Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แด่... “ปิยมิตรผู้มีกึ๋นจะเป็นกลาง”

ในบทความชื่อ “สื่อไทยในสถานการณ์ความขัดแย้ง” อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนว่า

“ในสถานการณ์ความขัดแย้งซึ่งหลายคนมองเห็นว่า สื่อไทยไม่ "เป็นกลาง" นั้น ไม่จำเป็นต้องตีโวหารอะไรให้มากหรอก คุณไม่มีกึ๋นจะ "เป็นกลาง" ได้ ก็เท่านั้นเอง” (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274177091&grpid=&catid=02)

แต่ที่จริงปัญหาความเป็นกลางไม่ได้เกิดเฉพาะกับสื่อเท่านั้น ทว่าหากเกิดแก่ทุกคนที่พยายามแสดงว่าตนเองมีจุดยืนทางการเมือง “เป็นกลาง”

ปี 2548 ผมใส่เสื้อเหลืองไปชุมนุมกับพันธมิตร และเขียนบทความสนับสนุนหลายชิ้น ปี 2549 ผมเบลอ (หมายถึงยังโง่) ปี 2552 ดูเหมือนผมพยายามที่จะเป็นกลาง ปี 2553 ผมเลือกสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง และหลังจากนั้นไม่นานนักผมก็ได้อ่านข้อความ “...คุณไม่มีกึ๋นจะเป็นกลางได้” ดังกล่าวแล้ว

ทำให้ผมต้องมาตั้งคำถามกับ “ความเป็นกลาง” (ไม่ว่าจะของสื่อ หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์นักสันติวิธี ฯลฯ) อย่างจริงจังว่า จริงๆ แล้วในปริมณฑลของความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 4-5 ปีมานี้มันมีสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นกลาง” อยู่จริง หรือมันสามารถจะมีได้หรือไม่?

ความเป็นกลางคืออะไร? ผมไม่แน่ใจ แต่ขอนิยามอย่างนี้ว่า ใครก็ตามที่บอกว่าตัวเองเป็นกลางทางการเมือง จะต้อง 1) ยึดหลักการประชาธิปไตยเป็นทางออกของความขัดแย้ง ถ้าจะตัดสินถูก-ผิดของฝ่ายใดๆ ต้องตัดสินบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย และ 2) ต้องวิจารณ์คู่ขัดแย้ง และ/หรือเรียกร้องความรับผิดชอบทางศีลธรรม ทางการเมือง และทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม

โดยความหมายของความเป็นกลางดังกล่าวนี้ เมื่อนำไปใช้กับความขัดแย้งที่ฝ่ายหนึ่งออกมาเดินขบวนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน เมื่อไล่ไม่สำเร็จจึงเพิ่มข้อกล่าวหาวางแผนล้มเจ้า และเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหาร พร้อมกับหาเหตุผลมาสนับสนุนความชอบธรรมของรัฐประหารและกระบวนการต่อเนื่องของรัฐประหาร เป็นต้น แล้วก็มีอีกฝ่ายหนึ่งออกมาต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2540 และเรียกร้องให้ทักษิณคืนสู่อำนาจโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เป็นต้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ มีข้อที่ควรพิจารณาในทาง “หลักการ” คือ

1. การคอร์รัปชัน (สมมติว่าจริงตามข้อกล่าวหา) กับรัฐประหาร อย่างไหนผิดมากกว่า คำตอบคือรัฐประหารผิดมากกว่า คำถามที่ตามมาคือจะสามารถมี “ความเป็นกลาง” ระหว่าง “ผิดกับผิดมากกว่า” ได้หรือไม่?

2.ในแนวทางการต่อสู้สองแนวทาง หนึ่งสนับสนุนรัฐประหาร เรียกร้องอำนาจ
นอกระบบการเลือกตั้ง สองต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องการเลือกตั้ง หรือยืนยันอำนาจของประชาชน หากยึด “ประชาธิปไตย” เป็นเกณฑ์ จะสามารถมีความเป็นกลางระหว่างสองแนวทางนี้ได้หรือ?

อย่างไรก็ตาม หากจะอ้างว่าเรื่องหลักการมันอาจตีความต่างกันได้ และสมมติว่าสามารถตีความให้มีความเป็นกลางได้ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับ “ความเป็นจริง” ที่ชัดแจ้งที่ไม่ต้องตีความเลย นั่นคือความจริงที่ว่า “สังคมนี้ไม่อนุญาตให้มีความเป็นกลาง” ในปริมณฑลความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

กล่าวคือ สังคมนี้เป็นสังคมที่ไม่อนุญาตให้วิจารณ์ และ/หรือเรียกร้องความรับผิดชอบต่อคู่ขัดแย้งโดยอ้างอิงหลักการประชาธิปไตยได้ “อย่างเท่าเทียม”

เพราะโดยหลักการประชาธิปไตยที่เรามีอยู่จริงนั้น เราสามารถวิจารณ์และเรียกร้องความรับผิดชอบทางการเมือง ทางกฎหมาย และทางศีลธรรมกับอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเต็มที่ (อาจจะเกิน 100 % ด้วยซ้ำ) แต่เราไม่สามารถทำอย่างเดียวกันได้กับอีกฝ่าย เช่น เราไม่สามารถวิจารณ์ และ/หรือเรียกร้องความรับผิดชอบทางการเมือง ทางกฎหมาย และทางศีลธรรมต่ออำนาจที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร หรือที่อยู่เบื้องหลังการสลายการชุมนุมที่มีประชาชนเสียชีวิต 91 ศพ และบาดเจ็บว่า 2,000 คน ฉะนั้น “ความเป็นกลางที่แท้จริง” จึงไม่อาจมีได้

ด้วยเหตุนี้ ยิ่งนานวันเรายิ่งได้เห็นความ “ไม่อยู่กับร่องกับรอย” ของบุคคล หรือฝ่ายที่พยายามแสดงบทบาท “เป็นกลาง” ทั้งนี้เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว เขาไม่สามารถที่จะมี “ร่องรอย” ให้อยู่

หรือไม่สามารถที่จะมี “จุดยืน” ของความเป็นกลางได้จริง ในปริมณฑลของความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ในสังคมที่ไม่อนุญาตให้มีความเป็นกลางได้!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net