประเทศไทยคงทำไม่ได้ มีการตั้งข้อสังเกตว่ากองทัพมีอำนาจยึดครองทรัพยากรและอาวุธต่างๆ อีกมิติหนึ่งคือภายในของพม่ามีปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่กองทัพ แต่อยู่คนละฝ่ายกับกองทัพ นั่นคือปัญหาความเป็นเอกภาพ (unity) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ พรรค NLD ส่วนหนึ่งก็ไม่ไว้วางใจคนกลุ่มน้อย เพราะเกรงว่าจะมีสิทธิในการปกครองตนเอง (demand for autonomy) กลุ่ม NLD เองก็ไม่ได้สร้างสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ขณะที่คนกลุ่มน้อยจริงๆ แล้วเป็นองค์ประกอบที่ไม่น้อยในพม่า คือ 35% และเคลื่อนไหวทางการเมืองและเชิงอำนาจมาตลอด คือไม่ไว้วางใจพวกขับเคลื่อนประชาธิปไตยว่ามีความคำนึงกับสิทธิชนกลุ่มน้อยมากเพียงไหน

ภาวการณ์คือหากอำนาจหลุดมือไปอยู่ในมือพลเรือน ประเทศจะมีเอกภาพหรือไม่ถ้าทหารไม่คุม อันนี้ให้ความชอบธรรมกับกองทัพในการสืบสานอำนาจ แต่คนก็เบื่อหน่ายอย่างยิ่งกับการปกครองของกองทัพในหลายประประเด็น เช่น หนึ่ง ความไม่แน่นอนในการบริหาร เหตุการณ์ลดค่าเงินจ๊าต เช่น มีธนบัตรใบละ 1,000 ในกระเป๋า รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีเลิกให้ใช้ธนบัตร ปรากฏว่าเงินที่มีอยู่แลกไม่ได้ อันนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญ เหมือนกับเหตุการณ์ของประท้วงของพระหรือที่เรียกว่า “saffron revolution” คือการขึ้นค่าน้ำมัน อาจจะมีคนตั้งคำถามว่าแล้วพระเกี่ยวอะไร แต่มันส่งผลต่อประชาชน ทำให้ประชาชนต้องใช้มีค่าใช้จ่ายสูง ก็จะทำไม่มีเงินมาทำบุญตามมา อันนี้คือการตีความว่ามันเป็นปัญหา การควบคุมทางการเมืองและปราบปรามอย่างเฉียบขาด เช่น วันนี้ตนเองวิจารณ์รัฐบาลวันนี้ ไม่คิดว่า ศอฉ. จะเรียกตัวไปพรุ่งนี้ แต่ในพม่าหากคุณนินทาพม่าในร้านกาแฟ กลางคืนอาจจะโดนเรียกไปอบรม หรือพวกชอบเปิดเว็บไซต์ต่างจะโดนพม่าเอาไปขังเป็น 20-30 ปีเลย

นี่คือการปกครองในลักษณะที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีใครอยากถือเงินจ๊าต ถ้าจำไม่ผิด 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทางการสามารถแลก ได้ 6 จ๊าต แต่ในตลาดมืดแลกได้ 1,000 จ๊าต รวมถึงการขาดสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ คนเมืองร่างกุ้งที่เป็นเมืองหลวง ต้องคอยดูว่ากี่วันจะได้ไฟในหนึ่งอาทิตย์ อีกกี่วันไฟจะปิด อันนี้ทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร กลัวว่าถ้าไม่มีทหารประเทศจะไม่มีความเสถียรภาพ จะแตกกระจายเป็นเล็กน้อยหรือไม่

 

การเลือกตั้ง-วัฒนธรรม-ชาตินิยม เพื่อรักษาความชอบธรรม

สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลไม่ถ่ายโอนอำนาจ ตั้งแต่ปี 1990 จนปัจจุบัน จนจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ สิ่งที่กองทัพทำคือการปฏิเสธถ่ายโอนอำนาจ ปัญหาแรก ที่เกิดขึ้นคือจะอธิบายความชอบธรรมทางอำนาจหรือ “political legitimacy” อย่างไร ตรงนี้เป็นปัญหาที่แหลมคมขึ้นมาทันที ทำให้ท้ายที่สุด รัฐบาลพม่าไม่มีทางเลือกมาก จึงต้องกลับไปสู่เวทีการเลือกตั้งอีกครั้ง จะช้าหรือเร็วก็ต้องไป ปัญหาคือรัฐบาลพม่าจะทำอย่างไรไม่ให้ผลการเลือกตั้งออกมาแบบเมื่อที่ผ่านมาคือฝ่ายค้านชนะ 80% แล้วจะมาบอกว่าไม่เอาผลการเลือกตั้งไม่ได้แล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือสร้างความแน่ใจ ว่าหากมีการเลือกตั้ง จะไม่มีการถ่ายโอนอำนาจของรัฐจากกองทัพไปสู่ฝ่าย pro democracy เหมือนที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง

สำหรับกระบวนการนี้ รัฐบาลพม่าใช้เวลา 20 ปี เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง เรียกได้ว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามโผที่รัฐบาลอยากให้เป็น เป็น mission ที่สำคัญของรัฐที่ต้องทำให้ผลเป็นไปอย่างที่ต้องการ

ปัญหาที่สอง คือการตกค้างมาก่อน 1990 คือปัญหาชนกลุ่มน้อย ที่ฝังรากมาช้านาน mission นี้คือทำให้การฟื้นฟูระเบียบ ที่สำคัญประการหนึ่งคือการจัดการกับสิทธิเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยให้ได้ด้วย จึงเป็น 2 เรื่องที่เป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้ แต่สิ่งหนึ่งคืออำนาจของรัฐต้องอยู่ในมือกองทัพ เงื่อนไขนี้ส่งผลให้มีกิจกรรม 2 กิจกรรมหลัก เป็นปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อให้ได้ผลที่คาดหวัง เช่น ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ในเดือนมกราคม 1993 การขับเคลื่อนเรื่องเจรจาการหยุดยิงที่เริ่มตั้งแต่ปี 1991 โดยกลุ่มแรกคือองค์กรแห่งชาติปะโอ (Pa-O national organization) และต่อมาการที่ขุนส่ายอมวางอาวุธ กระบวนการนี้ยืดเยื้อตั้งแต่ 1990 และการทำแผน roadmap ที่เกิดจากความไม่เรียบร้อยตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งรัฐบาลก็ทำตามทุกอย่างตามขั้นตอนที่ว่า โดยมีคำว่า “อยู่ในกฎเกณฑ์เสมอ” หรือ “discipline democracy” ไม่ว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ทำประชามติในช่วงเกิดพายุนาร์กีส จัดให้การเลือกตั้ง และเปิดรัฐสภาในเวลาต่อมา และต่อไปคือการสร้างชาติให้ทันสมัย และมีกิจกรรมอีกมากมายที่อยู่ในเงื่อนไขที่รัฐบาลต้องทำ ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างโดยสังเขป ที่เริ่มจากปี 1990 ที่ใช้เวลา 20 ปี กรอบเวลาตรงนี้มันบอกอะไรเรา คือ หนึ่งการสร้างกรอบของกองทัพ นับแต่การเลือกตั้งในปี 1990 มาถึงขั้นตอนที่ มีการเลือกตั้งกินเวลา 20 ปีที่ปฏิเสธการถ่ายโอนอำนาจ รัฐบาลอาศัยความชอบธรรมอะไร และต้องนั่งอยู่ในอำนาจก่อน อธิบายความชอบธรรมที่อยู่บนเก้าอี้ของการปกครองของประเทศอย่างไร เขาอธิบายอย่างไร

ปัญหาที่สาม คือกองทัพไม่สามารถดำเนินแผนปฏิบัติการทางการเมืองได้ปกติสุข อย่างการกักบริเวณ ออง ซาน ซูจี หรือ ปัญหาชนกลุ่มน้อย และกองทัพก็ยังอ้างความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจ พิจารณาได้จากสิ่งที่ร่างในรัฐธรรมนูญ เช่น ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาร้อยละ 25 ต้องแต่งตั้งจากกองทัพ กระทรวงสำคัญอย่างกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน ต้องอยู่ในอำนาจทหาร คนเป็นประธานาธิบดีต้องมีประสบการทหารมาก่อน กองทัพจึงยังคงอำนาจอยู่ ขอชี้ให้เห็นประเด็นเรื่องกรอบเวลา และเป้าหมายของรัฐบาล เพราะรัฐบาลพม่าก็เหนื่อยเหมือนกัน ปัญหาอยู่ที่ไหน กติกาสากลมันถูกล้มซะเองโดยทหาร เพราะไม่สามารถใช้กติกามาคงไว้ซึ่งอำนาจได้ รัฐบาลจึงมองกลับไปสู่หลักธรรมแห่งอำนาจเดิมสมัยเก่าแก่ เป็นกลไกทางอำนาจในการแสดงถึงความชอบธรรม ปฏิบัติการศาสนา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม (cultural norms and popular beliefs) เพื่อ หนึ่ง ให้ความชอบธรรมกับกองทัพในการปกครอง สอง ลดความสำคัญของฝ่ายตรงข้ามโดยปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม ที่ถูกขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณอย่างมหาศาลและสอดประสานกับปฏิบัติการทางการเมืองที่ควบคู่กันไป

โดยมีลักษณะเด่นของปฏิบัติการ 3 แนวทาง ประกอบด้วย

หนึ่ง ใช้กลไกทางวัฒนธรรมแต่โบราณกาลก่อนได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม1948 ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมทางอำนาจ

สอง การสร้างวีรบุรุษทางประวัติศาสตร์ชุดใหม่เพื่อตอกย้ำผู้นำตั้งแต่หลังยุค 1990 โดยเน้นความเป็นเอกภาพและเป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้ผู้นำชาติพันธุ์พม่าและกองทัพ

สาม ปลุกจิตสำนักชาตินิยมเพื่อต่อต้านจักรวรรดิภายในประเทศและนอกประเทศ

 

แนวทางแรก คือการใช้กลไกวัฒนธรรมโบราณ สิ่งนี้มีปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์พม่า กษัตริย์พม่าอ้างตนเองพระธรรมราชา หรือพระโพธสัตว์ คือการเป็น “the righteous king” การเป็นพระธรรมราชาคือเป็นองศาสนูปถัมภก ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ (belief factor of the religion) หรือเรียกตามภาษาว่า “ตาตานาดายากา” โดยต้องทำกิจกรรม เช่น การซ่อมสร้างเจดีย์ ขุดสระรอบวัด สร้างวัด ศาลา พระพุทธรูป ทำให้คนอื่นยอมรับว่าท่านเป็นผู้ปกครองโดยธรรม ตัวอย่างเช่นการสร้างเจดีย์เก็บพระบรมสารีริกธาตุ (the sacred tooth relic pagoda) ในปี 1994 เจดีย์องค์นี้ใหญ่มากและการใช้เงินสร้างลงทุนมหาศาลในบริเวณที่เป็นเนิน ซึ่งสร้างไว้ 2 แห่งคือเนินทำมาปาระ และเนินมหาจำมาราสี ในเมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ตามมา เรื่องนี้มีความเป็นมาว่าในปีดังกล่าว พม่าได้ยืมพระเขี้ยวแก้วจากจีนมาบูชาและแห่เฉลิมฉลองทั้งประเทศ ซึ่งมีความเชื่อว่าเขี้ยวแก้วนั้นมี 4 ซีกประจำอยู่ที่ สวรรค์ บาดาล เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาและประเทศจีน กษัตริย์พม่าบูชาพระเขี้ยวแก้วมาก ซึ่งปรากฏในประวัติศาสตร์ด้วย เช่น กษัตริย์บุเรงนองตัดผมยาวไปบูชาพระเขี้ยวแก้วที่ศรีลังกา ตรงนี้จึงเป็นแนวคิดให้พม่าสร้างพระเขี้ยวแก้วจำลองและสร้างพระวิหารไว้บรรจุ ซึ่งมีลักษณะเหมือน วิหารเจดีย์อนันดาที่เมืองพุกาม ทำประตู 9 ประตู เพดานปิดทองคำเปลวจริงหมด แล้วมีครอบครัวหม่องเอมาทำพิธียกฉัตรพระเจดีย์ซึ่งมีความสำคัญ และต้องลงในหนังสือพิมพ์ The New Light of Myanmar และถ่ายทอดทางทีวี

นอกจากนี้ยังมีสร้างพระพุทธรูปหินอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกชื่อ “Lawka Chantha Abhaya Babha Muni” สร้างใกล้สนามบินในปี 2000 ซึ่งแนวคิดแบบนี้ก็มีระบุไว้ในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน เช่น การสร้าง “the Naha Thet Kya Yanthi” โดยกษัตริย์ตะนินกะเนว่ (Taninganwe) ในช่วงปี 1714-1733 สมัยอังวะที่เห็นว่าหินอ่อนเป็นประหนึ่งอัญมณี และมีการใช้หินอ่อนมาสร้างเจดีย์ หรือกษัตริย์บาจีดอ (Bagyidaw) ในช่วงปี 1819 - 1837 ที่รบแพ้อังกฤษ แต่สร้างพระพุทธรูปหินอ่อนที่สวยงามมากที่สุด ต่อมาภายหลังพระเจ้ามินดงจากที่ย้ายเมืองหลวงจากอัมระปุระไปมัณฑะเลย์ แล้วประชาชนคิดถึงพระพุทธรูปหินอ่อน เลยสร้างอีกองค์อยู่ที่ตีนเขามัณฑะเลย์ ชื่อว่าเจ้ากฺอ่อจี (Kyaauk aw gyi Buddha) การที่พระองค์สร้างพระพุทธรูปจึงเป็นบารมีอันยิ่งใหญ่ จะเห็นว่าเขาสร้างมากจากสิ่งที่เป็นรากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ดังนั้น ผู้ปกคอรงยุคนี้จึงคิดสร้างสักองค์หนึ่งให้ใหญ่กว่าทุกองค์ที่เคยสร้างมาทั้งหมด และสร้างวัดให้พระพุทธรูปประดิษฐานไว้ รวมทั้งแก้วครอบทั้งองค์เพราะกลัวว่าจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี โดยสร้างจากหินอ่อนก้อนใหญ่ก้อนเดียว ซึ่งหินก้อนนี้ต้องขนลงเรือมา แกะมาเป็นโครงก่อนและสลักอีกทีที่ยางกุ้ง เหล่าแม่ทัพในกองก็ต้องแสดงตนเป็น “ตาตานาดายากา” คือผู้ให้การอุปการะ หม่องเอ ตานฉ่วย และขิ่น ยุ้นต์ ต่างมีรูปของตัวเอง ทั้ง 3 คนมาร่วมกันทำกริยาบุญนี้ ภาพวาดส่วนใหญ่ตอนนั้นยังเน้นที่ขิ่น ยุ้นต์ ซึ่งตรงนี้เป็นกิจกรรมทางศาสนาอีกอย่างหนึ่งคือต้องเล่าตำนานการสร้างวัดวาอาราม ใครเป็นคนสร้างก็ต้องแสดงผ่านกิจกรรมฝาผนัง ตอนนั้นขิ่น ยุ้นต์ ยังมีอำนาจจึงเลยมีรูปของเขามากหน่อย หลังจากนั้น พอผู้นำทะเลาะกัน จะทำอย่างไงดี เพราะขิ่น ยุ้นต์ไปแล้ว เมื่อตนเองได้กลับไปดูรูปอีกรอบ ปรากฏว่ารูปขิ่น ยุ้นต์ถูกลบหายไป กลายเป็นใครก็ไม่รู้ ลักษณะนี้เหมือนกษัตริย์อียิปต์สมัยก่อน ที่ไม่ชอบใครก็มาเคาะรูปสลักทิ้งไป อันนี้เป็น politics ซ้อน politics การศึกษาเรื่องนี้จึงต้องหมั่นไปบ่อยๆ และสังเกต

งานสร้างพระนี้ยังไม่ใช่งานใหญ่ งานใหญ่คืองานยกฉัตรเจดีย์ชเวดากอง ในประวัติศาสตร์ กษัตริย์มินดงได้ทำเป็นคนสุดท้ายในปี 1871 และ SPDC มาทำพิธีอีกครั้งในวันที่ 4 เมษายนปี 1999 ซึ่งประเพณีนี้ใหญ่โตมากและต้องเป็นผู้มีบุญบารมีมาก พอสิ้นฤดูฝน เขาจะเอาทองที่หลุดมาเคลือบพระเจดีย์ใหม่ ซึ่งเข้าใจว่าเรื่องยกฉัตรเป็นเรื่องใหญ่เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปเทียวพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่จัดห้องใหญ่ห้องหนึ่งเป็นเรื่องยกฉัตรนี้อย่างเดียวเลย อันนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมใหญ่ในยุคนั้น นอกจากนี้ ที่ทะเลสาบอินเล (Inle Lake) ในรัฐฉาน ก็มีประเพณีแห่พระจากวัดปองโดกู ซึ่งรัฐบาลพม่าก็ให้ความสำคัญ เช่น หม่องเอไปแห่พระตั้งแต่ปี 1998 - 2000 ซึ่งเป็นข้อมูลจากวิทยานิพนธ์เล่มหนึ่งในช่วงที่มีการไปเก็บข้อมูล ที่สำคัญมีการเจอช้างเผือกในปี 2001 จากป่ารัฐอาระกัน และสร้างโรงเก็บข้างเผือกใกล้ๆ กับพระพุทธรูปหินอ่อน อันนี้เป็นการสร้างบุญบารมีของผู้ปกครองอีกเช่นกัน

 

สิทธิธรรมของนายพล

กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นภาคส่วนกับการเป็น “righteous king” ที่ต้องทำอีกสิ่งหนึ่งคือ การสร้างพระนคร เป็นของที่เจอเสมอในพม่า กษัตริย์ตั้งแต่องค์แรกสุดเลย และการสร้างพระนครต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระอิศวร พระอินทร์ กิจกรรมสร้างเมืองไม่ใช่เรื่องของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่มีเทพมาช่วย และต้องเป็นคนที่มีบุญบารมีถึงจะมีเทพมาช่วย เช่น บุเรงนอง (Bayinnaung) สร้างเมืองหงสาวดีใหม่ซ้อนในปริมณฑลเมืองเดิม หรือกษัตริย์ปาจีดอสร้างเมองอังวะใหม่ กษัตริย์ปะดุงปดาพญาก็ย้ายเมืองใหม่ไปอัมมะปุระ และกษัตริย์มินดงย้ายไปมัณฑะเลย์ เป็นต้น การสร้างเมืองมันบ่งชี้นัยยะทางอำนาจ คตินี้มีนัยยะสำคัญต่อบทบาทของการเป็นธรรมราชา สุดท้ายก็เลยกลายมาเป็นเนปิดอ และสร้างเจดีย์ชเวดากองใหม่เลย เมืองนี้อยู่เหนือเมืองตองอู 70 กิโลเมตร และใกล้กับเมืองที่เป็นศูนย์กลางที่เรียกว่า “nerve center” คือเปียนมะนา เมื่อคิดในแง่ยุทธศาสตร์ ทางการเมือง ซึ่งพระเจ้าอลองพญาเป็นคนใช้คนแรก กษัตริย์พม่ามีการควบคุมจากภายใน center ทำให้ที่ตั้งของเมืองปลอดภัยจากการรุกราน สมัยนั้นอำนาจอยู่ที่เมืองรัตนสิงหะ เช่นเดียวกันกับเวลานี้คือประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในย่างกุ้ง ซึ่งไม่สามารถปิดล้อมเมืองศูนย์กลางได้ ยุทธศาสตร์อันนี้ต้องมองกลับไปที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งนายพลอองซานใช้เป็นเซนเตอร์ต่อสู้กับอาณานิคม และสมัยอลองพญาที่ตั้งเมืองเป็นรัตนสิงหะเป็นราชธานี

ส่วนแนวทางที่สอง คือการสร้างวีรบุรุษชุดใหม่ การบ่งชี้โลกทัศน์ทางการเมืองเป็นของใหม่ เมื่อพิจารณางานของประวัติศาสตร์พม่าที่ผ่านมา พบว่าประวัติศาสตร์นั้นเริ่มแรกเขียนโดยคนตะวันตก คือ Sir Phayre (Sir Arthur Purves Phayre) เป็นคนเขียนคนแรก เสนอจากมุมมองตะวันตก และไม่ได้มองตะวันตกในแง่ร้าย นอกจากนั้น มีนักวิชาการอย่าง ดร.ทินอ่อง (Dr.Htin Aung) ที่มีลักษณะเป็นชาตินิยม แม้ไม่ถึงขั้นหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งมีการแปลหนังสือของเขาออกมาหลายเล่ม ที่มีเนื้อหาโจมตีตะวันตก หรือนักวิชาการอย่าง Michael Aung-Thwin ที่ไปโตเมืองนอกและเขียนงาน pro รัฐบาลออกมา ซึ่งทำให้นักวิชาการอย่าง Dr.Than Tun แทบจะฆ่าทิ้ง

มีกรณี Tun Aung Chain เขียนงานเกี่ยวกับพระธรรมราชา ซึ่งต่อต้านประวัติศาสตร์แบบศักดินา อย่างหนังสือ The Broken Grass (2004) ศึกษาพม่าก่อนรัฐบาล 1990 โดยเอานายพลเนวินเป็นตัวตั้ง เป็นประวัติศาสตร์แนว pre modern ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผู้ปกครอง แต่ไม่ใช่เรื่องประชาชน ซึ่งตรงนี้มีความแตกต่าง เพราะตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมามีนิตยสารอิระวดี ที่มี Aung Zaw เป็นบรรณาธิการ ซึ่งจะนำเสนอแตกต่างจาก The New Light of Myanmar ของรัฐบาลพม่า

การพูดถึงวีรบุรุษของชาติอย่าง ตูเยกอง ซึ่งเป็นวีรบุรุษคนหนึ่ง การพูดเรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่ ในยุคเนวินก็พูดเรื่องนี้ แต่วีรบุรุษที่มีการพูดถึงนั้นสัมพันธ์กับการต่อต้านอาณานิคม หรือ มหาพันธุละ ก็มีการพูดเป็นหลัก เป็นนักรบที่ตายในสงคราม first Anglo-Burmese war (ค.ศ. 1824-1826) อีกคนคือ ซยาซาน ในสงครามชาวนาที่มีรูปในธนบัตรราคา 45 และ 90 จ๊าต ซึ่งก็มีรูปของอองซาน และมีอนุสาวรีย์ที่สร้างไว้หลายที่ เพราะเนวินเขาสัมพันธ์ตัวเขากับออง ซาน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเรื่องของอองซานชูจี แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังปี 1990 เป็นต้นมา หลังปี 1988 รัฐบาลเอารูปของอองซานออกหมดเลย และหยุดสร้างอนุสาวรีย์อองซาน ตลอดจนพิธีวางพวงมาลาที่ทำเป็นกิจจะลักษณะ (ทุกๆ วันที่ 19 ก.ค.) หลังจากนั้นทำแต่ก็ทำเงียบๆ แล้วมีอะไรเข้ามาแทนที่ นั่นคือการสร้างอนุสาวรีย์บุเรงนอง ที่แรกอยู่ทำพิธีวันที่ 22 พฤศจิกายน 1994 ที่ “Victory point” ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “บุเรงนอง พอยท์” ไปแล้ว และที่ท่าขี้เหล็กชายแดนไทย โดยเลือกที่จะเล่าว่ารบชนะไทย จะเห็นว่าเนื้อหาเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมา รวมถึงที่ตั้งหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อันนี้เป็นการสร้างวีรบุรุษชุดแรก เน้นที่บุเรงนองเป็นหลัก ตลอดจนการเขียนหนังสือ สร้างละคร และสร้างวังบุเรงนองเป็นอันสุดท้าย นี่เป็นการลงทุนกับประวัติศาสตร์ ต่อมาภายหลังเพิ่มท่านอื่นเข้าไปด้วย คือ อโนรธามังช่อ (Anawrahta) และ อลองพญา  (Alaungpaya) เริ่มจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และตามที่ต่างๆ เช่นฐานทัพที่เมเมียว ต่อจากนี้ไปเลยเป็น 3 แม่ครัวทุกที่ หลังจากสร้างวังบุเรงนอง ก็สร้างวังอลองพญาใหม่ที่บเดโย และวังอโนรธาที่กลางเมืองพุกาม ตลอดจนอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ที่เนปิดอ ซึ่งบุเรงนองต้องอยู่ตรงกลางตลอด เพราะเดี๋ยวคนจะสับสนว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหน จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแนวคิดในการสร้าง ในยุคเนวินจะเน้นคนต่อสู้เพื่อเอกราช มายุคปัจจุบันนี้กษัตริย์ต้องมีนัยยะคือ เป็นพุทธ เป็นชาติพันธุ์พม่า และเป็นคนที่เชื่อว่าเป็นคนสร้างเอกภาพในรัฐ ความเป็นปึกแผ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า SPDC และกษัตริย์ทั้งสามพระองค์คือประสบความสำเร็จในการปราบปรามชนกลุ่มน้อย อลองพญาปราบชาวมอญได้อย่างราบคาบ มีการจัดรูปลักษณ์ใหม่ การนำเสนอและวางเรื่องใหม่ มีจุดเน้นและสร้างตำนานใหม่ และมีนัยยะอันสำคัญต่อกองทัพ

ส่วนประเด็นที่สาม คือปลุกสำนึกชาตินิยม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนชื่อประเทศ “Burma” เป็น “Myanmar” การเปลี่ยนชื่อเมืองให้มีออกเสียงใหม่ รวมถึงการเรียกชื่อชนกลุ่มน้อย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1989 เปลี่ยนเพลงชาติจากคำว่า “Burma” ให้เป็น “Myanmar” และอื่นๆ เหล่านี้มันบ่งบอกถึงการอธิบายความชอบธรรมกับกองทัพในการปกครอง ว่าทำไมถึงมีผู้นำประมาณนี้อยู่ และเป็นการตอกย้ำให้เห็นความสำคัญกับกองทัพที่ยึดโยงโดยความเป็นเอกภาพ ถ้าไม่มีผู้นำแบบนี้ บ้านเมืองจะเป็นเอกภาพหรือไม่ การทำสิ่งเหล่านี้จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตามที บ่งชี้สถานะอันปฏิเสธไม่ได้ของกองทัพ ไม่ว่าประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างไร กองทัพต้องอยู่คู่กับความเป็นพม่า สิ่งที่ถูกสร้างล้วนให้ความชอบธรรมเหล่านี้ ที่ไม่เพียงอธิบายการอยู่ในอำนาจมา 20 ปี และการสืบทอดอำนาจจากนี้และต่อไป กองทัพจะมีบทบาทในการจัดกระบวนการไปสู่ประชาธิปไตยที่เรียกว่า discipline democracy ด้วยภาพตรงนี้เห็นชัดเจนว่า การเมืองพม่าจะเลือกตั้งไม่เลือกตั้งก็มีกองทัพอยู่ น้ำหนักต้องดูพร้อมๆกับ activities ทำนองนี้ เพื่อสู่ความข้าใจต่อการเมืองพม่า

ตรงนี้เป็นจุดคิดต่อไปไกลกว่า “free and fair election” ในภาษาของผู้ปกครอง อันนี้ไม่มี ไม่มีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เป็นภาษาของเรา คือการเป็นประชาธิปไตยต้องมีขั้นตอน 1 – 2 – 3 – 4 - 5 … ถ้าดูกระบวนการนี้จะเห็นว่ามันไม่มีในศัพท์ของเขาว่าเป็นนัยยะกระบวนการประชาธิปไตยที่กองทัพคิดหรือเหมาะสมกับการเมืองพม่า และเป็นความไม่นอน เป็น logic อีกชุดหนึ่ง เราจะอยู่กับ logic อีกชุดหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกัน ส่วนจะไปหักเหเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ทำกันมานาน แต่ว่าท้ายที่สุดคนมาให้ความหวังกับการเลือกตั้งเหมือนกัน โดยนัยยะหนึ่งการมองการจัดการทางอำนาจถือว่าเป็นการสืบทอด จะมีการเปลี่ยนแปบงในมติอื่น เช่น การค้า การลงทุน และชาติมหาอำนาจ ก็เหมือนกับหลับตาข้างหนึ่งและบอกว่ามีการเลือกตั้งแล้ว แล้วประเทศไทยจะมีนโยบายต่อพม่าอย่างไรด้วย

 

ช่วงตอบคำถาม: เขียนประวัติศาสตร์พม่าอย่างไร สื่อมวลชนจะรายงานอย่างไร

ในช่วงแลกเปลี่ยน อาจารย์สุเนตร ตอบคำถามแรกที่ถามถึงจุดเน้นสำคัญเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ในปี 2550 (Saffron revolution) ว่าการที่รัฐบาลพม่าใช้การแสดงตนทำนุบำรุงศาสนา วันดีคืนดีลุกขึ้นมาเก็บพระ หลังจากนั้นจะมาแสดงบทบาทของผู้พิทักษ์ศาสนาได้อย่างไร อาจารย์ตอบว่า รัฐจะมีคำอธิบายให้กับการกรำทำของตนเองเสมอ ถ้ามองจากพระหรือคนในนี้คือการกระทำบาปอย่างแรง แต่ว่าถ้าอธิบายตามภาษาของผู้นำ สามารถอธิบายก่อนหน้านี้เช่นกรณีที่เกิดในปี 1988 รัฐบาลเสนอว่าเป็นการกระทำของผู้ไม่หวังดี เป็นสิ่งที่รัฐสร้างกระบวนการใส่สีให้ฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นผู้ก่อการร้าย ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ที่ผู้นำพม่านำมาใช้อ้างในพฤติกรรมที่ดำเนินการ การเคลื่อนไหวของพระจุดใหญ่อยู่ที่ย่างกุ้ง แต่การสอดประสานในพื้นที่อื่น ในมัณฑะเลย์เราไม่เห็นกระบวนการขับเคลื่อนในลักษณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐทำ ตอนแรกไม่รู้ว่าจะทำอย่าไร ก็ปล่อยให้การเคลื่อนไหวกินเวลาหลายวัน ตอนสุดท้ายไปทำตอนกลางคืน คือการปิดจองหรือที่นอนของพระและรู้ว่าผู้นำของพระอยู่ที่ไหนก็ไปเอาตัวมา และวันต่อมาก็ไม่เกิดการเคลื่อนไหวอีกเลย เป็นการปราบปรามในที่ลับ และรัฐมีคำอธิบายว่าเป็นพระหรือเปล่า บริสุทธิ์หรือเปล่า เป็นลักษณะ purity in purity นี่ไม่ใช่วิธีการใหม่ เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่ชำนาญเกมจะไม่มีปัญหา สิ่งที่น่าตามคือรัฐจะทำอย่างไรต่อ คือยังทำบุญหรือไม่ หรือไปงานพิธีหรือไม่ ซึ่งคิดว่ายังทำ กระบวนการที่ทำก่อนหน้าปฏิวัติเป็นการวางแผนมาก่อน การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือยังคงอยู่ ใช้มากใช้น้อยเป็นเงื่อนไขสำคัญ เงื่อนไขจะใช้มากเมื่อเสถียรภาพมีน้อย ตอนนี้จะมีการเลือกตั้ง ก็มีน้ำหนักความชอบธรรมที่เข้ามาช่วย

ต่อมามีผู้ถามคำถามที่สองว่า นักประวัติศาสตร์จะ contribute ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคนอย่างไร อาจารย์สุเนตรตอบว่า อยากเรียกว่าประวัติศาสตร์สังคม อยากจะบอกว่าไม่ได้อยู่เฉยๆ จะเกิด คนต้องมีความตระหนักรู้ ถึงจะมีได้ บ้านเราเกือบจะศูนย์ จนเกิด 14 ตุลา จึงเกิดประวัติศาสตร์คน หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างล้านนา เพราะคนมีเสรีภาพมาก ไม่ได้อยู่ในกรอบของประวัติศาสตร์แห่งชาติ ต้องมีพื้นที่ให้เปิดให้มีการเขียน เป็น growth within จะให้สุเนตรเขียนประวัติศาสตร์พม่าหรือ ไม่มีพลังเท่ากับคนพม่าเขียนขึ้นมาเอง ประเด็นคือมีโอกาสสร้าง consciousness ได้หรือไม่ และถ้ามีพื้นที่จะมีได้หรือไม่ คนต้องมีสำนึกว่าประวัติศาสตร์ว่าตอนนี้เป็นลักษณะ people without history หรือ missing ซึ่งต้องก่อเกิดภายในพม่าด้วย

มีผู้ถามคำถามว่า อาจารย์พูดเรื่องการกระทำของรัฐบาลที่ค่อนข้างจะสำเร็จ คำถามในใจคือสื่อในประเทศไทย เรื่องรบตามแนวชายแดน หรือเรื่องภายใน 50-100 กิโลเมตรจากไทย แต่ไม่ปรากฏผลกระทบต่อการลงทุนในพม่าของคนไทย ก็ไม่ค่อยมีในสื่อเท่าไร อยากถามว่าสาเหตุคืออะไร

อาจารย์สุเนตรตอบว่า คงตอบแทนสื่อมวลชนไม่ได้ ข้อแรกสื่อเราและคนที่มีบทบาทที่ควรจะให้ความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านมีความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านของเราค่อนข้างจำกัด หลายครั้งที่สื่อมาสัมภาษณ์เป็นสื่อเด็กๆ หรือรุ่นใหม่ และเห็นหลายครั้ง เช่นเรื่องเขาพระวิหาร มีลักษณะเป็น quick react ไม่ใช่การนั่งคุยกันยาว แต่คนที่มีความรู้อาจจะไม่มีบทบาท นอกจากนี้สถานการณ์มี dynamism สูงมาก เช่นเมื่อมีการพูดถึงพม่า ต่อไปมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คนๆหนึ่งอาจมีความรู้พม่าที่ดีในช่วงปี 1988 แต่หากไม่ได้ไปในประเทศบ่อยๆ ก็จะเป็นการยากที่จะนำเสนอข้อมูลที่ต่อเนืองที่ชัดเจน ปัญหาสำคัญคือความสนใจ คนไทยไม่ค่อยสนใจและเป็นไปตามกระแสของนานาชาติ ที่สนใจเรื่องการเลือกตั้ง สิ่งที่ตามมา การค้าการลงทุน การเปลี่ยนของพม่าอีกมิติหนึ่ง รวมถึงพื้นที่ความสนใจทำให้พื้นทีข่าวไม่ดึงความสนใจเท่าที่ควร หากมีการปล่อยและพูดก็เป็นข้อมูลที่ซ้ำและเป็นปัญหาเหมือนกัน หากติดตามหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่สัมภาษณ์ผู้เคลื่อนไหวของพม่าในการเลือกตั้ง ซึ่งก็ดีแต่ยังน้อย และผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย เป็นคนพม่าเป็นหลัก

นอกจากนี้ อาจารย์สุเนตรได้วิเคราะห์ถึงมิติความสัมพันธ์ของไทยและพม่าว่า ปัจจุบันพม่าอยู่ในสถานะในเชิงความสัมพันธ์ที่ได้เปรียบหรือกดดันไทยมากกว่าที่ไทยกดดันพม่า มิติความสัมพันธ์เปลี่ยนไปอย่างยิ่งหลังปี 1990 เพราะพม่าเกิดความเปลี่ยนแปลง คือเลิกนโยบายปิดประเทศ (close door policy) และใช้นโยบายเป็นกลางคือการเข้าอาเซียน ซึ่งเปิดโอกาสให้พม่ามีทางเลือกมากกว่าแต่เดิม มากกว่าทางเลือกที่ใช้ไทยเป็นสะพาน เช่น แต่เดิมสินค้าไทยไปป้อนตลาดมืดในพม่า แต่ปัจจุบัน พม่าเป็นสาวเนื้อหอม โดยเฉพาะทรัพยากรที่มีมหาศาล ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับจีนและอินเดีย รวมทั้งประเทศยุโรปเองที่ชูธงประชาธิปไตยก็อยากจะเข้าไปลงทุนเหมือนกัน โดยเฉพาะหลังเลือกตั้งก็คิดว่าน่าจะสามารถเข้าไปได้สักที

เงื่อนไขนี้นโยบายของพม่ามาจากประเทศไทย หลังจากสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการคา และสร้างประเทศให้เป็นนิกส์ และอยากได้พลังงาน ทรัพยากร จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พลังงานจากลาว ทรัพยากรจากพม่า โดยเฉพาะชนชั้นกลางทุกวันนี้ก็เสวยสุขจากทรัพยากรพม่า ทำให้อำนาจการต่อรองมันเปลี่ยนไป ไทยพยายามยืดหยุ่นมากขึ้น และมีน้ำหนักกับความสัมพันธ์ของพม่าในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ แต่ที่สำคัญไทยไม่ได้กำหนดเกมอีกต่อไป แต่พม่าเป็นผู้กำหนด เช่น ไทยจะมา ก็บอกว่าอย่าเพิ่งมา ขอรับเกาหลีเหนือดีกว่า ทำให้ไทยดำเนินนโยบายต่อพม่าเป็นหลักๆ คือ อย่างน้อยต้องมีไมตรีและสื่อสารได้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่างๆ ที่เราเสวยอยู่ แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ตามที เพราะมีนัยยะของการพึ่งพาที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางการเมืองอยู่ด้วย จะเห็นว่ารัฐบาลไทยไม่เปลี่ยนนโยบายเท่าไร แต่จะเป็นดีกรีเท่านั้นเองว่าจะเอาใจมากหรือน้อยเท่านั้น

ประการที่สอง เมื่อพิจารณาไทยในความสัมพันธ์ของพม่า แต่ก่อนเราได้เปรียบเพราะเสียงเราใหญ่ แต่ปัจจุบันเสียงจีนใหญ่กว่า และผู้ลงทุนอื่นที่มีกำลังมากกว่ามีเสียงใหญ่กว่า ขนาดอาเซียนคิดแล้วคิดอีกที่จะสัมพันธ์กับพม่า ไทยประเทศเดียวจะแสดงทีท่าแหวกแนวจากกระแสทั่วไป ก็กังวลเหมือนกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะเราไม่มีอำนาจต่อรองแบบเดิม อันนี้วิเคราะห์จากมุมมองของการเป็นรัฐบาลและดูแลประชาชน 60 กว่าล้านและเอาทรัพยากรจากพม่ามา ตัวแปรเหล่านี้ต้องเอามาคิด

 

ขอภาวนาให้การเปลี่ยนแปลงเกิดจากประชาชนให้สมเหตุสมผล

หลังจากนั้น มีสื่อมวลชนจากนิตยสารสาละวิน ตั้งคำถาม 3 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง สื่อเป็นผลพวงของการศึกษาไทยที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในเชิงอคติ ก็ต้องย้อนกลับไปที่ตำราไทย สอง การรายงานสื่อพม่าต้องใช้ภาษามากกว่าภาษาไทย ข่าวในพม่าอยู่ในหนังสือพิมพ์อังกฤษมากกว่าภาษาไทย และสาม พื้นที่ของหนังสือพิมพ์ไทยที่ไม่มีหน้า Regional page มีแต่ข่าวต่างประเทศทั่วไป ส่วนคำถาม คือฟังแล้วดูว่าการเลือกตั้งไม่มีความหวัง ถ้าเช่นนั้น พม่าจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

อาจารย์สุเนตรตอบว่า เห็นด้วยกับการศึกษาที่มีอยู่ คิดว่าคนทำงานด้านสื่อมีโอกาสรับสารได้มากหรือเปิดโลกทัศน์ของตัวเองมากกว่าความทรงจำที่มากกว่าตำราเรียน แต่ที่แปลกคือที่เรียนมาไม่จำที่มีใหม่ก็ไม่รู้ เห็นด้วยว่าเราจะต้องรู้ภาษาที่นอกเหนือจากภาษาไทย และภาษาอังกฤษก็จะเป็นข้อได้เปรียบ แต่สิ่งสำคัญคือการตั้งประเด็นที่น่าสนใจไม่เกิด จะเห็นว่าเรามีเรื่องอะไรมากมายนอกประเทศที่น่าสนใจและเราไม่รู้ภาษาของเขา แต่เราก็ทำให้น่าสนใจได้ แต่มันไม่มีประเด็น ซึ่งผมก็หาข่าวจากนิตยสารอิระวดีและสาละวิน โพสต์อยู่ด้วย

ส่วนคำถามเรื่องการเปลี่ยนแปลงในพม่า ถ้าพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงในพม่าที่จะเกิด ถ้าเราดูเรื่องการเปลี่ยนแปลง คำถามใหญ่ที่จะเกิดขึ้นคือ ในเชิงโครงสร้างและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแล้วไม่เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง ก็คิดว่าอย่ามีความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลง ในอีกแง่หนึ่งหลังปี 1990 ถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงภายในพอสมควร แต่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่รวดเร็วคืออาจจะมีลักษณะ เดิน 2 ก้าว ถอย 1 ก้าว ก็เห็นว่ามีการตื่นตัวพอสมควร เช่น การลงทุน มันมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คำถามคือประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันส่งผลกับคนส่วนใหญ่อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ ปัจจุบันยังไม่ถึงประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น หลังการเลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไร รัฐบาลพม่ามันติดผลจากปี 1990 คือขายสินค้าไม่ได้ มีการคว่ำบาตร เพราะฉะนั้น พยายามที่จะหากลไกลว่าจะเปิดอย่างไรดีถึงได้รับการตอบสนองจากมหาอำนาจกว่าที่ควรเป็น หากจะเปิดมากก็กลัวว่าอำนาจที่มีอยู่จะถูกกัดกร่อน เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว รัฐบาลกลัวการเสียการควบคุมของกองทัพมากกว่า รัฐบาลพม่ากำลังประนีประนอมทั้ง 2 ตัวนี้ สิ่งทีน่าคิดว่าบนเงื่อนไขของการเลือกตั้งว่า พม่าบอกว่า ฉันทำแล้ว ความสำคัญมันจะไม่ได้อยู่ที่เพียงว่ารัฐบาลพม่าลุกขึ้นมารบอกว่าการเลือกตั้ง free and fair แต่ความสำคัญคือต่างชาติที่จะเข้ามาพัวพันกับพม่าอย่างไรหลังการเลือกตั้งมากกว่า คือการตัดสินนั้นเกิดจากกระบวนการหรือผลประโยชน์ ถ้าตัดสินจากกระบวนการก็กลับไปกรอบเดิม หากที่ผลประโยชน์การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจะเกิดขึ้นกับพม่า ขอภาวนาให้การเปลี่ยนแปลงเกิดจากประชาชนให้สมเหตุสมผล

ต่อมามีผู้ถามว่า ยุทธศาสตร์การสร้างอนุสาวรีย์ระหว่างไทยกับพม่า ไทยก็สร้างอนุสาวรีย์ย่าโม หรืออนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อาจารย์สุเนตรตอบว่า ตอนนี้ยังไม่เปรียบเทียบกับไทยและพม่า เพราะมันซับซ้อนมาก สิ่งที่ผมทำอย่างเดียวแค่บอกว่าพม่าทำอย่างนี้ ส่วนจะเอาไปบวกกับไทยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง กระบวนการสร้างอนุสาวรีย์เป็นเรื่องอำนาจของรัฐในส่วนกลาง น้อยครั้งเป็นเรื่องท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นย่าโม แต่ทำไปแล้วมันประสบความสำเร็จในการผ่าน integration คือคนอีสานไม่ได้รู้สึกว่าไม่ใช่ไทย แต่ย่าโมเป็นฮีโร่ทีเข้ามาผูกพันกับส่วนกลาง ไม่ใช่จบแค่โคราช แต่เป็นขบวนการที่รัฐไทย integrate เข้ามา เป็น กระบวนการรัฐไทยใช้กระบวนการสร้างรัฐโดยดึงฮีโร่ท้องถิ่นเป็นกระบวนการที่ทำมายาวนานควบคู่กับ centralization อย่างกรณีที่ผมให้คำปรึกษาหนังเรื่องนเรศวร ภาคแรกฉายที่ภูเก็ต และก็ตามด้วยภาคสองที่ยังไม่เข้าฉายด้วยซ้ำ แต่คนไปคอยหน้าโรงเต็มไปหมด ในแง่ประวัติศาสตร์พระนเรศวรไม่เคยเสด็จไปภูเก็ต อย่างมากไปตกปลาไกลสุดที่เพชรบุรี อันนี้เป็นความสำเร็จในการสร้างประวัติศาสตร์ ทำให้คนต่างพื้นที่มี memory ชุดเดียวกัน พม่าทำเรื่องนี้มากกับกษัตริย์ทั้ง 3 คนในขณะที่พม่ามีคนต่างกันเยอะมาก ถ้าเช่นนั้นจะให้มอญมารับบุเรงนองง่ายๆ นั้น พูดเป็นเล่นน่ะ

มีผู้ตั้งคำถามว่า เมื่อมีชนกลุ่มน้อยในพม่า รัฐบาลเขาใช้กระบวนการผ่านการศึกษาด้วยหรือไม่ ถ้ารัฐบาลพม่าเป็นเช่นนี้จะส่งผลต่อคนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยหรือไม่ อาจารย์สุเนตรตอบว่า รัฐบาลพม่าเป็นคนจัดระบบการศึกษาของชาติ รวมทั้งการศึกษาของคนกลุ่มน้อยด้วย ตำราเรียนไม่ได้แยกใช้ งานวิจัยของนิรัช นิยมธรรม เรื่องมโนทัศน์ทางการเมือง สะท้อนภาพนี้ได้ชัดเจน และรัฐบาลพยายามอย่างยิ่งไม่พยายามโปรโมท หรือ belittle ประวัติศาสตร์ของชนกลุ่มน้อยด้วย เช่น การเรียนภาษาคนกลุ่มน้อยไม่ได้รับการสนับสนุน เมืองพะโคสร้างให้เป็นเมืองพม่าในฐานะที่เป็นบริบททางประวัติศาสตร์ แต่ไม่เห็นในมิติของกษัตริย์มอญหรือถ้าทำก็กลายเป็นแบบพม่า รัฐใช้สื่อการศึกษาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว นอกเหนือจากสื่ออื่นๆ บอกไม่ได้ว่ารัฐทำสำเร็จขนาดไหน แต่ก็ยังไม่สู้สำเร็จนัก เพราะมีความแตกต่างของคนหรือกลไกและความทรงจำที่มีมากมาย

สำหรับนโยบายของคนย้ายถิ่น ประเทศไทยอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากแรงานพม่า ถ้าเป็นจริงจะเดือดร้อนมาก ปัญหาคือเราไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ปล่อยปละในหลายส่วนในการควบคุม พิทักษ์รักษา เกิดการขูดรีดขึ้นมา เพราะการปล่อยปละลักษณะนี้เอื้อประโยชน์ต่อคนหลายกลุ่ม การขูดรีด การกดแรงงาน ผมคิดว่าเราต้องมาดูระบบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่การส่งกลับพม่า แต่ให้เหมาะสมกับเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ข้อที่สอง เราน่าจะเริมคิดถึงกลไกที่ไม่ให้เกิดการไหลอพยพ ท้ายที่สุดเราจะรับได้แค่ไหน แต่คิดว่าปัจจุบันไทยยังมีระบบจัดการไม่ดี ท้ายที่สุดก็ผลักออกไป พอต้องการก็หลับตาสักข้างก็เอามาใหม่ ปัญหาหลักคือการจัดระบบ แต่การคืนความเป็นคนให้พม่าถือเป็นเรื่องยาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net