Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านภูมิซรอลและตัวแทนชาวบ้านจากกัมพูชา ร้องกรรมการสิทธิฯ ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่านเขาพระวิหารเรียกร้องรัฐบาลฟังประชาชนทุกฝ่าย ร้องขอสันติภาพคืนชายแดนไทย-กัมพูชา

มูลนิธิศักยภาพชุมชน (People’s Empowerment Foundation) และตัวแทนประชาชนทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา แถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ก่อนเข้าพบนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อชี้แจงกรณีปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนบริเวณจุดผ่อนปรนเขาพระวิหาร

โดยเวลา 20.00 น. ของวันที่ 13 ก.ย. มูลนิธิฯ ได้จัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) โดยมีตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เรื่องพื้นที่พิพาทบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร มาบอกเล่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเอง

ซาง ยูน ชาวพัมพูชาจากจังหวัดอุดรมีชัย (อุดอร์เมียนเจ็ย)เป็นพ่อของเด็กชายที่ถูกทหารไทยยิงและเผา เนื่องจากออกหาของป่าล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่พิพาท เขากล่าวผ่านล่ามเป็นภาษากัมพูชาว่า เขาไม่โกรธทหารไทยที่ทำเช่นนั้น แต่เขาอยากให้ทั้งสองประเทศนำสันติภาพกลับมาสู่ชายแดนไทยกัมพูชา

วิสิทธิ์ ดวงแก้ว ประชาชนจาก ต.ภูมิซรอล อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความผิดของประชาชนฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่เป็นปัญหาจากการที่รัฐบาลสองฝ่ายเจรจากันไม่ได้

“ไม่ใช่ความผิดของผมหรือของคนกัมพูชา แต่มันเป็นกฎเกณฑ์ของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาไม่ให้เราสัมพันธ์กันเหมือนเมื่อก่อน สรุป จากการที่ประชาชนเคยมองหน้ากันกลายเป็นเอาทหารทั้ง 2 ฝ่ายมายืนใกล้กัน ผมเป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ความรู้สึกอย่างนี้ไม่อยากให้เกิดกับพี่น้องชายแดน อยากให้เป็นเหมือนเมื่อก่อนนี้เป็นพี่เป็นน้อง”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามหาทางแก้ปัญหาจากผลกระทบของการปิดด่านผ่อนปรนบริเวณเขาพระวิหาร แต่ในการประชุมครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ก็ถูกขัดขวางจนล้มเลิกไปโดยกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มผู้รักชาติ” ที่จุดประเด็นพื้นที่เขาพระวิหาร และขัดขวางการพยายามแก้ปัญหาให้กับประชาชนในบริเวณพื้นที่พิพาทที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระดับประเทศ

“อยากให้รัฐบาลฟังเสียงจากประชาชนหลายๆ ฝ่าย อย่าไปฟังแต่กลุ่มผู้รักชาติ ขอให้มองที่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นด้วย” นายวิสิทธิ์กล่าว

ประนอม บัวต้น แม่ค้าขายเสื้อผ้าบริเวณชายแดน ขายเสื้อผ้า ซึ่งตั้งแต่ปิดด่านบริเวณเขาพระวิหารมาตั้งแต่ปี 2551 นั้น ส่งผลให้ครอบครัวของเธอได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถเปิดร้านได้ และเสื้อผ้าที่ลงทุนไปแล้วก็เริ่มตกยุค ต้องจ่ายแจกไปให้กับบรรดาญาติๆ และคนบ้านใกล้เรือนเคียงที่สำคัญคือ ลูกสาวของเธอซึ่งเป็นนักเรียนพยาบาล ที่ จ.ขอนแก่น เกือบจะไม่จบการศึกษาเพราะไม่มีเงินเรียนต่อ

“ฉันต้องลงมารับจ้างเป็นแม่บ้านอยู่หลายเดือน ได้เดือนละ 6 พันบาท” เธอกล่าว และว่าเธอเพิ่งเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเมื่อสองเดือนที่แล้ว เพราะลูกสาวเรียนจบแล้ว และคงจะสามารถช่วยรับภาระทางบ้านได้บ้าง ซึ่งเธอยังมีลูกคนเล็กที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมที่ศรีสะเกษ อีก 1 คน

“ลูกเราจะเรียนไม่จบเพราะเราไม่มีเงิน เราไม่มีโอกาสเข้าไปค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าแบบที่บรรพบุรุษทำมา เดี๋ยวนี้เราอยู่กันอย่างลำบากมาก อยากให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายคุยกันเหมือนเดิม อย่าให้กระทบกับราษฎรที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เคยอยู่ร่วมกันก็ไม่สามารถติดต่อกันได้ ถ้าเราติดต่อ ก็จะมีคนมาว่าเราเป็นคนขายชาติ เป็นกบฏ นี่คือสิ่งที่คนกรุงเทพฯเขาพูด เรารู้สึกเสียใจที่เราอยู่ด้วยกัน แต่ไม่ประนีประนอมกัน และมองหน้ากันไม่ติด"

ชิต พานทบ เป็นแม่ค้าขายของสดที่บริเวณจุดผ่อนปรนเขาพระวิหาร สินค้าของเธอนั้นเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค จำพวกน้ำอัดลม อาหาร ข้าวสาร ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ซึ่งก่อนที่ด่านชายแดนเขาพระวิหารจะปิดลงนั้น เธอมีเงินสำหรับลงทุนหมุนเวียนประมาณสี่หมื่นบาทต่อวัน แต่เมื่อด่านปิด เธอขาดทุนทันที

“เราขายแบบหมุนเวียนทุนไปเรื่อยๆ คนฝั่งโน้นเขาก็จะสั่งมาว่าต้องการอะไรบ้าง เช่น ข้าวสาร ผงซักฟอก น้ำแข็ง น้ำอัดลม” ชิตอธิบายกับประชาไท และว่า เมื่อไม่สามารถขายของได้ เธอจึงต้องหันกลับมาเช่าที่นาเพื่อทำนา และรับจ้างทั่วไป แต่ก็ต้องพกบัตรประจำตัวประชาชนไปทำนาด้วยทุกครั้ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะตรวจตราอย่างเข้มงวดมาก

“อยู่ๆ ก็มีคนกลุ่มที่สร้างเหตุการณ์ที่มีคาดคิดขึ้น เราเคยยื่นเรื่องร้องเรียนผู้ว่าฯ และสื่อให้มาดูแม่ค้าจุดผ่อนปรนหน่อย เราก็บอกว่าเขาจะหาแหล่งขายของให้ใหม่ แต่ก็ไม้รู้ว่าจุดไหน ทุกวันนี้ฉันอยากให้เปิดช่องทางเก่า อยากให้ชุมชนชายแดนค้าขายได้ และมีสันติกับญาติชาวกัมพูชา” เธอกล่าวพร้อมย้ำว่า “กลุ่มที่บอกว่า คือกลุ่มผู้รักชาติ เป็นกลุ่มที่มาจากกรุงเทพฯ แต่เราคือคนที่ต้องอยู่ที่นี่”

จากนั้น เวลา 9.00 น. วันที่ 14 ก.ย. ‘ชลิดา ทาเจริญศักดิ์’ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน และตัวแทนประชาชนจากบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เดินทางไปพบกับ นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อยื่นข้อ ซึ่งภายหลังจากได้พบปะแล้ว ผอ. มูลนิธิเครือข่ายสร้างเสริมศัพยภาพชุมชนเปิดเผยกับประชาไทว่า ตัวแทนประชาชนทั้งหมดได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อประธานกรรมการสิทธิ โดยประเด็นสำคัญคือ ขอให้ทางรัฐบาลจัดสรรพื้นที่สำหรับการค้าขายชายแดนแห่งใหม่เพื่อชดเชยพื้นที่เก่าบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งไม่สามารถเปิดพื้นที่ได้

“ที่ผ่านมา การเจรจาเพื่อแก้ปัญหานั้นมีอุปสรรคเนื่องจากมีขบวนการประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้รับข้อมูลจากเครือข่ายประชาชนที่เคลื่อนไหวในกรุงเทพเข้ามาขัดขวางการเจรจาจนกระทั่งต้องเลิกล้มไป ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบนั้น เนื่องจากเขาไม่สามารถทำการค้าขายและติดต่อกับคนในเขตกัมพูชาได้ และพวกเขาไม่สามารถย้ายไปค้าขายบริเวณจุดผ่อนปรนอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากในแต้ละจุดผ่อนปรนก็จะมีผู้ค้ารายเดิมที่มาค้าขายอยู่เป็นประจำ พวกเขาจึงอยากให้รัฐบาลช่วยดูแลหาพื้นที่ใหม่ให้ และเราก็หวังว่าจะได้รับสัญญาณที่ดีจากทางรัฐบาล” ชลิดากล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net