แนะนำหนังสือ : The Reluctant Fundamentalist ศาสนิกชนผู้ลังเล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

“ฉันเพิ่งอ่านหนังสือเล่มนี้จบ” แมทพูดขึ้นพร้อมยื่นหนังสือหน้าปกสีเขียวอ่อนมาให้ดู บนหน้าปกมีรูปดาวกับพระจันทร์เสี้ยวซึ่งเป็นสัญลักษณ์และสีของธงชาติประเทศปากีสถาน และเมื่ออ่านชื่อเรื่องก็พอจะเดาได้ว่าหนังสือเล่มนี้คงเกี่ยวกับผู้ก่อการร้าย สหรัฐอเมริกา และโลกมุสลิม
 
คำว่า Fundamentalist หมายถึงผู้ที่เคร่งปฎิบัติตามหลักศาสนา ซึ่งความหมายเดิมของคำนี้ไม่ได้หมายถึงผู้ก่อการร้ายแม้แต่น้อย แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในเมืองนิวยอร์กและตึกแพนทากอนในเมืองวอชิงตันดีซีประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2001 แล้ว คำนี้ถูกโยงติดเข้ากับขบวนการผู้ก่อการร้ายที่นำโดยศาสนิกชนหัวรุนแรง ฉะนั้น ถ้าแปลเอาง่าย The Reluctant Fundamentalist ...ก็หมายถึงศาสนิกชนที่จิตใจลังเล
 
เมื่อดูจากปกและชื่อเรื่องแล้ว หนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจอยู่สองอย่างที่ทำให้ผู้เขียนสนใจอยากอ่านแม้จะไม่ใช่คอนิยายเหมือนแมทเพื่อนอเมริกันของฉันก็ตาม อย่างแรกที่ผุดขึ้นมารบกวนจิตใจคือ ทำไมผู้เชื่อในศาสนาถึงเกิดลังเลหรือเบี่ยงเบน และอะไรที่ทำให้เขาหรือเธอลังเล มันแปลว่าอะไรกันแน่ ประการที่สองที่ทำให้ฉันตัดสินใจยืมหนังสือเล่มนี้จากห้องสมุดประชาชนและเริ่มเปิดอ่านตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้ายคืออยากลิ้มลองรสชาติของนิยายประเภทนี้ว่าจะเป็นอย่างไร
 
หลายคนอาจไม่คุ้นหูกับผู้ประพันธ์นิยายหน้าใหม่คนนี้...โมซิน ฮามิด (Mohsin Hamid) เขาเคยเขียนนิยายชื่อ Moth Smoke ในปี 2001 นิยายเล่มนี้ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัล PEN/Hemingway Award และยังอยู่ในรายชื่อหนังสือที่โดดเด่นติดอันดับประจำปีของหนังสือพิมพ์ New York Times อีกด้วย The Reluctant Fundamentalist เป็นนิยายเล่มที่สองของฮามิดที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2007 และได้รับการตีพิมพ์อีกครั้งในปี 2008
 
ฮามิดเริ่มเรื่องราวด้วยบทสนทนาปริศนาระหว่างเฉงจีส (Changze) กับคนอเมริกันแปลกหน้าที่คาเฟ่แห่งหนึ่งในเมืองลาฮอร์ประเทศปากีสถาน เฉงจีสตัวละครหลักของเรื่องพรรณาว่าที่จริงคนอเมริกันก็สามารถดูเหมือนกับคนปากีสถานได้เพราะคนปากีสถานมีหลายชาติพันธุ์ผสมกัน ฉะนั้นเรื่องสีผิวขาวๆ ของชาวอเมริกันจึงไม่ได้แตกต่างไปจากคนปากีสถานเท่าใดนัก แต่ความแตกต่างที่เห็นชัดเจนทางกายภาพภายนอกระหว่างคนอเมริกันกับคนปากีสถานคือ...การไว้หนวดเคราที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนมุสลิม ในหลายตอนของหนังสือเล่มนี้ เฉงจีสแสดงให้เห็นถึงความกระอักกระอวนใจเมื่อถูกจับจ้องหรือได้รับปฎิกิริยาตอบโต้แปลกๆ จากคนรอบข้างในสังคมอเมริกันเมื่อเขาไม่ได้โกนหนวด แต่อย่างไรก็ตาม การสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพรินส์ตันด้วยเกรดดีเลิศ การได้ทำงานกับบริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจชื่อดังโดยได้รับค่าตอบแทนที่สูงลิว บวกกับความรักที่กำลังเบ่งบานกับหญิงสาวชาวอเมริกัน ทำให้เฉงจีสรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถปรับตัวและผลักตัวเองให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้มีการศึกษาและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะในสังคมเมืองนิวยอร์กที่ทันสมัยและที่มีการแข่งขันสูง
 
ดูแล้วเฉงจีสน่าจะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ที่แตกต่างจากวัฒนธรรมบ้านเกิดได้อย่างดี แต่ที่ไหนได้ หลายครั้งที่เฉงจีสแอบบ่นบอกความในใจแก่ผู้อ่านว่าแม้เขาจะรู้สึกว่าเขาได้กลายเป็นคนอเมริกันไปแล้ว แต่ในหลายครั้งเขาก็ยังรู้สึกแปลกแยกไม่สามารถเข้ากับสังคมอเมริกันได้อยู่ดี
 
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 9/11 เขาเริ่มหมกหมุ่นและกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามต่อต้านผู้ก่อการร้ายในอิรัก ที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถานต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ตามไปด้วย แม้รัฐบาลปากีสถานจะเคยเป็นศูนย์กระจายคำสั่ง เงิน บุคลากร และอาวุธของซีไอเอในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอัฟกานิสถานช่วงยุคสงครามเย็นและยังคงเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของอเมริกาในการต่อต้านผู้ก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 9/11ด้วยก็ตาม แต่ในหลายพื้นที่ของปากีสถานกลับกลายเป็นแหล่งเพาะผู้คลั่งศาสนาหัวรุนแรงที่รัฐบาลปากีสถานและอเมริกาไม่สามารถควบคุมได้ แรงกดดันจากรัฐบาลอเมริกันต่อรัฐบาลปากีสถานในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายในประเทศจึงเริ่มส่งผลต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศและที่สำคัญยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของเฉงจีสอีกด้วย
 
ความเป็นคนปากีสถานครึ่งหนึ่งและคนอเมริกันอีกครึ่งหนึ่งเริ่มทำให้เขาสับสนว่า...เขาควรเป็นใครกันแน่
 
การวางปมและลำดับเรื่องราวโดยมีสถานการณ์การสนทนาในคาเฟ่ที่ลาฮอร์แทรกขึ้นเป็นระยะทำให้นิยายเล่มนี้เหมือนนิยายเชิงสืบสวนที่ชวนให้เดาและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความรู้สึกของเฉงจีสตั้งแต่ต้นจนจบเล่ม ฉันถึงบางอ้อก็เมื่ออ่านมาจนถึงสองหน้าสุดท้าย ฮามิดสามารถวาดตัวละครที่ชื่อเฉงจีสได้อย่างซับซ้อนน่าสนใจ ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่มาจากโลกมุสลิมที่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสโลกของวัฒนธรรมตะวันตกและโลกแบบทุนนิยมอเมริกันให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน งานของฮามิดจึงมีความแตกต่างจากงานเขียนทั่วไปที่เขียนโดยคนตะวันตกหรือคนอเมริกันเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกมุสลิม
 
ถึงแม้ว่างานเขียนชิ้นนี้ของฮามิดจะเป็นเพียงนิยาย แต่ถ้าดูจากประวัติของฮามิดที่เกิดที่ลาฮอร์ จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดและพรินส์ตัน และเคยทำงานในบริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจที่มีชื่อเสียงในนิวยอร์กแล้ว ยิ่งทำให้ตัวละครเฉงจีสถูกปลุกเสกให้มีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ฮามิดปฎิเสธว่าเฉงจีสไม่ใช่ตัวเขาในชีวิตจริง แต่ฮามิดก็ยอมรับว่าความรู้สึกนึกคิดของตัวละครตัวนี้สะท้อนมาจากความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ของเขาเองที่อยู่ในทั้งสองโลก...โลกมุสลิมและโลกตะวันตก และมีความเป็นตัวตนของทั้งสองชาติ...ปากีสถานและอเมริกัน

หนังสือ The Reluctant Fundamentalist
สำนักพิมพ์: Mariner Books
ปีที่พิมพ์: 2007, 2008
ISBN-10: 0156034026
ความยาว: 208 หน้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท