สิ้น “สิทธิพงษ์ กลยาณี” ผู้ก่อตั้ง "เอเชียทัศน์"

"สิทธิพงษ์ กลยาณี" ช่างภาพสารคดีผู้ร่วมก่อตั้ง "เอเชียทัศน์" และผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ "Burma VJ"ภาพยนตร์เข้าชิงออสการ์อันมีชื่อเสียง เสียชีวิตแล้ว คงเหลือแต่ผลงานสารคดีเรื่องพม่าที่มีความสำคัญหลายชิ้น รวมถึงงาน “Re-construction” ในการถ่ายทำ “Burma VJ” ที่ยังถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง

“สิทธิพงษ์ กลยาณี” ช่างภาพสารคดีผู้ร่วมก่อตั้ง "เอเชียทัศน์" และมีผลงานเป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ให้กับภาพยนตร์ "Burma VJ" อันมีชื่อเสียง “สิทธิพงษ์” หรือที่เพื่อนร่วมงานและมิตรสหายเรียกเขาว่า “แซม” เป็นผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่มีความสนใจด้านพม่านับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ในชีวิตการทำงานของเขา (ที่มาของภาพ: Facebook ของ สิทธิพงษ์ กลยาณี)

 

ภาพระหว่างการถ่ายทำสารคดีเรื่อง "Barefoot Student Army" ในปี 2535 สารคดีที่ “สิทธิพงษ์ กลยาณี” ทำงานร่วมกับสองผู้กำกับชาวออสเตรเลีย สะท้อนเรื่องราวของขบวนการนักศึกษาพม่าในป่าเขา ภายหลังการปราบปรามการชุมนุมของรัฐบาลทหารพม่าในเดือนสิงหาคม ปี 2531 หรือเหตุการณ์ 8.8.88 สิทธิพงษ์มีผลงานสารคดีเกี่ยวกับพม่าหลายเรื่อง โดยขณะที่เขาจากไปแล้วนั้น ยังมีภาพยนตร์สารคดีอีกหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างการถ่ายทำ (ที่มาของภาพ: Facebook ของ สิทธิพงษ์ กลยาณี)

 

“สิทธิพงษ์ กลยาณี” (ขวา) ถ่ายภาพกับทหารกองกำลังคะฉิ่นอิสระ (KIA) ในฐานที่มั่นปาเจา (Pa-Jau) ของกองกำลังคะฉิ่นอิสระชายแดนพม่า-จีน โดยภาพนี้ถ่ายในปี 2538 สิทธิพงษ์เป็นผู้สื่อข่าวชาวไทยไม่กี่คนที่อุทิศการทำงานให้กับประเด็นพม่า และเข้าไปรายงานข่าวในพื้นที่ที่รัฐบาลทหารพม่าถือว่า “ต้องห้าม” โดยเฉพาะพื้นที่ยึดครองของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาลพม่า (ที่มาของภาพ: Facebook ของ สิทธิพงษ์ กลยาณี)

 

ใบปิดหนังของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Burma VJ” ภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ประเภทภาพยนตร์สารคดีในปีนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับและเขียนบทโดย Anders Østergaard และ Jan Krogsgaard ชาวเดนมาร์ก โดย “สิทธิพงษ์ กลยาณี” ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์พื้นที่ (Co- producer on location) สิทธิพงษ์และทีมงานของเขามีส่วนสำคัญในการเตรียมดูแลจัดการการถ่ายทำ ภาพยนตร์ในส่วนที่อยู่ในเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง และมีส่วนสำคัญในการจัดเตรียมถ่ายทำเพิ่มเติมที่เรียกว่า “Reconstruction” บางฉาก เพื่อให้ “เชื่อมโยงเนื้อหาแต่ละช่วงให้ดูสอดคล้องกลมกลืนกับภาพจากเหตุการณ์จริง”

 

“Burma VJ” ใช้ภาพเหตุการณ์จริงในเหตุการณ์ชุมนุมของพระสงฆ์พม่าในปี 2550 เป็นฉากสำคัญในเรื่อง แต่มีหลายฉากที่ใช้การ “Reconstruction” หรือการถ่ายทำเพิ่มเติมเพื่อให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ ในภาพ เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่เป็นบทสนทนาแสดงความไม่เข้าใจกันระหว่างตัวละคร ที่เป็นนักข่าวดีวีบี กับพระสงฆ์ผู้นำการเดินขบวนในย่างกุ้ง เนื่องจากพระสงฆ์คิดว่านักข่าวเป็นสายลับของรัฐบาล จนมีการกระทบกระทั่งกับ “การ์ด” พระสงฆ์เล็กน้อย ก่อนจะมีการชี้แจงกันจนเข้าใจ

เฉพาะฉากนี้ใช้โลเคชั่นบริเวณถนนใน สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่ ด้านซ้ายในภาพจะเห็นอาคารหมู่บ้านนักกีฬาสมัยกีฬาซีเกมส์ปี 2538 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแฟลตสวัสดิการสำหรับข้าราชการ สภาพของอาคารโทรมๆ ร่มรื่นด้วยต้นไม้และเนินเตี้ยๆ คล้ายกับสภาพสองข้างทางทั่วไปในกรุงย่างกุ้ง โดยฉากที่ถ่ายทำในเชียงใหม่นี้ปรากฏในภาพยนตร์เป็นเวลาหลายสิบวินาทีก่อนที่ จะตัดกลับมาเป็นภาพเหตุการณ์ประท้วงในสถานที่จริงกลางเมืองย่างกุ้งอย่างแนบ เนียน (ที่มาของภาพ: จากภาพยนตร์ Burma VJ)

 

ใบปิดหนังเรื่อง “Lost Generation” หนึ่งในผลงานที่กำลังถ่ายทำของ “สิทธิพงษ์ กลยาณี” สะท้อนเรื่องราวแห่งช่วงวัยที่หายไปของคนหนุ่มสาวพม่ายุค’88 จากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนสิงหาคมปี 1988 เขาอัพโหลดภาพใบปิดหนังเรื่องนี้ลงในเฟซบุคส่วนตัวของเขาเมื่อ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา และเขาพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมว่า “A Creative Documentary Feature. Coming soon!” (ที่มาของภาพ: Facebook ของ สิทธิพงษ์ กลยาณี)

 000

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา สิทธิพงษ์ กลยาณี หรือ "แซม" ผู้สื่อข่าวและช่างภาพผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสวนดอกตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา และย้ายไปรักษาอาการหายใจไม่ออกและน้ำท่วมปอดที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลช้างเผือกตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. กระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 3 ก.ย. ดังกล่าว

โดยการสวดอภิธรรมศพของสิทธิพงษ์ ที่วัดช่างแต้ม ถ.พระปกเกล้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. ถึงวันที่ 10 ก.ย. ในเวลา 20.00 น. ทุกคืน และมีพิธีฌาปนกิจวันที่ 11 ก.ย. เวลา 14.00 น. ที่สุสานหายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

สำหรับสิทธิพงษ์ อายุ 50 ปี เป็นชาว จ.เชียงราย เป็นผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่มีความสนใจด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเด็นพม่าเป็นพิเศษ หลังเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมในพม่าเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2531 สิทธิพงษ์เป็นผู้สื่อข่าวกลุ่มแรกๆ ที่เดินทางไปที่ชายแดนไทย-พม่า เพื่อรายงานเรื่องราวของนักศึกษาพม่าหนีการปราบปรามมาตั้งกองกำลัง แนวร่วมนักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิปไตยทั้งมวล (the All Burma Students' Democratic Front - ABSDF) ซึ่งมาตั้งฐานที่มั่นในรัฐชนกลุ่มน้อยของพม่าหลายจุด

ในปี 2536 เขาตั้งบริษัทเอเชียทัศน์ (Images Asia Inc.) เพื่อผลิตภาพยนตร์ สารคดี สื่อมัลติมีเดีย และส่งภาพฟุตเตจ (footage) ให้รายการโทรทัศน์ของต่างประเทศ นอกจากนี้เอเชียทัศน์ยังทำห้องสมุดฟิล์มภาพยนตร์และภาพนิ่ง ไม่เพียงแต่รวบรวมเรื่องราวจากพม่า แต่ยังรวมเอาเรื่องราวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ด้วย โดยตลอดการทำงานของเขายังอุทิศตัวให้กับการเป็นวิทยากรอบรมด้านการผลิตสื่อ ให้นักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวชาวพม่าอีกด้วย

สิทธิพงษ์ ยังมีผลงานด้านภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประเด็นพม่าหลายชิ้น ในปี 2535 เรื่อง “Barefoot Student Army” เป็นผลงานร่วมกับผู้กำกับชาวออสเตรเลีย โดยใช้เวลาถ่ายทำหลายปีเพื่อบันทึกเรื่องราวการต่อสู้ของกองกำลังนักศึกษา พม่าในป่า ต่อมาปี 2538 เขามีผลงานเรื่อง “Caught in the Crossfire” ถ่ายทอดเรื่องราวการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของสตรีในพม่า

ในปี 2542 เขามีผลงานเรื่อง “Road to Nowhere” ถ่ายทอดเรื่องราวของการบังคับใช้แรงงานทาสในพม่า ต่อมาในปี 2547 เขามีผลงานเรื่อง “Living on The Line” เกี่ยวกับสภาพอันเลวร้ายของผู้ลี้ภัยและคนพลัดถิ่นภายในประเทศของพม่า ในปี 2552 เขามีผลงานเรื่อง “The Invisible Soldiers” เกี่ยวกับทหารเด็กในพม่า และเรื่อง “Burma's Hidden Killers” เป็นสารคดีต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล

ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดเรื่องราวจากพม่าเท่านั้น เขายังมีผลงานเรื่อง “Nagalim: Pilgrims for Peace” ใน ปี 2552 เป็นเรื่องราวของการเรียกร้องอิสรภาพของชาวนากา ชนเผ่าซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า

ที่สำคัญ สิทธิพงษ์เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์พื้นที่ (Co- producer on location) ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Burma VJ” ภาพยนตร์สารคดีที่ฉายครั้งแรกในปี 2551 ที่กำกับและเขียนบทโดย Anders Østergaard และ Jan Krogsgaard ชาวเดนมาร์ก โดยเป็นภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องราวของผู้สื่อข่าวพม่าของสถานีโทรทัศน์เสียง ประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma - DVB) ที่ลักลอบใช้กล้องดิจิตอลบันทึกภาพเหตุการณ์ช่วงการชุมนุมของนักกิจกรรมและ พระสงฆ์พม่าในปี 2550 และลักลอบส่งออกมาเผยแพร่ในโลกภายนอก ซึ่งการกระทำนี้เป็นสิ่งต้องห้ามในพม่า

โดย “Burma VJ” ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในงานเทศกาลฉายภาพยนตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Full Frame Documentary, Film Festival Hot Docs International, Film Festival San Francisco Independent Film Festival, Seattle International Film Festival, Sundance Film Festival และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “Burma VJ” ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดต 1 ใน 5 เรื่อง เข้าชิงรางวัลออสการ์ประเภทภาพยนตร์สารคดี

สิทธิพงษ์ เปิดเผยกับนิตยสารคอมพาส ฉบับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับหน้าที่ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ของเขาในภาพยนตร์เรื่อง “Burma VJ” ว่า “ดูแลจัดการทุกอย่างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด เพราะทางโน้น (เดนมาร์ค) ส่งคนมาแค่สามคนเอง คือช่างภาพ ผู้กำกับ และผู้ช่วยผู้กำกับแค่นั้น ที่เหลือผมต้องจัดการเองหมด เป็นทีมงานของผมหมด”

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ภาพเหตุการณ์จริงในเหตุการณ์ชุมนุมของพระสงฆ์ พม่าในปี 2550 เป็นฉากสำคัญในเรื่อง แต่มีหลายฉากที่ต้องถ่ายทำเพิ่มเติมเพื่อให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ มีการใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Reconstruction” สิทธิพงษ์กล่าวกับนิตยสารคอมพาสว่า “การถ่ายทำเพิ่มเติมแบบนี้จำเป็น เพราะช่วยในการเชื่อมโยงเนื้อหาแต่ละช่วงให้ดูสอดคล้องกลมกลืนกับภาพจาก เหตุการณ์จริง”

“เนื่องจากฟุตเตจบางฉากจากต้นฉบับเป็นการแอบถ่าย ต้องหลบซ่อนกล้องไม่ให้โดนจับได้ ภาพจึงสั่นไหวไปมาตลอด พอถ่ายทำเพิ่ม เราก็ต้องถือกล้องให้เคลื่อนไหวส่ายไปมาเหมือนภาพต้นฉบับด้วย” สิทธิพงศ์ หรือที่เพื่อนร่วมงานเรียกว่า “แซม” กล่าวกับนิตยสารคอมพาส

ทั้งนี้บางฉากในภาพยนตร์ เช่น บางช่วงของการประท้วงโดยพระสงฆ์พม่า การสนทนาของชาวบ้านในรถประจำทางเกี่ยวกับการขึ้นค่าเชื้อเพลิง การประกาศเคอร์ฟิว ฯลฯ ล้วนเป็นฝีมือการคัดเลือกสถานทีและฉากสำหรับถ่ายทำโดยสิทธิพงษ์

เทคนิค “Re-construction” ในภาพยนตร์ “Burma VJ” ถูกกล่าวถึงและมีวิวาทะอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือ ข้อเขียนเรื่อง “Burma VJ: Truth as Casualty” โดยแอนดรูว์ มาแชล (Andrew Marshall) นักเขียนและผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษซึ่งเขียนลงในนิตยสารไทม์ ซึ่งตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อ 29 ม.ค. 52

และเมื่อ “สิทธิพงษ์” จากไป “มาแชล” ได้กล่าวถึงเขาใน “อิระวดี” ว่า “เขาเป็นหนึ่งในนักข่าวที่มีความลึกซึ้งและเอาใจใส่ เป็นเพื่อนร่วมงานที่ใจกว้างและได้รับการยกย่อง มีจิตวิญญาณเสรี เป็นเพื่อนที่ควรค่าสำหรับคนจำนวนมาก”

นอกจากนี้สิทธิพงษ์ อยู่ในระหว่างการผลิตภาพยนตร์สารคดีหลายชิ้น ได้แก่เรื่อง “Comrades” หรือ “สหายศึก” ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ของทหารในกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ปีกทางการทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) “Lost Generation” อธิบาย ปัญหาสังคม-การเมืองภายในพม่าผ่านเรื่องราวของคนหนุ่มสาวพม่ารุ่น ‘88 ที่เหตุการณ์ทางการเมืองในปีดังกล่าว ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียช่วงวัยหนุ่มสาวของพวกเขา รวมทั้ง “Flying Dream” ถ่าย ทอดเรื่องราวของ “หม่อง ทองดี” เด็กไร้สัญชาติจากรัฐฉาน ผู้เป็นแชมป์เครื่องบินพับกระดาษและการต่อสู้เพื่อให้ได้สัญชาติ อย่างไรก็ตามสิทธิพงษ์จากไปก่อนที่จะผลิตสารคดีเหล่านี้แล้วเสร็จ

  

อ่านประกอบ

Obituary: Sam Kalayanee, By YENI and JEANNE HALLACY, Irrawaddy, Sept 4, 2010
เก็บตกออสการ์ เบื้องหลัง Burma VJ, บางอ้อ (นามปากกาของอัจฉราวดี บัวคลี่)
โอเคเนชั่น, 10 มี.ค. 53
เมื่อคนทำหนังจากเชียงใหม่... ไปไกลถึงเวทีออสการ์ - Chiang Mai Filmmaker at OSCARS 2010,
Compass, มิถุนายน 53

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท