Skip to main content
sharethis
กป.อพช.ร่วมองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม จี้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.เห็นชอบประกาศ 11 ประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงของ สวล.ฉะไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมเสนอนำ18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมาพิจารณาแทน 
 
จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ส.ค.53 มีมติเห็นชอบให้มีประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ 11 รายการ ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) เสนอ ซึ่งแตกต่างกับข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีถึง 18 รายการ ทำให้เกิดคำถามต่อหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งในแง่ความเป็นวิชาการ การเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ
 
วันนี้ (1 ก.ย.53) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดแถลงข่าว คัดค้านและขอให้ยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าว
 
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่าองค์กรที่ร่วมกันแถลงข่าววันนี้มีความเห็นร่วมกันว่ามติ ครม.และมติ สวล.ดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม และละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลหลัก 3 ข้อ คือ 1.เงื่อนไขหรือมาตรการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองกำหนดให้ต้องปฏิบัตินั้น มีตามเจตนารมณ์ต้องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าหากปล่อยให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายขึ้นจะเป็นการยากในการเยียวยาฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพดีดังเดิม ถือเป็นมาตรการป้องกันล่วงหน้า โดยมีมาตรการหลัก 3 มาตรการคือ การรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสุดท้ายให้องค์กรอิสระให้ความเห็น    
 
2.กระบวนการได้มาซึ่งประเภทโครงการหรือกิจการ 18 รายการ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้น เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียคือ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกระบวนการที่ดำเนินการมายาวนาน และผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภาค จนได้มีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีการดำเนินการต่อ กลับส่งเรื่องนี้ไปให้ สวล.เป็นผู้พิจารณา และ สวล.ก็ได้ใช้เวลาเพียงช่วงสั้นๆ พิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยไม่มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจน ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ อีกทั้งไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
3.เมื่อพิจารณาประเภทและขนาดโครงการ ตามมติของ สวล.แล้วจะเห็นว่า มีโครงการที่เห็นชอบกำหนดตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย มีเพียง 5 รายการ ส่วนอีก 6 รายการ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมขนาด หรือเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้หลายโครงการหลุดพ้นจากการตรวจสอบ เช่น โครงการเหมืองแร่ใต้ดิน กำหนดเพิ่มเติมว่าเฉพาะโครงการที่ไม่มีเสาค้ำยันและไม่มีการใส่คืนวัสดุทดแทนเพื่อป้องกันการยุบตัว ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินการลักษณะดังกล่าวในประเทศไทย โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมีการกำหนดประเภทที่เฉพาะขึ้น และเพิ่มขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมจาก 1,000 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีโครงการใดที่เข้าเกณฑ์ต้องตรวจสอบเลย
 
“ที่สำคัญก็คือว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง ถ้าไม่ประสงค์ให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ดำเนินการ ก็ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมทำตั้งแต่ต้นเสีย ก็จะจบ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการออกมา แต่การที่จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย มาเป็นผู้ดำเนินการก็เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ปัญหาการเผชิญหน้าที่ดำรงอยู่ อย่างน้อยก็ทำให้โครงการ 18 รายการนี้เป็นที่ยอมรับกันได้” ประธาน กป.อพช.กล่าว
 
นายไพโรจน์ กล่าวต่อมาถึงข้อเสนอว่า 1.ครม.ต้องพิจารณายกเลิกมติที่ได้ให้ความเห็นชอบตามมติ สวล.ให้ประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง  11 ประเภทโครงการ และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย 2.คณะกรรมการ 4 ฝ่ายควรแสดงท่าทีคัดค้านการดำเนินการของ สวล.และรัฐบาลในการตัดลดหรือเปลี่ยนแปลงประเภทกิจการหรือโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้รับการแต่งตั้งมาเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรวมถึงการลดความขัดแย้งของสังคมต่อประเด็นดังกล่าว 
 
3.คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) ควรแสดงท่าทีคัดค้านต่อมติคณะกรรมการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่สามารถทำหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง 4.รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจโดยการเร่งพิจารณาออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ โดยกำหนดให้การประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง
 
ด้านนางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แม้ว่าจากการติดตาม 18 โครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนี้จะไม่ได้ครอบคลุม ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีอยู่มากมาย  แต่เพื่อให้เคลื่อนตัวไปได้ เราก็เชื่อว่ามาตรการอันนี้น่าจะไปสร้างหลักประกันให้ขบวนการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐที่เกี่ยวของกับทรัพยากรธรรมชาติและชีวิตของผู้คน ตั้งอยู่บนกระบวนการที่โปร่งใส มีวิชาการอ้างอิง ช่วยลดความขัดแย้ง เคลื่อนไปข้างหน้าสู่สังคมแห่งการมีส่วนร่วม แต่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจนำกลับคืนไปให้ สวล.ซึ่งเป็นกลไกปกติทำ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อขบวนการบริหารจัดการประเทศเพื่อสร้างความสมานฉันท์หรือลดความขัดแย้งจะขับเคลื่อนต่อไปได้ 
 
“ในรูปธรรมของพื้นที่ ของเดิมที่มาบตาพุด ปัญหาที่มันมีอยู่ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และของใหม่ที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการพัฒนาภาคใต้ที่จะมีโครงการขนาดใหญ่มากมาย ก็จะไม่ได้รับการจัดการที่ทำให้คนเชื่อมั่นว่ามีการจัดการที่นำเอาทุกๆ เรื่องมาพิจารณา ดังนั้น ความขัดแย้งมันจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น” นางเรวดีกล่าว
 
นางเรวดี กล่าวด้วยว่า ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องมีมาตรการ 11 ข้อ หรือ 18 โครงการเหล่านี้ด้วยซ้ำไป ถ้าจะมีหลักการว่าทุกกิจกรรมที่ดำเนินการเกิดขึ้นสัมพันธ์กับชีวิตประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรต้องเข้าสู่ขบวนการตรวจสอบและช่วยกันดูแลเพื่อที่การก้าวไปข้างหน้าจะได้ยังยืน 
 
 
แถลงการณ์
 
เรื่อง ขอคัดค้านและขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบ
ต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ 11 ประเภท
 
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2553 (นัดพิเศษ) ให้ประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จำนวน 11 ประเภทโครงการ อันเป็นมติที่มิได้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (คณะกรรมการ 4 ฝ่าย) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่โดยตรงในการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเพื่อกำหนดประเภทโครงการ ที่มีข้อเสนอสรุปว่าสมควรให้ประกาศกำหนดทั้งหมดจำนวน 18 ประเภทโครงการนั้น
 
องค์กรดังมีรายนามข้างท้ายนี้ เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม และเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนซึ่งรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองรับรองไว้ จึงขอคัดค้านไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว โดยมีเหตุผล ดังต่อไปนี้
 
ประการแรก เงื่อนไขหรือมาตรการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองกำหนดให้ต้องปฏิบัตินั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการปกป้องคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลว่า หากปล่อยให้เกิดผลกระทบความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมขึ้นแล้ว เป็นการยากที่จะเยียวยาฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพดีดังเดิม มาตรการป้องกันล่วงหน้าจึงมีความสำคัญและเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสิทธิของประชาชนยิ่งกว่าการแก้ไขฟื้นฟูในภายหลัง
 
ประการที่สอง กระบวนการได้มาซึ่งประเภทโครงการหรือกิจการ 18 ประเภทตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้น เป็นการพิจารณาร่วมกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งยังผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภาค จนได้มาซึ่งประเภทโครงการและกิจการที่ประชาชนและคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเห็นว่า มีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงอย่างแท้จริง และสมควรต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองให้ครบถ้วนก่อน เริ่มดำเนินการ ดังนั้นมติของคณะกรรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ได้ใช้เวลาเพียงช่วงสั้นๆ พิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเภทและขนาดโครงการหรือกิจการต่างๆโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจน ไม่มีน้ำหนัก เพียงพอที่จะหักล้างข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้ จึงถือว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่โปร่งใส และไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ตลอดจนเป็นการละเลยไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
 
ประการที่สาม ตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ให้ประกาศกำหนด 11 ประเภทโครงการลดลงจากข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้น เมื่อพิจารณาประเภทและขนาดโครงการโดยละเอียดแล้วสามารถจำแนกได้ดังนี้
 
- โครงการที่เห็นชอบกำหนดตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย จำนวน 5 ประเภท
 
- โครงการที่กำหนดไว้ แต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมขนาดหรือเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญ จำนวน 6 ประเภท เช่น โครงการเหมืองแร่ใต้ดิน กำหนดเพิ่มเติมว่าเฉพาะโครงการที่ไม่มีเสาค้ำยัน และไม่มีการใส่คืนวัสดุทดแทนเพื่อป้องกันการยุบตัว โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเฉพาะที่ใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วมชนิด Combined Cycle หรือ Cogeneration และเพิ่มขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมจาก 1,000 เมกะวัตต์ ขึ้นไปเป็น 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป
 
- โครงการที่ไม่เห็นชอบกำหนดให้เป็นประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จำนวน 7 ประเภท เช่น โครงการชลประทาน โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลักหรือการผันน้ำระหว่างประเทศ โครงการเตาเผาขยะติดเชื้อ และโครงการสูบน้ำเกลือใต้ดิน เป็นต้น
 
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มีเพียง 5 ประเภทโครงการเท่านั้นที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ในขณะที่อีก 13 ประเภทโครงการถูกตัดออกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไป จนกลายเป็นการเอื้อให้โครงการจำนวนมากที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้พิจารณาแล้วว่าเป็นประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและมาตรการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งนอกจากจะไม่สอดคล้องและไม่บรรลุตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมิได้ให้ความสำคัญและเคารพต่อการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่โดยตรง และได้ดำเนินการผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
 
ดังนั้น เพื่อให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าวได้อย่างแท้จริง รัฐบาลจึงควรต้องยึดเอาข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการศึกษาข้อมูล งานวิชาการ และมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งยังมีความชอบธรรมในแง่ของผู้ดำเนินการ คือ คณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีมาโดยเฉพาะ อันจะทำให้การประกาศกำหนดประเภทโครงการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็สามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนได้ด้วย
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าวองค์กรดังมีรายชื่อข้างท้ายมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
 
1.ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกมติที่ได้เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง 11 ประเภทโครงการ และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย
 
2.ขอให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายแสดงท่าทีคัดค้านการดำเนินการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและรัฐบาลในการตัดลดหรือเปลี่ยนแปลงประเภทกิจการหรือโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้รับการแต่งตั้งมาเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรวมถึงการลดความขัดแย้งของสังคมต่อประเด็นดังกล่าวด้วย แต่การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและรัฐบาลพิจารณาดำเนินการเช่นนี้กลับจะทำให้ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
 
3. ขอให้คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) แสดงท่าทีคัดค้านต่อมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่สามารถ ทำหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
 
4.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจโดยการเร่งพิจารณาออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ โดยกำหนดให้การประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันการดำเนินการให้เป็นไปเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง
 
แถลง วันที่ 1 กันยายน 2553
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
 
 
 
 
ประกาศประเภทกิจการรุนแรง 11 กิจการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
 
สาระสำคัญตามร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติ สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553
 

ลำดับ

ประเภทโครงการ
หรือกิจการ

ขนาด

หลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ
1

การถมทะเล หรือทะเลสาบ นอกแนวเขตชายฝั่งเดิม ยกเว้นการถมทะเลที่เป็นการฟื้นฟูสภาพชายหาด

ตั้งแต่ 300 ไร่ ขึ้นไป

ให้เสนอในขั้นขออนุมัติ หรือขออนุญาตโครงการ
2

การทำเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ดังต่อไปนี้
2.1 เหมืองแร่ใต้ดิน เฉพาะที่ออกแบบให้โครงสร้างมีการยุบตัวภายหลังการทำเหมืองโดยไม่มีค้ำยันและไม่มีการใส่คืนวัสดุทดแทน เพื่อป้องกันการยุบตัว
 
2.2 เหมืองแร่ตะกั่ว เหมืองแร่สังกะสี หรือ ทุกขนาด เหมืองแร่โลหะอื่นที่ใช้ไซยาไนด์หรือปรอทหรือตะกั่วไนเตรต ในกระบวนการผลิต หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่มีอาร์เซโนไพไรต์ (arsenopyrite) เป็นแร่ประกอบ (associated mineral)
 
2.3 เหมืองแร่ถ่านหิน เฉพาะที่มีการลำเลียงแร่ถ่านหินออกนอกพื้นที่โครงการด้วยรถยนต์
 
2.4 เหมืองแร่ในทะเล

 
 
ทุกขนาด
 
 
 
 
 
ทุกขนาด
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ขนาดตั้งแต่ 200,000 ตัน/เดือน หรือตั้งแต่ 2,400,000ตัน/ปี ขึ้นไป
 
ทุกขนาด

 
 
ให้เสนอในขั้นขอประทานบัตร
 
 
 
 
ให้เสนอในขั้นขอประทานบัตร
 
 
 
 
 
 
 
 
ให้เสนอในขั้นขอประทานบัตร
 
 
ให้เสนอในขั้นขอประทานบัตร
3

นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้
 
3.1 นิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตาม 4 หรืออุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็ก ตาม 5.1หรือ 5.2 แล้วแต่กรณี มากกว่า 1 โรงงานขึ้นไป
 
3.2 นิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการขยายพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีตาม 4 หรืออุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็ก ตาม 5.1 หรือ 5.2

 
 
 
 
 
ทุกขนาด
 
 
 
 
 
 
 
 
ทุกขนาด

 
 
 
 
 
ให้เสนอในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ
 
 
 
 
 
 
ให้เสนอในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ
4

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ดังต่อไปนี้
 
4.1 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น (upstream petrochemical industry) กำลังการผลิตตั้งแต่ร้อยละ 35 ของกำลังการผลิตเดิมขึ้นไป
 
 
 
4.2 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง(intermediate petrochemical industry) ดังต่อไปนี้
 
4.2.1 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง (intermediate petrochemical industry) ที่ผลิตสารเคมี หรือใช้วัตถุดิบที่เป็นสารเคมีซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 A
 
 
4.2.2 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง
(intermediate petrochemical industry) ที่ผลิตสารเคมี หรือใช้วัตถุดิบที่เป็นสารเคมี ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2 A
 

 
 
ทุกขนาด หรือที่มีการขยาย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ขนาดกำลังการผลิต 100 ตัน/วัน ขึ้นไป หรือที่มีการขยายขนาดกำลังการผลิตรวมกันแล้วมากกว่า 100 ตัน/วัน ขึ้นไป
 
ขนาดกำลังการผลิต 700 ตัน/วัน ขึ้นไป หรือที่มีการขยายขนาดกำลังการผลิตรวมกันแล้วมากกว่า 700 ตัน/วัน ขึ้นไป

 
 
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยายแล้วแต่กรณี
 
 
 
 
 
ให้เสนอในขั้นขอก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
 
ให้เสนอในขั้นขอก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
5

อุตสาหกรรมถลุงแร่ หรือหลอมโลหะ ดังต่อไปนี้
 
5.1 อุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็ก
 
 
 
 
 
 
 
5.2 อุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็กที่มีการผลิตถ่านcoke หรือ ที่มีกระบวนการ sintering
 
 
 
5.3 อุตสาหกรรมถลุงแร่ ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี
 
 
 
 
 
 
 
5.4 อุตสาหกรรมถลุงแร่ตะกั่ว
 
 
 
 
 
5.5 อุตสาหกรรมหลอมโลหะ (ยกเว้นเหล็ก และอลูมิเนียม)
 
 
 
 
5.6 อุตสาหกรรมหลอมตะกั่ว

 
 
 
ที่มีปริมาณแร่ป้อน (input) เข้าสู่กระบวนการผลิต ตั้งแต่ 5,000 ตัน/วัน ขึ้นไป หรือที่มีปริมาณแร่ป้อน (input) เข้าสู่กระบวน การผลิตรวมกันตั้งแต่5,000 ตัน/วัน ขึ้นไป
 
ทุกขนาด
 
 
 
 
 
ที่มีปริมาณแร่ป้อน (input)
เข้าสู่กระบวนการผลิต ตั้งแต่ 1,000 ตัน/วัน ขึ้นไป หรือที่มีปริมาณแร่ป้อน (input) เข้าสู่กระบวนการผลิตรวมกัน ตั้งแต่ 1,000 ตัน/วัน ขึ้นไป
 
ทุกขนาด
 
 
 
 
 
ขนาดกำลังการผลิต (output) ตั้งแต่ 50 ตัน/วัน
ขึ้นไป หรือมีกำลังการผลิต
รวมกันตั้งแต่ 50 ตัน/วัน
ขึ้นไป
 
ขนาดกำลังการผลิต (output) ตั้งแต่ 10 ตัน/วัน ขึ้นไป หรือมีกำลังการผลิต รวมกัน ตั้งแต่10 ตัน/วัน ขึ้นไป

 
 
 
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
 
 
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี
 
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
 
 
 
 
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี
 
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
 
ให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ หรือในขั้นขอขยาย แล้วแต่กรณี
6

การผลิต กำจัด หรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสี

ทุกขนาด

ให้เสนอในขั้นขออนุญาต อนุญาตประกอบกิจการ  
7

โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมหรือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีการเผาหรือฝังกลบของเสียอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ยกเว้นการเผาในหม้อเผาซิเมนต์ที่ใช้ของเสียอันตรายเป็นเชื้อเพลิงทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริม

ทุกขนาด

ให้เสนอในขั้นขออนุญาต
ก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการ หรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี
 
8

โครงการระบบขนส่งทางอากาศ

ที่มีการก่อสร้าง ขยาย หรือเพิ่มทางวิ่งของอากาศยาน
ตั้งแต่ 3,000 เมตรขึ้นไป

ให้เสนอในขั้นขออนุมัติ หรือขออนุญาตโครงการ
 
9

ท่าเทียบเรือ

1) ที่มีความยาวหน้าท่า (berth length) ตั้งแต่ 300เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือ ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ยกเว้น ท่าเทียบเรือโดยสาร หรือท่าเทียบเรือเรือสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค หรือท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา
 
2) ที่มีการขุดลอกร่องน้ำตั้งแต่ 100,000 ตารางเมตรขึ้นไป ยกเว้น ท่าเทียบ เรือโดยสาร หรือท่าเทียบเรือสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค หรือท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา
 
3) ที่มีการขนถ่ายวัตถุอันตรายหรือกากของเสียอันตรายซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 มีปริมาณรวมกันตั้งแต่ 25,000 ตัน/เดือนขึ้นไป หรือมีปริมาณรวมกันทั้งปีตั้งแต่ 250,000 ตัน/ปี ขึ้นไป

ให้เสนอในขั้นขออนุมัติ
หรือขออนุญาตโครงการ
 
10

เขื่อนเก็บกักน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำ

1) ที่มีปริมาตรเก็บกักน้ำตั้งแต่ 100 ล้าน ลูกบาศก์
เมตรขึ้นไป หรือ
 
2) ที่มีพื้นที่เก็บกักน้ำ ตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป

ให้เสนอในขั้นขออนุมัติ
หรือขออนุญาตโครงการ
 
11

โรงไฟฟ้าพลังความร้อน ดังต่อไปนี้
11.1 โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง
 
 
 
 
 
11.2 โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล
 
 
 
 
11.3 โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นระบบพลังความร้อนร่วมชนิด combined cycle หรือ cogeneration
 
11.4 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

 
ขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวม ตั้งแต่ 100 เมกกะวัตต์ ขึ้นไป
 
 
 
 
ขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวม ตั้งแต่ 150 เมกกะวัตต์ ขึ้นไป
 
 
ขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวม ตั้งแต่ 3,000 เมกกะวัตต์ ขึ้นไป
 
 
ทุกขนาด

 
ให้เสนอในขั้นขออนุญาต
ก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net