คาด "ศอฉ." ต่ออายุฉุกเฉิน"กรุงเทพ" ถึงปีหน้า

ศอฉ.เล็งต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ ยาวถึงปีหน้า ระดมกล้องวงจรปิดกว่าหมื่นตัว ตำรวจกว่าหมื่นนาย กำหนดจุดเฝ้าระวัง 3 ระดับ 130 จุด พล.อ.ดาว์พงษ์ นั่งแท่นบัญชาการ

เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นประธานในการประชุม ศอฉ.เพื่อวางมาตรการป้องกันการก่อเหตุต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 กันยายน ที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารทหารสูงสุด พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แถลงหลังประชุมว่า ผู้แทนของ ตร.ชี้แจงความคืบหน้าในการติดตามรวบรวมพยานหลักฐานกรณีเหตุระเบิดที่ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) โดยตรวจสอบกล้องวงจรปิดทั้งของส่วนราชการ ทางด่วนและพื้นที่ของเอกชนโดยรอบ ซึ่งได้ข้อมูลที่น่าสนใจ แต่ต้องนำไปประกอบกับข้อมูลทางฝ่ายอื่นๆ รวมถึงการวิเคราะห์เหตุแวดล้อมอื่นๆ ที่จะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดเหตุ หลังจากที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงกระทบต่อความมั่นคงโดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ทางกองทัพภาคที่ 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และ กทม. ออกเป็นแผนปฏิบัติการในภาพรวมดูแลพื้นที่ กทม. 3 มาตรการ ได้แก่ 1.การป้องกันแก้ไขเหตุการณ์ และปิดช่องโอกาสในการก่อเหตุ 2.การกดดันเข้าไปตรวจสอบกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะก่อเหตุ โดยกระบวนการสืบสวนสอบสวน 3.มาตรการเชิงรุกหรือการปฏิบัติการจิตวิทยา ในการขอความร่วมมือจากมวลชนฝ่ายต่างๆ

สั่งคุมเข้มพื้นที่เฝ้าพิเศษ 130 จุด
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวต่อว่า มีการวิเคราะห์กำหนดพื้นที่ต่างๆ ใน กทม.ที่มีจุดเสี่ยงแบ่งเป็น 3 ระดับ 1.พื้นที่เฝ้าพิเศษคือ พื้นที่ที่มีแนวโน้มการก่อเหตุสูงหรือพื้นที่ที่เคยมีเหตุเกิดขึ้น และมีแนวโน้มการก่อภัยคุกคาม และพื้นที่ที่ต้องมีความปลอดภัยอย่างสูงสุด เช่น เขตพระราชฐาน สถานที่ราชการสำคัญ บ้านบุคคลสำคัญ ที่เป็นเป้าหมาย แหล่งพลังงานอื่นๆ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่งต่างๆ รวมทั้งหมด 130 จุด สำหรับวิธีการในการดำเนินการจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปปฏิบัติร่วมเจ้า หน้าที่ทหาร รวมถึงสารวัตรทหารบก สารวัตรทหารเรือ สารวัตรทหารอากาศ และเทศกิจของ กทม. จะลงไปตรวจสอบและวางกำลังตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนพื้นที่นอกเหนือจากนี้ จะจัดกำลังออกตรวจตรารอบพื้นที่เป็น ระยะ 400 เมตร ในพื้นที่บริเวณโดยรอบ โดยจัดชุดตรวจเดินเท้า วางกำลังซุ่มโป่ง ทั้งในและนอกเครื่องแบบและจัดระบบกล้องวงจรปิดในพื้นที่เฝ้าพิเศษใหม่ โดยให้จับจุดในพื้นที่สาธารณะมากที่สุด เน้นการบันทึกให้เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน โดยจะให้ตรวจสอบการปฏิบัติอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

2.พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ ซึ่งมีภัยคุกคามน้อยกว่า เช่น สถานที่ราชการอื่นๆ หรือบ้านพักบุคคลสำคัญอื่นๆ เป้าหมายที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ รวมทั้งจุดต่างๆ ที่เคยมีเหตุประปราย รวม 198 จุด โดยจัดจุดตรวจ และมีเจ้าหน้าที่สายตรวจเข้าไปเสริม โดยให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่เข้าไปดูแลด้วย

3.พื้นที่เฝ้าระวัง คือห้างสรรพสินค้า ธนาคาร รวม 136 จุด ซึ่งรวมพื้นที่ที่ทางกองทัพภาคที่ 1 บช.น. และ กทม.ต้องดูแลทั้งหมด 454 จุด

วงจรปิดเอกชนหมื่นตัวร่วมภารกิจ
" จะเน้นการอบรมและให้ความรู้พนักงานรักษาความปลอดภัย กำหนดช่องทางการติดต่อสื่อสาร ส่วนการประสานงาน ทั้ง 3 พื้นที่เราได้กำหนดชุดปฏิบัติการพิเศษจำนวน 10 ชุด ในการเข้าคลี่คลายสถานการณ์ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ทาง ศอฉ.ได้ให้ทาง กทม.ได้สำรวจกล้องวงจรปิดทั่ว กทม. 2,928 แห่ง ว่าจุดไหนที่มีปัญหา ชำรุด เสียหาย ให้ปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนสอบสวน รวมถึงกล้องวงจรปิดของภาคเอกชน ประมาณเกือบ 10,000 ตัว ที่จะเข้าร่วมภารกิจนี้ เช่น สถานบริการน้ำมัน 792 แห่ง ห้างสะดวกซื้อ ห้างมินิมาร์ท 2,533 ธนาคาร 1,908 ร้านทอง 1,324 และร้านอินเตอร์เน็ต ประมาณ 2,000 กว่าแห่ง รวมทั้งหมดเกือบ 9,000 แห่ง ที่จะเข้าร่วมโดยกล้องทั้งหมดจะเปิดเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ" พล.ต.ต.ปิยะกล่าว

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ในที่ประชุมได้กำชับไปยังกระทรวงมหาดไทยและ กทม.ให้ใช้มาตรการเชิงรุกผ่านมวลชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ตั้งแต่ชุมชนไปจนถึงระดับจังหวัดให้เข้าใจสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือดูแลทำงาน ร่วมกัน และให้ฝ่ายกฎหมายของ ศอฉ.ตรวจสอบการละเมิดข้อกฎหมายในระดับต่างๆ และให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเร่งดำเนินคดีในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายใน ทุกรูปแบบ เช่น การให้ข้อมูลเป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความแตกตื่นต่อประชาชน การสร้างความแตกแยก

ระดมตร.เกือบหมื่นร่วมปฏิบัติการ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การปฏิบัติการมีความเข้มข้นเป็นเพราะมีข้อมูลการข่าวในการก่อความไม่สงบใช่ หรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ไม่มี แต่ ศอฉ.ไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนจึงเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ สำหรับการแบ่งพื้นที่ รวมถึงการระงับเหตุเบื้องต้น จะให้ทุกกองบังคับการจัดทำแผนเผชิญเหตุในการเข้าระงับเหตุเบื้องต้น เมื่อถามว่า การจัดชุดตรวจเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่มองว่าอาจจะเกิด ความไม่ปลอดภัย พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ที่ประชุมมีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่จะทำความเข้าใจว่าเป็นการรักษาความปลอดภัย โดยยกตัวอย่างเมืองหลวงหลายแห่งที่มีมาตรกรเหล่านี้ เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน อื่นๆ ก็มีการตรวจตราพื้นที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องสะพายปืนออกตรวจไปทั่วพื้นที่ ยกเว้นพื้นที่สำคัญจริงๆ โดยมีกำลังตำรวจเกือบ 10,000 นาย ร่วมปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 4-5 กันยายนนี้ ทางตำรวจนครบาลจะเรียกผู้กำกับสถานีตำรวจและผู้ปฏิบัติมามอบภารกิจที่เพิ่มเติมที่นอกเหนือการดูแลความปลอดภัย

"ดาว์พงษ์"นั่งแท่นบัญชาการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน ศอฉ.ได้เรียกระดับผู้ปฏิบัติ คือผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1-9 เจ้าของพื้นที่ทั้งหมด กองทัพภาคที่ 1 เทศกิจ ตำรวจสันติบาลและหน่วยที่รับผิดชอบพื้นทื่อื่นๆ เช่น องค์การรถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิงก์ เข้ามารับทราบและกำหนดภารกิจร่วมกัน โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก เป็นประธานในการประชุม

ชงต่อฉุกเฉิน"กทม."อีก3เดือน
รายงานข่าว ศอฉ.แจ้งว่า ทีมประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการยกเลิกการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินตาม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของ ศอฉ. ได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในบางพื้นที่จะหมดอายุในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ คือพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี ขอนแก่น และ นครราชสีมา ส่วนที่เหลืออีก 4 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีแนวโน้มที่จะต้องต่ออายุออกไปอีกครั้ง และคาดว่าจะต่ออายุออกไปอีก 3 เดือน ถึงวันที่ 7 มกราคม 2554

รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่ต้องต่ออายุในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น เนื่องจากการประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงพิจารณาว่ายังมีความสุ่มเสี่ยง ต่อการสร้างสถานการณ์ของผู้ไม่หวังดีอย่างต่อเนื่อง เช่น เกิดเหตุร้ายเกิดบ่อยครั้งขึ้น อาทิ ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ คิงเพาเวอร์ และเอ็นบีที เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลครั้งนี้ ดำเนินการไว้ล่วงหน้านานกว่าทุกครั้ง คือก่อนกำหนดถึง 1 เดือน ทั้งที่การพิจารณายกเลิกครั้ง ล่าสุดพิจารณาก่อนครบกำหนดเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น คือหลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดข้างที่ทำการพรรคภูมิใจไทยฃ

ที่มา:  มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท