สัมภาษณ์: “สาทิตย์” กับโครงการเชื่อมลุ่มน้ำโขง IMT–GT เปิดทางจีนผงาดในอาเซียน

สัมภาษณ์ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย กับบทบาทหัวหน้าคณะประชุมรัฐมนตรีสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (IMT–GT) ชี้นับจากนี้จะพลิกโฉมหน้าภูมิภาค เชื่อมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงกับ IMT–GT เปิดทางจีนผงาดในด้านเศรษฐกิจอาเซียน

 
 
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
 
ในช่วงหลายปีมานี้ ความร่วมมือเหลี่ยมเศรษฐกิจต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ริเริ่มในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ดูจะเงียบเหงาซบเซาลงมาอย่างมาก สวนทางกับข้อเท็จจริงที่สภาพการค้าตามแนวชายแดน กลับคึกคักเป็นอย่างยิ่ง
 
จึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ถึงวันนี้รัฐบาลจะต้องหันหลับมาให้ความสำคัญกับเหลี่ยมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอีกครั้ง การประชุมความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย หรือ IMT–GT ที่คนภาคใต้คุ้น ระหว่างวันที่ 2–5 สิงหาคม 2553 เป็นมาตรวัดถึงความกระตือรือร้นที่เพิ่มขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
 
 
ต่อไปนี้ เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ “นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรี IMT–GT ครั้งนี้ 
 
อันเป็นการสัมภาษณ์ในช่วงก่อนที่ความชัดเจนในเรื่องความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยในการพัฒนากิจการรถไฟความเร็วสูงสายหนองคาย – กรุงเทพ – ปาดังเบซาร์ และสายกรุงเทพ – ระยอง อันจะเป็นการเชื่อมสองความร่วมมือกลุ่มประเทศระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับ IMT–GT ไม่กี่วัน
 
000
 
ความคืบหน้าของสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย หรือ IMT–GT
 
IMT–GT เป็นโครงการที่เริ่มมาสิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่ยุคนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย แต่ซบเซาไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากในช่วงรัฐบาลหนึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญ ทำให้กลไกหลักของสามเหลี่ยมเศรษฐกิจคือ กลไกภาคเอกชนพลอยอ่อนแอไปด้วย
 
ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาเราก็คิดว่า เรื่องของ IMT–GT เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากในแง่ของการค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนสินค้าบริการทั้งหลายในภูมิภาค เป็นเรื่องที่อาเซียนให้ความสำคัญมาก เราพูดถึงการรวมประชาคมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นการเปิดความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาค จึงต้องมีการทบทวนโดยการเพิ่มความสัมพันธ์และบทบาทให้มากขึ้น
 
ประกอบกับการเข้ามาของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนในลุ่มน้ำโขงก็ดี หรืออย่างเกาหลีที่พยายามเข้ามาในลุ่มแม่น้ำโขง และทางฝั่งของญี่ปุ่นที่เข้ามาทาง IMT–GT ยิ่งทำให้โครงการระดับภูมิภาคมีความสำคัญมากขึ้น
 
IMT–GT เอง ก็มีความคืบหน้า ในการประชุมครั้งที่ 17 ที่จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 2 – 5 สิงหาคม 2553 ซึ่งมีการเสนอให้ทบทวนแผนกลางรอบ ตามที่มีการเสนอในที่ประชุมระดับผู้นำประเทศ IMT–GT ที่หัวหิน–ชะอำ เมื่อปลายปี 2552 หลังจากนั้นมีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงและรัฐมนตรี ที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย ก็มีมติให้ทบทวนแผนกลางรอบ
 
ผลที่ได้จากการประชุมที่กระบี่คราวนี้ก็คือ ความคืบหน้าในการทบทวนแผนกลางรอบ เป็นผลให้โครงการต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้สูงจาก 37 โครงการ ลดลงเหลือ 12 โครงการ จนที่สุดเหลือ 10 โครงการ ทั้งหมดเป็นโครงการที่แต่ละประเทศต้องการจะทำ โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB เข้ามาสนับสนุน
 
