Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สถานะของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล หากมองจากทัศนะทางชนชั้นในเวลานั้น ย่อมไม่ใช่สถานะที่สูงส่ง ตัวอย่างเช่น พวกวรรณะพราหมณ์ มองว่า พวกสมณะเป็นวรรณะดำเกิดจากเท้าของพระพรหม [1] และเมื่อคราวที่พระพุทธองค์กลับมาแสดงธรรมโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะทราบว่า พระพุทธองค์ออกบิณฑบาต ถึงกับไปขอร้องให้หยุดเดินบิณฑบาต เพราะการเป็น ผู้ขอ เช่นนั้นทำให้เสื่อมเกียรติศากยวงศ์ เป็นต้น

ฉะนั้น การที่พระพุทธองค์สถาปนาสังคมสงฆ์ให้เป็นสังคมที่ไม่ถือชนชั้น ทุกคนที่มาบวชไม่ว่าจะเป็นทาส กรรมกร มหาเศรษฐี พราหมณ์ หรือ กษัตริย์ ย่อมถือว่าเป็นพระสงฆ์ที่มีสมบัติเพียงไตรจีวร และอัฐบริขารเสมอภาคกัน มีสิทธิศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์เสมอภาคกัน เมื่อมองจากทัศนะทางชนชั้นของสมัยนั้น สังคมสงฆ์ย่อมไม่ใช่สังคมที่พึงปรารถนามากนัก แต่หากมองว่าเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ในเชิงศีลธรรมเพื่อความหลุดพ้น ก็ถือว่าเป็นสังคมที่พึงปรารถนา (สำหรับคนที่มองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในด้านดังกล่าว)

การที่สังคมสงฆ์เป็นสังคมที่ถือครองทรัพย์สินเท่าที่จำเป็น มีวิถีชีวิตที่มุ่งความหลุดพ้น และเป็นอิสระจากรัฐ (เนื่องจากพระพุทธองค์ไม่เคยประกาศว่าศาสนาของพระองค์เป็นศาสนาประจำรัฐใดๆ ไม่ได้ใช้คำสอนของพุทธศาสนารับใช้ผู้มีอำนาจรัฐใดๆ และไม่ได้เข้าไปมีบทบาทในฐานะที่เป็น กลไก ของรัฐใดๆ) จึงทำให้สังคมสงฆ์ในเวลานั้นเป็น อิสระจากรัฐ ซึ่งมีความหมายสำคัญ ว่า 1) สังคมสงฆ์สามารถรักษาความหมายและเจตนารมที่แท้จริงของพุทธธรรมเอาไว้ได้ 2) สังคมสงฆ์ใช้อำนาจพระธรรมวินัยปกครองกันเองได้ 3) สังคมสงฆ์ไม่เป็นกลไกหรือเครื่องมือของรัฐ/ผู้มีอำนาจรัฐ

แต่หลังพุทธกาล ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ที่ชาวพุทธชื่นชมกันว่าเป็นยุคเจริญรุ่งเรืองที่สุดของพุทธศาสนา) มีการหลอมรวมพุทธศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ พุทธศาสนาจึงขึ้นต่ออำนาจรัฐอย่างชัดเจน เช่น 1) ในแง่การสอนพุทธธรรม รัฐมีอำนาจกำหนดว่า ควรเน้นการสอนศีลธรรมอะไรบ้างแก่ประชาชน 2) มีการตีความคำสอนของพุทธศาสนารองรับ สถานะอันศักดิ์สิทธิ์ ของผู้ปกครอง ยกสถานะของผู้ปกครองให้เป็น จักรพรรดิแห่งจักรวาล พระเจ้าอโศกเป็น พลจักรพรรดิ ครอบครองหนึ่งในสี่ของจักรวาล 3) สังคมสงฆ์ขึ้นต่ออำนาจรัฐ ทำให้ อำนาจแห่งพระธรรมวินัย อ่อนแอลง เช่น เมื่อเกิดกรณีสงฆ์แตกแยก พระเจ้าอโศกสั่งให้อำมาตย์ไปจัดการให้เกิด ความสามัคคีปรองดอง แต่อำมาตย์เข้าใจราชโองการผิดจึงปฏิบัติผิด ในคัมภีร์ระบุว่า ตัดศีรษะพระอริยะเจ้าเสียเป็นอันมาก[2]

แสดงว่าในสมัยที่มีพระอริยะเจ้าอยู่เป็นอันมาก สังคมสงฆ์ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาภายในของตนเองด้วย อำนาจแห่งพระธรรมวินัย ได้ แม้แต่ปัญหา ความสามัคคีปรองดอง ยังต้องอาศัย อำนาจรัฐ จนเกิดอุบัติการณ์ ตัดศีรษะพระอริยะเจ้าเสียเป็นอันมาก (หากเป็นสมัยนี้คงต้องมีการร้องเรียนองกรสิทธิมนุษยชนระดับโลก)

แต่การการหลอมรวมพุทธศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐในสยามประเทศ ยิ่งไปไกลว่ายุคพระเจ้าอโศกมาก เพราะเป็นการ สมประโยชน์ทางการเมือง ระหว่างชนชั้นศักดินากับพระสงฆ์ ทำให้พระสงฆ์เข้าไปอยู่ในระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบ ดังข้อเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ว่า

ศักดินาแบ่งปันที่ดินให้แก่ทางศาสนา แบ่งปันข้าทาสให้แก่วัดวาอาราม ยกย่องพวกนักบวชให้เป็นขุนนางมีลำดับยศ มีเครื่องประดับยศ มีเบี้ยหวัดเงินปีและแม้เงินเดือน...ศาสนามีหน้าที่สั่งสอนให้ผู้คนเคารพยำเกรงกษัตริย์ พวกนักบวชทั้งหลายกลายเป็นครูอาจารย์ที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ซึ่งแน่นอนแนวทางการจัดการศึกษาย่อมเป็นไปตามความปรารถนาของศักดินา[3]

การหลอมรวมพุทธศาสนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐ ในยุค รัฐราชาธิปไตย ดังกล่าว จึงเท่ากับเป็นการทำให้ ศาสนาเป็นการเมือง อย่างเต็มตัว นั่นคือ พระสงฆ์กลายเป็นบริวารของพระราชา หรือ ราชาคณะ ที่พระราชามีอำนาจแต่งตั้งให้มี สมณศักดิ์ ต่างๆ ซึ่งเป็นฐานันดรศักดิ์อันเป็นเครื่องหมายทางชนชั้นไม่ต่างอะไรกับพวกขุนนางในยุคนั้น ทำให้สถานะของพระสงฆ์มีสถานะสูงทางชนชั้นซึ่งตรงกันข้ามกับสถานะของพระสงฆ์ในยุคพุทธกาล ในสังคมไทยจึงมีคำล้อเลียน ความเหลวไหล เช่นนั้นว่า ยศช้าง ขุนนางพระ

ที่น่าเศร้าคือ แม้แต่ในปัจจุบันพระสงฆ์ตั้งแต่พระลูกวัดธรรมดาจนกระทั่งพระเถระระดับกรรมการมหาเถรสมาคม ส่วนใหญ่ล้วนมีพื้นเพมาจากคนชั้นล่างของสังคม แต่เมื่อมาอยู่ภายใต้โครงสร้าง สังคมชนชั้นแบบสงฆ์ ทำให้ท่านเหล่านั้นหลุดจากรากเหง้านของตนเอง เป็นเครื่องมือรับใช้ระบบชนชั้นทางโลก มีการวิ่งเต้นเรื่องสมณศักดิ์ มีรถเบนซ์ประจำตำแหน่ง ฯลฯ เมื่อลืมรากเหง้าก็ไม่เข้าใจทุกข์ของสังคม มองไม่เห็น ความไม่เป็นธรรม ที่ชนชั้นล่างประสบ แม้แต่การศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ไม่ได้ให้ความเข้าใจปัญหาความไม่เป็นธรรมของสังคม ฉะนั้น พระสงฆ์หรือแม้แต่คนที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่สึกออกมาเป็นฆราวาส แทบจะขาดความเข้าใจ ทุกขสัจจะ ของสังคม และขาดจิตสำนึกต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมอย่างแทบจะสิ้นเชิง

 

พระไพศาล วิสาโล เอง (แม้จะมีพื้นเพมาจากคนชั้นกลางในเมือง) ก็ดูเหมือนจะมองเห็นปัญหาดังกล่าวนี้ เช่น ที่ท่านวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวไว้อย่างละเอียดในงานวิจัยชิ้นสำคัญชื่อ พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต และที่วิพากษ์สถาบันสงฆ์ในหลายวาระ เช่น ว่า

ปัจจุบันระบบต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ ไม่เอื้อให้เกิดพระภิกษุสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ระบบการปกครองของคณะสงฆ์ นอกจากจะล้มเหลวในการส่งเสริมพระดีแล้ว ยังทำให้พระสงฆ์พากันสนใจลาภยศสรรเสริญกันมากขึ้น การรวมศูนย์อำนาจคณะสงฆ์ มาอยู่ในมือของมหาเถรสมาคม นอกจากจะทำให้การปกครองเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการวิ่งเต้น ระบบเส้นสาย และการแบ่งพรรคแบ่งพวก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็ไม่สามารถทำให้พระภิกษุสงฆ์มีความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลกดีพอ ที่จะสื่อธรรมให้ผู้คนเกิดความซาบซึ้งแจ่มชัดจนเห็นภัยของบริโภคนิยมหรืออำนาจนิยม และหันมาดำเนินชีวิตตามวิถีพุทธ ยิ่งการศึกษาเพื่อฝึกฝนตนให้มีความสุขภายในพึงพอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย และสามารถแก้ทุกข์ให้แก่ตนเองได้ อีกทั้งมีเมตตากรุณาปรารถนาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก อย่างรู้เท่าทันสังคมสมัยใหม่ด้วยแล้ว แทบจะไม่มีเอาเลย ผลก็คือคณะสงฆ์ปัจจุบันไร้ซึ่งพลังทางปัญญา ศีลธรรม และศาสนธรรม[4]

จะว่าไปแล้ว พระไพศาล เป็นเพียงพระรูปเดียวในยุคนี้ก็ว่าได้ที่มีผลงาน เชิงความคิด ทั้งในแง่จิตวิญญาณ ในแง่สังคม และการเมือง อีกทั้งยังเป็นพระนักกิจกรรมทางสังคม นักสันติวิธี เป็นต้น ที่ว่าผลงานของท่านเป็นผลงานเชิงความคิด ก็เพราะว่า ท่านไม่ได้เน้น ธรรมะแบบ how to” ซึ่งอยู่ในกระแสนิโยมของตลาดผู้บริโภคธรรมะในทศวรรษนี้ ที่พระดังๆ บางรูปก็ทำตัวเป็น เซลแมนธรรมะ เขียนหนังสือหรือบรรยายธรรมตามกระแสตลาด ประเภท ธรรมาค้าขึ้น เป็นต้น แต่งานของพระไพศาลเป็นงานเชิงวิพากษ์ เน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านใน และการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม มากว่าที่จะนำเสนอธรรมแบบ สูตรสำเร็จ ที่ตอบสนองรสนิยมของปัจเจกบุคคลเท่านั้น ดังที่พระสมัยนี้นิยมทำกัน

แต่ทว่าเมื่อพระไพศาล รับเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย และดูเหมือนท่านจะให้สัมภาษณ์ในเชิงยอมรับ ความชอบธรรม ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในระดับหนึ่ง คืออย่างน้อยก็เป็นรัฐบาลที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง และยังต้องรอพิสูจน์ข้อเท็จจริงกรณีสั่งสลายการชุมนุมที่มีคนตาย 91 ศพ ก่อน เป็นต้น ก็ทำให้เกิดคำตามมามาก ไม่เฉพาะจากคนเสื้อแดงซึ่งเป็นฝ่ายเจ็บปวดจากความสูญเสีย และเห็นว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบวนการพิสูจน์ความจริง และแม้กระทั่งความเป็นธรรมจากกระบวนการปรองดองเท่านั้น ยังมีคำถามอื่นๆ เช่นจากคุณภัควดี คุณคำ ผกา เป็นต้น

คำถามหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญคือ ถ้าดูจากงานของพระไพศาลที่ผ่านมา ดูเหมือนท่านจะไม่เห็นด้วยกับการที่พระสงฆ์ทำตัวเป็น เครื่องมือ สนับสนุนอำนาจรัฐ ฉะนั้น การที่ท่านรับเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศโดยการแต่งตั้งของรัฐบาล 91 ศพ จะอธิบายได้อย่างไรว่าท่านไม่ได้เป็น เครื่องมือ ของรัฐ (และก็ไม่น่าจะเป็นรัฐที่ดีกว่ารัฐในอดีตที่เคยใช้พระสงฆ์เป็นเครื่องมือ เช่น ร.6 ให้พระสงฆ์เทศน์สนับสนุนการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้น) เพราะโดยนิตินัยอำนาจรัฐแต่งตั้งท่าน โดยพฤตินัยท่านจะ เป็นอิสระ จากอำนาจรัฐที่แต่งตั้งท่านได้มากน้อยเพียงใด

และ เป็นอิสระ หมายความว่า เป็นกลาง ใช่หรือไม่ ในบริบทความขัดแย้งปัจจุบันนี้มีความเป็นกลางได้หรือ ทั้งเป็นกลางทางการเมือง และเป็นกลางทางศีลธรรม! โดยเฉพาะ ในทางศีลธรรม เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากมากว่า การรับเป็นกรรมการปฏิรูปฯ ไม่ได้มีความหมายในเชิงรับรอง ความชอบธรรม ของรัฐบาลที่สั่งสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องเสียชีวิต (คงไม่ใช่ทุกคนที่เสียชีวิตเป็นผู้ก่อการร้าย?!)

 

อ้างอิง

[1] ดู อัคคัญญสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 11.
[2] ส. ศิวรักษ์ (แปลและเรียบเรียง).ความเข้าใจเรื่องพระเจ้าอโศกและอโศกาวทาร.(กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2552). หน้า 26.
[3] จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย.(พิมพ์ครั้งที่ 9).(นนทบุรี: ศรีปัญญา,2550),หน้า 66-67.
[4] พระไพศาล วิสาโล.สร้างสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดี. http://www.thaiss.org/?module=article=detail&id=379 (7/9/2553).

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net