Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ศกนี้ ได้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาจำนวน 28 คนจาก 29 คนที่ครบกำหนดฝากขังถึง 7 ครั้งรวม 84วัน ยังเหลือผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางจ.อุดรธานีอีก 16 คน ที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวใดๆทั้งสิ้น เพราะถูกตั้งข้อหาหนัก 3 ฐานความผิด กล่าวคือ เผาศาลากลาง ,ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานและบุกรุกสถานที่ราชการ

 
แม้จะมีการจำแนกผู้ต้องหา 28 คนออกมาและปล่อยตัวออกมาให้เป็นอิสระ โดยตั้งเงื่อนไขเพียงให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวต้องไปรายงานตัวทุกวันที่ 15 ของเดือนจนกว่าจะมีการยกเลิกพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวและญาติพี่น้องพากันยินดีปรีดากับอิสรภาพของแต่ละคน เช่น นางจันทร์ เทพสาร รองประธานอสม.สถานีอนามัยจำปา ตำบลเชียงยืน ที่ในวันเกิดเหตุได้ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์เพื่อนบ้านที่กำลังจะออกไปรับลูกที่โรงเรียน เพื่อไปซื้อกับข้าวในตลาด ผ่านทางไปศาลากลางเห็นไฟไหม้ศาลากลางอยู่ เข้าร่วมมุงดูเหตุการณ์พร้อมกับคนจำนวนมาก และร่นไปถึงสำนักงานเทศบาลที่ถูกไฟไหม้ด้วย จนปะกับนางเพียง ชาวพ่อค้า นางประกาย วรรณศรี นางวิไล ธาตุไพบูลย์ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันและขวนกันนั่งรถประจำทางออกมาซื้อของในเมืองแล้วเดินมาดูเหตุการณ์ไฟไหม้ศาลากลางเช่นกัน 
 
แม่บ้านกลุ่มนี้พากันเดินหาทางออกจากการตีโอบของเจ้าหน้าที่ผู้ถืออาวุธเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง รวมทั้งบรรดาไทยมุงลาวมุงทั้งหลายที่พากัน “ไปดูไฟไหม้ศาลากลาง”
 
ระหว่างทางนางจันทร์ได้พบกับคุณนายรัศมีขับรถผ่านมา เห็นหน้าก็รู้จักหน้าว่าคุณนายรัศมีเป็นคนจากหมู่บ้านใกล้เคียงกัน ขออาศัยติดรถออกมาด้วยกัน จะด้วยความตกใจที่ถูกเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่เข้ามา ประกอบกับพบคันกองดินกีดขวางการขับรถผ่านออกมาไม่ได้ คุณนายรัศมีขับรถโหลดเตี้ยวนเวียนหาทางออกไม่ได้ จนในที่สุดทั้งหมดถูกจับกุมขังไว้ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งก่อนนำตัวส่งเข้าเรือนจำนานถึง 84 วัน
 
ป้าจันทร์ในวัย 56ปี ได้เคยตั้งคำถามกับผู้เขียนที่เข้าไปเยี่ยมในเรือนจำว่า  “คุก ไม่ใช่ที่ที่พวกเราต้องเข้ามาอยู่ ถึงเราจะจน เราก็มีบ้านอยู่ มีที่นอน ที่กิน ทำไมต้องเอาเรามาขังไว้ เราทำผิดตรงไหน ?” 
 
แกต้องทุกข์ทรมานมากกว่าผู้อื่นตรงที่ ต้องอดหมาก เมื่อเสื้ยนหมากมากๆ เพื่อนร่วมชะตากรรมก็จะปลอบใจป้าจันทร์อย่างขื่นๆว่า ไม่เป็นไร ถือเสียว่า ป้าต้องอดหมากเพื่อประชาธิปไตยก็แล้วกัน
 
เมื่ออกจากคุกมาได้ เราถามว่าป้าอดหมากตัดหมากได้ไหม  แกรีบบอกว่า   “ออกมาได้ฉันต้องคว้าหมากกินก่อนอื่น อดมาตั้ง 3 เดือน”
               
คนที่ได้ออกมาจากคุกบอกเล่ากับผู้เขียนว่ารู้สึกกังวลใจเป็นห่วงชะตากรรมของคนอีก 16 คนที่ต้องทุกข์ทรมานอยู่ในเรือนจำกลางอุดรธานีที่แออัดยัดเหยียดด้วยนักโทษเด็ดขาดและผู้ต้องหาถึง    2,400คน บนพื้นที่ 18 ไร่ โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงอีก 4 รายที่ถูกขังรวมกับผู้ต้องโทษคดีอื่นๆในสภาพที่อาจทำให้เสียจริต กระทั่งบางคนเคยคิดจะฆ่าตัวตายเพื่อหนีให้พ้นจากสภาพความเลวร้ายที่ทนไม่ได้ …
 
ผู้เขียนได้เข้าไปรับฟังคำบอกเล่าจากปากของผู้ต้องหาหญิงที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวอีก4คน และขออนุญาตนำเรื่องราวของ ผู้ต้องหาหญิง 3 คน แจ้งให้คนภายนอกได้รับรู้
 
นางรัศมี อายุ 50 ปีในเย็นวันเกิดเหตุได้ขับรถออกมาเพื่อรับหลานชายที่โรงเรียน ชาวบ้านที่รู้จักนางรัศมี จะเรียกว่า “คุณนาย” และรู้กันว่า คุณนายรัศมีเป็นคนรักสวยรักงาม เมื่อตกอยู่ในสภาพที่ต้องปรับตัวด้วยความยากลำบากกับการอาบน้ำวันละไม่กี่ขันภายในเวลาที่กำหนดไม่กี่นาที นางรัศมีได้เล่าให้ผู้เขียนฟังพร้อมน้ำตาที่ไหลอาบแก้มตลอดเวลาว่า
 
"คุณยายไม่ได้รับส่ง หลานไม่ได้ไปโรงเรียน สถานที่อยู่ลำบากมากนอนกินน้ำตาทุกคืน ห้องน้อยๆ ยาว 8 x 20 ม. นอนตั้ง 200 คน    วันนั้นบ่าย3 ขับรถออกไปรับหลานชายที่โรงเรียน   ขับรถผ่านถนนไพธิศรี แวะจอดรถฟังปราศรัย แล้วออกมาฝั่งโน้นแล้ว เขายิงกันมาก็จอดรถไม่ได้ คนวิ่งหนีออกมาจากฝั่งโน้น ตกใจเจอคนตำบลเดียวกันเข้าวัดเข้าวาสายเดียวกันในการทำบุญ ก็เลยเรียก วิลัย เพียง จันทร์ ประกาย ขึ้นรถคันเดียวกัน กลัวถูกกระสุน จึงขับรถวนเวียน เพราะออกไม่ได้ เป็นเขตก่อสร้าง รถโหลดเตี้ยวิ่งขึ้นไม่ได้ เราสอบถามเส้นทางจากตำรวจ ทหารก็ล็อกตัวไว้ วันนั้นถูกจับเอาไปขังที่ค่ายทหาร 2 คืน วันที่ 21 มาเรือนจำมีเจ้าหน้าที่ศาล มีผู้พิพากษามาอ่านว่าพวกเราร่วมเผา อ่านให้เราฟัง เขาบอกว่าผิด พรก. เฉยๆไม่มีข้อหวาดกลัวอะไร ถูกปรับไม่มากมาย โทษเท่ากับเล่นไฮโล   ทุกวันนี้เรารู้ว่าหลอกพวกเราให้ลงชื่อ แต่เราอ่านแล้วรู้ว่าหลงกลเพราะมีทางเพิ่มข้อหาเราหนักหนา ขนาดเราไม่เซ็นต์ก็หาว่าหัวหมอ หัวแข็ง ถ้าว่าเราร่วมชุมนุม จะฟ้องเราแค่นี้เราก็ยอมรับ เพราะเรามาดูมาฟังการชุมนุมจริงในวันนั้น แต่เราไม่ได้ทำลายหรือเผาศาลากลางตามที่กล่าวหา ”
               
คุณนายรัศมี มีอาการปวดท้องจากเนื้องอกในมดลูกที่แพทย์กำลังจะนัดผ่าตัด จึงเชื่อได้ว่าคุณนายคงไม่หลบหนีหรือไปก่อเหตุวุ่นวายใดๆทั้งสิ้น ควรที่จะเมตตาปราณีอนุญาตให้ประกันตัวออกไปรักษาพยาบาลจะเป็นการดีกว่า
 
นางแสงเดือน   เล่าว่า ถูกจับในเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 53 ได้เปิดวิทยุชุมชน มีเสียงพูดว่า   “พี่น้องทุกแห่ง ทุกกลุ่ม ให้ออกมาช่วยกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุดรฯ ” ตนเองไม่คิดว่าจะออกไปต่อต้านใดๆ เพียงแต่อยากออกไปดู มีคนเยอะไหม พอที่จะเอาไอศกรีม ที่ตนเองและลูกไปจำหน่ายขายเป็นประจำ ไปถึงแล้วได้เดินไปดูเต้นท์ต่างๆ และฟังผู้ประกาศไมค์ ที่หน้าศาลากลาง ยืนฟังว่าเ ขาพูดอะไร
 
ขณะนั้นเกิดเหตุการณ์ชุมนุมในศาลากลางไม่รู้อะไรเกิดขึ้น ก็ยังยืนดูอยู่หน้าศาลากลางพักหนึ่งก็ออกไปซื้อยาหม่องมาดม กลับมาไฟไหม้หมดแล้ว ก็ยืนดูขณะนั้นไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คิดว่าไม่ได้ทำผิดอะไร จึงไม่ได้หลบหนี ขณะนั้นมีผู้ชายที่กำลังจะปีนกำแพงแถวร้านข้าวต้มกันเอง ฉันยืนอยู่ใกล้ชายคนดังกล่าว จึงโดนจับไปด้วย เขาตั้งข้อกล่าวหาผิด พรก.ฉุกเฉิน และร่วมกันวางเพลิง
 
ทหารได้พาฉันไปที่กักขังที่ค่ายทหารบังคับให้รับสารภาพว่า ฉันเป็นคนบอกว่าเผาเลย ฉันไม่ยอมรับเพราะไม่ได้พูดคำดังกล่าว และไม่มีในความคิดของฉันเลย”
     
นางแสงเดือนอยู่ในค่ายทหาร 2 วัน นำมาฝากขังที่เรือนจำกลางอุดรฯ อยู่เรือนจำมีชีวิตที่เจ็บปวดทรมาน หวาดผวาที่สุด โดยเฉพาะข้อกล่าวหาของผู้มีอำนาจรัฐ และจิตใจคิดถึงลูกที่ต้องดูแล และแม่ที่แก่แล้ว สามีก็ไม่มี ดูแลลูกคนเดียวมาตั้งแต่เล็ก ที่สำคัญแม่ไม่ได้ทำความผิด ทำไมต้องถูกจับความยุติธรรมไม่มีสำหรับเรา และยังต้องมาคิดห่วงลูกในคดีที่โดนเขาเอาน้ำร้อนสาดทั้งตัว (หัวลงมาหน้า) ขณะที่อยู่ในเรือนจำถึงวันที่ลูกขึ้นศาล ลูกก็ไม่มีใคร ไม่มีแม่ให้ความอบอุ่น มีแต่เด็กขึ้นศาลตามลำพัง ส่วนที่รักษาลูกไปก็รักษาเป็นปีกว่าลูกจะได้ขนาดนี้ และยังไม่ได้รับค่าเสียหายเลย ฉันใคร่ขอความเป็นธรรมทุกที่ แต่สุดท้ายก็ไม่มี ในเวลาที่คิดถึงลูก ฉันอยากขอความเป็นธรรมให้โอกาสได้กลับไปดูแลลูกที่ไม่มีใครดูแลเลย
 
นางปัทมาวดี อายุ 48 ปีได้เข้ามอบตัวทันทีที่ตำรวจโทรศัพท์ตามให้ไปพบในวันที่ 26 พ.ค.2553 ถูกตั้งข้อหากระทำความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ,ร่วมวางเพลิง,เป็นผู้ปลุกระดม ผู้ร่วมประกาศ โฆษณา  “ ข้อกล่าวหาทั้ง 4 ข้อ ดิฉันให้การปฏิเสธ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ยอมรับว่าได้ถือไมค์จริง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นทางความคิด ในฐานะคนไทยคนหนึ่งเท่านั้น แต่ถูกถ่ายรูป เคยยื่นการขอประกันตัวแต่ไม่ได้รับอนุญาตเพราะ เกรงหลบหนี ขอยืนยันว่าไม่เคยคิดเลย ไม่เช่นนั้นดิฉันไม่มามอบตัวทำไม”
 
ดีเจผู้นี้ได้บอกว่า “ ดิฉันต้องการให้ได้รับทราบข้อมูลจากผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะคนไทยคนหนึ่งในการแสดงทรรศนะทางการเมือง หากถือว่าเป็นความผิด ต้องขอถามต่อว่าประเทศไทยของเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่  ทำไมคนเสื้อแดงถึงถูกติดตามจับกุมโดยไม่ลดละโดยส่วนใหญ่ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเวลานี้เป็นชาวบ้านธรรมดา ที่อยากรู้อยากเห็น ไปมุงดูเหตุการณ์แล้วก็ถูกทหารกวาดต้อนมา บางคนไปขายของในที่ชุมนุมทั้งสามีและภรรยา ถูกควบคุมตัวมา ถามว่าครอบครัว ลูกเต้า พ่อแม่ที่ไม่มีใครดูแล เมื่อขาดเสาหลักใครจะรับผิดชอบ
               
ใคร่ขอวิงวอนให้ท่านช่วยพวกเราด้วย ในแง่ของความเป็นจริง ถ้ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์จริง ก็ควรจะให้ความเป็นธรรมแก่คนเสื้อแดงบ้าง อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้เขาได้ต่อสู้ตามกระบวนการ และขั้นตอนของกฎหมาย ถูกก็ว่ากันไปตามถูก ผิดก็ว่ากันไปตามผิด และควรจะให้เขาได้ประกันตัวออกไปพบกับครอบครัวลูกเมียที่รออยู่
               
พวกคุณทราบหรือไม่ว่า การถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำนั้น พวกเราเจอกับอะไรบ้าง มันมีความกดดันมากมายขนาดไหน ที่จะต้องมาใช้ชีวิตกับผู้ต้องขังคดี ยาเสพติด หรือคดีฆ่า อีกทั้งยังมีสายตาของผู้ต้องขัง ที่ไม่เคยรู้ข่าวความข้อเท็จจริงภายนอก พวกเขามองว่าพวกเราเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง เจ็บปวดมาก ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนเริ่มมีอาการทางประสาท มีความหวาดระแวงและและขาดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งการกินอยู่หลับนอนก็แออัด ยัดเยียด
                 
ในวันเกิดเหตุเวลา 11.00 น.ได้เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุดรฯ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง แต่ด้วยวิญญาณของนักจัดรายการวิทยุ ดิฉันก็ได้ร่วมแสดงความรู้สึกในทรรศนะของตัวเอง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯในขณะนั้น เพียงแต่ต้องการให้เสียงของคนตัวเล็กๆได้ดังไปถึงนายอภิสิทธิ์ ว่าให้ยุติการกระทำในการล้อมปราบประชาชนเสีย คำกล่าวในการบันทึกเสียงไม่มีการปลุกระดมแต่อย่างใด ภายหลังดิฉันทราบมาว่ามีคนโยนความผิดมาให้ โดยกล่าวหาว่าดิฉันเป็นแกนนำ ขอเรียนความตรงว่า ดิฉันไม่มีมวลชน ดิฉันไปสังเกตการณ์เพียงคนเดียว จอดรถไว้ที่ศาลเจ้าปู่เจ้าย่า ในสนามทุ่งศรีเมืองอุดรธานี ถือไมค์ประกาศที่หน้าศาลากลางไม่ถึง 10 นาที ดิฉันกลับบ้านก่อนเที่ยงในขณะนั้นยังไม่มีเหตุการณ์เผาศาลากลางเลย ”
               
ผู้หญิงทั้งสี่คน เป็นคนไทย อยากให้ผู้มีอำนาจได้รับรู้ ไม่ว่าเธอจะผิดหรือถูก จะให้อภัยกันไหม ผิด – ถูก ว่ากันทีหลัง พวกเธอไม่มีทางเลือก ไม่มีโอกาสเตรียมตัวสู้คดี ช่วยเถอะ ช่วยให้โอกาส ถ้าไม่ผิดต้องให้ความยุติธรรม ถ้าผิด ก็ให้โอกาส ให้อภัยกันได้ไหม
 
############################################################

 

 

 

หมายเหตุ:เผยแพร่ครั้งแรกใน"มติชนสุดสัปดาห์"ปีที่ 30 ฉบับที่ 1567 (27 ส.ค.-2 ก.ย.2553)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net