ในฝั่งของอินโดนีเซีย เป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างเยอะ ขณะที่ฝั่งมาเลเซียเอง เป็นโครงการเชื่อมต่อระหว่างรัฐใน IMT–GT ในส่วนของไทยเราพูดถึงโครงการหลักๆ อยู่ 3 โครงการด้วยกันคือ
 
หนึ่ง ถนนโทลเวย์สายสะเดามายังหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อันที่จริงโครงการนี้พูดกันมานานแล้ว เป็นความต้องการร่วมกันของทั้งสามประเทศ ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียด้วย เที่ยวนี้จึงถูกนำมาบรรจุไว้ในโครงการที่มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว
 
โทลเวย์จากสะเดามาหาดใหญ่เส้นนี้ มีความยาวเกือบร้อยกิโลเมตร ใช้เงินประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9 พันกว่าล้านบาท น่าจะเป็นโทลเวย์ที่แพงที่สุดในประเทศไทย 
 
ความเป็นไปได้ของโครงการนี้ก็คือ จะเป็นการจัดงบประมาณของฝั่งไทยเอง ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ในระหว่างทบทวนเรื่องการศึกษาออกแบบ คิดว่าทุกอย่างจะชัดเจนและตั้งงบประมาณสนับสนุนก้อนแรกได้ภายในปีงบประมาณ 2555
 
สอง เรื่องท่าเรือนาเกลือ ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 600 ล้านบาท ขณะนี้กรมเจ้าท่ากำลังศึกษาอยู่ ท่าเรือตัวนี้รัฐบาลจะตั้งงบประมาณสนับสนุนในปี 2555 เช่นเดียวกัน ส่วนท่าเรือภูเก็ตจะใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท โครงการนี้ยังมีปัญหาที่ดินติดสัมปทานเอกชนอยู่อีก 5 ปี ต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง
 
สาม เรื่องด่านบูเก๊ะตา จังหวัดนราธิวาส ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างปรับขนาดให้เท่ากับฝั่งมาเลเซีย ด่านนี้มาเลเซียให้ความสำคัญมาก โครงการนี้น่าจะแล้วเสร็จในปี 2555
 
เรื่องสุดท้ายที่ต้องดำเนินการคือ เรื่องอนุกรรมการให้เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับกฎระเบียบในการขนส่งสินค้าและบริการข้ามพรมแดน ซึ่งเราต้องออกกฎหมายภาย 5 ฉบับ ครอบคลุมเรื่องศุลกากร การคมนาคม การพาณิชย์ กฎหมาย 5 ฉบับนี้
 
ในจำนวนนี้มีอยู่ 3 ฉบับ ที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรหลายเดือนแล้ว ที่ช้าและลังเลกันอยู่ ทั้งที่ข้อตกลงเกิดขึ้นก่อนปี 2550 เพราะมีผู้ท้วงติงว่า จะขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 ที่กำหนดให้ข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือมีผลผูกพันทางด้านการค้า การลงทุน และงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
 
ในที่สุด เราตัดสินใจไม่นำเข้าไปขอความเห็นชอบจากสภา เพราะตกลงกันมาก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
 
 
โครงการที่มีความเป็นไปได้สูง 10 โครงการของ IMT–GT มีโครงการไหนที่คิดว่าน่าสนใจ
 
ผมคิดว่าน่าจะเป็นโครงการที่เชื่อมต่อการคมนาคม โดยเฉพาะระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย ต้องยอมรับว่าอินโดนีเซียมีข้ออ่อนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเชื่อมโยงการค้ากันได้แล้ว เปิดด่านได้แล้ว กฎระเบียบต่างๆ แก้หมดแล้ว แต่โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม ขนส่งสินค้าข้ามไปมาไม่ได้
 
เพราะฉะนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับอินโดนีเซียค่อนข้างเยอะ เพราะฝั่งอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่มาก การเมืองในช่วงหลังก็นิ่งมาก เท่าที่คุยกับกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เรื่องการค้าการขายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลอินโดนีเซียชุดนี้ เราจึงสนใจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอินโดนีเซียเป็นพิเศษ
 
ในบรรดา 2–3 ชาติที่คุยกันอยู่ มาเลเซียมีความกระตือรือร้นต่อ IMT–GT สูงที่สุด เห็นได้จากคณะที่เดินทางมาร่วมประชุมมากันเยอะมาก รัฐมนตรีที่รับผิดชอบก็จับเรื่อง IMT – GT มานาน ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เขามีโครงสร้างการบริหารที่แตกต่างจากไทย ในแง่ที่มุขมนตรีของแต่ละรัฐ มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ และจัดทำนโยบาย โดยไม่ต้องรอรัฐบาลกลาง ศักยภาพที่แต่ละรัฐจะพัฒนาจึงมีค่อนข้างสูง
 
นอกจากเรื่องการขนส่งสินค้าแล้ว มาเลเซียยังพัฒนาด้านการท่องเที่ยวด้วย เห็นได้จากการประชุม IMT–GT เที่ยวนี้ ทางมะละกาก็มาโปรโมทการท่องเที่ยว เมื่อไหร่ที่ IMT–GT ทำให้การเข้าออกตรงด่านสะดวก มีการแก้กฎหมาย 4 – 5 ฉบับอย่างที่ว่ามา การตรวจตรา พิธีการด่านศุลกากรลดขั้นตอนลง ก็จะไปทำให้การเดินทางข้ามประเทศคล่องตัวมากขึ้น ที่ผ่านมาเรื่องการผ่านด่าน นับเป็นปัญหาของภูมิภาคนี้ทั้งภูมิภาค
 
อย่างข้อตกลงการขนส่งสินค้าผ่านแดน ไทยเป็นประเทศที่เกือบจะล้าหลังที่สุดในอาเซียน ในการแก้กฎหมาย ประเทศอื่นเขาแก้กันหมดแล้ว เหลือแต่เรากับพม่า กฎหมายสามฉบับ จะนำเข้าสภาในสมัยประชุมนี้ แต่จะแล้วเสร็จในปี 2554 จากนั้นอีกสองฉบับก็จะตามมา
 
 
ขอทราบความคืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา
 
เราจะเริ่มต้นจากการปกครองรูปแบบพิเศษตามแนวชายแดนก่อน ซึ่งก็ยังติดกฎหมายภายในอยู่หลายฉบับ ที่เริ่มตามแนวชายแดนเพราะเราดูจากตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนพบว่าสูงมากทุกที่ เราเลยเริ่มต้นที่แม่สอดก่อน ตอนนี้กฎหมายเทศบาลมหานครแม่สอดเสร็จแล้ว นำเข้าสภารอจ่อวาระพิจารณาอยู่
 
โมเดลเดียวกับที่แม่สอดก็จะนำมาใช้กับเมืองชายแดนอื่นๆ ขณะนี้ในส่วนของสะเดาเอง ยังไม่มีการร่างกฎหมาย ตามขั้นตอนต้องผ่านคณะกรรมการการปกครองท้องถิ่นก่อน เฉพาะหน้าเราพยายามปรับปรุงด่านสะเดาก่อน
 
ถึงอย่างไรก็ตาม ทิศทางของสะเดากำลังเดินไปสู่การปกครองรูปแบบพิเศษ เป็นเทศบาลมหานคร แต่จะต้องไปดูรายละเอียดอีกทีว่า จะดึงอะไรเข้ามาในมหานครแห่งนี้บ้าง โดยหลักก็ต้องดูในแง่ของงบประมาณ ในแง่ของการตัดสินใจด้านนโยบายการลงทุน ในแง่การตัดสินใจเรื่องการอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่จะต้องถ่ายโอนอำนาจไปจากส่วนกลาง
 
 
ทราบว่าในอนาคตจะมีการเชื่อมแนวเหนือ–ใต้ ระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับ IMT–GT
 
ใช่ เริ่มต้นจากการขนส่งระบบรางเป็นหลักก่อน เรื่องนี้จะมีการหารือกันในที่ประชุมความร่วมมือกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ระหว่างวันที่ 19–21 สิงหาคม 2553 ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม ตอนนี้มีตัวเลือกอยู่ 3–4 ตัว และแต่ละประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ยังเห็นไม่ตรงกัน
 
