Skip to main content
sharethis

ทุกข์เวียนโถมใส่ชาวพม่าในประเทศไทย

ชุติมา สีดาเสถียร เเละ อแลน มอริสัน
รายงานจากระนองและภูเก็ต

ชาวพม่าเปิดใจ ถูกแสวงประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐที่ควรปราบปรามการลักลอบนำพาคนเข้าเมือง กลับทำเสียเอง

เมื่อ "โม" ผู้ค้าบริการทางเพศวัยรุ่น พบตำรวจในประเทศไทย คาดการณ์ได้ว่าเธอควรถูกจับเเละผลักดันออกนอกประเทศ  เธออ้างว่าเธอกลับถูกพาตัวไปทำงานในบาร์โสมม ที่นายตำรวจท้องถิ่นเป็นเจ้าของ เธอค้าบริการในบาร์ตั้งแต่อายุ 14 ที่เมืองชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง รับเเขกแต่ละครั้งจะได้เงิน 350 บาท (86 เหรียญฮ่องกง) ตำรวจเจ้าของซ่อง ได้ 125 เเละส่งเจ้าหน้าที่ต.ม. ที่ทุจริต อีก 100 บาท ขณะนี้ โม (อายุ 17) เเละเอ (อายุ 17) เพื่อนหญิงชาวพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่ไทยที่ระนองเเสวงประโยชน์เเละค้ากำไรกับการลักลอบขนคนเข้าเมือง เเทนที่จะปราบปรามการกระทำดังกล่าว ท้งคู่เล่าว่ากระบวนการผลักดันผู้อพยพผิดกฎหมายชาวพม่าในระนองเป็นการจัดฉากตบตา เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ใช้การผลักดันส่งกลับเป็นโอกาสในการขายผู้อพยพทั้งลำเรือให้ผู้ลักลอบนำพาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

แทนที่ผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกส่งกลับพม่า ทางเรือที่นำพวกเขาไป “ผลักดัน” ออกนอกประเทศไทย โดยการส่งข้ามแม่น้ำกระบุรี ชาวพม่าถูกขนถ่ายกลางน้ำไปยังเรือของแก๊งค้ามนุษย์ที่พาผู้อพยพลงเรือกลับประเทศไทย

ขั้นตอนการลักลอบขนคนเข้าเมืองของทั้งสองได้รับการรับรองความน่าเชื่อถือเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่เเละเเหล่งข้อมูลของรัฐ ที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัว เเละได้รับการยืนยันจากนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อผู้อพยพพม่า แหล่งข้อมูลหลายที่ในระนองยืนยันตรงกันว่า แต่ละปี มีชาวพม่าถูกจับและค้ามนุษย์หลายพันคน ผู้พันที่รับผิดชอบด่านตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) ที่ระนองชี้แจงว่า คำถามทั้งหมดที่ถามเขาต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้บังคับบัญชาที่กรุงเทพฯ ก่อน ทั้งนี้เขาปฏิเสธการความคิดเห็นเเละการสัมภาษณ์

โมเเละเอ เป็นชื่อสมมติแทนตัวบุคคลเพื่อการเขียนข่าวนี้ทั้งคู่ติดต่อมาที่หนังสือพิมพ์  South China Morning Post ในระนองผ่านผู้ติดต่อในชุมชนพม่า เรื่องของพวกเธอมาทันเวลาการประชุมนานาชาติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มีตัวแทนราว 1,500 คน จากทั่วโลก ร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ อนึ่ง ฯพณฯ สีหศักด์พวงเกตุแก้ว เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งสหประชาชาติ

โมเเละเอเล่าเรื่องชีวิตของทั้งคู่ ที่ต้องหลบหนีตำรวจเเละเจ้าหน้าที่ ต.ม. ทุกครั้งที่เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ไทย ก็จะเจอเเต่เจ้าหน้าที่ทุจริต หรือคอยตามล้างตามล่า หรือทั้งสองแบบ

“คืนหนึ่งฉันโดนตำรวจลาดตระเวนที่ระนองเรียก ฉันบอกว่า ไม่มีบัตร [ประจำตัว] ตำรวจเรียกเงิน 5,000 บาท ฉันบอกว่ามีไม่ถึง เขาบอกว่า ‘ถ้านอนกับฉัน จะไม่จับเธอไปโรงพัก’ สุดท้ายตำรวจยอมรับเงิน 1,500 บาท”

นายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่วิจัยประจำองค์กร International Rescue Committee องค์กรเอกชน กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในประเทศไทยเฟ่ืองฟูเพราะรัฐบาลไม่แทรกแซง "มีโอกาสที่เจ้าหน้าที่ ต.ม. จะทำเงินได้ตามสบาย ตราบใดที่เจ้าหน้าที่พม่ายังไม่ส่งตัวเเทนดูเเลการผลักดันคนพม่าออกนอกไทย" อดิศรกล่าว "เราทราบว่ามีการทุจริตในกระบวนการนี้ ทำให้ผู้อพยพพม่ากลับเข้าไทยได้อีก เเละเข้ามาครั้งละมากๆ"

โม เล่าว่า เธอกำพร้า เเละจำพ่อเเม่ไม่ได้เลย  มีผู้หญิงพม่าที่วิคตอเรีย พอยท์ เมืองหนึ่งในพม่าใกล้ระนอง ตรงข้ามเเม่น้ำกระบุรี  เป็นคนหนึ่งเลี้ยงดูมา ตั้งเเต่จำความได้ โมเห็นการค้าชาวพม่าผิดกฎหมายมาโดยตลอด

"เมื่อฉันอายุได้ 6 ขวบ ผู้หญิงที่เลี้ยงฉันมาต้ังเเต่พ่อเเม่เสียพาฉันเข้ามาประเทศไทย เธอพาฉันไปที่ชุมพร ซึ่งเธอทำงานในโรงงานปลา” โมเล่า  แต่พอฉันอายุ 13 เธอก็ขายฉันให้เจ้าของร้านคาราโอเกะในราคา 70,000 บาท ฉันได้ค่าจ้างเดือนละ 4,000 บาท แต่นายจ้างจ่ายให้ผู้หญิงที่ขายฉันมา ฉันเสิร์ฟเบียร์ ทำความสะอาดเเละนั่งดื่มกับเเขกที่ร้าน ถ้าแขกให้ทิป ฉันเก็บทิปไว้ได้ ฉันบอกเจ้าของร้านว่าอยากออกจากงาน แต่เขาบอกว่า เขาซื้อฉันมา ฉันออกไม่ได้ ฉันเลยหนี ฉันพบผู้ชายพม่าคนหนึ่งที่เมตตาเเละหางานให้ทำในโรงงานปลา“

โม เล่าว่าเหตุการณ์เป็นไปด้วยดี จากนั้นเอก็ผูกมิตรกับเธอ ทั้งคู่ตัดสินใจไประนอง ก่อนหน้าจะออกเดินทางจากชุมพร ทั้งคู่โดนตำรวจเรียกตรงถนน เเละเรียกเงิน 7,000 บาท ต่อคน จากเรา ตำรวจบอกว่า ถ้าจ่ายเงินก็จะปล่อยตัวไป เอบอกว่าไม่มีเงิน ฉันเก็บเงินได้บ้าง เราเจรจาขอจ่ายเเค่ 3,000 บาท ตำรวจปล่อยฉันไป

ตำรวจปล่อยโม เเต่เอต้องถูกขังอยู่เดือนหนึ่งจนกว่าตำรวจจับเธอขึ้นรถพร้อมผู้อพยพพม่าคนอื่นๆ ส่งไประนอง เอเล่าว่า ต.ม.ที่ระนองเรียกเงินเธอ หากเธอต้องการอยู่ในประเทศไทยต่อ แต่เธอมีเงินไม่พอ ก็เลยถูกส่งไปที่วิคตอเรีย พอยท์ “พอฉันมีเงินบ้าง ฉันเดินทางกลับไปประเทศไทย โดยใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวที่มีอายุหนึ่งสัปดาห์ ตั้งเเต่นั้น ฉันก็ยังไม่กลับพม่าเลย”

โมเดินทางไประนอง  "ตอนนั้น ฉันไม่มีเงิน ไม่มีงาน ก็เลยตัดสินใจไปที่ซ. 3 [ย่านค้าบริการทางเพศในระนอง] ฉันทำงานกับตำรวจ ที่เก็บบัตรประจำตัวพม่าของคนงานไว้ รับแขกครั้งหนึ่งจะได้เงิน 350 บาท เจ้าของหัก 125 บาท เเละส่งส่วยให้ ต.ม. 100 บาท ฉันต้องทำงานทุกวัน บางวันต้องรับเเขก 4-5 คน”
 
โมเล่าว่า ในที่สุด เธอหนีไปหาเอ แต่ตำรวจเจ้าของบาร์สั่งให้คนตามตัวจนพบ เเละบังคับโมไปทำงานที่เดิม

จากนั้นโมคิดว่าจะหนีพ้น เธอไม่สบายเเละเข้าโรงพยาบาลที่ระนอง พออกจากโรงพยาบาล เอพาโมหลบไปอยู่กับเพื่อนอีกคน จากนั้นเรื่องเดิมๆ ก็เกิดขึ้นอีก โมเจอตำรวจที่ตั้งใจจะหากำไรจากเธอ “เมื่อไหรเจอตำรวจ ก็จะโดนไถเงินเมื่อนั้น” เอ บอก
 
โมเล่าว่า “โดนตำรวจลาดตระเวนเรียก  ก็เลยบอกว่า บัตรอยู่กับเจ้าของบาร์ที่ ซ. 3  ตำรวจเรียกเงิน 2,000 บาท โมไม่มีให้ จึงถูกพาไปโรงพัก หลังจากขึ้นศาล โมถูกตัดสินให้ปรับ 2,000 บาท แต่ไม่มีเงินจ่าย จึงถูกขังเเทนค่าปรับ 10 วัน แทนค่าปรับวันละ 200 บาท หลังจากนั้น ฉันถูกส่งไปที่ ต.ม.”

“ผู้หญิงคนหนึ่งมาหาฉันเเล้วถามว่า “มีใครมาจ่ายเงินหรือยัง” ฉันบอกว่า “ยัง” เธอเลยจ่ายเงิน 1,500 บาทให้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เเละพาฉันกับผู้หญิง 20 คน ผู้ชาย ประมาณ 30 คนขึ้นรถบรรทุก พาเราเเยกขึ้นเรือ ผู้หญิงลำหนึ่ง ผู้ชายอีกลำ โดยมีเครื่องหมายมัดข้อมือเราไว้”

ถึง ตอนนี้กระบวนการผลักดันปลอมๆ ก็เกิดขึ้น พอเรือใกล้วิคตอเรีย พอยท์ ฝั่งพม่า “พอจะถึงวิคตอเรีย พอยท์ มีเรือหางยาวมารับเรา” โมเล่า  “ผู้ชายบนเรือมีรายชื่อคนที่เขาต้องการ ผู้หญิงสี่คน เเละฉันขึ้นเรือลำนั้นกลับฝั่งไทย คนอื่นๆ บนเรือใหญ่ถูกส่งไปเรือเล็กลำอื่นๆ เหมือนๆ กัน”

เราไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่พม่าเลย สุดท้ายฉันรู้ว่าเรากลับมาฝั่งไทย เเต่ไม่ทราบว่าที่ไหน ผู้หญิงที่จ่าย 1,500 บาทให้ฉันรออยู่ที่ท่าเรือ ต่อมาเราถูกจับใส่รถตู้ไปทำงานที่กระบุรีในสวนยาง หลังจากทำงานได้หกสัปดาห์ ผู้หญิงคนนั้นบอกว่าจะหาสามีให้ฉัน

ฉันทำตัวเป็นมิตรกับชายคนหนึ่งที่พาฉันออกไปจ่ายตลาดที่ตลาดในท้องถิ่น แต่พบสบโอกาส ฉันก็หนีพร้อมกับเงินที่ใช้ซื้อของ 1,000 บาท ฉันขึ้นรถมาระนองเเละพบเออีกครั้ง

สิ่งที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง คือกระบวนการโสมมนี้เป็นไปโดยความยินยอมโดยนัยจากเหยื่อชาวพม่า เช่น เอเเละโม พวกเขาคิดว่าการถูกขายไปเป็นโสเภณี หรือถูกบังคับให้เป็นแรงงานในโรงงานกุ้งยังดีเสียกว่าการถูกผลักดันข้ามชายแดนไปสู่เจ้าหน้าที่พม่าโดยตรง ที่จับคนเหล่านี้จำคุกเป็นเวลานาน บางครั้งก็จะลงโทษอย่างโหดร้ายทารุณ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่โหดร้าย

เอ เล่าว่า “ฉันจำได้ว่าครั้งหนึ่งมีผู้ชายสามคนมาหาโมที่บ้านฉัน”  “เเต่หาไม่เจอ เพราะโมอยู่กับเพื่อนฉันอีกคน เเบบนี้ปลอดภัยกว่า พวกผู้ชายซ้อมฉันเเละพาฉันไปบนเนินเขา ฉันคิดว่าจะโดนฆ่าเสียเเล้ว เพราะฉันไม่ยอมบอกว่าโมอยู่ไหน เเล้วเขาพาฉันไปที่บาร์ในซ. 3  เเล้วเอากุญแจมือล็อคฉันไว้กับโต๊ะ กุญเเจมือไม่เเน่นหนานัก ฉันก็เลยหนีออกมาได้”

นัสเซอร์ อาจวาริน ทนายความสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยกล่าวว่า ชาวพม่าเช่นเอเเละโม เป็นเหยื่อการทุจริตคอร์รัปชัน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและ ต.ม. ที่จุดผ่านแดนเสมอๆ “เป็นการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นต่อเนื่องที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการป้องกันได้”  นัสเซอร์กล่าว   "ถึงเวลาเเล้วที่รัฐบาลจะต้องรับรู้ปัญหาเเละก้าวเข้ามาทำอะไรสักอย่าง"

เอเห็นด้วย " ตอนกลางวันฉันไม่กลัวถ้าใครจะเห็น แต่ตกกลางคืนไม่ใช่อย่างนั้น เพราะกลางคืนน่ากลัวกว่า ตำรวจที่นี่หาเงินกับตนพม่าทุกเวลา ตลอดเวลา คนที่มีเอกสารถูกต้องบางคนถูกขู่ว่าจะโดนจัดฉาก ยัดยาเสพติด ถ้าไม่จ่ายตำรวจ.”

อดิศร เจ้าหน้าที่ International Rescue Committee กล่าวเพิ่มเติมว่า: "การค้ามนุษย์ที่ระนองมีอำนาจมากกว่ากฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นมีเสรีภาพมากเกินไปจนสามารถทำอะไรก็ได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net