Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อถกเถียงในเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมโดยรัฐมักจะประกอบด้วย 2 เรื่องใหญ่คือ

หนึ่ง จะเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า (จนหรือรวยได้รับสวัสดิการเหมือนกัน) หรือเป็นแบบให้เฉพาะคนจน (ต้องพิสูจน์ว่าจนถึงจะได้)

และ สองคือ รัฐจะหาเงินมาจากไหนเพื่อมาใช้จ่ายเรื่องสวัสดิการสังคม จะมาจากรายได้ภาษีอากร หรือมาจากการสมทบเงินของผู้ได้ประโยชน์ (เช่นระบบประกันสังคมของไทยในปัจจุบัน)

ข้อถกเถียงนี้ถือว่าเป็นข้อถกเถียงพื้นฐานที่จะต้องเกิดกับทุกประเทศที่รัฐต้องการจัดระบบสวัสดิการสังคม ข้อถกเถียงเหล่านี้ไม่สามารถจบในเวลารวดเร็ว เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 6 ปีก็ยังอาจจะเร็วไปในบางสถานการณ์

ตัวอย่างเช่น ประเทศสวีเดน เริ่มต้นมีสวัสดิการสังคมประเภทช่วยเหลือเฉพาะคนยากจน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1847 กระแสสังคมนิยมกับการเกิดพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคสังคมประชาธิปไตย ในปี ค.ศ. 1889 ทำให้ค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมประชาชนมากขึ้น ในปี พ.ศ. 1930 มีการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมครั้งใหญ่ในประเทศสวีเดน ได้มีการถกเถียงกันเป็นเวลานานถึง 10 ปีว่าจะปฏิรูปไปเป็นแบบใด ซึ่งประเด็นที่ถกเถียงก็หนีไม่พ้นสองประเด็นที่ได้กล่าวถึงในตอนต้น ในที่สุดปี ค.ศ. 1945 ก็ได้มีการสำรวจประชามติจากประชาชน ซึ่งพบว่าคนส่วนใหญ่ต้องการสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้า และปี ค.ศ. 1946 เป็นจุดเปลี่ยนประเทศเข้าสู่รัฐสวัสดิการ แบบที่คนได้รับสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า อย่างดี เท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องสมทบเงิน เพราะรัฐใช้รายได้จากภาษีอากร (เก็บในอัตราที่สูง) พรรคสังคมประชาธิปไตยได้ครองความเป็นรัฐบาลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 ถึง 1976 โดยไม่มีพรรคอื่นมาขั้นกลาง

ตัวอย่าง กรณีประเทศอังกฤษ นโยบายด้านสวัสดิการสังคมของอังกฤษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กระดอนไป กระดอนมาระหว่าง แบบถ้วนหน้าไม่สมทบเงิน กับแบบสมทบเงิน (ตามแบบเยอรมัน) แต่นโยบายมานิ่งหลังจากมีรายงานของเบบเวอริดจ์ (Beveridge Report) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การปฏิรูปนโยบายสังคมในอังกฤษใช้เวลาเพียง 10 เดือนในการถกเถียงกัน และได้ข้อสรุปว่า รัฐและประชาชนต้องร่วมกันรับผิดชอบสวัสดิการสังคม โดยรัฐช่วยจัดการให้มีสวัสดิการขั้นต่ำอัตราเดียว ประชาชนร่วมกันลงขันแบบอัตราเดียว ถ้าใครต้องการมีกินมีใช้มากกว่าขั้นต่ำก็ต้องช่วยตัวเอง อย่ามาหวังเอาจากรัฐ แต่ถ้าเป็นคนจน รัฐก็ช่วยเหลือเพิ่มเติมแบบให้เปล่า ปรากฏว่ารัฐบาลซึ่งมาจากพรรคอนุรักษ์นิยมลังเลกับการเสนอรายงานนี้แก่ประชาชน มีการถกเถียงกันมากมายในคณะรัฐมนตรี แต่ในที่สุดก็ตกลงเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ แต่รัฐก็ประกาศว่าจะยังไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของรายงาน การสำรวจความเห็นของประชาชนพบว่า ร้อยละ 47 ไม่พอใจกับท่าทีลังเลของรัฐบาล ร้อยละ 29 เห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาล และอีกร้อยละ 24 ตอบว่าไม่ทราบ และอีกไม่กี่เดือนถัดมานายกรัฐมนตรีก็ประกาศว่าเมื่อสงครามจบลง รัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปและรัฐบาลใหม่จะเริ่มต้นดำเนินการสวัสดิการสังคมตามรายงาน    

เบบเวอริดจ์ พรรคอนุรักษ์นิยม พรรคแรงงาน และพรรคเสรีนิยมแต่ก็แข่งกันออกนโยบายสวัสดิการสังคม ผลปรากฎว่าการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1945 พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งและได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมทั้งหมด 8 ฉบับ มีการให้สวัสดิการแก่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย และนำประเทศเข้าสู่รัฐสวัสดิการตามแบบฉบับของอังกฤษเอง

แนวคิดสวัสดิการสังคมของคนไทยจะไปทางไหน ยังไม่ชัดเจน ความเห็นแตกต่างกันในระหว่างกลุ่มต่างๆ

ในกลุ่มประชาชนทั่วไป จากการสำรวจความเห็นของประชาชนในเดือน เมษายน ปีนี้ได้ผลค่อนข้างมีความชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและผู้ดำเนินการจัดสวัสดิการสังคมให้ประชาชน ไม่ใช่ให้ชุมชนทำ โดยบทบาทของท้องถิ่นในเรื่องส่งเสริมสุขภาพ ดูแลคนพิการ เด็กเร่ร่อน และผู้สูงอายุ ควรมีมากกว่าสวัสดิการอื่น ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ต้องการความเสมอภาค เท่าเทียมกัน

ในกลุ่มประชาชนผู้มีอันจะกิน มักจะไม่ชอบแบบถ้วนหน้า เพราะตนคือผู้เสียภาษี และมองเห็นอนาคตว่าถ้าถ้วนหน้าแล้วภาษีก็จะสูงขึ้น ส่วนประโยชน์ที่จะตกแก่ตนนั้นน้อยหรือไม่มีเลย คนกลุ่มนี้มองข้ามไปว่า ถ้าประชาชนไทยมีกินมีใช้ การลักเล็กขโมยน้อย งัดบ้าน ปล้นชิงทรัพย์ก็น่าจะลดลง ความปลอดภัยในท้องถนนก็น่าจะมากขึ้น เด็กก็จะถูกบังคับขายแรงงานลดลง ปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากการไม่พอกินก็น่าจะลดลง ครอบครัวผู้มีอันจะกินก็น่าจะอยู่เย็นเป็นสุขขึ้น

ในกลุ่มนักวิชาการและข้าราชการ มีความเห็น 2 ขั้วค่อนข้างชัดเจน ขั้วแรก ออกแนวซ้าย ต้องการสวัสดิการถ้วนหน้า โดยใช้เหตุความเท่าเทียมกันมาสนับสนุน และคิดว่าเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องที่จัดการได้ และขั้วที่สอง ออกแนวขวา ต้องการให้เฉพาะคนจน โดยใช้เรื่องค่าใช้จ่ายสูงเป็นเหตุต่อต้านความถ้วนหน้า และสนับสนุนการมีภาษีต่ำๆ ประชาชนควรพยายามดูแลตัวเอง

สิ่งที่เมืองไทยไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ คือ ประชาชนกลุ่มเล็กๆ นักวิชาการ และข้าราชการ มีทางเลือกที่ 3 ซึ่งก็คือ ให้ชุมชมจัดสวัสดิการสังคม จะว่าไปต้องเรียกว่า เป็นทางเลือกที่ไม่ต้องการพึ่งรัฐ (เพราะประสบการณ์สอนว่าพึ่งไม่ได้) แต่ให้พึ่งตนเอง

รัฐบาลเล่าคิดอย่างไร

นายกรัฐมนตรีมีแนวนโยบายว่าต้องการเป็นสังคมสวัสดิการในปี พ.ศ. 2560 คล้ายกับบอกประชาชนว่า ถ้าอยากได้ก็กรุณาเลือกเรากลับมาเป็นรัฐบาลอีก

เราจะเชื่อดีหรือไม่ ต้องลองดูการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ว่าเป็นอย่างไร

พรรคประชาธิปัตย์ได้เริ่มดำเนินการโครงการสวัสดิการสังคมที่เป็นรากฐานของสวัสดิการในปัจจุบัน 3 โครงการ ในปี พ.ศ. 2536 ดังนี้ คือ

1. โครงการแก้ปัญหาความยากจน (กข. คจ.) เป็นโครงการที่ให้เงินหมู่บ้านยากจน 280,000 บาทและให้คนจนขอกู้ไปประกอบอาชีพแบบไม่มีดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ

2. โครงการสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นโครงการที่ให้เงิน 200 บาทต่อเดือนแก่ผู้สูงอายุที่ยากจน ถูกทอดทิ้ง หมู่บ้านละ 3-5 คน

3. โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) ซึ่งเดิมเป็นโครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้านการรักษาพยาบาล (สปน.) ที่ริเริ่มโดยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2518

ทั้ง 3 โครงการมีความชัดเจนว่าต้องการช่วยกลุ่มเป้าหมายคือ คนจน ทุกโครงการมีปัญหามากมายในทางปฏิบัติเพราะคนจนไม่ได้มีคำว่า “จน” อยู่ที่หน้าผาก

ในทางปฏิบัติการให้กู้เงินของโครงการ กข. คจ. กลับไม่ใช่คนจน ด้วยกรรมการที่จัดสรรเงินมักเห็นว่าคนจนได้เงินไปก็ไม่มีปัญญาคืน ทุกวันนี้เงินที่คนมีอันจะกินได้กู้ไปก็ยังไม่คืนอีกมากมาย ผู้ใหญ่บ้านโกงไปใช้เองก็มี ยังเป็นคดีอยู่ในศาลก็มาก พอปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลไทยรักไทยเข้ามา ก็ฉีกแนวเป็นกองทุนแบบถ้วนหน้า ทุกหมู่บ้านได้ 1 ล้านบาท ทุกคนมีสิทธิกู้ ถึงกระนั้นปัญหาเงินล่องหนก็ยังเป็นปัญหาเหมือนเดิม

โครงการ สปร. เป็นลักษณะสงเคราะห์ คนไม่จนได้บัตร สปร. ก็มีมากมาย พอรัฐบาลไทยรักไทยเข้ามา โครงการนี้ก็ถูกแปลงโฉมเป็นแบบถ้วนหน้า เรียกเก๋ๆ ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค

โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก็เป็นการสงเคราะห์คนแก่ยากจน ถูกทอดทิ้ง แต่ก็มีคนไม่จน (อาจจะมากกว่าคนจนด้วยซ้ำ) ที่ได้รับเบี้ยยังชีพ จนมาถึงยุคไทยรักไทยเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิทั่วประเทศจาก 4 แสนคนเป็น 1 ล้านคน แต่พรรคไทยรักไทยก็สิ้นสภาพไปเสียก่อนที่จะขยายโครงการนี้เป็นถ้วนหน้า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์กลับเข้ามาในปี พ.ศ. 2552 จึงรีบฉวยโอกาสขยายสิทธิให้แก่ผู้สูงอายุทุกคน

เราคงไม่ปฏิเสธว่าพรรคประชาธิปัตย์ใส่ใจเรื่องสวัสดิการสังคม แต่ที่ประชาชนเริ่มไม่แน่ใจ คือ

ณ ปัจจุบัน ประชาธิปัตย์เลือกที่จะทำสวัสดิการถ้วนหน้า หรือสวัสดิการคนจน กันแน่

ความคลุมเครือเกิดขึ้นจากหลายคำพูด เช่น “ให้สังคมสวัสดิการเป็นวาระแห่งชาติ” “ไม่เคยบอกว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ” หรือ “ระบบสวัสดิการของไทยจะเป็นไประบบสวัสดิการที่มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเงินสมทบ” คำพูดเหล่านี้ประเมินได้ว่า รัฐบาลแทงกั๊ก อยากได้แบบถ้วนหน้า แต่ก็กลัวว่าจะเป็นภาระกับงบประมาณ เลยบอกว่าประชาชนต้องสมทบ ครั้นจะไปแนวเดิมแบบอดีตที่ให้เฉพาะคนจน ก็กลัวจะมีพรรคอื่นโผล่ออกมาขายนโยบายถ้วนหน้า หรือหนักหน่อยก็ประชานิยมแจกแหลก จุดตัดสินใจสุดท้ายของรัฐบาลมันเป็นเรื่องการเมืองชัดๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net