สำหรับไทยเอง เราต้องการเส้นที่จะขึ้นไปทางเด่นชัย จังหวัดแพร่ ไปจังหวัดเชียงราย แล้วออกไปพม่า เข้าไปเชื่อมต่อกับทางตอนใต้ของจีน ซึ่งจะมีรางอีกตัวหนึ่งมาเชื่อมต่อเข้าลาว ไปเขมร วนกลับเข้ามาประเทศไทยทางภาคตะวันออก เรื่องนี้ทางกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง จะต้องตัดสินใจในเดือนสิงหาคม 2553 นี้
 
โครงการนี้จะมาเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟรางคู่ของประเทศไทย ต้นเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปดูโครงการรถไฟรางคู่ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพราะรถไฟรางคู่ที่ใช้งบประมาณไทยเข้มแข็ง จะวางรางมาถึงหัวหิน
 
หลังจากนั้นจะมีการพูดถึงการเชื่อมต่อระบบรางมาจนถึงทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับทุ่งสงถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในโครงการศึกษาของ IMT–GT ต่อเนื่องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ IMT–GT เพื่อให้ทุ่งสงเป็นศูนย์กระจายสินค้า เพราะถ้าทุ่งสงสามารถเชื่อมต่อไปหาดใหญ่ แยกไปสะเดา จังหวัดสงขลา หรือไปสุไหงโก–ลก จังหวัดนราธิวาส ไปเชื่อมกับมาเลเซียได้ ระบบรางก็จะครบรอบวงพอดี การขนส่งระบบรางของประเทศในย่านนี้ก็จะเชื่อมต่อถึงกันหมด
 
 
มีข่าวว่าจะลงทุนสร้างทางรถไฟร่วมกับจีน
 
เป็นเรื่องของรองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตอนที่เดินทางไปเยือนจีน ทางจีนให้ความสนใจเรื่องของระบบราง ที่มีการพูดกันก็คือ ระบบรางในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และระบบรางในเส้นทางอื่นๆ นอกเหนือไปจากที่กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้ระบุไปแล้ว ขณะเดียวกันจีนเองก็สนใจที่จะเข้ามาลงทุนระบบรางในประเทศไทยด้วย
 
เราก็เลยคิดว่า ถ้ามีเงินลงทุนมา หรืออะไรต่อมิอะไรมานี่ก็น่าสนใจ เราเลยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา โดยมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นประธาน เชิญหน่วยงานต่างๆ มาทบทวนว่าแผนพัฒนาระบบรางทั่วประเทศเรามีอะไรต้องทำบ้าง และตัวที่จะต้องเดินไปตามข้อตกลงในอนุภูมิภาคมีอะไรมั่ง แล้วจีนจะเข้ามาได้ตรงไหน คณะกรรมการชุดนี้เพิ่งประชุมไป เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2553 ตอนนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน ต้องดูข้อมูลทั้งหมดก่อน หลังจากนั้นถึงจะเชิญจีนเข้ามาพูดคุย (ล่าสุดชัดเจนแล้วว่าจีนกับไทยจะร่วมมือสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายหนองคาย – กรุงเทพ – ปาดังเบซาร์ และสายกรุงเทพ – ระยอง)
 
 
ถ้าการพัฒนาขนส่งระบบราง สามารถเชื่อมต่อจากจีนลงมาจนถึงมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ทางรัฐมะละกาพยายามผลักดันให้มีการสร้างสะพานข้ามช่องแคบมะละกา เชื่อมกับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย นั่นหมายความว่าจะเกิดการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของอนุภูมิภาคนี้
 
ใช่ อนุภูมิภาคนี้จะพลิกโฉมหน้าไปมากเลย ในการประชุม IMT–GT เที่ยวนี้ เราพูดคุยกันเรื่องการสร้างสะพานข้ามช่องแคบมะละกากันเยอะมาก
 
หนึ่ง เป็นโครงการที่รัฐมะละกาต้องการอย่างมาก มุขมนตรีเดินทางมานำเสนอเรื่องนี้ด้วยเอง ตัวมุขมนตรีได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยในทุกวงสนทนา เป็นการยืนยันว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐมะละกาจะผลักดัน ปัญหาอยู่ที่รัฐมะละกายังขาดเงินลงทุน เพราะโครงการนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ตอนนี้อยู่ระหว่างหาแหล่งทุน
 
เป็นไปได้ว่าจีนจะให้ความสนใจโครงการนี้ เพราะขณะนี้จีนให้ความสนใจกับอนุภูมิภาคด้านนี้มาก นอกจากจะเข้ามาในเชิงการค้าการลงทุนแล้ว จีนยังเข้ามาในลักษณะของการเชื่อมต่อ เพราะจีนเองหวังจะเป็นพี่เอื้อยในย่านนี้
 
ที่บอกว่าพลิกโฉมนี่ เพราะพอมันทำว่าจะเชื่อมการขนส่งสินค้าและการบริการได้ ทางญี่ปุ่นก็เข้ามาตั้งหน่วยงานวิจัยอาเซียน หรือ ERIA ในการประชุม IMT–GT ที่กระบี่ ERIA ก็มาร่วมประชุมกับเรา
 
ERIA เขานำเสนอกับเราว่า เขามีเงินทุนที่จะศึกษาโครงการที่ IMT–GT สนใจ อีกอย่างที่เขาสนใจมากคือ ไบโอดีเซล เพราะพื้นที่ปลูกปาล์มของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียสูงมาก ERIAเลยคิดว่า การพัฒนาไบโอดีเซล เช่น การทำโรงงาน การลดภาษีสินค้า การจับมือเพื่อส่งออกไบโอดีเซล เป็นสิ่งที่น่าจะทำ วันที่ 1 – 2 กันยายน 2553 ERIA จัดสัมมนาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยจะเชิญเลขาธิการอาเซียนมาร่วมด้วย
 
เป็นการชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2555 โครงการเชื่อมต่อระบบราง และโครงการของรัฐมะละกา ที่จะสร้างสะพานข้ามช่องแคบมะละกาเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงก็จะทำระบบรางเชื่อมต่อ หลังจากปี 2555 เป็นต้นไปเช่นเดียวกัน ผมคิดว่าภายใน 10 ปีนี้ คงจะเห็นหน้าเห็นหลัง
 
เราสังเกตเห็นได้จากประเทศยักษ์ใหญ่อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น จีน เข้ามายุ่งเกี่ยวกับอนุภาคนี้ค่อนข้างเยอะ เพราะแถบนี้มีมูลค่าทางการค้าการลงทุนสูง การเข้ามาของจีนก็มีผลให้สหรัฐอเมริกาต้องขยับตัวเข้ามาในย่านนี้มากขึ้นตามไปด้วย
 
จะเห็นได้ว่า เมื่อก่อนเราจะเห็นคนเวียดนามในลาวเยอะมาก พอมาปัจจุบันกลายเป็นจีน ตอนนี้มีรถบรรทุกจีนวิ่งอยู่ในลาวมากมาย มีชุมชนคนจีนเกิดขึ้น มีหมู่บ้านจัดสรรแบบจีนที่ริมแม่น้ำโขง จีนเป็นผู้ให้ทุนลาวสร้างสถานีโทรทัศน์แห่งชาติทั้งระบบ แสดงให้เห็นว่าจีนกำลังสร้างวัฒนธรรมทางสื่อแบบเดียวกับอเมริกา ขณะที่สหรัฐอเมริกามี CNN จีนก็มี CCN
 
จีนเข้ามาลงทุนในย่านนี้ค่อนข้างเยอะ การเข้ามาในไทยของจีน จะเข้ามาในรูปของความร่วมมือต่างๆ
 
ในส่วนของสหรัฐอเมริกา ก็เป็นพันธมิตรเก่า ถึงแม้ระยะหลังไม่ได้ร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกันอย่างแน่นแฟ้น แต่ก็มีเรื่องของความสัมพันธ์ทางทหารที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว หลังผ่านยุคสงครามเย็นอเมริกาก็ดำรงบทบาทเป็นประเทศมหาอำนาจ อยู่ในฐานะประเทศผู้นำและเป็นประเทศคู่ค้า พอความร่วมมือในภูมิภาคนี้เข้มแข็งขึ้น ยักษ์ใหญ่อย่างญี่ปุ่น อย่างจีนขยับตัว อเมริกาก็พยายามแสวงหาลู่ทางเข้ามามีความสัมพันธ์กับอาเซียนให้แนบแน่นมากขึ้น
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท